เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

antonio-castroสิ่งที่เรียกว่า ‘ประเทศฟิลิปปินส์’ เป็นมรดกอย่างหนึ่งจากยุคอาณานิคม ปัจจุบันคนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกซึ่งผสมผสานความเชื่อท้องถิ่น  เรามี ‘พระเยซูดำ’ มีเทศกาลทางศาสนาคริสต์ต่างจากที่อื่น ๆ แต่นี่ก็คือลักษณะร่วมของศาสนาหลักในอุษาคเนย์  ศาสนาเหล่านี้วางพื้นฐานสังคมของเรา ในกรณีฟิลิปปินส์ยุคดั้งเดิมก่อนศาสนาจะเข้ามา ชุมชนระดับหมู่บ้านมีโครงสร้างครอบครัวที่มีผู้นำเข้มแข็ง  พอสเปนปกครอง ศาสนาคริสต์ก็ตามมา ก่อนศาสนาอิสลามจะเข้ามาผ่านการค้าขายในหมู่เกาะทางตอนใต้  ตอนนั้นเจ้าอาณานิคมสเปนพบว่าคนในหมู่เกาะแห่งนี้ราว ๕ แสนคนนับถือความเชื่อท้องถิ่นอันหลากหลาย คนส่วนมากมีอาชีพทำประมง

“ชาวตะวันตกกลุ่มแรกที่มาถึงที่นี่คือนักเดินเรือ จากนั้นมิชชันนารี (หมอสอนศาสนาคริสต์) ก็ตามมา คนเหล่านี้มีประสบการณ์เผยแผ่ศาสนาในทวีปอเมริกาใต้ จึงทำงานในฟิลิปปินส์อย่างมีระบบแบบแผน และสำหรับมิชชันนารีสเปน ศาสนาเป็นเรื่องเดียวกับความรู้สึกชาตินิยม  วิธีของพวกเขาคือการอาศัยอยู่ในชุมชน ทำให้โบสถ์มีบทบาท เปลี่ยนแปลงกฎต่าง ๆ ของหมู่บ้าน  แต่ก็มีปัญหาว่าชาวสเปนนั้นอยู่บนโครงสร้างชั้นบนสุดที่กดขี่คนพื้นเมือง ปัญหาการถือครองที่ดินของโบสถ์บางแห่งเป็นเหตุให้โบสถ์ไม่เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน  เมื่อสหรัฐอเมริกาปกครอง นิกายโปรเตสแตนต์และนิกายอื่น ๆ ก็เข้ามาด้วย ศาสนาคริสต์จึงมีความหลากหลายขึ้น

“ปัจจุบันฟิลิปปินส์ยังคงผูกพันกับนิกายโรมันคาทอลิก  อย่างไรก็ตามมีการแยกรัฐออกจากศาสนาเพราะความเป็นเมืองมีมากขึ้น มีชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาจำนวนมากและมีประวัติรับการปกครองแบบประชาธิปไตยจากสหรัฐฯ  โบสถ์ยังคงมีบทบาท แต่บาทหลวง มิชชันนารีก็เป็นมนุษย์ที่ก่อความผิดพลาดได้แม้คนเหล่านี้จะพูดเรื่อง ‘ศีลธรรม’ ‘ความดี’ ‘คนดี’ แค่ไหน  อีกทั้งศาสนจักรฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตนเองให้เหมาะแก่โลกสมัยใหม่เท่าใดนัก ยังมีความเป็นอนุรักษนิยมสูงมาก

“ส่วนการเมือง แม้ประชาธิปไตยที่รับจากอเมริกาจะลงหลักมั่นคง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอุปสรรคเป็นระยะ เช่น เผด็จการมาร์กอสแทรกแซงใน ค.ศ. ๑๙๖๕ โดยประกาศกฎอัยการศึกเพราะตัวเขาไม่อาจแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตนเองเป็นประธานาธิบดีในวาระต่อไป  ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกยังคงมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของคนที่นี่เพราะมีพิธีกรรมตั้งแต่เกิดจนตาย เรียกได้ว่าเป็นระบบวัฒนธรรม  เรามี ‘ประชาธิปไตย’ แต่ก็แฝงระบบ ‘ดาตู’ หรือหัวหน้าเผ่า หัวหน้าชุมชน คือคนจะฟังหัวหน้าเผ่ามากกว่าคนอื่น ๆ  การจะแก้ไขปัญหาหลายเรื่องในสังคมฟิลิปปินส์อาจต้องเริ่มจากถามว่าจะแก้ที่การเมืองหรือวัฒนธรรมก่อน  ศาสนจักรฟิลิปปินส์ยังคงมีเสียงดังในประเด็นปัญหาสังคม เช่น การคุมกำเนิด การศึกษา  โบสถ์หลายแห่งมีโรงเรียน มหาวิทยาลัยบางแห่งให้การศึกษาฟรี แต่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยม กระทั่งเกาะมินดาเนาทางใต้ที่มีปัญหาความรุนแรงระหว่างชาวคริสต์กับมุสลิม โบสถ์บางแห่งก็เป็นตัวละครสำคัญของความขัดแย้ง  บางโบสถ์ถือครองที่ดินมากเกินไป มีการเอาเปรียบคนในพื้นที่ ก่อความรุนแรงในโบสถ์ ยังไม่นับชาวฟิลิปปินส์บางคนที่ไปตะวันออกกลางแล้วได้รับอิทธิพลแนวคิดแบบสุดขั้วกลับมา

“สถานการณ์ระหว่างศาสนาต่าง ๆ ในฟิลิปปินส์มีพัฒนาการตลอดเวลา  ผมเติบโตที่เกาะซูลู สมัยก่อนมีการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์และศาสนา  เพื่อนร่วมชั้นของผมเป็นมุสลิมซึ่งที่นั่นมีจำนวนน้อย แต่ให้ความสำคัญต่อการศึกษาศาสนา จนโบสถ์คริสต์กังวลเรื่องการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม  ค.ศ. ๑๙๗๔ พอกลุ่ม ‘National Liberation Front’ ชาวโมโรเสนอแนวคิดตั้งรัฐอิสลามก็มีปัญหามาก เพราะคนฟิลิปปินส์มองศาสนาแยกจากรัฐอย่างเด็ดขาด  สถานการณ์ที่ซูลูตอนนี้แย่ลงมาก ผมไม่อาจไปโดยไม่มีทหารคุ้มกัน  หรือกรณีอื่นอย่างข้ามไปที่เกาะมินดาเนาจะพบปัญหาอีกแบบ ที่นั่นมีชาวมุสลิมจริง แต่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือคริสต์อาศัยอยู่จำนวนมาก

“มีกรณีน่าสนใจคือ เคยมีคนฟิลิปปินส์เปลี่ยนศาสนาจากคริสต์เป็นอิสลาม เหตุผลมีหลายอย่าง โดยเฉพาะหลายคนเปลี่ยนเพื่อให้ดำรงชีวิตในต่างแดนโดยง่าย เช่นเปลี่ยนเป็นอิสลามเมื่อไปเป็นแรงงานในซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้ทำงานสะดวก พอกลับบ้านก็นับถือคริสต์เช่นเดิม เนื่องจากเจ้าหน้าที่ซาอุดีอาระเบียปฏิบัติสองมาตรฐานต่อคนต่างศาสนา  ที่สำคัญคือพวกเขาหาโบสถ์เพื่อไปสวดมนต์วันอาทิตย์ไม่ได้ ซึ่งจริง ๆ ก็มีอีกกรณีคือ บาทหลวงบางคนปลอมตัวเป็นแรงงานไปทำงานเพื่อบริการทางศาสนาแก่ชาวฟิลิปปินส์เป็นการเฉพาะ เรื่องนี้ยังไม่ค่อยมีใครทราบมากนัก

“ถ้าดูในแง่บทบาท ศาสนาคริสต์ในฟิลิปปินส์เป็นเรื่องวัฒนธรรม ต่างจากศาสนาพุทธในไทยที่มีสิทธิเหนือศาสนาอื่น ๆ  ถึงตรงนี้ประเด็นเรื่องศาสนากับการเมืองนั้น ผมมองว่าสิทธิพิเศษของศาสนาพุทธและการนิยมให้สิทธิพิเศษแก่คนบางคน เป็นปัญหาของสังคมไทย”

*อาจารย์ประจำภาควิชา Church History and Systematic Theology, Loyola School of Theology กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์