งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
โดย ภัทรียา พัวพงศกร

ภาพ จิตรสุนทร ประภาจิตสุนทร

วูบหนึ่งฉันหลงคิดไปว่ากำลังจะย้อนเวลาเข้าไปในหนังจีน

ประตูไม้สีแดงสดตั้งตระหง่าน กำแพงสีขาว-น้ำเงินซ้ายขวาประดับลวดลายจิตรกรรมแบบจีน หลังคาหยึกหยักด้านบนประดับลายปูนปั้นอ่อนช้อย แม้ทุกสิ่งจะเก่าคร่ำคร่าไปบ้างตามกาลเวลา แต่คฤหาสน์โซวเฮงไถ่ยังคงยิ่งใหญ่และงดงามดึงดูดใจ ฉันสาวเท้าเข้าไปในบริเวณบ้าน คาดหวังจะเห็นฉากจีนฮกเกี้ยนโบราณตระการตาอายุมากกว่า200 ปีในไทม์แคปซูล ทว่าส่วนผสมของภาพเบื้องหน้ากลับทำให้ฉันประหลาดใจ สระน้ำทันสมัยขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางลานหินกว้าง เรือนหมู่ 4 ด้านที่ล้อมสระยกพื้นสูงแบบบ้านทรงไทย ใต้ถุนของเรือนฝั่งหนึ่งกักสุนัขสีขาวลายน้ำตาลดำหลายสิบตัว ความลักลั่นย้อนแย้งทำให้คิ้วฉันเลิกสูงถึงกลางหน้าผาก บ้านโบราณที่ดูคล้ายศาลเจ้าแห่งนี้เป็นทั้งสำนักดำน้ำและฟาร์มสุนัขบีเกิ้ล สถานที่ที่เวลาดูเหมือนจะหยุดนิ่ง แท้จริงเต็มไปด้วยมิติทับซ้อนของเวลา

“ลูกชายป้าเขาไปเรียนดำน้ำแล้วชอบ เลยกลับมาเปิดสำนักดำน้ำที่บ้าน” คำอธิบายดังจากประตูครัว ขณะที่สองมือกำลังประกอบอาหาร หญิงชราร่างเล็กสวมผ้ากันเปื้อนเงยหน้าขึ้นมาพูดกับฉัน ใบหน้าใจดีของคุณป้าดวงตะวัน โปษยะจินดา เจ้าของบ้านรุ่นที่ 7 เปี่ยมความเมตตา แดดร้อนจัดของบ่ายวันนั้นทำให้เงาของเธอกลืนไปกับผนังหิน ฉันสบตาเธอ จิตวิญญาณของบ้านแฝงอยู่ในแววตา ราวกับว่าเธอเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสถาปัตยกรรมเก่าแก่แห่งนี้

ป้าดวงตะวันเป็นสะใภ้ของตระกูลโปษยะจินดาตั้งแต่อายุ 18 ปี เธออยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็กเพราะคุณยายเป็นต้นห้องของเจ้าบ้านรุ่นที่ 6 หรือสามีของป้า เด็กหญิงดวงตะวันรู้จักทุกองค์ประกอบของสถานที่ ความรุ่งเรืองของบ้านโซวเฮงไถ่แอบอยู่ในรอยแยกของกระเบื้อง ซึมลงหลืบหิน และฝังตัวในไม้สีซีดจาง แต่เมื่อป้าดวงตะวันเอ่ยปากเล่าเรื่องความหลัง ความวิจิตรของตระกูลโซวก็ฉายโชนออกมาอีกครั้งหนึ่ง

คฤหาสน์โซวเฮงไถ่มีอายุมากกว่า 250 ปี อายุมากกว่ากรุงเทพมหานคร และเป็นหนึ่งในเก๋งจีนที่โอ่อ่าที่สุดในยุคเริ่มกรุงรัตนโกสินทร์ ผังบ้านผสมรูปแบบ “ซื่อเหอหยวน” หรือ “สี่เรือนล้อมลาน” มีอาคาร 4 ด้านล้อมลานหินกว้าง ด้านหน้าเป็นซุ้มประตูทางเข้า ด้านหลังเป็นเรือนประธาน ที่เก็บป้ายวิญญาณบรรพบุรุษ เข้ากับลักษณะเรือน 2 ชั้น และพื้นชานยกระดับแบบไทย การก่อสร้างทั้งหมดเป็นแบบโบราณที่ไม่ใช้ตะปู แต่ใช้ไม้แกะสลักในการประกอบทั้งหมด

แสงสุดท้ายของบ้านโซวเฮงไถ่

solhengtai02

solhengtai03

solhengtai04

solhengtai05

ในสมัยรัชกาลที่ 2-3 ที่ดินกว่าครึ่งบริเวณตลาดน้อย รวมถึงท่าเรือโปเส็งริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่กิจการกงสีของเจ้าสัวจาดผู้เป็นต้นตระกูลโปษยะจินดา จุดขนถ่ายสินค้านี้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่สร้างความมั่งคั่งแก่ตระกูลโซว คฤหาสน์กว้างคึกคักอบอุ่นด้วยบริวารนับร้อย ห้องหลายสิบห้องมีผู้คนเดินขวักไขว่ คุณป้าเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อน การคิดภาษีตามบ้านต่างๆวัดจากขนาดของบ้าน โซวเฮงไถ่เป็นบ้านที่เสียภาษีเยอะที่สุด ในสมัยต่อมาเมื่อเปิดกิจการค้าขายและโรงรับจำนำ ทรัพย์สมบัติมหาศาลที่บรรจุในกำปั่นกดทับพื้นเรือนเสียจนไม้สักบุ๋มเป็นรอยจนถึงทุกวันนี้

น้ำเสียงของป้าภาคภูมิใจเมื่อเล่าถึงอดีต ฉันหันหน้าไปทางแม่น้ำ ท่าเรือโปเส็งหายไปแล้ว บ้านสมัยใหม่ที่ปลูกชิดท่าน้ำเรียงกันเป็นตับ เมื่อหมดยุคของเรือสำเภาและถนนหนทางตัดพาดทั่วเมือง การค้าแบบเก่าก็สิ้นสุดลง เสียงเรือเครื่องวิ่งตัดลำน้ำดังจากเจ้าพระยาที่ถูกอาคารคอนกรีตบดบัง ผิวสระน้ำกลางลานกระเพื่อมไหว สายน้ำที่หล่อเลี้ยงกิจการของบ้านแปรรูปจากแม่น้ำสายใหญ่เป็นสระคลอรีนในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งคุณภู่ศักดิ์ โปษยะจินดา ลูกชายคนโตของป้าดวงตะวัน หรือเจ้าของคฤหาสน์โซวเฮงไถ่คนปัจจุบันใช้เป็นที่สอนดำน้ำ

“แต่ก่อนตรงนี้เคยเป็นลานกว้าง ร่มเย็น เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ใครๆก็อยากมาบ้านเรา แต่พอมีสระนี้ขึ้นมา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมด”

โรงเรียนสอนดำน้ำในเก๋งจีนกลางเมืองเป็นจุดขายลือชื่อของที่นี่ กิจการสำนักดำน้ำและฟาร์มสุนัขบีเกิ้ลเกิดขึ้นราว 10 ปีก่อน โดยคุณภู่ศักดิ์เห็นช่องทางทำธุรกิจจากการใช้พื้นที่ในคฤหาสน์ให้เกิดประโยชน์ แม้ธุรกิจจะดำเนินไปได้ดี แต่ในขณะเดียวกัน ภูมิทัศน์สงบงามดั้งเดิมก็ลบหายไป ดวงหน้าของป้าดวงตะวันหมองลงเมื่อเล่าถึงตรงนี้ การสืบทอดความยิ่งใหญ่ของตระกูลรุ่นต่อรุ่นท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจากสามีของป้าเป็นอัมพาตและเสียชีวิต สตรีร่างเล็กคนนี้กลายเป็นหัวหน้าครอบครัวที่รับหน้าที่ดูแลลูกในวัยเรียน 3 คน และคฤหาสน์โบราณเพียงลำพัง เพื่อรักษาหัวใจของบ้าน พื้นที่ในตลาดน้อยถูกตัดแบ่งขาย เหลือเพียงพื้นที่บริเวณคฤหาสน์โซวเฮงไถ่ซึ่งป้าดวงตะวันตั้งใจจะเก็บไว้ให้ลูกหลานและรักษาให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด

“สมัยปี 2520 อธิบดีกรมศิลปากรมาติดต่อบ้านเรื่องการอนุรักษ์ แต่บ้านเราไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เพราะถ้าเป็นแบบนั้นเราต้องย้ายออก จะเปลี่ยนแปลงต่อเติมอะไรในบ้านไม่ได้เลย เขาจะเอาคนเข้ามาจัดการ”

แม้เวลานั้นคฤหาสน์จะมีสภาพทรุดโทรม แต่เพื่อให้คนในตระกูลได้อยู่ในบ้านหลังเดิม บวกกับกรมศิลปากรขาดแคลนทุนทรัพย์ในการช่วยเหลือซ่อมบำรุง ป้าดวงตะวันตัดสินใจซ่อมแซมบ้านด้วยเงินทุนของตนเองทั้งหมด อย่างไรก็ดี ด้วยความไม่รู้และการขาดทักษะการบูรณะโบราณสถานแบบจีน ทำให้ระหว่างการซ่อมแซม คนงานทำรูปเขียนกระจกจำนวนมากแตกหักเสียหาย และวิศวกรก็ซื้อกระเบื้องมุงหลังคาผิดประเภท ทำให้การซ่อมแซมเชื่องช้าและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น

“เสียดายมาก คนไม่รู้ค่า ของก็เสียหายหมด” หญิงสูงอายุพูดเสียงเศร้า หลังการซ่อมบ้านครั้งใหญ่ หน้าที่ดูแลบ้านก็เปลี่ยนมือมาสู่ทายาทรุ่นล่าสุด ผนังและประตูเลื่อนกระจกเข้ามาแทนที่ไม้ ห้องหับจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้กลายเป็นห้องเก็บของหรือถูกปิดตาย ใต้ถุนเรือนกลายเป็นฟาร์มสุนัข ยุคสมัยเก่าค่อยๆหลุดลอกออกจากหน้าประวัติศาสตร์ของคฤหาสน์ หลักฐานชิ้นสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่คือความทรงจำของป้าดวงตะวัน คนรุ่นสุดท้ายที่เห็นช่วงเวลาที่สวยงามที่สุดของคฤหาสน์โซวเฮงไถ่

กาลเวลาที่เดินรุดหน้า มาพร้อมความเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เด็กหญิงดวงตะวันที่เคยวิ่งเล่นในลานหินกว้าง บัดนี้กลายเป็นนายแม่ชราแห่งตระกูลโปษยะจินดา คฤหาสน์โบราณซึ่งครั้งหนึ่งวิจิตรโอ่อ่า โลกาภิวัตน์ก็บีบบังคับให้บ้านต้องแปรสภาพไป

สายลมอ่อนๆจากแม่น้ำพัดเข้ามา แดดอ่อนแสง โรยลงตามกำลังของดวงอาทิตย์ที่เริ่มล้า ยามเย็นคืบคลานมาถึงเสียแล้ว คฤหาสน์สีแดงดูมีมนต์ขลังเก่าแก่ ใบหน้าเหนื่อยอ่อนของสตรีชรานิ่งสงบ แม้บ้านโซวเฮงไถ่ไม่ได้สดใสเจิดจ้า จิตวิญญาณที่เข้มแข็ง ยืนหยัดผ่านร้อนหนาวของคุณป้าและตัวคฤหาสน์ก็จับใจผู้พบเห็นและรับฟังเรื่องราวนัก

แสงสุดท้ายของดวงตะวันพาดผ่านหลังคากระเบื้องว่าว ฉันรู้สึกว่าบ้านหลังนี้มีเสน่ห์กว่าที่เคย อาจเป็นเพราะแสงหลอกตา หรือเป็นเพราะว่าคฤหาสน์ถูกอาบด้วยความรักกันแน่นะ