Green Market
เรื่อง : ชลธร วงศ์รัศมี / ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

“ด้วยส่วนผสมของฮันนี (น้ำผึ้ง) โกจิเบอร์รี (เม็ดกวยจี๊) มัลเบอร์รี (ลูกหม่อน) จัสมิน (ดอกมะลิ) จะทำให้คุณสวยได้ใน ๗ วันอย่างแน่นอน” นี่คือตัวอย่างคำโฆษณายอดฮิตของเครื่องสำอางที่ชูส่วนผสมจากธรรมชาติเป็นจุดขาย  ภาพดอกไม้ ใบไม้ ผักผลไม้สดฉ่ำเปล่งพลังธรรมชาติเตะตาบนกล่องสินค้า แต่ส่วนผสมอีกยาวเหยียดที่รู้จักบ้างไม่รู้บ้าง เช่น พาราเบน (paraben สารกันเสีย) พอลิเอทิลีนไกลคอล (polyethylene glycol สารให้ความข้น) โซเดียมลอริลซัลเฟต (sodium lauryl sulfate - SLS สารชำระล้างทำให้เกิดฟอง) มิเนรัลออยล์ (mineral oil ขี้ผึ้งหรือแวกซ์เหลวที่เหลือจากการกลั่นปิโตรเลียม) ซินเททิกคัลเลอร์ (synthetic color สีสังเคราะห์) ฯลฯ  มักแสดงบนฉลากอย่างเบียดๆ และตัวอักษรมีขนาดเล็กราวกับไม่ตั้งใจให้อ่าน

สะบัดบ๊อบใส่สารเคมี ร้องว้าว กับเครื่องสำอางออร์แกนิก VOWDAคำเข้าใจยากไม่ค่อยได้ออกสื่อเหล่านี้เองที่ วิลาสีนี โฆษิต-ชัยวัฒน์ (จ๋า) วิศวกรสาวผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องสำอางออร์แกนิก VOWDA ตั้งใจจะทยอยสังหาร โดยเฉพาะที่เป็นตัวร้ายก่อสารตกค้างเป็นอันตรายต่อผิวหนังหรือทางเดินหายใจ และเครื่องมือนั้นคือ การวิจัย ค้นคว้า ทดลอง หาวิธีการแทนที่ด้วยส่วนผสมจากธรรมชาติ (ซึ่งมีชื่อเรียกง่ายๆ) โดยไม่ทำให้คุณสมบัติของเครื่องสำอางด้อยลง

“เมื่อก่อนจ๋าทำงานเป็นวิศวกรให้โรงงานผลิตเครื่องสำอางค่ะ ทำมาสักประมาณ ๓ ปีก็อยากมีเครื่องสำอางเป็นของตัวเองเพราะผิวเราแพ้ง่ายมากโดยเฉพาะพวกน้ำหอม  ถ้าทำเครื่องสำอางออร์แกนิก เราคงไม่แพ้เพราะจะไม่มีน้ำหอมเลย จึงเริ่มทำแบรนด์ของตัวเอง  สินค้าเราไม่ค่อยเหมือนใครเพราะจะนำงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ด้วย

“ตอนที่เรียนปริญญาโทจ๋าทำเรื่องการสกัดสีจากธรรมชาติเป็นหลัก พอเริ่มมีแบรนด์ของตัวเองก็นำสีที่พัฒนาตอนนั้นมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ รวมถึงพวกแป้งสตาร์ต (start) ที่เราชำนาญก็ลองผสมในสูตรเครื่องสำอาง และศึกษาเพิ่มเติมเรื่อยๆ  ก่อนหน้านี้จ๋าไปอเมริกา แป้งออร์แกนิกของเขาใช้ข้าวโพดเป็นแป้งสตาร์ต แต่มีข้อเสียคือเนื้อหยาบ  กลับมาเมืองไทยพบว่าข้าวสารของเราเนื้อเนียนเรียบกว่าเลยเลือกใช้  แล้วเรามีลูกสาวด้วย ก็เป็นห่วงเขา เวลาทาแป้งใต้ร่มผ้าจะใช้แป้งที่เราทำเอง”

สินค้าชิ้นแรกของ VOWDA เป็นแป้งข้าวที่ใช้ข้าวเจ้าแทนทาลคัม (talcum) หรือแร่ใยหินซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแป้งทั่วไป  ลูกค้าคนแรกคือลูกสาว  ปัจจุบัน VOWDA ผลิตเครื่องสำอางออร์แกนิกกว่า ๑๐ รายการ

“แป้งจากพวกธัญพืชต่างๆ หากไม่ผ่านกระบวนการอะไรเลย จะเรียกว่า powder หรือ flour  ถ้าสกัดโปรตีนออกเรียกว่า start โปรตีนเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อ เมื่อแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ไม่มีอาหารเลี้ยง มันก็จะไม่ค่อยมีเชื้อ จึงไม่จำเป็นต้องใส่สารกันเสียลงในแป้ง ที่จริงธัญพืชนำมาทำแป้งได้ทุกชนิด ตั้งแต่แป้งข้าว แป้งเผือก ตอนแรกจะใช้เผือกทำ แต่เลือกเม็ดบัวเพราะราชบุรีมีเยอะและอยู่ใกล้หัวหินซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานของเรา

“คอนเซปต์ของ VOWDA คือไม่ใส่สารเคมีเลย สารกันเสีย ทาลคัม หรือพาราเบนที่ใช้ในเครื่องสำอางทั่วไปก็ไม่มี น้ำหอมไม่ใส่  ถ้าต้องการกลิ่นหอมจะใช้เอสเซนเชียลออยล์ (essential oil น้ำมันหอมระเหย) โดยเลือกเกรดที่ใช้สำหรับผสมยา  ตัวบำรุงใช้น้ำกุหลาบ น้ำว่านหางจระเข้ น้ำผลไม้ ฯลฯ  เครื่องสำอางของ VOWDA ทุกตัวจ๋าจะใช้เองในชีวิตประจำวัน  อย่างแป้งอัดแข็งจากเม็ดบัวถ้าได้แตะเนื้อแป้งแล้วจะชอบทุกคน เพราะเนื้อเนียนมาก  เราไม่คาดคิดเหมือนกันว่าแป้งพัฟเม็ดบัวที่ไม่ผสมรองพื้นจะแทนที่แป้งผสมรองพื้นได้  มีลูกค้าถามว่าแป้งของเราเป็นแป้งผสมรองพื้นหรือเปล่า  จ๋าบอกเลยว่าไม่ผสม แต่ใช้ความเป็นกายภาพ ใช้คุณสมบัติของแป้งตัวนั้นๆ แทนค่ะ”

ปี ๒๕๕๖ ลิปสติกอินทรีย์จากน้ำมันรำข้าวและไขรำข้าวของ VOWDA ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ ในงานประกวดนวัตกรรมข้าวไทย จัดโดยมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)  และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ลิปสติกอินทรีย์ที่ได้ pigment (สารสี) จากข้าวแดงก็คว้ารางวัล silver prize เวทีการประกวดผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ Korea International Women’s Invention Exposition 2014 (KIWIE 2014) ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ อีกทั้งแป้งอัดแข็งจากเม็ดบัวก็ได้รับรางวัล bronze prize ในงานเดียวกันด้วยความโดดเด่นทั้งด้านอินทรีย์และนวัตกรรม

“ที่จริงจ๋าเก่งเรื่องแป้ง รองลงมาคือลิปสติก  เราเห็นว่าข้าวนำมาทำทุกอย่างที่เป็นองค์ประกอบลิปสติกได้ ไม่ว่าจะเป็นไข เนย หรือน้ำมันรำข้าว  ลิปสติกจากสีข้าวแดงที่เราจดสิทธิบัตรไว้ใช้แวกซ์จากข้าว ไม่ต้องนำเข้าคาร์เนาบาแวกซ์ (carnauba wax) จากต่างประเทศ  เนยข้าวใช้แทนพวกเชียบัตเตอร์ (shea butter) น้ำมันรำข้าวแทนน้ำมันละหุ่ง  แป้งข้าวเจ้าแทนแคดเมียมออกไซด์ สีที่ได้จึงเป็นสีอินทรีย์จากข้าวแดง ฉะนั้นทุกส่วนผสมคือข้าว ล่าสุดเรานำแครอตมาทำสีเฉดอมส้ม และให้เฉดม่วงด้วยแครอตม่วง  แต่อย่างสีชมพูเราพยายามสกัดจากแก้วมังกร ก็ยังไม่ชมพูเหมือนสีสังเคราะห์ นี่เป็นข้อจำกัดของเครื่องสำอางออร์แกนิกค่ะ ความเสถียรไม่มากเท่าเครื่องสำอางจากสารสังเคราะห์  สีจากธรรมชาติตอนนี้ยังไม่ค่อยหลากหลาย และไม่ผสมสารกันเสีย เปิดแล้วจึงต้องใช้ให้หมดภายใน ๑-๒ ปี ต้องยอมรับจุดนี้”

ด้วยพื้นฐานที่เรียนจบด้านวิศวกรรมเคมี คุณจ๋าจึงเป็นทั้งผู้คิดค้นสูตร วิจัย พัฒนา และควบคุมการผลิตสินค้าด้วยตนเอง ผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรกลของพ่อเธอ ซึ่งเอื้อเรื่องการสร้างเครื่องจักรสำหรับผลิต ทว่ายังมีอีกส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้ VOWDA กลายเป็นเครื่องสำอางที่ผู้ใช้ร้องว้าว ! เรื่องคุณภาพ

vowda02

พบสินค้าของ VOWDA ได้ที่ร้านขายยาจี้อันตึ๊ง หอนาฬิกาหัวหิน และร้านเลมอนฟาร์มทุกสาขา (www.vowdacosmetic.com)

“สินค้าเราสูตรหนึ่งๆ ใช้เวลาพัฒนาขั้นต่ำ ๑ ปีกว่าจะผ่าน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นต้องทดลอง วัดผลหลายอย่าง และมีงานวิจัยรองรับ  ตอนเริ่มต้นเราก็เหมือนเป็นเด็กหน้าใหม่ มีทุนจำกัด เรามีความรู้ในการผลิตก็จริง แต่พอถึงขั้นตอนการทดสอบและตรวจวัดนั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Agency - NIA) เป็นองค์กรที่ทำให้เราโตมาถึงทุกวันนี้ เพราะสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางคลินิกทั้งหมด ทั้งการตรวจวัดทางกายภาพ การจัดหาอาสาสมัครทดลองใช้ ทำให้งานวิจัยดำเนินไปได้ในเชิงพาณิชย์  ใครที่มีงานวิจัย โครงการ หรือผลิตภัณฑ์ที่คิดว่าต่อยอดเป็นนวัตกรรมได้ ลองขอคำปรึกษาสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ อาจได้รับโอกาสดีๆ เหมือนจ๋า”

คุณจ๋ายืนยันว่าวัตถุดิบในประเทศไทยที่จะนำมาผลิตผลงานนวัตกรรมนั้นอุดมสมบูรณ์  งานวิจัยคุณภาพของคนไทยมีมากมาย แม้แต่ผลงานวิจัยในสถาบันการศึกษาก็มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ หากผู้ประกอบการเปิดใจรับและนักวิจัยเองไม่จบผลงานของตนไว้ที่แล็บ ในอนาคตเราอาจได้ใช้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ไทยที่พร้อมด้วยคุณภาพ ความปลอดภัย ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้บริโภค ข้างกล่องเครื่องสำอางและสินค้าแต่ละชนิดยังมีตัวอักษรขนาดจิ๋วให้เพ่งมองประกอบการพิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์ •

ขอขอบคุณ ร้านเลมอนฟาร์ม สำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ