อติภพ ภัทรเดชไพศาล
มองการเมือง สังคม วัฒนธรรม ผ่านดนตรี

ดนตรี / พื้นที่ / เวลา - จากเล่านิทานมาเป็นเสภาปี่พาทย์ภาพขุนนางสยามในหนังสือ จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม

เมื่อครั้งพระจอมนรินทร์แผ่นดินลับ                 เสภาขับหายังมีปี่พาทย์ไม่
มาเมื่อพระองค์ทรงชัย                                    ก็เกิดคนดีในอยุธยา

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนอธิบายกลอนข้างต้นไว้ว่า

หมายความว่า เมื่อก่อนรัชกาลที่ ๒ เสภายังขับกันอย่างเล่านิทาน ไม่มีส่งปี่พาทย์ ลักษณะขับเสภาในชั้นนั้น เข้าใจว่าเห็นจะขับแต่ ๒ คนขึ้นไป วิธีขับผลัดกันคนละตอน ให้คนหนึ่งได้มีเวลาพัก หรือมิฉะนั้น ถ้าเป็นคนเสภาเก่งๆ เจ้าของงานเลือกเรื่องให้ว่าตอนใดตอนหนึ่ง ให้แต่งกลอนสดโต้กันอย่างว่าเพลงปรบไก่ อย่างนี้เรียกว่าเสภาด้น เคยได้ยินว่ามีกันแต่ก่อน ครั้งเมื่อมีวิธีส่งปี่พาทย์แล้ว จึงขับแต่คนเดียวเป็นพื้น ด้วยเวลาที่ปี่พาทย์ทำ ผู้ขับเสภาได้พัก

แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๒ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงกระบวนเสภาแต่ให้มีวิธีส่งปี่พาทย์ขึ้นเท่านั้น ถึงบทเสภาเองก็แต่งใหม่ในสมัยนั้นโดยมาก บทเสภาที่นับถือกันว่าวิเศษในทุกวันนี้ เป็นบทแต่งครั้งรัชกาลที่ ๒ แทบทั้งนั้น

(“ตำนานเสภา” ในหนังสือ เสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน สำนักพิมพ์บรรณาคาร พ.ศ. ๒๕๑๑)

 

ขับ-ขับลำ-ขับซอ

ในจดหมายเหตุลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) เรื่อง ราชอาณาจักรสยาม (Du Royaume de Siam) ที่ตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสในราวปี ค.ศ. ๑๖๙๑ (หรือ พ.ศ. ๒๒๓๔) ที่กรุงปารีสและอัมสเตอร์ดัม กล่าวถึงการละเล่นชนิดหนึ่งของชาวสยามว่า มีการขับร้องประกอบดนตรีโดย

ลางทีก็ใช้ไม้ ๒ ชิ้นสั้นๆ อันเรียกว่า กรับ (crab) ขยับให้กระทบกันไปพร้อมๆ กับขับร้องเพลง ผู้ที่ร้องเพลงนั้นเรียกว่า ช่างขับ(Tchang-cab) เขาหามาเล่นในวันสุกดิบ (ก่อนวันแต่งงานหนึ่งวัน) พร้อมกับเครื่องดนตรีหลายชิ้นดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้ว

ลา ลูแบร์ไม่ได้บอกว่าการขับนั้นเรียกว่าขับเสภาหรือไม่ แต่การระบุถึงกรับทำให้น่าเชื่อว่าการละเล่นนั้นคงมีส่วนสัมพันธ์กับการขับเสภาในทุกวันนี้ไม่มากก็น้อย และที่จริงแล้วการ “ขับ” โดยช่างขับก็พบได้ทั่วไปในชุมชนอุษาคเนย์มาแต่โบราณกาล เช่นที่ปรากฏในจารึกพ่อขุนรามคำแหงตอนหนึ่งว่า

ดํบงคํกลองด้วยเสียงพาทย์เสียงพิณเสียงเลื้อนเสียงขับ

แล้วยังปรากฏข้อความในพงศาวดารล้านช้างว่า

เครื่องอันจักเล่นจักหัว และเสพร่ำคำขับทั้งมวล

โดยทางไทใหญ่มีคำว่า “ซอ” แปลว่าร้องเพลงเช่นเดียวกับทางล้านนา ถ้าหากขับร้องกับเครื่องดนตรีด้วยก็บอกชื่อเครื่องดนตรีนั้นต่อท้าย เช่น ซอปี่แปลว่าขับร้องกับปี่ ซอซึงแปลว่าขับร้องกับซึง แต่ถ้าการร้องนั้นมีฉิ่งหรือกรับประกอบ จะเรียกว่า “ขับ”

ส่วนทางล้านช้างนั้นมีการ “ขับลำ” โดยคำว่า ลำ เดิมมีความหมายเดียวกับคำว่า ขับ

การขับลำมักเล่าเป็นนิยาย เช่น ขับลำศิลป์ชัย ขับลำพระเวส ขับลำการะเกด เป็นต้น

การขับซอและขับลำที่แพร่หลายอยู่ในวัฒนธรรมลาวล้านนา-ล้านช้างนี่เองที่สันนิษฐานว่าเป็นต้นกำเนิดของการขับในราชสำนักภาคกลางแล้วกลายมาเป็นเสภาที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

 

เล่านิทานขุนช้างขุนแผน

เสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน เป็นฉบับที่ถูกตัดทอนและดัดแปลงแล้ว เรียกว่าเป็นฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวถึงสาเหตุที่ต้องดัดแปลงบทเสภาข้อหนึ่งว่าเป็นเพราะ

บางแห่งมีความที่หยาบคาย ด้วยผู้แต่งประสงค์จะขับให้คนฮา

แต่อย่างไรก็ตามท่านก็รับรองว่า

ไม่ได้ตัดถึงจะให้เรียบราบทีเดียว เพราะกลอนเสภาดีอยู่ที่สำนวนเล่นกันอย่างปากตลาด บางทีก็พูดสัปดนหรือด่าทอกัน ถ้าไปถือว่าเป็นหยาบคายตัดออกเสียหมด ก็จะเสียสำนวนเสภา จึงคงไว้เพียงเท่าที่จะไม่ถึงน่ารังเกียจ

บทเสภาที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ นำมาชำระในคราวนั้น ถูกแต่งขึ้นโดยช่างขับหลายคนหลายรุ่น ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ไปจนถึงรัชกาลที่ ๔ ดังนั้นสำนวนของทั้งเรื่องจึงแตกแยกไม่เหมือนกัน

แต่น่าเชื่อว่าบทเสภาชุดนี้เป็นชุดที่ได้รับการนับถือว่าดีเลิศในสมัยนั้น และใช้เป็นเนื้อหลักในการขับเสภารับปี่พาทย์ยุคนั้นที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูง

การขับเสภาแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเป็นพัฒนาการซึ่งเกิดขึ้นในราชสำนัก นั่นคือเริ่มจากการนำวงปี่พาทย์เข้าไปบรรเลงสลับ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายไว้ แล้วต่อมาจึงเกิดความนิยมนำเพลงละครเข้ามาผสม นั่นคือนำเพลงละคร (ที่มักมาจากร้องมโหรี) มาร้องสลับให้เกิดความหลากหลายขึ้น

แล้วสุดท้ายจึงกลายมาเป็นเสภาปี่พาทย์ เกิดเพลง “เถา” ซึ่งบรรเลงอย่างยืดยาว ใช้เทคนิคการประพันธ์ขั้นสูง และเริ่มเกิดเป็นธรรมเนียมการประชันปี่พาทย์ในหมู่ชนชั้นสูง ส่งผลให้เพลงดนตรีในวงปี่พาทย์แข่งกันที่ความยาก เน้นการประกวดประชันกัน จนประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้อีกต่อไป

ขนบการ “เล่านิทาน” อย่างอิสรเสรีชนิดดั้งเดิมของเรื่อง ขุนช้างขุนแผน จึงหายสาบสูญ กลายเป็นการขับเสภาที่มีแบบแผนตายตัว และเหลือตัวบทอันเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนทั่วไปเพียงฉบับเดียว คือฉบับของทางราชสำนักเท่านั้น

saepa02

ภาพการขับเสภาเล่านิทานสมัยก่อนในจินตนาการของ เฉลิม นาคีรักษ์ (จากหนังสือ เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน ของ “กาญจนาคพันธุ์” และนายตำรา ณ เมืองใต้ สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๕

 

ความคลาดเคลื่อนในบทเสภาเรื่องลาวล้านนาหรือลาวล้านช้าง

กลอนตอนหนึ่งในเนื้อเรื่องท่อนที่ขุนแผนกับพลายงามไปตีเมืองเชียงใหม่และกวาดต้อนผู้คนลงมากรุงศรีอยุธยา ผู้แต่งได้แทรกคำแอ่วแบบลาว บรรยายความทุกข์ยากที่พระเจ้าเชียงใหม่และพวกต้องเผชิญไว้ว่า

โอ้หนออกกู เมื่ออยู่เมืองเรา กินค่ำกินเช้า กับข้าวบ่ขัด สาวแก่แออัด นัดกันออกทุ่ง เที่ยวเก็บผักบุ้ง จับกุ้งจับปลา หอยโข่งหอยขม งมใส่ตะกร้า ขึ้นบนคันนา มองหารูปู ขุดตุ่นขุดหนู ขุดรูดักแย้ ฉวยด้วงดักแด้ เที่ยวแหย่รูบึ้ง จับกบขาเหยียด จับเขียดจับอึ่ง สิ้นไต้ใบหนึ่ง เป็นครึ่งค่อนข้อง…

ซึ่งนับว่าเป็นการแทรกกลอนที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง เพราะพระเจ้าเชียงใหม่นั้นถึงจะเป็นลาวก็เป็นลาวล้านนา แต่คำแอ่วดังที่ยกมานั้นเป็นของลาวล้านช้างต่างหาก

นอกจากนั้นคำแอ่วนี้ยังมีลีลาและเนื้อหาแบบเดียวกับเนื้อเพลง “ลาวแพน” ซึ่งเป็นคำแอ่วของลาวเวียงจันทน์ในรุ่นรัชกาลที่ ๓ เมื่อคราวศึกเจ้าอนุวงศ์อย่างแทบไม่ผิดเพี้ยน

จึงเห็นได้ชัดว่าผู้แต่งบทเสภาตอนนี้ได้รับอิทธิพลจากการแอ่วลาว โดยลาวล้านช้างจำนวนมากที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ในคราวศึกเจ้าอนุวงศ์นั้น

ในหนังสือ เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน ของ “กาญจนาคพันธ์” และนายตำรา ณ เมืองใต้ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๐๔) อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า

เมื่อลาวพุงขาว (ลาวล้านช้าง) มาอยู่ใกล้ ไปมาติดต่อถึงกันสะดวก เราก็จะต้องคุ้นกับภาษาและการละเล่นของลาวพุงขาวมากกว่าของลาวพุงดำ (ลาวล้านนา) สังเกตดูถ้อยคำก็ตาม สำเนียงก็ตาม ตลอดจนการละเล่นมหรสพ เช่น ละคร ยี่เก สวดคฤหัสถ์ แหล่เทศน์ และร้องรำต่างๆ ฯลฯ ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับลาว เช่น ขุนช้างขุนแผนนี้ หรือว่าออกภาษาลาวแล้ว โดยมากเอาอย่างลาวพุงขาวทั้งสิ้น กล่าวกว้างๆ ก็คือเอาภาษาลาวพุงขาวมาใช้ คล้ายกับเป็นภาษากลางสำหรับลาวทั่วไป

นี่เป็นตัวอย่างความเข้าใจผิดในการแต่งบทเสภา และขณะเดียวกันก็เป็นหลักฐานยืนยันว่าบทเสภาตอนนั้นน่าจะเพิ่งถูกเขียนขึ้นในราวรัชกาลที่ ๓ นั่นเอง

ในช่วงเวลาดังกล่าว ธรรมเนียมการแอ่วลาวในกรุงเทพฯ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ประชาชนทั่วไปจนไปถึงพระมหากษัตริย์เลยทีเดียว (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)

จนใน พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงกับต้องทรงออก “ประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว” ด้วยเหตุผลว่า

ลาวแคนเป็นข้าของไทย ไทยไม่เคยเป็นข้าลาว จะเอาอย่างลาวมาเป็นพื้นเมืองไทยไม่สมควร