เรื่อง : ประจักษ์ ก้องกีรติ

14oct

กาลครั้งหนึ่ง ไม่นานมาแล้ว ก่อนภูเขาไฟระเบิด…

เดือนตุลาคมเมื่อ ๔๐ ปีก่อน บนท้องถนนราชดำเนิน คลื่นมนุษย์กว่า ๕ แสนคนออกมาร่วมชุมนุมกับเพื่อนร่วมชาติที่พวกเขาไม่เคยรู้จักหน้าค่าตากันมาก่อน พวกเขาเดินไปด้วยความมุ่งมั่น ฮึกเหิม ด้วยความใฝ่ฝันอันงดงามถึงประชาธิปไตยและสังคมที่เสมอภาค ด้วยความรู้สึกแรงกล้าว่าบ้านเมืองถึงเวลาเปลี่ยนแปลง และมันเปลี่ยนได้ด้วยพลังของประชาชนคนสามัญ

เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกบันทึกไว้ในปฏิทินประวัติศาสตร์ไทย เรียกขานจดจำกันสั้นๆ ว่า “๑๔ ตุลา”

แม้ว่าตัวเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาจะจบลงอย่างสมบูรณ์แล้ว แต่ประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลายังไม่จบ ประวัติศาสตร์ในความหมายของการที่สังคมบันทึกจดจำอดีตอันล่วงเลยผ่านไป  การถกเถียงว่า ๑๔ ตุลามีความสำคัญอย่างไรต่อพัฒนาการเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองไทย ยังดำเนินไปอย่างเร่าร้อน ดุเดือด ทั้งในแง่รายละเอียดข้อเท็จจริงและฐานะความสำคัญของ ๑๔ ตุลาในสายธารประวัติศาสตร์

ประจักษ์พยานของความเห็นอันไม่สอดคล้องต้องกันนี้ ปรากฏในคำเรียกขานเหตุการณ์ต่างๆ นานา อาทิ “วันมหาปิติ” “วันมหาวิปโยค” “อุบัติเหตุ 2516” “การปฏิวัติตุลาคม” “วันสิทธิเสรีภาพ” “วันประชาธิปไตย” หรือ “วัน 14 ตุลาประชาธิปไตย”

ท่ามกลางการต่อสู้ช่วงชิงเพื่อให้ความหมายจริงแท้หนึ่งเดียวต่อเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาของบรรดานักวิชาการและคนรุ่นเดือนตุลาฯ ที่ผ่านการต่อสู้มาโดยตรง  คนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันต่างรับรู้ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นอย่างสับสนและเต็มไปด้วยคำถาม ความทรงจำของพวกเขากระจัดกระจาย แตกเป็นเสี่ยง และจับต้นชนปลายไม่ถูก กระทั่งไม่อาจเชื่อมโยงได้ว่าเหตุการณ์บนท้องถนนเมื่อ ๔ ทศวรรษก่อนเกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาในปัจจุบันอย่างไร  อันที่จริงมิใช่เพียงคนรุ่นหลังที่สับสน คนจำนวนมากที่เกิดทันและมีชีวิตอยู่ร่วมยุคสมัยก็จดจำประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลาได้อย่างรางเลือนและขาดวิ่นไม่แพ้กัน

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเขียนหรือ “เล่า” ประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลาที่ผ่านมาถูกทำให้เป็นประวัติศาสตร์ของคนเฉพาะกลุ่ม เห็นแต่ความสูญเสียและความรุนแรงจนกลบมิติอื่นๆ ไปเสียหมด  ความผิดพลาดสำคัญคือ หนึ่ง มุ่งสนใจเฉพาะมิติทางการเมืองในความหมายของการชุมนุมประท้วง โดยละเลยมิติทางสังคมวัฒนธรรม และการเมืองที่ซุกซ่อนอยู่ในกิจกรรมซึ่งดูเหมือนไม่เป็นการเมือง และ สอง สนใจแต่ตัวเหตุการณ์ชุมนุมไม่กี่วัน โดยไม่สนใจกระบวนการที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้คนรุ่นหลังไม่อาจเข้าใจว่าคนเรือนแสนลุกขึ้นมาต่อสู้เสี่ยงชีวิตเพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จการทหารจนสำเร็จได้อย่างไร

ลำพังตัวเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นั้น ครอบคลุมเพียงชั่วระยะเวลาอันสั้นราว ๑๑ วัน นับตั้งแต่วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญเปิดแถลงข่าวไปจนถึงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่สามทรราชเดินทางออกนอกประเทศ

การบันทึกและเผยแพร่ประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลาที่ผ่านมา ทุกฝ่ายมักสนใจว่าใครทำอะไร (และไม่ทำอะไร) ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เช่น เถียงกันว่า พันเอก ณรงค์ กิตติขจร ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยิงประชาชนผู้ประท้วงที่ถนนราชดำเนินจริงหรือไม่ จอมพลถนอมเซ็นคำสั่งให้ทหารปราบปรามประชาชนจริงหรือไม่ ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังให้เกิดการปะทะที่หน้าพระตำหนักจิตรลดา ฯลฯ

ข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเหตุการณ์ ๑๔ ตุลามีความสำคัญอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่ามีผู้คนมากมายต้องสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการจากเหตุการณ์นี้ รวมทั้งญาติของบุคคลเหล่านั้น  การค้นหาความจริงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำมาซึ่งความยุติธรรม ทั้งต่อผู้เสียชีวิต ญาติ ผู้ถูกกล่าวหา และบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ความจริงเกี่ยวกับการปราบปรามประชาชนโดยรัฐไม่เคยถูกชำระสะสางแม้แต่ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ไทย และนี่คือเหตุผลที่ทำให้สังคมไทยสลัดไม่หลุดจากวงจรของความรุนแรงจนถึงปัจจุบัน

แต่ความกระจ่างแจ้งของเหตุการณ์และประวัติศาสตร์แบบ “ปฏิทิน” (timeline) ไม่อาจทำให้สังคมและคนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทัน เข้าใจและเรียนรู้การอุบัติขึ้นของ ๑๔ ตุลาได้อย่างแท้จริง  คนเหล่านี้เป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงตัดสินใจทำหรือไม่ทำ อะไรเป็นแรงผลักดันหรือเหตุผลเบื้องหลัง ตัวละครในประวัติศาสตร์ คิดรู้สึก คาดหวังอะไร  การตอบคำถามเหล่านี้จำเป็นต้องศึกษามากไปกว่าเฉพาะตัวเหตุการณ์โดยลำพังจึงจะเข้าใจว่า ๑๔ ตุลาไม่ใช่ “อุบัติเหตุ” “โชคชะตาฟ้าลิขิต” หรือ “ความบังเอิญ” แต่เป็นกระบวนการคลี่คลายทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง ที่เหตุปัจจัยต่างๆ มาบรรจบประสานกันอย่างพร้อมเพรียง

๑๔ ตุลาก็เปรียบเสมือนปรากฏการณ์ภูเขาไฟระเบิด ที่กว่าจะระเบิดออกมาจำต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงอันยาวนาน  ลำพังการเพ่งมองยอดภูเขาไฟ ณ ห้วงเวลาแห่งการปะทุของเปลวเพลิงและลาวา ย่อมทำให้ผู้สังเกตการณ์เห็นเพียงผลลัพธ์บั้นปลาย โดยไม่เห็นการสะสมของแรงบีบอัดที่อยู่เบื้องล่างก่อนวันเวลาแห่งการปะทุ

๑๔ ตุลากับการปฏิวัติทางการเมืองวัฒนธรรม

หากจะให้นิยาม ๑๔ ตุลาสั้นๆ ภายในหนึ่งประโยค ผู้เขียนขอกล่าวว่าคือการลุกขึ้นสู้ของประชาชนเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นพลเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย  การต่อสู้ครั้งนั้นจบลงด้วยชัยชนะของประชาชนและคนหนุ่มสาว และสิ้นสุดการปกครองสังคมไทยในระบอบคณาธิปไตยโดยกองทัพที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า ๑ ทศวรรษ  ถือเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งพลิกโฉมหน้าสังคมไทยอย่างมโหฬาร  จากการเมืองที่เป็นเรื่องของคนส่วนน้อย (ที่เรียกว่าการเมืองแบบชนชั้นนำ) ไปสู่การเมืองแบบมวลชนที่ประชาชนตาดำๆ ลุกขึ้นมาขอมีปากมีเสียงในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง

แม้จะมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับชื่อเรียกและฐานะความสำคัญของเหตุการณ์ แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งอันเป็นที่ประจักษ์ชัด คือขนาดอันใหญ่โตมโหฬารของการชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญนี้ ประเมินว่ามีผู้ร่วมชุมนุมสูงถึง ๕ แสนคน ถือเป็นการแสดงพลังทางการเมืองของประชาชนในขนาดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยทั้งก่อนหน้าและหลัง  ภาพของประชาชนหลากหลายวัย สถานะทางชนชั้น และสาขาอาชีพ ลุกขึ้นเผชิญหน้ากับทหารที่มีอาวุธครบมือบนท้องถนนอย่างไม่หวาดหวั่น ช่วยเปลี่ยนแปลงความรับรู้เดิมๆ ว่าคนไทยเฉยชาทางการเมือง รักความสงบ ไม่นิยมความขัดแย้ง ยอมรับอำนาจของผู้ปกครอง และการเปลี่ยนแปลงตามบุญกรรม มาสู่ความเข้าใจใหม่ว่าคนไทยกระตือรือร้นทางการเมืองและต้องการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของประเทศ ไม่ต่างจากพลเมืองในประเทศอื่นๆ

คนไทยก็ตื่นตัวทางการเมืองไม่แพ้ชาติใดในโลก

กล่าวถึงที่สุด ๑๔ ตุลา คือการปฏิวัติทางสังคมวัฒนธรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของสังคมไทย บรรดากรอบประเพณี แบบแผนความประพฤติ ค่านิยม และความเชื่อดั้งเดิมที่ครอบงำสังคมไทยมาเนิ่นนานหลายทศวรรษ ถูกตั้งคำถามและท้าทายจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทุกเรื่องตั้งแต่หัวจดเท้า  วิญญาณขบถของคนหนุ่มสาวค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยแห่งการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจที่ผนวกเข้ากับการเมืองโลกสมัยสงครามเย็น  ประกายไฟทางปัญญาลุกลามจากวงเสวนาแคบๆ สู่สังคมวงกว้าง จากวัฒนธรรมสู่การเมือง จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่ท้องถนน ก่อเกิดเป็นการเคลื่อนไหวซึ่งต้องจดจารจารึกไว้ในประวัติศาสตร์

ทอปบูตทมิฬ : การเมืองภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ทหาร

ระบอบเผด็จการทหารจอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส มีจุดกำเนิดจากการรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี ๒๕๐๐ ซึ่งสาเหตุของการรัฐประหารเกิดจากความขัดแย้งช่วงชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำในกองทัพ อันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการเมืองไทยจนเกือบจะกลายเป็นสถิติโลก (หรืออาจเป็นไปแล้ว)  การยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่นำมาซึ่งความไร้เสถียรภาพของการเมืองไทย

ทันทีที่ขึ้นสู่อำนาจ จอมพลสฤษดิ์ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ยกเลิกรัฐสภา และสถาปนาให้นายกรัฐมนตรีอยู่เหนือกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว  รัฐบาลทหารจับกุมคุมขังและควบคุมความเคลื่อนไหวของพลเมืองที่คิดต่างจากราชการอย่างเข้มงวด ด้วยการใช้อำนาจราวกับปกครองแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์  นอกจากล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพในร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน  จอมพลสฤษดิ์ยังฉ้อราษฎร์บังหลวงงบประมาณแผ่นดินไปเป็นสมบัติส่วนตัวจำนวนมหาศาลจนเป็นเรื่องฉาวโฉ่ภายหลังเขาเสียชีวิต

ยุคของจอมพลสฤษดิ์ยังเกิดจุดหักเหสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยกับศูนย์อำนาจโลก  สงครามเย็นระหว่างค่ายทุนนิยมนำโดยสหรัฐอเมริกากับค่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต ทำให้สหรัฐฯ ขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อปิดล้อมคอมมิวนิสต์  ประเทศไทยถูกเลือกให้เป็นศูนย์บัญชาการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค  สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในไทยอย่างเข้มข้นผ่านความช่วยเหลือต่างๆ และยิ่งเข้มข้นขึ้นเมื่อสถานการณ์ในสงครามเวียดนามทวีความรุนแรงขึ้น  การสนับสนุนจากสหรัฐฯ ช่วยเสริมสร้างและค้ำจุนอิทธิพลของกองทัพในการเมืองภายในประเทศให้สูงเด่นยิ่งขึ้น  ที่สำคัญผู้นำกองทัพยังอ้างภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ทั้งในและต่างประเทศ สร้างความชอบธรรมให้แก่การครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี ๒๕๑๑ การเมืองภายในประเทศผ่อนคลายขึ้นบ้าง และในปีถัดมาก็มีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกหลังจากทิ้งช่วงไปนานนับทศวรรษ แต่แล้วบรรยากาศที่เริ่มผ่อนคลายก็ปิดฉากลงในเวลาอันสั้นด้วยการ “ปฏิวัติ” ตนเองของจอมพลถนอมในปี ๒๕๑๔ ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศใช้  ถอยกลับไปปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จของคณะปฏิวัติ  นอกจากการยึดอำนาจตนเองจะเป็นการกระทำที่ทั้งตลกปนเศร้าและเข้าใจได้ยากยิ่งแล้ว ยังสร้างความผิดหวังให้นักศึกษาประชาชนที่หวังจะเห็นประเทศพัฒนาไปในวิถีทางประชาธิปไตยเหมือนนานาอารยประเทศ  มันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าถึงที่สุดแล้วประชาชนมิอาจคาดหวังการปฏิรูปประชาธิปไตยจากกองทัพ ทั้งยังเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งว่ากองทัพคือต้นตอปัญหาของประเทศ

“น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” : พัฒนาเศรษฐกิจ ปิดกั้นการเมือง

นอกจากการปกครองอย่างกดขี่ของเผด็จการทหารแล้ว ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทางโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมช่วงปี ๒๕๐๐-๒๕๑๖ ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา โดยบรรดาผู้นำกองทัพคงไม่คาดคิดว่านักศึกษาและชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่จะกลายมาเป็นหอกทิ่มแทงตนเองในท้ายที่สุด

“การพัฒนา” เป็นกระแสความคิดซึ่งรัฐบาลรับมาจากสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ มองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ และเอื้อประโยชน์ให้ทุนเอกชนอเมริกัน ส่วนรัฐบาลไทยพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างกระตือรือร้น เพราะเล็งเห็นว่านอกจากจะช่วยต่อต้านคอมมิวนิสต์แล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความชอบธรรมให้คณะปฏิวัติด้วย

การพัฒนาเศรษฐกิจเดินบนเส้นทางทุนนิยมอุตสาหกรรม เน้นภาคอุตสาหกรรมและบริการมากกว่าเกษตรกรรม เน้นให้ภาคเมืองเติบโตและอาศัยชนบทเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงด้านทรัพยากรและแรงงาน  รัฐบาลลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศเข้าหากัน เมืองเปลี่ยนโฉมหน้าจากที่เต็มไปด้วยคูคลอง วัดวาอาราม ปราสาทราชวัง และสวนผลไม้ กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารสำนักงาน โรงภาพยนตร์ ซูเปอร์มาร์เกต โรงแรม ไนต์คลับ โรงอาบอบนวด และศูนย์การค้า ก่อเกิดสังคมเมืองที่มีวิถีชีวิตและค่านิยมแบบใหม่  การขยายตัวของเมืองแผ่ไปถึงพื้นที่ชนบทรายรอบ เปลี่ยนทุ่งนาเป็นโครงการหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่  ในชนบทการยกเลิกเพดานจำกัดการถือครองที่ดินทำให้เกิดการเก็งกำไรที่ดินและปัญหาชาวนาไร้ที่ทำกินจนต้องอพยพเข้ามาหางานทำในเมือง ส่งผลให้จำนวนประชากรในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับปัญหาคุณภาพชีวิต

การพัฒนาที่ผูกขาดการวางแผนจากส่วนกลางภายใต้ระบอบเผด็จการนำมาซึ่งการจัดสรรผลประโยชน์อันไม่เป็นธรรม ขณะที่ผู้นำทหาร นายทุนนักธุรกิจไทยและต่างชาติได้ประโยชน์อย่างงาม กรรมกรและชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่กลับได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์เพียงเศษเสี้ยว อีกทั้งยังถูกเอารัดเอาเปรียบให้เป็นผู้แบกรับต้นทุน การพัฒนาจากการกดค่าแรงขั้นต่ำและราคาพืชผล  แต่ขณะเดียวกันการเจริญเติบโตของสังคมเมือง สื่อสารมวลชน และการศึกษาระดับอุดมศึกษา กระตุ้นให้กลุ่มทางสังคมใหม่ที่เป็นชนชั้นกลางเติบโตขึ้นมาพร้อมกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และค่านิยมซึ่งแตกต่างและขัดแย้งกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบราชการของเผด็จการทหาร

นอกจากปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจและทางสังคม ในช่วงก่อน ๑๔ ตุลาระบอบถนอม-ประภาสยังต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าหลายประการ  ภาพการเข้าคิวยาวเหยียดของประชาชนเพื่อรอซื้อข้าวทั้งที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลล้มเหลวและไม่ใส่ใจความเดือดร้อนของพวกเขา ดังนั้นเมื่อเกิดข่าวอื้อฉาวเรื่องการคอร์รัปชันในหมู่ผู้นำรัฐบาลก็ยิ่งกระตุ้นความไม่พอใจต่อรัฐบาลรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ

กล่าวในแง่นี้ ๑๔ ตุลาคือการแสดงเจตจำนงปฏิเสธยุทธศาสตร์ของรัฐเผด็จการทหารที่เร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ปิดกั้นทางการเมืองของประชาชน มันคือการเปล่งเสียงตะโกนดังๆ ให้ผู้นำรัฐบาลรับรู้ว่านอกจากความอิ่มท้องแล้ว พลเมืองไทยปรารถนาสิทธิเสรี และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่ต้องค้อมหัวให้แก่อำนาจอันไม่เป็นธรรม

ความปรารถนาข้อนี้ของประชาชนเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำทั้งในสมัยนั้นและสมัยถัดมาไม่เคยพยายามเรียนรู้

“ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน” : ความเคลื่อนไหวของนักศึกษาและปัญญาชน

ก่อนคืนวันประวัติศาสตร์แห่งการเคลื่อนขบวนลงสู่ท้องถนน นักศึกษาก่อตัวเคลื่อนไหวอย่างเงียบๆ ช้าๆ ภายในรั้วมหาวิทยาลัย เต็มไปด้วยสีสัน ทั้งลองผิดลองถูก ล้มเหลว สร้างสรรค์ ก้าวหน้า ทั้งนี้ความบ้าบิ่น ความเฮี้ยว ความกระตือรือร้น พลังมุ่งมั่น และวิญญาณขบถของคนหนุ่มสาวที่ใฝ่หาเสรี เป็นแรงขับดันสำคัญของการต่อสู้ที่เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวอย่างการแต่งกาย ขยายไปจนถึงการเรียกร้องกติกาทางการเมืองแบบประชาธิปไตย

ตลอดทศวรรษ ๒๕๐๐ และ ๒๕๑๐ นักศึกษาเป็นกลุ่มทางสังคมที่ค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลจากการขยายตัวของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แม้ว่าโดยเปรียบเทียบกับปริมาณประชากรทั้งประเทศแล้ว นักศึกษายังเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคม แต่ก็เป็นกลุ่มผู้นำทางความคิดและวัฒนธรรมใหม่ๆ

ในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจแรกๆ พลังนักศึกษาถดถอยสู่ภาวะซบเซา  สโมสรนักศึกษาทั้งของธรรมศาสตร์ จุฬาฯ เกษตรฯ ศิลปากร ถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยควบคุมอย่างใกล้ชิด  กิจกรรมนักศึกษาแทบจะกล่าวได้ว่าปลอดพ้นจากการเมือง แต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในปี ๒๕๐๖ การควบคุมการแสดงความคิดเห็นเริ่มผ่อนคลาย เริ่มปรากฏสิ่งพิมพ์ของนักศึกษาที่มีเนื้อหาสาระแหวกออกจากเรื่องรักๆ ใคร่ๆ  นักศึกษากลุ่มหนึ่งเริ่มตั้งคำถามและแสวงหาถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น  และเมื่อการเมืองเริ่มเปิดกว้าง นักศึกษากลุ่มหนึ่งก็เริ่มเข้าไปสัมผัส จับกลุ่มถกเถียงสนทนาถึงปัญหาสังคมการเมืองรอบตัว จัดเสวนา อภิปราย พิมพ์หนังสือเผยแพร่ เชื่อมต่อทางความคิดกับปัญญาชนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยผ่านนิตยสารและวารสารที่พิมพ์เผยแพร่คึกคัก  สิ่งพิมพ์ของนักศึกษาปัญญาชนมีบทบาทเผยแพร่ความจริงที่ถูกปกปิดจากรัฐบาลให้สังคมได้รับรู้และกัดกร่อนทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลเผด็จการทหารลงทีละน้อย

ในกระบวนการแสวงหาและเคลื่อนไหวทางการเมือง นักศึกษาปัญญาชนได้รับความคิดอุดมการณ์จากหลายแหล่ง ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่งผลให้พวกเขามีลักษณะหลากหลายทางอุดมการณ์ กล่าวคือเป็นทั้งเสรีนิยมประชาธิปไตย ชาตินิยม กษัตริย์นิยม และสังคมนิยม  แต่มีจุดร่วมขมวดเป็นปมเดียวกันมุ่งไปที่การต่อต้านเผด็จการทหาร และเรียกร้องประชาธิปไตย  ยิ่งย่างเข้าใกล้ปี ๒๕๑๖ พฤติกรรมของคณาธิปไตย ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ก็เป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่อาจยอมรับได้อีก  การต่อต้านเผด็จการและกระแสการเรียกร้องเสรีภาพของนักศึกษาและประชาชนปรากฏถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ  ในที่สุดทุกกระแสความคิดก็ปรากฏตัวร่วมกันในการเดินขบวนของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

ความผสมปนเปของอุดมการณ์ความคิดหลากหลายกระแสเป็นลักษณะสำคัญของขบวนการ ๑๔ ตุลา และหากเราเข้าใจความไม่เป็นเอกภาพดังกล่าวก็จะช่วยให้เราเข้าใจการปะทะกันของอุดมการณ์ความคิดหลากหลายกระแสในการเมืองปัจจุบันที่หลายอุดมการณ์สืบทอดมาจากยุค ๑๔ ตุลาได้อีกด้วย

จาก ๒๕๑๖ ถึง ๒๕๕๖

ผ่านมาแล้ว ๔ ทศวรรษ ผู้เขียนอยากทิ้งท้ายว่า การเคารพความยิ่งใหญ่ของ ๑๔ ตุลาที่ดีที่สุด คือการอย่านำเหตุการณ์นี้ไปบูชาขึ้นหิ้ง อย่าทำให้เหตุการณ์นี้ศักดิ์สิทธิ์หรือมีความหมายแข็งตัวจนแตะต้องและตีความใหม่มิได้ การทำเช่นนั้นรังแต่จะทำให้ ๑๔ ตุลา กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม และห่างไกลจากคนรุ่นหลังออกไปทุกที  ช่วยกันดึง ๑๔ ตุลาลงจากหิ้ง ปลดปล่อยมันจากการควบคุมครอบงำของประวัติศาสตร์แบบราชการที่มุ่งเน้นทำให้ประวัติศาสตร์เป็นยากล่อมประสาท และปลดปล่อยมันออกจากการเป็นประวัติศาสตร์เฉพาะของคนเดือนตุลาฯ หรือของเพียงนักศึกษาที่ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ มีแต่การทำให้ ๑๔ ตุลาเป็นประวัติศาสตร์ร่วมของสังคมเท่านั้นที่จะทำให้ ๑๔ ตุลามีชีวิตต่อไป และมีความหมายต่อทุกผู้คนในยุคหลัง

และอย่ากักขัง ๑๔ ตุลาไว้ในกรอบของเหตุการณ์ที่เกิดและจบลงภายใน ๑๑ วัน เพราะการปฏิวัติ ๑๔ ตุลาเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินอันยาวนานของสังคมไทยที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ และยังคงเดินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

หากการศึกษาประวัติศาสตร์คือการศึกษาชีวิต  ๑๔ ตุลาคือช่วงชีวิตอันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของสังคมไทยที่คู่ควรแก่การย้อนกลับไปทบทวนอยู่เสมอ