banner-camp-12-for-web-logo

งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 11 (ได้รับงานภาพสารคดี ดีเด่น)
เรื่อง : อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล

ภาพ : รตานันนท์ รัตนะ

ช่วงพักกลางวันของเด็กนักเรียนชาวมุสลิม ภาพที่เห็นเบื้องหลังคือ มัสยิดนูรุ้ลมู่บีนบ้านสมเด็จฯ สถานที่ที่มีความสำคัญกับพวกเขาตั้งแต่เกิดจนตาย ภาพหมายเลข
 เด็กผู้หญิงสองคนกำลังยืนคุยกันหลังเลิกเรียน ระหว่างรอผู้ปกครองมารับที่มัสยิด
ของว่างและน้ำหวานตบท้ายอาหารกลางวันของ ฮานา และ เพื่อนตัวน้อย
บี และ ซะกี ในห้องล้างตัวของผู้หญิง โดยก่อนการละหมาดในแต่ละครั้งจะต้องทำการล้างตัวก่อน ผู้ละหมาดจึงจะสะอาดทั้งกายและใจ
วิชาเรียนคัมภีร์อัลกุรอานนั้นจัดมีให้สำหรับเด็กเล็กไปจนถึงผู้ใหญ่ โดยมีการเรียนการสอนในวันเสาร์และอาทิตย์ช่วงเช้า ส่วนเด็กอายุ 5 ขวบขึ้นไป จะมีเรียนวันจันทร์ถึงวันศุกร์ช่วงหัวค่ำ
ชาวมุสลิมในชุมชนมาร่วมการทำพิธีละหมาดอย่างพร้อมเพรียงกัน
พิธีศพของอิสลามเป็นหน้าที่ของลูกหลานและคนในครอบครัวที่จะต้องอาบน้ำให้ศพ ห่อศพ นำศพเข้าไปทำพิธีละหมาดในมัสยิด จากนั้นจึงแบกศพเข้าไปในกุโบร์เพื่อฝังในหลุมที่ขุดเอาไว้แล้ว โดยทุกขั้นตอนต้องเสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่งโมง
คุณลุงกำลังสวดมนต์ให้กับผู้ตาย ภายในบริเวณกุโบร์ที่มีบรรยากาศผ่อนคลายและร่มรื่น
หลุมฝังศพของชาวมุสลิม ในทัศนะอิสลามเชื่อกันว่า นี่คือการพักผ่อนเพื่อรอคอยวันสิ้นโลก ซึ่งจะเป็นวันที่ผู้ตายฟื้นขึ้นมาฟังคำตัดสินและชำระบาปนั่นเอง

เวลาเที่ยงวันที่พระอาทิตย์ยังคงทำงานและสาดแสงรุนแรงเช่นเดิมเหมือนทุกวันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เสียงอะซานได้เริ่มดังแผ่กังวานไปทั่วรัศมีการได้ยินของชุมชนโดยรอบ ผู้คนที่ประกอบกิจการต่างๆ ล้วนหยุดลงและมารวมตัวกันยังมัสยิด “นูรุ้ลมู่บีน” แห่งนี้ พวกเขามารวมตัวกันเพื่อทำในสิ่งธรรมดาปกติสุขของตนเองในทุกวัน หากแต่สำคัญในทุกห้วงความรู้สึก … มาตามเสียงของอะซาน…

หออะซานภายในบริเวณมัสยิด ยังคงทำงานทุกวัน วันละ 5 ครั้ง เป็นหน้าที่ที่เที่ยงตรงและตรงกับเวลาเที่ยงตรงในตอนนี้ เนื่องจากต้องประกาศเวลาละหมาด เพื่อเรียกให้ผู้คนบริเวณรัศมีของการได้ยินนั้นมารวมตัวกันปฏิบัติศาสนกิจเพื่อระลึกถึงพระเจ้า ซึ่งตรงกับความหมายของมัสยิดอันเป็นภาษาอาหรับ ว่าสถานที่สำหรับแสดงความภักดีต่อพระเจ้า และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาและการดำเนินชีวิตประจำวันตามแนวของศาสนาอิสลาม หรืออาจกล่าวได้ว่า มัสยิด คือศูนย์กลางของชุมชน เป็นทั้งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและรวมความผูกพันของชุมชนไว้ในที่แห่งเดียวกันนี้

ชาวมุสลิมที่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ อันเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมแห่งนี้ มีพื้นฐานทางด้านสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นธรรมดาของมนุษย์ เมื่อมีการรวมตัวก็ย่อมต้องสร้างที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ชุมชนมุสลิมจึงได้สรรสร้างมัสยิดขึ้นตามวิสัยของตน แต่ก็ได้มีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมแต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ ชุมชนมัสยิดนูรุ้ลมู่บีน หรือมัสยิดบ้านสมเด็จแห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่วัฒนธรรมอิสลามได้ผ่านกระบวนการการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างสันติสุขร่วมกับวัฒนธรรมกระแสหลักอย่างพุทธและพราหมณ์อันเป็นรากเหง้าของสังคมไทยมาช้านาน ดังนั้น ความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยการใช้ใจจริงๆ เข้ามาสัมผัสจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

มัสยิดนูรุ้ลมู่บีน บ้านสมเด็จ แห่งนี้ เกิดจากที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หรือที่เราๆ คุ้นหูและคุ้นปากในการเรียกมากกว่าในชื่อ ช่วง บุนนาค ท่านได้รับคำสั่งจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ให้เดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์ เพื่อดูบ้านดูเมืองและความรุ่งเรืองมาปรับใช้กับบ้านเมืองของเราบ้าง ระหว่างเดินทางกลับจึงได้เชื้อเชิญช่างมุสลิมที่มีฝีมือจำนวนมากจากปัตตานีและสตูล เพื่อมาพัฒนาบ้านเมือง เนื่องจากมัสยิดแบบที่ไปเห็นยังบ้านเมืองอื่นนั้น เป็นสถาปัตยกรรมที่ยังมีไม่มากนักในเมืองหลวง สมเด็จฯ ได้ประทานที่ดินส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่อาศัยตรงบริเวณหลังจวนของท่าน หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จในปัจจุบัน ที่แห่งนี้จึงเกิดเป็นศูนย์กลางของชาวมุสลิมในแถบนี้ขึ้นมา

ความเป็นชุมชนมุสลิมหล่อหลอมให้มุสลิมในชุมชนสนใจศาสนาและมีความผูกพันกับมัสยิดอย่างสม่ำเสมอ แม้สังคมภายนอกจะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะบทบาทในการอบรมสั่งสอนศาสนาและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา เด็กมุสลิมที่นี่นอกจากมีหน้าที่เรียนหนังสือตามหลักสูตรเฉกเช่นเด็กทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีความพิเศษกว่าคือการได้เรียนศาสนาและภาษาอาหรับควบคู่กันไป ทั้งนี้เนื่องจากเด็ก คือหน่อของความดีงาม ที่ผู้ใหญ่ต้องบ่มเพาะให้เกิดเป็นต้นกล้าที่แข็งแกร่งและมีส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาชุมชนต่อไป การศึกษาคำสอนของศาสนา และการเรียนภาษาอาหรับของเด็กๆ ในชุมชนแห่งนี้ จึงเป็นการสืบสานต่อซึ่งศาสนกิจที่สำคัญ เนื่องจากต่อไปในภายภาคหน้า พวกเขาเหล่านี้ คือกำลังสำคัญในการส่งตรงความจงรักภักดีไปยังพระผู้เป็นเจ้าสืบไป นี่คือหน้าที่ที่มัสยิดนูรุ้ลมู่บีนส่องแสงรัศมีเรื่อยมา และยังคงเป็นอยู่ตลอดไป

ในอัลกุรอานได้กล่าวว่า “พระเจ้าสร้างมนุษย์เพื่อเป็นตัวแทนในโลกนี้ พื้นที่ในโลกจึงเปรียบเสมือน พื้นที่ชั่วคราว ที่จัดขึ้นเพื่อทดสอบการกระทำของแต่ละคน เพื่อรับผลตอบแทนอันยั่งยืนในโลกหน้า” การประกอบแต่คุณงามความดีและระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกและมั่นคงในจิตใจของชาวมุสลิมทุกคนในฐานะที่เป็นตัวแทนของพระเจ้าในโลกนี้ และทุกๆ ความดีที่ได้กระทำต่อผู้อื่นหรือสังคมรอบข้าง ล้วนเป็นการกักตุนเสบียงเพื่อเดินทางในโลกหน้า

อิหม่ามได้กล่าวไว้ว่า “เราเกิดมาโลกนี้เป็นเพียงแค่ทางผ่าน ถึงเวลาก็ต้องจากไป” คำพูดและแววตาของอิหม่าม ทำให้คิดอะไรได้หลายอย่างเมื่อนึกถึงประโยคนี้ จริงอยู่ที่เราเดินทางมายังโลกนี้เพียงชั่วคราว ไม่มีใครรู้ว่าเราจะไปที่แห่งใดหลังจากที่เราหมดบทบาทและหน้าที่ลงแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือ ในขณะที่เรายังเดินทางต่อไปบนโลกที่หมุนเวียนและเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้น มนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเราได้ตอบแทนอะไรไว้กับดินแดนที่เป็นที่พักชั่วคราวของเราอย่างน้อยก็ช่วงชีวิตหนึ่งแห่งนี้บ้าง

“มนุษย์ที่ดีที่สุด คือมนุษย์ที่สร้างประโยชน์ให้ส่วนรวม” นี่คงจะเป็นคำตอบของคำถามในใจข้างต้นที่อิหม่ามฝากไว้ให้กระมัง ไม่แน่ใจว่าอิหม่ามอ่านใจคนออกหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วนี่คือสิ่งที่มนุษย์ที่ดีพึงกระทำต่างหากหละ

ชุมชนแห่งนี้ทำให้เห็นถึงความใกล้ชิดที่คอยดูแลและตักเตือนให้ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กๆ อยู่ในกรอบของศาสนา โดยที่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมอื่นได้อย่างสงบสุข มัสยิดไม่ได้เป็นสถานที่สำหรับละหมาดเพียงเท่านั้น แต่เป็นที่รวมของชุมชน ความเป็นศูนย์กลางของชุมชนถูกเชื่อมโยงเข้ากับความศรัทธาในศาสนา มัสยิดจึงเป็นเหมือนที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนทั้งชาวมุสลิมด้วยกันเอง และแขกเหรื่อผู้มีไมตรีจิต ทำให้ความเข้าใจและสันติสุขเกิดขึ้นในใจของทุกคนได้ไม่มากก็น้อย

นูรุ้ลมู่บีน แห่งนี้ เปรียบเสมือน แสงแห่งความเข้าใจที่ส่องไปทั่วบริเวณชุมชนแห่งนี้ ตรงตามที่อิหม่ามได้ให้ความหมายของ “นูรุ้ล” นั้น หมายถึง รัศมี และนูรุ้ลมู่บีนนี่เอง คือรัศมีของอิสลาม ที่แผ่คุณประโยชน์ รวมทั้งสิ่งที่มัสยิดมอบให้กับชุมชน เหมือนรัศมีการได้ยินเสียงอะซานของคนรอบๆ มัสยิด หากแต่รัศมีของอิสลามนี้ คงแผ่กว้างกว่ารัศมีของอะซานหลายเท่านัก

… ผู้คนละหมาดเสร็จแล้ว และต่างกลับไปทำหน้าที่ของตน เสียงอะซานคงดังอีกครั้งเมื่อเวลาเย็นซึ่งเป็นช่วงละหมาดครั้งที่ 3 ของวันเวียนมาถึง ทุกอย่างยังคงดำเนินไป เป็นปกติเช่นนี้ทุกวัน แต่ทุกครั้งนั้นคือความพิเศษที่จะได้เข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า ทุกอย่างอยู่ในทุกช่วงของการดำเนินชีวิต เป็นการเตือนใจให้ชาวมุสลิมประกอบแต่สิ่งที่ดีงาม เพราะพระเจ้าอยู่ใกล้กับพวกเขาเสมอ เพียงระลึกถึง

ทุกครั้งที่เสียงอะซานดังขึ้น พระเป็นเจ้าก็ปรากฏชัดเจนในใจของพวกเขาเช่นกัน …