งานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 9
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ เขียน
ออน ช่างภาพ

library01

ชิ้นส่วนหนังสือ…

library06

ใบลานสานอดีต…

ธง ‘กรุงเทพฯเมืองหนังสือโลก’ ใหม่เอี่ยมโบกสะบัดตัดกับภาพผนังปูนเลอะคราบกาลเวลา เสียงฝูงสุนัขเจ้าถิ่นเห่าขรมต้อนรับผู้มาเยือนห้องสมุดประชาชนอนงคารามย่านคลองสานที่ตั้งตระหง่านท้าทายการเปลี่ยนแปลงในซอยข้างกำแพงวัดชื่อเดียวกัน ด้วยความที่เป็นห้องสมุดประชาชนแห่งเดียวในละแวกนี้กระมัง ที่ทำให้นักอ่านอย่างผมมุ่งเข้าหาอย่างไม่ลังเล

ห้องสมุดผูกพันกับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ในสมัยสุโขทัย หอไตรเปรียบเสมือนห้องสมุดในรั้ววัดที่เก็บคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนาอย่างพระไตรปิฎก บางแห่งได้มีการรวบรวมตำรายา หรือตำราโหราศาสตร์ ก่อนจะพัฒนาสู่จารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งถือเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรก เผยแพร่ตำรับแพทย์แผนไทยแก่ราษฎรทั่วไป จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริ อุทิศถวายหอสมุดวชิรญาณเพื่อเป็นหอสมุดสำหรับพระนคร

บรรยากาศเงียบขรึมของห้องสมุดกึ่งไม้กึ่งปูนทักทายผมอย่างเป็นมิตร ฝูงสุนัขที่คุ้นชินกับผู้มาเยือนเริ่มสงบเสียง ผมมุ่งเดินไปทางขวาก่อนพบกับพี่น้อย ชาวชุมชนคลองสานที่กำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ ข้างกายมีสาวน้อยวัยซนที่กางหนังสือภาพอ่านอย่างเพลิดเพลิน ผมยิ้มทักก่อนเริ่มบทสนทนาเรียบง่ายในยามบ่าย

“ผมรู้จักห้องสมุดนี้ตั้งแต่สิบขวบ ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมาก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีการปรับปรุงใหม่ หนังสือใหม่ก็ไม่มากนัก ดีที่อยู่ใกล้บ้าน ผมก็เลยพาลูกๆมาหาหนังสืออ่านช่วงวันหยุด” เขาขยับแว่นตาพลางตอบคำถาม ขณะที่พยักเพยิดไปยังลูกสาวอีกคนหนึ่ง ที่กำลังง่วนกับของเล่นในมุมเด็ก

“ส่วนใหญ่ชาวบ้านในชุมชนแถวนี้ก็จะมาที่นี่ในเวลาว่าง ส่วนใหญ่เป็นเด็กไม่ก็คนแก่” เขาตอบ ก่อนไพล่สายตาไปยังผู้ร่วมใช้บริการห้องสมุด ชายชราผมขาวโพลนที่เลือกม้านั่งริมหน้าต่างใฝ่หาความสงบเพียงลำพัง

ภาพเด็กสาวตัวน้อยเบื้องหน้าที่จมดิ่งอยู่หลังหนังสือภาพท่ามกลางเสียงเพลงอึกทึกจากเขตรั้ววัด ทำให้ผมนึกถึงตัวเองในวัยเด็ก วัยที่เราทำความรู้จักโลกใบใหญ่ผ่านหน้าหนังสือนิทาน
ชิ้นส่วนความฝัน เหนือโต๊ะริมประตู

ลุงไพรวัลย์แนะนำตัวเองว่าเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลห้องสมุด ก่อนเล่าประวัติคร่าวๆของห้องสมุดให้เราฟัง

อาคารนี้แต่ก่อนเป็นโรงเรียนปริยัติธรรมของวัดอนงคารามวรวิหาร ต่อมาวัดก็ได้มอบให้เป็นห้องสมุดประชาชนในปี พ.ศ. 2509 ซึ่งสมเด็จย่าฯทรงเสด็จเป็นประธานในพิธีเปิด นับเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกๆ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 ที่รัฐบาลเปิดห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ 17 แห่ง

ตลอด 5 ปีที่ทำงานมา นอกจากหนังสือใหม่ที่จัดซื้อปีละครั้ง ห้องสมุดก็แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เว้นแต่เกิดเรื่องเพราะเด็กโดนหมากัด จนเป็นกิตติศัพท์ให้ไม่ค่อยมีใครกล้ามาอีก

“ถ้าอยากดูห้องสมุดดีๆ ต้องไปดูที่ภาษีเจริญ ห้องสมุดเขาปรับปรุงแล้ว มีคอมพิวเตอร์ เราก็อยากให้ที่นี่มีคอมพิวเตอร์ คนเขาจะได้เข้ามาเยอะๆบ้าง”

แววตาของลุงหม่นลงราวกับรำลึกถึงวันวานที่มีเหล่าเด็กๆตัวน้อยมาสร้างสีสันให้กับห้องสมุด เขาเชื่อว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเป็นชิ้นส่วนที่มาเติมเต็มความฝันให้ห้องสมุดกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

library02

เหนือโต๊ะหนังสือยังมีหนังสือ…

library03

ความฝันระหว่างชั้นหนังสือ…

ชิ้นส่วนความฝัน บนชั้นสองห้องสมุดอนงคาราม

ผมเดินผ่านนาฬิกาเจ้าคุณปู่เรือนใหญ่ ย่ำไปตามบันไดไม้สู่ชั้นสองของอาคาร ก่อนประจันกับองค์พระปฏิมา ประธานโต๊ะหมู่บูชาขนาดใหญ่ ด้านซ้ายคือชั้นหนังสือวิชาการและหนังสืออ้างอิง ส่วนด้านขวาคือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตคลองสาน ทั้งชั้นร้างไร้ผู้คน มีเพียงองค์พระพุทธรูปที่ส่งยิ้มละไมทายทักผู้มาเยือน

เสียงเจื้อยแจ้วแว่วดังมาจากชั้นล่าง ก่อนที่หญิงสาวร่างอิ่มจะเร่งฝีเท้าเพื่อมาต้อนรับเรา พี่พิมพ์ พิมประภา สุวรรณรัตน์ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เขตคลองสานยิ้มทักทายก่อนชักชวนเราให้เดินผ่านประตูสู่ห้องด้านขวา ภายในจัดแสดงนิทรรศการประวัติชุมชนคลองสาน โดยมีพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จย่าฯ ประทับสง่าอยู่เบื้องหลังตู้ลายรดน้ำสมัยอยุธยา

“ที่นี่เขารีบเปิด ก็เลยต้องขอแบ่งที่จากห้องสมุด ทุกเขตก็เป็นแบบนี้ ยี่สิบกว่าเขตมีปัญหาเดียวกัน คือแทบไม่มีคนมาเที่ยว”

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการสร้างแหล่งเรียนรู้เรื่องสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น โครงการดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯทั้งสิ้น 27 แห่ง แต่ละแห่งมีลักษณะการนำเสนอคล้ายคลึงกัน คือเป็นนิทรรศการ ประกอบกับการจัดแสดงวัตถุโบราณหรือข้าวของเครื่องใช้ตามวิถีวัฒนธรรม

พี่พิมพ์รับหน้าที่เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เขตคลองสานเป็นรุ่นที่สาม ทำงานมาแล้วกว่า 7 ปี หญิงวัยกลางสามสิบเดินนำเราชมนิทรรศการโดยรอบ อธิบายเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนคลองสานอย่างชัดเจนน่าฟัง

เธอเล่าถึงประวัติศาสตร์สมัยเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่คลองสานเป็นย่านการค้าเก่า ตำนานและความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเข้าพ่อเสือ ไล่เรียงไปถึงมัสยิดภายในชุมชน รวมทั้งโรงน้ำปลาและโรงเกลือที่ปัจจุบันความรุ่งเรืองเป็นเพียงภาพเงาอันเลือนราง ทั้งลีลาท่าทางรวมทั้งรายละเอียดที่พี่พิมพ์อธิบาย สะท้อนถึงความรักในชุมชนคลองสานและความชื่นชอบในพิพิธภัณฑ์ สถานที่ที่พี่พิมพ์เคยตระเวนเที่ยวแทบทุกแห่งทั่วกรุงเทพฯ

“อย่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี่ดีมาก ถ้าคนชอบนะ ดูเดือนนึงก็ไม่หมด แต่มันไม่มีคนนำชม คนไปเที่ยวก็เหมือนนั่งรถไฟ ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง” เธอกล่าวอย่างติดตลก

ผมเดินมาหยุดที่หน้าตู้ลายรดน้ำ บานประตูด้านหน้าส่วนบนเขียนเป็นลายธรรมชาติผูกลายกระแต ส่วนด้านล่างเสนอเรื่องราวของมโหสถชาดก ตอนพระเจ้าจุลนีพรหมทัตยกทัพตีเมืองมิถิลาทางชลมารค ที่น่าแปลกใจคือรูปลักษณ์ของทหารในภาพ ซึ่งมีชนชาติเปอร์เซียและยุโรปปะปน มีข้อสันนิษฐานว่า ตู้ลายรดน้ำดังกล่าวน่าจะถูกสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น

‘ลายรดน้ำ’ เป็นงานจิตรกรรมชั้นสูงแขนงหนึ่งของไทย เป็นการทำลายภาพปิดด้วยทองคำเปลวบนพื้นรักสีดำหรือสีแดง เป็นศิลปะเพื่อตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ในพุทธศาสนา เช่นตู้พระธรรมซึ่งใช้เก็บคัมภีร์ต่างๆที่จารลงใบลานในหอไตร งานช่างลายรดน้ำในปัจจุบันแทบจะสูญหายไปจากสังคมไทย เนื่องจากเป็นงานประณีตศิลป์ที่ช่างต้องมีความบรรจง ละเอียด รอบคอบ และที่สำคัญคือต้องทำงานด้วยใจรัก

“ตู้ใบนี้นี่สวยถึงขนาด น. ณ ปากน้ำเคยเขียนถึงเลยนะ แต่ก่อนมีวางตรงบันไดอีกสองตู้กับตรงห้องพระอีกหลายตู้ แต่พอไม่มีคนดูแลเขาก็ถอดแยกออกเป็นส่วนๆแล้วจำหน่ายออกไปหมด เหลือแค่ตู้นี้ที่ยังคงสภาพไว้เพราะมันขยับเขยื้อนไปไหนไม่ได้”

พี่พิมพ์ยื่นมือไปสัมผัสกับห่วงเหล็กขึ้นสนิม เบื้องหลังประตูไม้โบราณคือห่อสมุดใบลานอัดแน่นเต็มตู้ สภาพการเก็บรักษายังค่อนข้างสมบูรณ์ แม้บางแห่งจะมีร่องรอยของเชื้อรา

“คัมภีร์ใบลานพวกนี้ยังไม่ได้รับการชำระถอดความ แต่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตำรายา หรือไม่ก็บทสวดมนต์” เธอกล่าวก่อนจะเปรยถึงรองศาสตราจารย์สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรที่สนใจตู้ลายรดน้ำนี้เช่นกัน

“คนไทยไม่ชอบเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ไม่ชอบเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตัวเอง แล้วจะหาคนมานั่งอยู่อย่างนี้มันหายาก ให้มานั่งเฉยๆก็ได้ แต่มันต้องบรรยาย ต้องต้อนรับ ซี่งหายากมาก พี่เคยคิดจะออกนะ แต่ไม่มีใครทำต่อ”

พี่พิมพ์เอ่ยถึงความฝันที่อยากเห็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้น่าสนใจ เช่นเดียวกับมิวเซียมสยาม หรือพิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร ที่มีลูกเล่นแสงสีให้ผู้เข้าชมไม่รู้สึกเบื่อหน่าย

“ที่นี่ เราได้แต่ฝัน แต่เราทำไม่ได้”

สำเนียงของเธอสะท้อนความเหนื่อยอ่อนจากการกรำงานหนัก แม้อายุจะล่วงเลยแต่ไฟฝันของเธอก็ไม่มีทีท่าจะดับมอดลง ท่าทีของเธอบอกกับผมว่า หากมีโอกาสก็พร้อมจะพัฒนาศักยภาพเพื่อเผยแพร่เรื่องราวและตำนานในท้องถิ่นคลองสานให้เป็นที่รู้จัก โอกาส… ที่พี่พิมพ์เองก็ไม่ทราบว่าจะมาถึงเมื่อไร

library04

ห้องสมุดในรั้ววัดอนง…

library05

อ่านเพลินเกินหลับไหล…

ชิ้นส่วนความฝัน ระหว่างชั้นหนังสือ

แดดยามเย็นขับไล่เสียงอึกทึกในรั้ววัดจนหลงเหลือเพียงความสงบ อีกไม่นานห้องสมุดก็จะถึงเวลาปิดทำการ ความเคลื่อนไหวหนึ่งเดียวในห้องสมุดมาจากชายวัยต้นห้าสิบที่ไล่เรียงสายตาไปตามชั้นหนังสือริมหน้าต่างราวกับกำลังเฟ้นหาลายแทงสมบัติสู่การผจญภัยบทใหม่

แม้จะไม่ใช่คนในท้องถิ่น ลุงประเวศ จันทรสุนทร ปักหลักอยู่ที่ชุมชนคลองสานเป็นเวลากว่าหนึ่งปี หากวันไหนที่ไม่ติดธุระ เขาก็จะมานั่งอ่านหนังสือตั้งแต่เช้า

“ที่นี่มีทุกอย่างพร้อม เราสามารถหาข่าวได้ ที่แน่ๆมีหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ตอนนี้เราต้องอ่านข่าวหลายๆหัว บางทีอ่านได้หัวนึง แต่เราต้องมากรอง ต้องมากลั่น หนังสือพิมพ์บางฉบับก็วิจารณ์แต่มันเป็นแค่ความรู้สึก ถ้าเราไปตามอย่างเดียว เชื่ออย่างเดียว มันไม่ได้ เขาก็มอมเมาเรา”

บทสนทนาเลื่อนไหลไปสู่ประเด็นเรื่องหนังสือ ลุงประเวศประกาศตัวว่าเป็นแฟนตัวยงของนวนิยายชุด ‘เพชรพระอุมา’ เรื่องราวการผจญภัยตามล่าสมบัติของ ‘รพินทร์ ไพรวัลย์’ นวนิยายยอดนิยมตลอดกาลจากปลายปากกานักเขียนชั้นครู ‘พนมเทียน’

“แต่ก่อนก็เช่าอ่านเอา แต่พอมีห้องสมุดก็มาอ่านที่นี่ เสียอย่างเดียว ที่นี่มีหนังสือไม่ครบชุด พอบางเล่มหายไปมันก็ไม่สะดุด คือมันไม่ต่อเนื่อง บางครั้งไม่รู้จะทำยังไงก็ต้องหยิบเล่มเดิมมาอ่านซ้ำ อ่านวนไปวนมาอยู่อย่างนั้น คือผมไม่อยากได้อะไรเพิ่มหรอก แค่มีหนังสือให้ครบก็พอ”

ความฝันชิ้นเล็กๆของคนเล็กๆที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณออกเดินทางเยี่ยงนักผจญภัย แน่นอนว่ามันอาจไม่สวยหรูเทียบเท่ากับความฝันของใครหลายคน แต่เพราะความฝันเล็กๆเช่นนี้ไม่ใช่หรือ ที่คอยเติมลมหายใจให้เรายังมีชีวิตอยู่

ชิ้นส่วนความฝัน ที่รอวันกลายเป็นความจริง

ไม่ว่าห้องสมุดแห่งไหน ก็ย่อมไร้ชีวิตชีวาหากขาดบรรณารักษ์ น่าเสียดายที่พี่ณัชชา บรรณารักษ์ประจำห้องสมุดประชาชนอนงคาราม ไม่สามารถมาพบกับเราได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างพักฟื้นหลังประสบอุบัติเหตุจนกระดูกขาหัก

ผมกดเบอร์โทรศัพท์ที่จดมาจากลุงไพรวัลย์ ภาพหญิงสวมแว่นตาหนาเตอะหลังชั้นหนังสือที่มักเกรี้ยวกราดใส่เด็กวัยซนที่ส่งเสียงดังถูกสร้างขึ้นในห้วงความคิด ก่อนที่ภาพนั้นจะมลายหายไปเมื่อผมได้ยินเสียงกังวานใสจากปลายทาง

“ห้องสมุดนี้เหมือนศูนย์กลางของชุมชน นอกจากที่นี่ก็จะมีห้องสมุดประชาชนคลองสาน แต่ที่นั่นเล็กเพราะเป็นแค่ห้องแถวหนึ่งห้อง หนังสือก็น้อยถ้าเทียบกับห้องสมุดฯอนงคาราม”

โชคดีที่อีกไม่นานพี่ณัชชาจะสามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้ง ในปีนี้เอง ที่ห้องสมุดฯอนงคารามจะได้รับเงินก้อนโตเพื่อมาพลิกฟื้นคืนชีวิต หลังจากถูกแช่แข็งท่ามกลางกระแสเวลานับสามทศวรรษ ข่าวดีทั้งสองชิ้นทำให้ผมเอ่ยถึงชิ้นส่วนความฝันที่ผ่านพบในห้องสมุด พี่ณัชชานิ่งฟังผมเล่าจนจบ ก่อนเอ่ยถึงแนวทางการปรับปรุงเพื่อให้ห้องสมุดฯองคารามเป็นห้องสมุดในฝันของชาวชุมชนคลองสาน

“พี่อยากพัฒนาห้องสมุดให้ทันสมัย ติดแอร์อำนวยความสะดวกผู้มาใช้บริการ เพิ่มเทคโนโลยีที่จำเป็นอย่างคอมพิวเตอร์ แล้วก็จัดซื้อหนังสือใหม่ๆ เพราะเด็กๆมาใช้บริการเยอะ อย่างนักเรียนโรงเรียนบำรุงวิชาที่เขาไม่มีห้องสมุดจะได้มาใช้บริการที่นี่ ไม่ต้องเดินทางไปไหนไกลๆ”

แม้จะมีข่าวดีจากส่วนกลาง แต่มันก็มาพร้อมกับความคลุมเครือ ซึ่งพี่ณัชชาก็ยังตอบไม่ได้ว่าเมื่อไรที่งบประมาณจะสามารถเบิกใช้เพื่อปรับปรุงห้องสมุด

ทั้งๆที่ความหวังเริ่มโชนแสง แต่เราก็ไม่อาจเอื้อมมือไปคว้าจับ สิ่งเดียวที่พวกเรา เหล่าคนตัวเล็กๆในสังคมทำได้คือรอ รอ…วันที่แต่ละชิ้นส่วนความฝัน จะถูกเติมเต็มจากเบื้องบน ให้กลายเป็นความจริง