โลกใบใหญ่     รอบรั้วอาเซียน
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

sombatจากชื่อบทความเต็ม – “สถานการณ์เอ็นจีโอใน สปป. ลาว ก่อนและหลังการหายไปของ “สมบัด สมพอน” วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ”

“ผมเริ่มโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) ภายใต้มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ในปี ๒๕๓๕ หลังการคัดค้านเขื่อนในประเทศ และการผลักดันให้ยกเลิกสัมปทานป่าไม้และส่งเสริมป่าชุมชนตั้งแต่ปี ๒๕๒๙  ผลที่ตามมาคือโครงการเหล่านี้ถูกผลักออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน  เราได้ข้อสรุปว่า การผลักออกไปไม่ใช่ทางแก้ที่ถูกต้อง เราต้องก้าวข้ามพรมแดนออกไปเพราะระบบนิเวศไม่มีพรมแดน  ความประหลาดคือโครงการยุคสงครามเย็นถูกฟื้นขึ้นมาหมด  อยู่ ๆ ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ประกาศโครงการอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีโครงการจัดการน้ำ เขื่อน จำนวนมาก สวนทางกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศที่พัฒนาแล้ว

“ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ เราตั้งคำถามเรื่องการพัฒนา การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบต่อสังคมกับโครงการเหล่านี้  ในระยะเริ่มต้นเราติดต่อรัฐบาลลาวโดยตรง เราได้คำปรึกษาจากคุณสมบัด สมพอน ที่ขณะนั้นทำงานด้านพัฒนาชุมชนอยู่  ตอนนั้นเขายังทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศที่ส่วนมากเข้าไปช่วยฟื้นฟูลาวหลังยุคสงครามเย็น  ภาคประชาสังคมลาวยุคนั้นคือกลุ่มที่รัฐจัดตั้ง เช่น กลุ่มแม่หญิง (ผู้หญิง) กรรมบาล (กรรมกร) ลาวไม่ยอมให้มีเอ็นจีโอ ดังนั้นคนที่เราทำงานด้วยนอกจากรัฐคือเอ็นจีโอระหว่างประเทศ  สิ่งที่ลาวต้องการคืออย่ากระทบกับความมั่นคงทางการเมืองของเขา  เราทราบดีว่าเรื่องเขื่อนเป็นประเด็นอ่อนไหว จึงเริ่มที่ป่าชุมชนเพราะเกี่ยวกับเขื่อนโดยตรง  เพราะในลาวหลังเลิกให้สัมปทานป่าไม้กฎหมายได้ยกเว้นว่าให้ตัดไม้ในบริเวณที่จะสร้างเขื่อนได้ ดังนั้นโครงการสร้างเขื่อนในลาวจำนวนมากจึงเน้นตัดไม้มากกว่าสร้างเขื่อนเสียอีก

“ต่อมาเราจึงขอจัดสัมมนาให้ข้อมูลเรื่องเขื่อน บอกว่าประเทศลาวมีข้อเสนอสร้างเขื่อนมาก มาดูไหมว่ามันคืออะไร  เราไม่ได้ค้านแต่อยากให้ข้อมูลเพื่อให้ตัดสินใจได้ดีที่สุด และหลายเรื่องอาจตรงกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ รัฐบาลจึงร่วมด้วย  หลายเรื่องลาวก็ไม่มีข้อมูลและมีข้อจำกัด ภารกิจหลักของเราคือทำยังไงให้กระบวนการตัดสินใจของลาวเป็นประชาธิปไตยที่สุด ภาคประชาสังคมเข้มแข็งขึ้น เท่าทันการผลักดันจากภายนอก  ผมเชื่อว่า ที่ผ่านมาเรายังทำงานในลาวได้เพราะคนลาวรู้ว่าเราไม่มีผลประโยชน์อะไร เราทำเพื่อเขาด้วยใจล้วน ๆ กระทั่งเรื่องที่ไทยได้ประโยชน์ถ้าไม่เป็นธรรมเราก็ค้าน

“เราได้เรียนรู้ระบบราชการลาว เจ้าหน้าที่หลายคนยังมีทัศนคติติดอยู่กับยุคสงครามเย็น มองคนอื่นเป็นศัตรู แต่ก็มีจำนวนหนึ่งเป็นความหวัง เราอยู่ได้เพราะเจ้าหน้าที่กลุ่มหลัง  ที่ผิดหวังมาตลอดคือลาวมักย้ายเจ้าหน้าที่ฉับพลัน บางคนเราสนับสนุนให้ไปดูงาน อบรมให้มีความรู้เพื่อทำงานกับเรา วันดีคืนดีก็ถูกย้าย  ที่เราทุ่มเทมาก ๆ คือกรณีเขื่อนน้ำเทิน ๒ แต่สุดท้ายก็สร้างโดยไม่ฟังเสียงใด ๆ  เราได้เรียนรู้ว่าบางเรื่องไม่ได้สู้กันด้วยเหตุผล

“อ้ายสมบัดสนใจการพัฒนาชุมชน การศึกษา งานของเขาไม่ได้แตะประเด็นอ่อนไหว  ก่อนถูกอุ้มเขาเป็นแกนหลักจัดงานประชุม AEPF ของภาคประชาชน (Asia- Europe Peoples Forum) ขนานกับการประชุม ASEM (Asia-Europe Meeting) ที่กรุงเวียงจันทน์วันที่ ๕-๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก  มีการพูดจากภาคประชาชนมากอย่างที่ผมไม่คิดว่าจะได้เห็นในเวียงจันทน์  อ้ายสมบัดตั้งใจทำเพราะอยากให้ประชาคมโลกยอมรับลาวว่าเป็นสากล สามารถมีส่วนร่วมในสิ่งที่โลกสากลทำกันตามปรกติได้  ผมคิดว่า กรณีเขื่อน เกษตรพันธสัญญา ประเด็นเหล่านี้คนลาวจำนวนมากไม่พอใจ เพียงแต่เขารวมตัวกันได้ไม่ชัดเจน

“ผมวิเคราะห์ว่า สำหรับฝ่ายอนุรักษนิยมในลาวเรื่องนี้อาจล้ำเส้น ยังรับไม่ได้ จึงเกิดการอุ้ม  กรณีนี้ยังสะท้อนการเปลี่ยนฐานอำนาจในพรรคประชาชนปฏิวัติลาวที่มีบางกลุ่มต้องการแสดงอำนาจ  อ้ายสมบัดคือแพะ  เรื่องนี้ยังแสดงว่า รัฐเข้มแข็งพร้อมติดต่อกับโลกภายนอกหรือไม่ ลาวต้องการให้สังคมกลัวความไม่ชัดเจน แล้วไม่อยากยุ่ง  ผมเคยเจออดีตเจ้าหน้าที่รัฐลาวพูดว่า ‘ทุกคนพร้อมเป็นตำรวจให้รัฐ’  เทียบกับรัฐบาลเวียดนามเขามั่นใจว่าคุมคนของเขาได้ เวลามีงานภาคประชาชนแบบนี้เขาจะจัดคนของเขามานั่งถกด้วย  ส่วนจีนใช้วิธีขอร่วมด้วยในทุกส่วนอย่างละครึ่งเพื่อที่จะได้มีตัวแทนของเขารับรู้ตลอดเวลา

“หลังเหตุการณ์อ้ายสมบัดถูกอุ้ม เกิดความกลัวขึ้นในหมู่เอ็นจีโอลาว  แม้ช่วงหลังลาวเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) และอนุญาตให้มีการจดทะเบียนเอ็นจีโอ แต่หลังเหตุการณ์หลายคนอยากเปลี่ยนเป็นจดทะเบียนบริษัทแทนซึ่งเสี่ยงน้อยกว่า  ในที่สาธารณะไม่มีใครอยากพูดเรื่องนี้ สิ่งที่ตามมาคือ สปป. ลาวทำลายความเคารพบางอย่างที่คนในภูมิภาคมีให้  เดิมเวลาเอ็นจีโอจากต่างประเทศรณรงค์อะไรก็ตามเราคำนึงเสมอว่าเราคือคนต่างชาติ ทำด้วยความปรารถนาดี ระวังการวิจารณ์ และหลายเรื่องก็เลือกจะเงียบ แต่สิ่งนี้ถูกทำลายแล้ว การที่ลาวเปิดประเทศแต่คิดแบบเดิมคือการนับถอยหลัง เพราะคนลาวรุ่นใหม่เห็นโลกภายนอกมากขึ้น  กรณีนี้ผมคิดว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดของกลุ่มอนุรักษนิยมลาว

“ตอนนี้อ้ายสมบัดได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ เป็นของทุกคน  คำถามคือส่วนต่าง ๆ จะขับเคลื่อนประเด็นนี้ต่ออย่างไร ทำอย่างไรที่เพื่อนร่วมงานในลาวที่พัฒนามาด้วยกันจะไม่หายไป  ผมอยากจะยืนยันว่าทุกฝ่ายปรารถนาดี อยากเห็นความยั่งยืนของ สปป. ลาว อยากให้พรรคประชาชนปฏิวัติลาวมั่นยืน  เราไม่ได้อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลาว เพราะเชื่อว่าในทางทฤษฎีพรรคคอมมิวนิสต์ที่ดีก็สามารถมีได้”

การหายตัวไปของ “สมบัด สมพอน”

นักพัฒนาอาวุโสลาว สมบัด สมพอน เกิดในครอบครัวยากจนที่แขวงคำม่วนในทศวรรษที่ ๑๙๖๐ ครอบครัวเขาลี้ภัยสงครามอินโดจีนเข้ามาในไทยขณะที่เขามีอายุ ๙ ขวบ ก่อนกลับไปศึกษาต่อในบ้านเกิดและได้ทุน AFS ในปี ๒๕๑๒

สมบัดจบปริญญาตรีสาขาการศึกษาและเกษตรที่มหาวิทยาลัยฮาวาย  เขากลับประเทศในปี ๒๕๒๒ ท่ามกลางการคัดค้านจากคนรอบข้าง โดยมีเจตนาจะยกระดับชีวิตเกษตรกรในบ้านเกิด

เมื่อกลับลาว เขาถูกเกณฑ์เข้า “ค่ายสัมมนา” (ค่ายแรงงาน) เพื่อปรับความคิด  ก่อนจะรอดออกมาเริ่มทดลองระบบเกษตรผสมผสานโดยได้ทุนจากต่างประเทศ ฝึกอบรมเกษตรกรให้ทำเกษตรต้นทุนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฝึกอบรมกลุ่มผู้หญิงเรื่องการพัฒนา และตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมฮ่วมพัดทะนา” (ปาแดก) ทำโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนระดับรากหญ้า จนได้รับรางวัลแมกไซไซสาขาพัฒนาชุมชนในปี ๒๕๔๘

ก่อนหายตัวไปในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๕ หลังเป็นแกนนำภาคประชาชนในการจัดประชุม AEPF คู่ขนานไปกับ ASEM ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน