เล่นจนเป็นเรื่อง
สฤณี อาชวานันทกุล
http://www.fringer.org
เรื่องราวและบทเรียนจากเกมกระดาน
เวรตะไล ! วันก่อนแจ็กคาบข่าวมาบอกว่า ไอ้ทิมมี่มีดบินมันปล่อยข่าวลือข่าวลวงไปเข้าหูคนในเขต ๒ ว่าคนของข้าเล่นไม่ซื่อ ไว้ใจไม่ได้ อย่าเชื่อว่าจะหางานให้ทำหาบ้านให้อยู่ ไอ้พวกคนอังกฤษก็ดันหูเบาฉิบหาย ขับไล่ไสส่งหัวคะแนนของข้าไปให้พ้นเขต คอยดูนะ ! ปีหน้าข้าจะปล่อยข่าวดิสเครดิตมันคืน
แต่ยังไงๆ ก็ประมาททิมมี่ไม่ได้ ไอ้นี่มันเลื้อยเก่งอย่างกับปลาไหล หลอกล่อให้พวกอังกฤษเข้าเมืองหน้าโง่เชื่อว่าถ้าเลือกผู้สมัครตามที่มันบอกแล้วทุกคนจะมีงานทำ เชอะ ! ฝันไปเถอะ ! หารู้ไม่ว่าตำรวจทั้งกรมน่ะอยู่ในมือข้าหมดแล้ว แค่ไปติดสินบนสันติบาลอีกรอบ สั่งให้ไล่จับพวกอังกฤษมาขังคุกสัก ๑๐๐-๒๐๐ คน จะได้ออกมาหย่อนบัตรเลือกตั้งไม่ได้ ชัยชนะครั้งหน้าก็เป็นของข้าเห็นๆ
ใครๆ ก็เข้าเมืองผิดกฎหมายมาทั้งนั้น ชัยชนะอยู่ที่ใครมีอำนาจ และใช้อำนาจ “เลี้ยง” ถูกคนต่างหาก !
ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ การเลือกตั้งหลายครั้งแทนที่จะเป็นเวทีที่ประชาชนมาเลือกผู้สมัครที่มีนโยบายโดนใจ กลับกลายเป็น “เวที” ต่อรองอำนาจที่ผู้มีสิทธิ์ไร้ทางเลือก แต่ในบรรดาประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ มีน้อยฉากที่จะตื่นเต้น เชือดเฉือน และเลือดสาดเท่ากับมหานครนิวยอร์กตอนต้นศตวรรษที่ ๒๐ ยุคที่องค์กรทางการเมืองนาม Tammany Hall “หากิน” กับคลื่นผู้แร้นแค้นจากยุโรปที่ซมซานขึ้นฝั่งมาแสวงหา “ความฝันแบบอเมริกัน” จนได้รับสมญา “มาเฟียเลือกตั้ง” และสามารถคุมผู้ดำรงตำแหน่งทาง
การเมืองทุกระดับ ก่อนที่จะถูกการเมืองภายในและคดีความบั่นทอนจนค่อยๆ หมดอิทธิพลลงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
เกม Tammany Hall จำลองความโกลาหลและกลเกมแห่งอำนาจของ Tammany Hall ในประวัติศาสตร์ โดยใช้กฎแสนง่ายที่อธิบายจบภายใน ๑๐ นาที และใช้เวลาเล่นไม่เกิน ๙๐ นาที
เกมนี้มีทั้งหมด ๑๖ ตา ๑ ตาเท่ากับ ๑ ปีในเวลาเกม แอกชันหลักๆ ของเราแต่ละตาคือเลือกว่าจะวาง “หัวคะแนน” (ward boss) ของเรา ๒ ตัวลงในเขตเลือกตั้ง ๑ เขต (จากทั้งหมด ๑๕ เขต) หรือจะวางหัวคะแนน ๑ ตัวใน ๑ เขต แล้ววางผู้อพยพ (ก้อนสี่เหลี่ยม) ๑ ก้อนจากกองกลางลงในเขตใดก็ได้ ถ้าเลือกอย่างหลัง เราจะหยิบชิป “ทุนการเมือง” ได้ ๑ อัน สีต้องตรงกับเชื้อชาติของผู้อพยพในเขตนั้นๆ
ผู้อพยพในเกมที่จะชี้เป็นชี้ตายให้แก่เรามี ๔ ชาติตามประวัติศาสตร์นิวยอร์ก ได้แก่ ไอริช (แทนด้วยสีเขียว) อังกฤษ (สีขาว) อิตาลี (สีฟ้า) และเยอรมัน (สีส้ม) ผู้อพยพเหล่านี้ไม่ได้เป็นของผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง แต่การ “ได้เสียง” จากพวกเขาเป็นกุญแจแห่งชัยชนะในเกมนี้
การนับคะแนนในเกมนี้เกิดขึ้นทุก ๔ ตา หรือ ๔ ปี เมื่อมีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก โดยจะนับคะแนนเสียงทีละเขต ผู้เล่นที่จะชิงชัยกันจะต้องมีหัวคะแนนของตัวเองอย่างน้อย ๑ ตัวในเขตนั้นๆ หัวคะแนนแต่ละตัวมีค่าเท่ากับคะแนนเสียง ๑ เสียง แต่ผู้เล่นสามารถหยิบเอาชิปทุนการเมืองที่ตัวเองมีกี่อันก็ได้มาสร้างคะแนนเพิ่ม จะใช้ชิปสีเดียวหรือหลายสีก็ได้ แต่ต้องเป็นสีเดียวกับผู้อพยพที่อาศัยอยู่ในเขตนั้นๆ
“ชิปทุนการเมือง” ๔ สีแทนผู้อพยพ ๔ เชื้อชาติในนิวยอร์ก
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเขตที่กำลังนับคะแนนมีผู้อพยพชาวไอริช (สีเขียว) กับเยอรมัน (สีส้ม) มีหัวคะแนนของผู้เล่นคนแรกยืนอยู่ ๒ ตัว หัวคะแนนของผู้เล่นคนที่ ๒ ตัวเดียว ผู้เล่นคนแรกมีชิปทุนการเมืองสีขาว สีฟ้า และสีส้ม อย่างละ ๔, ๓, และ ๑ อันตามลำดับ ผู้เล่นคนที่ ๒ มีชิปสีเขียว ๒ อัน สีส้ม ๓ อัน กรณีนี้ผู้เล่นคนแรกมีสิทธิ์ใช้ชิปได้สูงสุด ๑ อัน (สีส้ม) สีขาวกับสีฟ้าใช้ไม่ได้เพราะเขตนี้ไม่มีคนอังกฤษกับอิตาลีอยู่ ผู้เล่นคนที่ ๒ ใช้ชิปได้สูงสุด ๒+๓ (สีเขียว+ส้ม) = ๕ อัน แปลว่าผู้เล่นคนแรกจะได้คะแนนรวม ๒ ตัว+๑ อัน = ๓ เสียง ผู้เล่นคนที่ ๒ จะได้ ๑ ตัว+๕ อัน = ๖ เสียง แต่ผู้เล่นคนที่ ๒ อาจจะเก็บชิปสีส้มไว้ ๒ อัน เพราะ
รู้ว่าแค่ ๔ เสียงก็ชนะแล้ว
ในเมื่อชิปในเกมสะท้อน “ทุนการเมือง” ฉะนั้นทุกอันจึงใช้แล้วหมดไป ไม่ว่าจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ เหมือนกับการทุ่มหาเสียงในโลกจริง เกมนี้ห้ามซ่อนชิป แต่ให้เราแอบหยิบชิปทุนการเมืองมาใส่มือ แบมือดูพร้อมกันเฉพาะตอนนับคะแนนเท่านั้น ดังนั้นผู้เล่นทุกคนจึงต้องครุ่นคิดว่าอยากทุ่มทุนเพื่อชัยชนะ หรือจะปล่อยผ่านให้คนอื่นชนะ เก็บทุนการเมืองไว้ทุ่มในเขตต่อไป แต่ก็ไม่มีทางรู้ว่าคนอื่นจะสับขาหลอกเราสองตลบหรือเปล่า ทำให้ต้องกะเก็ง ใช้ทั้งฝีมือผสมโชค และได้ลุ้นกันตัวโก่งทุกเขต
แต่ละเขตพอนับคะแนนเสียงแล้ว ผู้เล่นทุกคนต้องเก็บหัวคะแนนทุกตัวออกจากเขตกลับเข้ามือ ยกเว้นหัวคะแนน ๑ ตัวของผู้เล่นที่ชนะการเลือกตั้ง เขตไหนคะแนนเสียงเสมอกันเท่ากับไม่มีผู้ชนะ การนับคะแนนจะไล่ไปเรื่อยๆ ตามลำดับที่ระบุบนกระดาน (ดูจากเลขที่เขตและทิศลูกศร เลขน้อยนับก่อน) เริ่มตั้งแต่ย่านการค้าและธุรกิจชายฝั่งไปจนถึงโซนในเมือง ผู้ชนะเขตชายฝั่งบางเขตจะได้ “โบนัส” ทันทีในรูปของชิปทุนการเมืองหรือก้อนผู้อพยพสีใดก็ได้ ซึ่งอาจเปลี่ยนผลการเลือกตั้งในเขตต่อไปได้ทันที
ผู้ชนะแต่ละเขตจะได้ ๑ คะแนน เขตกลางเมืองที่มีสำนักงานใหญ่ของ Tammany Hall อยู่จะได้ ๒ คะแนน ใครชนะมากเขตที่สุดจะได้อีก ๓ คะแนน และได้คุมตำแหน่งนายกเทศมนตรีต่อไปอีก ๔ ปี เสร็จแล้วก็จะมานับก้อนผู้อพยพทีละสีรวมกันทุกเขตว่าใครมีอิทธิพลเหนือผู้อพยพแต่ละชาติมากที่สุด (มีจำนวนก้อนผู้อพยพในเขตที่ตัวเองชนะเลือกตั้งรวมกันมากที่สุด) ผู้ชนะจะได้ชิปทุนการเมืองเพิ่มอีก ๓ อันในสีที่ตัวเองชนะ ตอนจบเกมใครที่มีชิปทุนการเมืองมากที่สุดจะได้อีกสีละ ๒ คะแนน
กฎของเกมนี้หลักๆ มีเพียงเท่านี้ แต่สิ่งที่ทำให้เกมนี้เร้าใจคือกฎเสริมที่ทำให้เชือดเฉือนกันอย่างไม่ปรานี ไม่แพ้หัวคะแนน ตัวจริง เช่นคนที่คุมนายกเทศมนตรีจะต้อง “แจก” ตำแหน่งให้แก่ผู้เล่นคนอื่นที่เหลือ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความสามารถพิเศษ เช่น อธิบดีกรมตำรวจมีอำนาจ “เตะ” ผู้อพยพ ๑ ก้อนออกจากเขตใดก็ได้ทุกตา บางตำแหน่งสามารถ “ล็อก” เขตเลือกตั้งได้ ๒ เขตทุก ๔ ปี ไม่ให้คนอื่นวางหัวคะแนนหรือเติมผู้อพยพอีก นอกจากนี้ตั้งแต่ตาที่ ๕ เป็นต้นไป เรายังสามารถใช้แอกชัน “ดิสเครดิต” ๑ ครั้งทุก ๔ ปี เตะหัวคะแนนของผู้เล่นคนอื่นออกไปจากเขตที่เรามีหัวคะแนนอยู่ เงื่อนไขคือเราต้องเสียชิปทุนการเมือง ๑ อัน สีใดก็ได้ที่ตรงกับสีของผู้อพยพในเขตนั้นๆ (เพราะการดิสเครดิตคนอื่นต้องอาศัยฐานเสียงของตัวเองช่วย)
กลไกของเกมนี้การันตีว่าเราจะได้เห็นการต่อรองแบ่งเขตอำนาจ การหักหลัง และการเชือดเฉือนอย่างเข้มข้นไม่ต่างจากโลกจริง เพราะการทำคะแนนในเกมนี้คือการ “แย่ง” คะแนนมาจากคนอื่น ในเมื่อแต่ละเขตมีผู้ชนะได้คนเดียว
ใครอยากรู้ว่าโลกแห่งอำนาจทั้งหอมหวนและน่ากลัวเพียงใด เกม Tammany Hall ก็พิสูจน์ให้เห็นอย่างแจ่มชัด สมดังคำกล่าวของ Boss Tweed มาเฟียผู้โด่งดังที่สุดแห่ง Tammany Hall ในประวัติศาสตร์ ที่ว่า “วิธีที่จะมีอำนาจก็คือต้องแย่งมันมา”
- ภาพจาก http://img.gawkerassets.com/img/18bvvefz69b91jpg/original.jpg และ http://cf.geekdo-images.com/images/pic1584850_md.jpg