งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เรื่อง ปนัดดา เต็มไพบูลย์กุล
ภาพ ปฏิพล รัชตอาภา

heabtiang01
เฮียบเตียง 60 ปีบนเส้นทางสายขนมหวาน ตำนานแห่งตลาดน้อย
heabtiang03
heabtiang04
heabtiang05
heabtiang06
heabtiang07
heabtiang08
 

ย่านตลาดน้อยยังคงหลับใหลในยามตี 3  ชายชราคนหนึ่งตื่นขึ้นท่ามกลางความเงียบงัน เขาเปิดไฟสีขาวลอดประตูลูกกรงออกมาตัดกับพื้นถนน พลางชะโงกออกมาเชิญชวนให้เราเข้าไปด้านใน การเริ่มต้นวันใหม่ก่อนไก่โห่เช่นนี้อาจผิดวิสัยของคนทั่วไป ทว่าสีหน้าของเขากลับเบิกบานผิดกับคนรุ่นหนุ่มสาวอย่างเราที่แข็งแรงแท้ๆ กลับตื่นแต่ร่างกาย เช้ามืดไม่ใช่เวลาของทุกคน มันอาจสอดคล้องกับวิถีของเถ้าแก่ขนมหวาน เจ้าของร้านเฮียบเตียงมากที่สุด

ชายชราตระเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างเรียบร้อย เขาสาดแป้งลงบนโต๊ะตัวเก่า พร้อมราดน้ำมันจากกระบวยเก่าๆ จากนั้นก็ลงมือนวดจนผงสีขาวกลายเป็นก้อนแป้งกลมๆ
“อากง ให้หนูช่วยอะไรไหม” อากงแบ่งแป้งส่วนหนึ่งมาให้ฉันตามคำขอ ด้วยเหตุที่อากงไม่ถนัดภาษาไทยเท่าไรนัก เลือกที่จะสาธิตวิธีทำขนมให้ฉันลองทำตาม มากกว่าจะถ่ายทอดเป็นคำพูด หรือบางครั้ง อากงอาจเคยชินกับการทำขนมคนเดียวอย่างเงียบๆ ปล่อยให้อาม่าเป็นผู้ถ่ายทอดตำนานร้านเฮียบเตียงให้เราฟัง

ย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีที่แล้วอากงเอี่ยม แซ่ตั้ง เพิ่งเรียนจบจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ หนุ่มน้อยหน้าตี๋วัย 20 เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการเข้าฝึกงานในร้านขนมย่านตลาดน้อย เขาได้เรียนรู้วิชาการทำขนมหวานหลากชนิดจนชำนาญ จนกระทั่งพบรักกับอาม่านี้ แซ่อึ้ง สาวไทยเชื้อสายจีน บ้านใกล้เรือนเคียง จึงตัดสินใจแต่งงานและออกมาเซ้งห้องแถวขนาดหนึ่งคูหา เพื่อเปิดกิจการร้านขนมเล็กๆ เป็นของตัวเอง ในขณะที่อากงแสดงฝีมือทอดขนมอยู่ในครัว อาม่าจะทำหน้าที่เป็นเถ้าแก่เนี้ย คอยเฝ้าหน้าร้านและบรรจุขนมร้อนๆ จากเตาขายให้ลูกค้า

ร้านเฮียบเตียง เติบโตพร้อมชุมชนตลาดน้อย วันเดือนปีผ่านไป อากงค่อยๆ ปรับสูตรขนมจากสูตรแต้จิ๋วสู่ความลงตัวในแบบของตัวเอง ร้านเฮียบเตียงเป็นเจ้าตำรับของขนมหลายชนิด ที่โด่งดังที่สุดเห็นจะเป็นขนมเจเปี๊ยะ ขนมเปี๊ยะชิ้นเล็กสีขาว ทอดจนแป้งด้านนอกกรอบฟูลงตัวกับไส้ถั่วเหลืองนุ่ม อิ่วก้วย ขนมหน้าตาละม้ายคล้ายกะหรี่ปั๊บที่แป้งกรอบนอกนุ่มในกำลังดี หรือจะเป็นเม่งทึ้ง แป้งหยุ่นนุ่มคลุกเคล้างาขาว ล้วนเป็นของเลิศรสที่ใครก็อยากลิ้มลอง

แม้แต่ห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหารชื่อดังก็ยังต้องสั่งขนมจากร้านเฮียบเตียงมาขาย นับเป็นจุดสูงสุดของการทำร้านขนมในยุคนั้น ทุกวันนี้แม้ร้านจะไม่ได้ค้าส่งขนมอีกต่อไป แต่หากพูดถึงร้านเฮียบเตียง คนเก่าคนแก่มักเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า ถึงช่วงเทศกาลกินเจเมื่อใด ชาวไทยเชื้อสายจีนจากทั่วสารทิศต้องมาต่อแถวยาวเหยียดหน้าร้านขนมเจ้านี้กันแน่นขนัดตา กลายเป็นภาพจำที่ฝังแน่นในสายตาของผู้คนในซอยเจริญกรุง 20 มาหลายชั่วอายุคน

ปรัชญาการทำขนมของเฮียบเตียงเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ขนมทอดแต่ละชนิดต้องไม่แข็งหรือนิ่มจนเกินไป วัตถุดิบทุกอย่างถูกคัดสรรอย่างดี ขนมเฮียบเตียงมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะปรุงจากน้ำส้มเช้งเข้มข้นอย่างดีจากเมืองจีน เรียกได้ว่า กลิ่น รส สัมผัส ได้รับการปรุงแต่งมาอย่างลงตัว อากงจะทำขนมครั้งละน้อยชิ้น พอขายหมดในเวลาไม่นาน อาศัยว่าขยันทำหลายๆ รอบ เพื่อให้ขนมทุกชิ้นสด ใหม่ ยังกรุ่นกลิ่นหอมอยู่เสมอ

“ขนมที่นี่สดใหม่ ลื้อซื้อไปกินไม่หมดก็เก็บไว้ เชื่ออั๊วะเถอะ ลูกค้าบางคน อีมาซื้อไปเป็นกล่องๆ ขึ้นเครื่องบินไปฝากญาติที่อังกฤษ ฝรั่งเศส กว่าจะถึง กว่าจะได้กิน ขนมก็ยังอยู่ได้ ไม่เสีย”

ว่าแล้วอาม่าก็หันหลังไปเปิดถังพลาสติก หยิบขนมถั่วตัดสองชิ้นแบบเต็ม คำมาให้พวกเราลองพิสูจน์ความสดกันแบบฟรีๆ อันที่จริง เราเชื่ออาม่าตั้งแต่ตอนได้กลิ่นหอมฟุ้งลอยออกมาเตะจมูก ทั้งที่มีขนมเหลืออยู่แค่ก้นถังเท่านั้น

นอกจากขนมทั่วไปที่วางขายหน้าร้าน เฮียบเตียงยังรับทำขนมน้ำตาล สำหรับเทศกาลและงานพิธีต่างๆ เมื่อตกลงราคาและรูปร่างขนมกันเรียบร้อย แล้ว อากงจะหายเข้าไปหลังร้าน ตั้งกระทะใบใหญ่เคี่ยวถั่วกับน้ำตาลจนข้นเหนียวพอที่จะปั้นเป็นโครงสิงโตตัวน้อยๆ ระหว่างรอน้ำตาลเย็นตัว อากงจะหันมาบรรจงปั้นแป้งสีขาวเป็นตา หู จมูก เส้นขน หาง รวมถึง ส่วนประกอบชิ้นเล็กชิ้นน้อย ด้วยประสบการณ์กว่า 60 ปี อากงจึงจำรายละเอียดงานฝีมือทุกชิ้นได้โดยไม่ต้องมีตัวอย่าง

เขาติดแป้งแต่ละชิ้นเข้ากับถั่วเคี่ยวน้ำตาลอย่างคล่องแคล่ว จนกลายเป็นตัวสิงโตสีขาวที่มีลีลาพร้อมเยื้องกราย

“สิงโตคู่เป็นของขึ้นชื่อ แต่พวกอั๊วะไม่ได้รับทำแค่สิงโตนะ บางบ้านสั่งซาแซ โหงวแซหรือเนื้อสัตว์ห้าอย่าง เอาไว้ไปไหว้ฮวงซุ้ยแล้วไม่ต้องคอยปัดแมลงวันเหมือนตอนใช้เนื้อสัตว์จริง อากงปั้นรูปสัตว์ได้ทุกอย่าง ปั้นมังกรยากๆ ก็ได้ ต้นไม้ดอกไม้ก็ได้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง คนกินเจตาย ญาติเลยโทรมาสั่งกอบัวน้ำตาล เอาไว้ไหว้วิญญาณไม่กินเนื้อ อากงก็จะนั่งปั้นบัวทีละกลีบๆ จนเสร็จ”

ขั้นตอนสุดท้าย อากงจะค่อยๆ นั่งจรดพู่กันแต่งแต้มสีสันหุ่นน้ำตาล ท่ามกลางความเงียบและเนิบช้า มองดูแล้วลีลาของอากงไม่ต่างกับศิลปินที่กำลังถ่ายทอดวิญญาณลงในผลงานของตัวเอง

ดูเหมือนว่าการทำขนมทุกวัน จะทำให้ชายชราอายุกว่า 80 ปีคนนี้ยังแข็งแรง เมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกัน
“อากงเหมือนจะเดินเหินไม่ค่อยไหวสุขภาพอีก็ไม่แข็งแรงเหมือนเมื่อก่อน แต่ลื้อรู้ไหม อีจับพู่กันระบายสีทีไร มืออีไม่เคยสั่นเลย” อาม่าแอบมองอากงลากเส้นพู่กันอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะชี้ให้เรามองสูงขึ้นไปดูภาพตุ๊กตาสิงโตสีสันสดใสใส่กรอบแขวนผนังอย่างดี อาม่าเล่าให้ฟังว่า ชื่อเสียงปั้นขนมน้ำตาลของอากงเป็นที่เลื่องลือมาก ลูกค้าหลายคนพยายามหาซื้อตามร้านขนมในเยาวราช แต่ร้านไหนๆ ก็สู้ฝีมือที่นี่ไม่ได้เลย ยิ่งเจอบางร้านเลิกทำขนมน้ำตาลแบบปั้นมือ ปฏิวัติตัวเองเข้าสู่ยุคหล่อขนมจากแท่นพิมพ์ ความประณีตบรรจงจึงต่างกัน สุดท้ายก็ต้องกลับมาอุดหนุนร้านเฮียบเตียงเช่นเดิม ส่วนภาพในกรอบนั้น มีลูกค้ารายหนึ่งสั่งสิงโตน้ำตาลคู่นี้ไป หลังจากนั้นไม่นานเขาก็กลับมาที่ร้านพร้อมรูปถ่ายใบนี้แทนคำขอบคุณ

เป็นธรรมดาที่ร้านขนมแบบเก่าลดความนิยมลงไปตามกาลเวลา เฮียบเตียง เองก็ดำรงอยู่บนกระแสแห่งความจริงนี้ แต่อาจจะจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะคนรุ่นเก่ายังคงกดโทรศัพท์มาสั่งขนมอย่างไม่ขาดสาย บ้างก็นั่งรถมารับ บ้างส่งวินมอเตอร์ไซด์มารับของแทน ในขณะที่คนรุ่นใหม่บางส่วนได้ลิ้มรสขนมที่อากงอาม่าซื้อไปไหว้เจ้าแล้วติดใจจนเดินทางมาซื้อด้วยตัวเอง กลายเป็นลูกค้าใหม่กลุ่มเล็กๆ เพิ่มขึ้นมา

เมื่อถามถึงอนาคตของเฮียบเตียง อาม่าบอกว่า วันหนึ่งร้านเฮียบเตียงอาจต้องปิดตัวลงไป  เพราะสำหรับคนรุ่นใหม่ เส้นทางสายขนมไม่ได้โรยด้วยเกล็ดน้ำตาลแสนหวานอย่างที่เข้าใจกัน น้ำหนักของไม้นวดแป้งอันใหญ่อาจทำให้มือใหม่ปวดหลังไปหลายวัน ในขณะที่การนวดและจับจีบแป้งขนมด้วยมือนานเข้าทำให้สาวๆ ทนอาการมือเปื่อยไม่ไหว รวมทั้งการเรียนทำขนมที่ไม่ได้จบลงในวันเดียว ต้องใช้เวลานับสิบปีกว่าในการพัฒนาฝีมือ ลูกหลานหลายคน อาม่า หรือแม้กระทั่งคนนอกที่สนใจเคยแวะเวียนเข้ามาหัดทำขนม ณ หลังครัวแห่งนี้ แต่ไม่นานนักก็ต้องยอมแพ้ไป เมื่อเป็นเช่นนี้เฮียบเตียงจึงขาดผู้สืบทอดไปอย่างน่าเสียดาย

ทุกวันนี้ ลูกหลานเฮียบเตียงไม่ได้เลือกเส้นทางสายขนมหวาน พวกเขาเติบโตไปตามทิศทางของตน พร้อมด้วยฐานะอันมั่งคั่งและธุรกิจที่มั่นคงกว่า หากเฮียบเตียงเลือกที่จะปิดตัวลง อากงอาม่าสามารถพักผ่อนในช่วงบั้นปลายชีวิตได้อย่างสบายๆ ทว่าอากงกลับไม่มีวี่แววจะวางมือจากร้านขนมเลยสักครั้ง ก่อนรุ่งสางก็ยังคงตื่นมานวดแป้งปั้นขนมเหมือนทุกๆวัน

“ขายขนมเดี๋ยวนี้กำไรนิดเดียว คิดดู ขนมอันละ 9 บาท ทำขาย 1,000 อัน ได้แค่ 9,000 บาท ยิ่งถ้าหักต้นทุน ยิ่งกำไรยิ่งไม่มี ใครๆ ก็บอกให้เลิกทำได้แล้ว อีกอย่างเราเองไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน จะปิดร้านไปก็ไม่เห็นเป็นไร เชื่อไหม อีไม่เคยเถียงอะไรใครเลย แต่ตื่นมาทำขนมทุกวัน”

อากงกับร้านขนมของแก ล้มลุกคลุกเคล้ากันมานาน เหมือนแป้งผสมน้ำมัน ที่ถูกมือแห่งกาลเวลาบรรจงนวดจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อีกต่อไป

หรืออากงอาจไม่ได้ทำขนมเพื่อเลี้ยงชีพ แต่เพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณ

เมื่อขนมวางเรียงเต็มตู้ในยามสาย เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าภารกิจประจำวันของอากงเสร็จสิ้นลงแล้ว เขาเดินออกไปสูดอากาศหน้าร้านขนมหวานอย่างเงียบๆ เพียงไม่นานก็หายเข้าไปในครัวอีกครั้ง เพื่อเอนหลังบนเตียงผ้าใบข้างๆ โต๊ะนวดขนมตัวเก่าของเขาเอง