อติภพ ภัทรเดชไพศาล
มองการเมือง สังคม วัฒนธรรม ผ่านดนตรี

อาร์โนลด์ เชินแบร์ก กับการรับรู้ดนตรีตะวันตกในฐานะ serious music

ภาพเหมือนของเชินแบร์ก โดย เอกอน ชีเลอ (Egon Schiele วาดใน ค.ศ. ๑๙๑๗)

Skandalkonzert

ในประวัติศาสตร์ดนตรีสมัยใหม่ Skandalkonzert (ในภาษาอังกฤษว่า scandal concert) หมายถึงการแสดงดนตรีที่อื้อฉาวในกรุงเวียนนาเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ (พ.ศ. ๒๔๕๖)

คอนเสิร์ตครั้งนั้นแสดงผลงานสมัยใหม่ของนักแต่งเพลงสำนักเวียนนาที่ ๒ ซึ่งมีผู้นำกลุ่มคือ อาร์โนลด์ เชินแบร์ก (Arnold Schoenberg ค.ศ. ๑๘๗๔-๑๙๕๑)

และประกอบด้วยนักแต่งเพลงที่เป็นทั้งศิษย์และมิตรสหายของเชินแบร์กอีกสองคน คือ อัลบัน แบร์ก (Alban Berg ค.ศ. ๑๘๘๕-๑๙๓๕) และ อันทอน เวแบร์น (Anton Webern ค.ศ. ๑๘๘๓-๑๙๔๕)

นักแต่งเพลงกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่ทำงานดนตรีลักษณะ “สมัยใหม่” เต็มไปด้วยเสียงหยาบรก (dissonant) มีท่วงทำนองแปลกประหลาดไม่คุ้นหูผู้ฟังส่วนใหญ่ ดังนั้นพวกเขาจึงค่อนข้างมีปัญหากับผู้ฟังและพวกนักวิจารณ์มาตั้งแต่ก่อนหน้า

แต่คอนเสิร์ตในวันที่ ๓๑ มีนาคม คือจุดแตกหักที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

หนังสือพิมพ์เวียนนารายงานว่า คืนนั้นเมื่อเสียงพูดคุยในหอแสดงดนตรีของหมู่ผู้ฟังเริ่มดังขึ้นทุกทีจนรบกวนการแสดง เชินแบร์กหยุดกำกับวงและหันมาตวาดผู้ฟังให้หยุดส่งเสียง จากนั้นจึงเกิดการตะโกนโต้เถียงกันอย่างดุเดือด

ผู้ฟังบางคนบอกว่านักแต่งเพลงเหล่านี้ควรถูกจับส่งสถานบำบัดทางจิต มีการชกต่อยและท้าดวล ขว้างปาข้าวของใส่กัน ประธานสมาคมวิชาการ (President of the Academic Association) พยายามขึ้นไปบนเวทีเพื่อกล่าวคลี่คลายสถานการณ์และสงบสติอารมณ์ผู้ฟัง แต่ก็ไร้ผล

นักดนตรีที่ทั้งหน้าซีดและตัวสั่นค่อยๆ หลบจากเวที  กว่าเหตุวุ่นวายจะสงบลงก็เป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง

 

schoenberginconcert01

ภาพล้อแสดงความโกลาหลวุ่นวายในคอนเสิร์ตของเชินแบร์ก

ภาพล้อแสดงความโกลาหลวุ่นวายในคอนเสิร์ตของเชินแบร์ก

serious music และการจัดแสดงดนตรีส่วนบุคคล

ตามประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตก เราอาจสรุปได้สั้นๆ ว่า ดนตรีคลาสสิกถือกำเนิดจากโบสถ์และค่อยๆ กลายเป็นของชนชั้นสูงในราชสำนักราวศตวรรษที่ ๑๖

ซึ่งจะตกอยู่ในการควบคุมของชนชั้นสูงและชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง โดยเปิดโรงละครและหอแสดงดนตรีที่บางครั้งจำแนกชนชั้นอย่างชัดเจนในศตวรรษที่ ๑๘

ช่วงที่เชินแบร์กจัดการแสดงดนตรีครั้งนี้ การแสดงดนตรีของออสเตรียอยู่ในอุปถัมภ์ของชนชั้นกลางที่มีฐานะ ดังนั้นผู้ฟังส่วนใหญ่ในหอแสดงดนตรี (ซึ่งก็คือชนชั้นกลางผู้อุปถัมภ์นั่นเอง) จึงอยากปกป้อง “วัฒนธรรม” ที่ตนมีส่วนสร้างขึ้น

และเมื่อดนตรีของนักแต่งเพลงในกลุ่มเชินแบร์กเริ่มมีท่าทีผิดแปลก แหกคอกจากจารีตเดิม ชนชั้นกลางที่ต้องการกุมอำนาจวัฒนธรรมกลุ่มนี้จึงอดรนทนไม่ได้ที่จะแสดงอาการต่อต้านขัดขืน

อันส่งผลให้เป็นความรุนแรงดังกล่าวข้างต้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ ขณะชนชั้นกลางผู้อุปถัมภ์มองดนตรีเป็น “วัฒนธรรมความบันเทิง” ที่ตนมีส่วนร่วมกำกับควบคุม นักแต่งเพลงกลุ่มเชินแบร์กกลับไม่ได้มองดนตรีแบบนั้น และเห็นว่าดนตรีเป็นเรื่อง “วิชาการ” เฉพาะทางซึ่งผู้ฟังควรจะเปิดใจยอมรับความก้าวหน้าและการทดลองแนวทางใหม่ๆ

ดังนั้นการถูกชนชั้นกลางและนักวิจารณ์ประณามจึงไม่อาจหยุดยั้งการค้นคว้าของนักแต่งเพลงกลุ่มนี้

(ต่อมาวิธีการแต่งเพลงแบบเชินแบร์กก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปะการดนตรีขั้นสูงและเป็นศิลปะ “สมัยใหม่” ในที่สุด)

เชินแบร์กแก้ปัญหาความขัดแย้งในหอแสดงดนตรีโดยจัดตั้ง Verein für musikalische Privataufführungen หรือ “สมาคมแสดงดนตรีส่วนบุคคล” เปิดรับสมาชิกจำนวนจำกัดและไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ารับฟัง

สมาคมฯ ยังมีกฎเกณฑ์อีกหลายอย่าง เช่น มีการบรรยายก่อนแสดงดนตรี ถ้าเป็นเพลงใหม่และออกแสดงครั้งแรก จะแสดงเพลงนั้นซ้ำสองครั้ง (เพื่อให้ผู้ฟังได้ทบทวนและจับใจความ) ห้ามผู้ฟังปรบมือหลังจากวงดนตรีบรรเลงเพลงจบ ฯลฯ

ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของดนตรีตะวันตก ว่าไม่ใช่เพียง “ความบันเทิง” ของชนชั้นสูง แต่เป็นเรื่อง “ศิลปวิทยาการ” ที่ต้องการความรู้ความสามารถเฉพาะทาง และไม่ใช่สิ่งที่สามัญชนจะเข้าใจง่ายๆ

ในมุมมองของเชินแบร์กและกลุ่มนักแต่งเพลงสำนักนี้การรับฟังดนตรีจึงมิใช่เพื่อ “รู้สึก” หรือ “มีอารมณ์ร่วม” อย่างดนตรีขนบนิยมสมัยก่อนอีกต่อไป แต่เป็นการทำความ “เข้าใจ” ชิ้นงานด้วยสติปัญญาต่างหาก

แนวคิดที่สวนทางกับขนบผนวกกับเชินแบร์กเป็นชาวยิว ส่งผลให้พรรคนาซีออกประกาศว่าผลงานของนักแต่งเพลงกลุ่มนี้เป็นดนตรีเสื่อมทราม (degenerate music) ทำให้เชินแบร์กต้องลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๙๓๓

ถ้าย้อนกลับมามองคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกในสังคมไทย ผมคิดว่าผู้ฟังส่วนมากไม่มีความรู้สึกเรื่องการกำกับควบคุมวัฒนธรรมแบบสังคมตะวันตก

ตรงกันข้าม ผู้ฟังดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยดูเหมือนจะฟังด้วยความรู้สึกสยบยอม จนแม้กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์แทบไม่เคยเกิดขึ้น

(ถ้าลองอ่านงานวิจารณ์คอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกตามหน้านิตยสารหรือหนังสือพิมพ์จะพบว่าส่วนมากหรือเกือบทั้งหมดเป็นการวิจารณ์ในแง่ดีทั้งสิ้น ถ้าตำหนิก็มักจะทำอย่างละมุนละม่อมและเกรงอกเกรงใจมาก)

ซึ่งสาเหตุอาจเป็นไปได้ว่า การอุปถัมภ์ดนตรีคลาสสิกในสังคมไทยตั้งแต่แรกตกอยู่ในมือของรัฐและชนชั้นสูง ดังนั้นชนชั้นกลางซึ่งเป็นผู้ชมการแสดงดนตรีส่วนใหญ่จึงมีฐานะเพียงปัจเจกบุคคลผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับวัฒนธรรมการฟังแม้แต่น้อย

และถ้าจะว่าไป ที่จริงวัฒนธรรมการฟังดนตรีคลาสสิกของสังคมไทยก็แทบไม่ได้หมายถึง “การฟัง” จริงๆ ด้วยซ้ำ แต่เป็นกระแสค่านิยมและแฟชั่นที่ทำตามกันเป็นพักๆ เท่านั้น

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงคุณลักษณะความเป็น “งานวิชาการ” แบบดนตรีสมัยใหม่

เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า แต่อดีตจนปัจจุบันวงดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยแทบไม่เคยบรรเลงผลงานสมัยใหม่ของเชินแบร์กเลย