เรื่อง : อภิญญา นนท์นาท 
ภาพประกอบ : นันทวัน วาตะ

กรุงเทพมหานครเคยได้ชื่อว่าเป็น “เมืองน้ำ” มีคูคลองหลายสายโยงใยถึงกัน กระทั่งความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อถนนหนทางมีบทบาทแทนที่คูคลอง ชีวิตผู้คนเริ่มออกห่างจากสายน้ำ สภาพคูคลองหลายสายจึงกลายเป็นเพียงเส้นทางระบายน้ำอันเสื่อมโทรม มลพิษทางน้ำเป็นปัญหาเรื้อรังของเมืองที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัยริมคลอง

ชุมชนริมคลองหลายแห่งมีความพยายามฟื้นฟูคูคลองสายเล็กๆ ในชุมชนของตนโดยอาศัยความร่วมมือภาคประชาชน ตัวอย่างหนึ่งที่ถือว่าประสบความสำเร็จคือการอนุรักษ์คลองบางลำพูโดยประชาคมฟื้นฟูวัฒนธรรม ย่านบางลำพูซึ่งเป็นการรวมตัวของชาวชุมชนและองค์กรเอกชนภายในย่าน ที่ผ่านมามีกิจกรรมฟื้นฟูคลองในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการฟื้นคุณภาพน้ำและการจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับคลองบางลำพูเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายนที่ผ่านมาเป็นวันอนุรักษ์คูคลองแห่งชาติ ประชาคมฟื้นฟูวัฒนธรรม ย่านบางลำพูได้เปิดตัว “จักรยานน้ำบำบัดน้ำเสีย” ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากโครงการ “จักรยานเผินน้ำ” ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

water-bike“จักรยานเผินน้ำ” ต้นประกายความคิด

จักรยานเผินน้ำเป็นโครงการศึกษาวิจัยตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่กรมอู่ทหารเรือพัฒนาขึ้นจากแบบเอกสารที่พระราชทานแก่ พลเรือตรี ไพบูลย์ นาคสกุล (ยศขณะนั้น) เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๓๐ เพื่อให้กรมอู่ทหารเรือศึกษาออกแบบและทดลองสร้างจักรยานเผินน้ำสำหรับใช้เป็นยานพาหนะสัญจรทางน้ำในระยะทางสั้นๆ

หลักการทำงานของจักรยานเผินน้ำมีโครงสร้างช่วงบนคล้ายจักรยานทั่วไป แต่ช่วงล่างมีลักษณะแบบยานพาหนะทางน้ำ คือมีทุ่นลอยสองข้าง ด้านล่างมีปีกหน้าและปีกหลัง  เมื่อออกแรงถีบให้เคลื่อนที่ไปบนผิวน้ำจักรยานจะยกตัวขึ้นด้วยแรงยกจากปีกหน้าและปีกหลัง ทำให้โครงสร้างของจักรยานตั้งแต่ส่วนทุ่นลอยยกตัวเหนือผิวน้ำ โดยที่ส่วนปีกหน้าและหลังยังอยู่ใต้ผิวน้ำทำหน้าที่ให้จักรยานเคลื่อนที่ต่อไปได้

การดำเนินการศึกษาวิจัยและจัดสร้างจักรยานเผินน้ำต้นแบบแล้วเสร็จในปี ๒๕๓๒ กรมอู่ทหารเรือจึงน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ ๑๗ มิถุนายนปีเดียวกัน และสาธิตการขี่จักรยานเผินน้ำ “ไฮโดรไบค์ ๑.๕” ณ บึงทะเลน้อย พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทอดพระเนตรการสาธิตการขี่จักรยานเผินน้ำ ได้มีพระราชดำรัสต่อคณะทำงานว่า

“เผินน้ำได้สูงดีมากอย่างนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ…
อย่าทิ้งนะ พยายามปรับปรุงแก้ไขต่อไป  ขอบใจทุกคน”

ถึงแม้การทดสอบจักรยานเผินน้ำจะประสบผลสำเร็จ แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมากรมอู่ทหารเรือไม่ได้พัฒนาโครงการดังกล่าว เพราะการใช้ประโยชน์ยังมีข้อจำกัดและด้วยภาระหน้าที่ด้านอื่นๆ จักรยานเผินน้ำจึงอยู่ในสถานะโครงการศึกษาวิจัยเท่านั้น

จนเมื่อมีโครงการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงภายในกรมอู่ทหารเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๕๔ จักรยานเผินน้ำต้นแบบในพระราชดำริที่เก็บรักษาไว้จึงนำออกมาจัดแสดงแก่คนทั่วไปอีกครั้ง ช่วยจุดประกายความคิดให้เกิดการพัฒนาต่อยอดโครงการดังกล่าวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า ๒๐ ปีมานี้

จากประกายความคิด สู่ “จักรยานน้ำบำบัดน้ำเสีย” (ต้นแบบ)

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาต่อยอดโครงการจักรยานเผินน้ำในพระราชดำริ เกิดจากความคิดของ สิทธิชัย ผลหิตตานนท์ ประธานประชาคมฟื้นฟูวัฒนธรรม ย่านบางลำพู

“ระหว่างเดินชมพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง ผมได้เห็นจักรยานเผินน้ำในพระราชดำริของในหลวง และข้อความพระราชดำรัสที่ว่า ‘อย่าทิ้งนะ พยายามปรับปรุงแก้ไขต่อไป’ ตอนนั้นอยากให้คนอื่นได้เห็นด้วย จึงคิดว่าจะต่อยอดอย่างไรได้บ้าง …ตัวจักรยานเผินน้ำแบบดั้งเดิมยังใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนัก เราจึงคิดว่าถ้านำไปร่วมกับกังหันชัยพัฒนาซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริเช่นเดียวกัน น่าจะเกิดประโยชน์ด้านการอนุรักษ์คูคลองที่ทำกันมา  เรามุ่งหวังว่าจะมีส่วนช่วยบำบัดน้ำเสียและเป็นการออกกำลังกาย เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วย”ทางประชาคมฯ จึงจัดประชุมร่วมกับตัวแทนจากกรมอู่ทหารเรือซึ่งให้ความอนุเคราะห์ในการออกแบบและจัดสร้างจักรยานน้ำบำบัดน้ำเสีย

การทำงานของฝ่ายกรมอู่ทหารเรือ นาวาเอก ชลิต เจริญวัฒนะโภคา ผู้อำนวยการโรงเรียนช่างกรมอู่ทหารเรือ ผู้เป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานสร้างจักรยานน้ำ ได้บอกเล่าขั้นตอนการออกแบบและจัดสร้างเบื้องต้น

“เราออกแบบโดยดูวัตถุประสงค์ที่ทางประชาคมฯ ต้องการ ทั้งการบำบัดน้ำเสีย ส่งเสริมการท่องเที่ยวรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างกิจกรรมเพื่อสุขภาพ  ขั้นแรกตั้งคณะทำงานสร้างอุปกรณ์บำบัดน้ำฯ หรือจักรยานน้ำ ในส่วนกรมอู่ทหารเรือมีหลายหน่วยงานที่ต้องดำเนินการร่วมกัน ทั้งฝ่ายเขียนแบบและฝ่ายโรงงานต่างๆ”

ขั้นตอนการดำเนินงานเริ่มจากเขียนแบบลายเส้น จักรยานน้ำมีโครงสร้างสำคัญ ได้แก่ ทุ่นลอย ตัวจักรยาน หางเสือ และใบพัดแบบกังหันชัยพัฒนาซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากจักรยานเผินน้ำแบบดั้งเดิม  ต่อมาจึงดำเนินการจัดสร้างซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน คือ การทำทุ่นลอยสองข้างที่ออกแบบเป็นรูปเรือ โดยใช้วัสดุไฟเบอร์กลาสซึ่งมีน้ำหนักเบาและทนทานต่อการใช้งาน

อีกส่วนคืองานช่างโลหะที่ผลิตโครงจักรยาน หางเสือ และใบพัดกังหันด้วยอะลูมิเนียม ส่วนเฟืองต่างๆ เลือกใช้ของที่มีตามท้องตลาดเพื่อการซ่อมบำรุงในอนาคตจะหามาเปลี่ยนได้เอง  จากนั้นจึงนำทุ่นที่พ่นสีและทำผิวแล้วมาเชื่อมประกอบกับจักรยาน ติดตั้งหางเสือไว้ด้านหน้าเพื่อควบคุมทิศทาง และติดตั้งตัวใบพัดกังหันชัยพัฒนาไว้ด้านหลังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสีย

จักรยานน้ำที่พร้อมใช้งานมีความยาวตลอดลำเรือ ๓ เมตร น้ำหนักรวม ๕๐ กิโลกรัม และกินน้ำลึกวัดจากหางเสือ ๐.๕ เมตร บรรทุกน้ำหนักได้ไม่เกิน ๑๑๐ กิโลกรัม  รวมระยะเวลาตั้งแต่ออกแบบจนแล้วเสร็จประมาณ ๖ เดือน ใช้งบประมาณราว ๒๕,๐๐๐ บาท

การปั่นจักรยานน้ำไม่แตกต่างจากการปั่นจักรยานมากนัก คือบังคับเลี้ยวซ้ายขวาได้ตามปรกติ เพียงแต่กระแสน้ำมีผลต่อการควบคุมทิศทาง  คนที่เข้าใจเรื่องหลักการทำงานของเรือและทิศทางน้ำจะบังคับได้ดีกว่า ซึ่งแก้ไขโดยออกแบบโครงสร้างให้ชะลอความเร็วขณะบังคับทิศทาง

สำหรับประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสีย จะเห็นผลมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความถี่ของการใช้จักรยานน้ำภายในคลอง ซึ่งตัวกังหันจะช่วยทำให้น้ำไม่หยุดนิ่งและเพิ่มออกซิเจน และถ้ามีหลายๆ ลำน่าจะส่งผลชัดเจนขึ้นด้านการบำบัดน้ำเสีย

แม้โครงการจักรยานน้ำต้นแบบจะถือว่าประสบผลสำเร็จในเบื้องต้น แต่กรมอู่ทหารเรือยังเปิดรับความคิดเห็นจากชาวชุมชนและนักปั่นจักรยานที่มาร่วมทดสอบขี่จักรยานน้ำในคลองบางลำพู เพื่อพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ ของจักรยานน้ำให้มีประสิทธิภาพการใช้งานเหมาะสมแก่คนทั่วไปมากที่สุด

อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดอีกอย่างที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้จักรยานน้ำภายในคลองบางลำพู คือการรักษาระดับน้ำในคลองให้มีความเหมาะสม เพราะระดับการกินน้ำลึกของจักรยานต้องมีปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อไม่ให้ช่วงหางเสือติดพื้นเลนซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการขี่ เรื่องนี้ประชาคมฯ ต้องหารือกับสำนักการระบายน้ำซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโดยตรงเรื่องคูคลองและการกำหนดระดับน้ำ

สิทธิชัยกล่าวว่า จากความสำเร็จของตัวต้นแบบทำให้องค์กรภาคเอกชนและกลุ่มบุคคลย่านบางลำพูเล็งเห็นประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ จึงสนับสนุนให้จัดสร้างจักรยานน้ำเพิ่มเติม  ตอนนี้มีประมาณ ๑๕ ลำที่อยู่ระหว่างการจัดสร้าง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายและถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของประชาคมฯ ที่จะบริหารจัดการระบบการใช้จักรยานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน การดูแลรักษาซ่อมบำรุง รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ในอนาคตประชาคมฟื้นฟูวัฒนธรรม ย่านบางลำพู และชาวบางลำพู หวังจะได้เห็นจักรยานน้ำที่เกิดจากการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและความร่วมใจของชาวย่าน โลดแล่นคืนชีวิตชีวาให้คลองบางลำพูและมีส่วนสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์คูคลองของคนกรุงเทพฯ ให้ฟื้นคืนมาอีกครั้ง

ขอขอบคุณ 
คุณสิทธิชัย ผลหิตตานนท์ ประธานประชาคมฟื้นฟูวัฒนธรรม ย่านบางลำพู
นาวาเอก ชลิต เจริญวัฒนะโภคา ผู้อำนวยการโรงเรียนช่างกรมอู่ทหารเรือ
พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง กรมอู่ทหารเรือ