banner-camp-12-for-web-logo

งานดีเด่นจากค่ายสารคดีครั้งที่ 11
เรื่อง : นงนภัส ร่มสุขวนาสันต์    

ภาพ : วุฒิชัย เสือใหญ่

musyidbangluang01
musyidbangluang02
musyidbangluang03
musyidbangluang04
musyidbangluang05
musyidbangluang06
musyidbangluang07
musyidbangluang08
musyidbangluang09
musyidbangluang10

เสียงกลองดังก้องจากหอกลองที่ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนมัสยิดบางหลวงเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีผู้ได้ไปสู่จุดเริ่มต้นในการก้าวไปสู่ชีวิตที่แท้จริงและเป็นนิรันดร์อีกคนหนึ่งแล้ว

ชุมชนมัสยิดบางหลวงหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “กุฎีขาว” ตั้งอยู่บริเวณฝั่งขวาของคลองบางกอกใหญ่ระหว่างชุมชนวัดกัลยาณ์กับชุมชนโรงคราม เป็นชุมชนชาวไทย-มุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานมายาวนานเกือบสองร้อยห้าสิบปี

ในทรรศนะของชาวมุสลิม มองว่าเมื่อคนเราตายลงแล้ว วิญญาณของทุกคนจะไปรวมกันอยู่ที่ “บัรซัค” ซึ่งเป็นที่ที่อยู่คั่นกลางระหว่างโลกนี้และโลกหน้า จนกระทั่งวันพิพากษาที่ทุกชีวิตจะถูกทำให้ฟื้นตื่นขึ้นเพื่อรับฟังคำพิพากษาของพระผู้เป็นเจ้าถึงสิ่งที่เขาทำขณะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ดังจะเห็นได้ว่าความตายในทัศนะของชาวมุสลิมนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในความมืดมิด แต่กลับเป็นสิ่งที่ใครๆนั้นคุ้นชินตามหลักคำสอนในคำภีร์อัลกุรอานที่ว่า “ทุกชีวิตต้องลิ้มรสความตาย”

“จะไปกลัวทำไม เดี๋ยวเราก็ตายเหมือนกัน มีเกิดแก่เจ็บตาย สุดท้ายมันก็ต้องตายเหมือนกัน ไม่ต้องไปกลัว” ป้าตุ๊ก วัย63ปี ผู้ประกอบกิจการทำขนมเทียนในชุมชนมัสยิดบางหลวง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มที่มักจะช่วยชาวบ้านในชุมชนทำศพ

ข้อกำหนดของศาสนาอิสลามได้กำหนดไว้ว่าให้ครอบครัวและญาติใกล้ชิดของผู้ตายเป็นผู้จัดการเรื่องฝังศพ ซึ่งก็เป็นการสอดคล้องกับบทบาทของป้าตุ๊กที่เล่าให้ผู้เขียนฟังถึงความเป็นเครือญาติในชุมชนมัสยิดบางหลวงที่สืบย้อนได้ว่าเกือบทุกคนในชุมชนนี้จริงๆแล้วเป็นญาติกันหมด

“ถ้าตายจากโรงพยาบาลหมอจะวินิจฉัยมา อิสลามเขาจะไม่่ผ่าชันสูตรแล้วก็ต้องนำศพมาฝังภายใน24ชั่วโมง พอเขาเอาศพมาเสร็จ ไม่ว่าจะแต่งตัวยังไงก็แล้วแต่ เราก็จะมาแต่งตัวให้เขาใหม่ เช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อ ใส่เป็นผ้าโสร่ง ใส่เสื้อ เป็นเสื้อธรรมดาแบบชีวิตประจำวันนี่แหละ ใส่ไว้ให้ก่อนแล้วก็ใส่หมวก” ป้าตุ๊กเริ่มเล่าถึงขั้นตอนการทำศพให้ผู้เขียนฟัง

“พอสองโมงที่จะละหมาด เขาก็จะเชิญคนมา ที่นี่สิบคน ที่นู่นยี่สิบคน สี่สิบคนบ้าง เพื่อจะมาอ่านคัมภีร์อัลกุรอานให้เขา เสร็จแล้วเขาก็เตรียมตัวอาบน้ำตอนบ่ายโมงให้กับคนตาย” ป้าตุ๊กบอก

“ระหว่างขั้นตอนต่างๆเนี่ย เราต้องจุดธูปทีละดอกจนกว่าจะฝังเสร็จ เวลาอาบก็อาบที่สุเหร่านี่ล่ะ เรามีห้องอาบน้ำศพอยู่ แต่บ้านใครใหญ่ๆสะดวกอาบที่บ้านก็อาบที่บ้านได้ พออาบน้ำเสร็จเขาก็จะแต่งตัว คือห่อผ้าขาว ไม่มีเสื้อผ้าอะไรไปเลยนะ เขาจะมีผ้าขาวสองชิ้นใหญ่ๆ ตัดเป็นเสื้อชิ้นหนึ่ง โสร่งชิ้นหนึ่ง จากนั้นก็จะทำพิธีอาบน้ำ โดยเราจะมีน้ำละหมาด เป็นน้ำใบพุทรา น้ำมะกรูด น้ำดินสอพอง น้ำจันท์ขาว แล้วก็น้ำพิมเสนเพื่อไปรดให้เขา มันก็จะลดล้างกลิ่นดับกลิ่น” ป้าตุ๊กบรรยายถึงขั้นตอนต่อไปด้วยความชำนาญ

“ก่อนเข้าเฝ้าพระเจ้า ตัวเราต้องสะอาด พระเจ้าชอบหอมๆ เหมือนเวลาละหมาดก็ต้องอาบน้ำละหมาด นี่พอจะไปก็เหมือนเราอาบน้ำละหมาดให้เขาด้วย” ลุงกฤช วัย67ปี พี่ชายของป้าตุ๊กที่นั่งฟังอยู่ตรงนั้นกล่าวเสริม

“เสร็จแล้วเขาก็จะเอาสำลีก้อนเล็กๆสามก้อนอุดไปที่ทวารหนัก เพื่อจะไม่ให้อะไรมันออกมาแล้วจึงห่อ โดยให้มือขวาทับมือซ้าย ห่อเสร็จก็ใส่หีบตัวตรงไปมัสยิด ละหมาดเสร็จก็จะเอามาที่กุโบร์(สุสาน) เอามาเปิดหน้าแล้วก็สำลีแปะหน้า แล้วก็ตะแคงแบบเรานั่งละหมาด แล้วเอาดินยัด เพื่อไม่ให้ร่างพลิก เวลาฝังเขาก็หันหน้าออกไปทางมัสยิด พอเขาฝังเสร็จ เขาก็จะเอาดินปั้นใส่กระดาษทิชชู่แล้วเอาไปวาง เหมือนเอาไปฝังเขา ต่อไปก็จะเป็นจัดเลี้ยง หลังหนึ่งทุ่มทีหนึ่ง อีกทีหนึ่งสี่สิบวัน ถ้าคนมีก็เงินหน่อยก็ทำร้อยวันด้วย” ป้าตุ๊กเสริมรายละเอียดของขั้นตอนพิธีศพจนจบพร้อมกับแสดงท่าทางและทิศทางของการจัดวางศพบนเตียงของป้าตุ๊กให้ผู้เขียนดูไปพลาง

ในขั้นตอนของการทำศพ จะมีการแบ่งหน้าที่กันตามเพศที่จะรับผิดชอบศพนั้นๆ คือฝ่ายชายอาบน้ำศพผู้ชาย ฝ่ายหญิงอาบน้ำศพผู้หญิง แต่ในกรณีที่ไม่มีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นเพศเดียวกับผู้ตายนั้น ก็เป็นการอนุโลมได้ที่จะให้เพศตรงข้ามเป็นผู้ดูแลแทน ส่วนการต่อหีบ การขุดและกลบดินจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายชายที่จะร่วมมือกันระหว่างสมาชิกภายในชุมชน

“เวลาอาบน้ำศพเราก็ต้องเอามือรีดและล้วงท้องของศพให้สะอาดเลยนะ ล้วงไปทางทวารหนักเขา รีดท้องให้ไอ้ที่ค้างอยู่ในท้องออกมาให้หมด อุจจาร้งอุจจาระด้วย ทั้งล้วงทั้งรีดเลย”

เมื่อได้ยินเช่นนั้น ผู้เขียนจึงนึกสงสัยว่าป้าตุ๊กมีความรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งปฏิกูลในร่างกายที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากเข้าใกล้ จึงเอ่ยถามป้าตุ๊กและได้คำตอบมาอย่างรวดเร็วโดยปราศจากความลังเลโดยสิ้นเชิงว่า

“ไม่รังเกียจหรอก ญาติเขาบางทีทำไม่ได้ ป้าไปเรียนการทำมะหยัดมาจากมูลนิธิที่เป็นของอิสลามนี่แหละ เพื่อดูว่าเราทำผิดหรือถูกหลักยังไง แล้วก็กลับมาสอนคนในชุมชนต่อ คนรุ่นเราก็ไม่รู้จะตายเมื่อไร ป้าก็เรียกเด็กๆมาหัด อย่างลูกหลานเราทำงานบ้างไปเรียนบ้าง แต่ถ้าเสาร์อาทิตย์เขาอยู่ เราก็จะเรียกเขาไป เอ้า! ไปเว้ยเห้ย ไปช่วยกันหน่อย เด็กๆก็มาช่วยล้างเท้า ขัดเล็บ สระผม คนหนึ่งถูสบู่ไป คนหนึ่งราดน้ำไป จ่อสายยางไว้ คนที่เค้าล้วงก็ล้วงไป”

ป้าตุ๊กเล่าให้ผู้เขียนฟังถึงวิธีการในการสืบทอดองค์ความรู้เหล่านี้สู่เด็กรุ่นใหม่ในชุมชนเพื่อไม่ให้วิธีการทำศพตามข้อบังคับอิสลามถูกบิดเบือนและย่นย่อขั้นตอนไป การสืบทอดนี้เองที่นอกเหนือจากองค์ความรู้ที่ถูกสานต่อแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน ซึ่งก็คือความแน่นแฟ้นในเครือญาติด้วย

“ตอนแรกๆป้าก็กลัวเหมือนกันนะผีเนี่ย บางทีไปช่วยเขา ตายตอนมืดก็ต้องฝังเช้า ป้าก็จะทำดอกไม้เป็นแผงๆไปช่วยเขา บางวันเรารู้สึกเลย ว่าคนที่เราไปช่วยเขาเดินมาส่ง เราก็จะบอกว่าไม่ต้องมาส่งนะ เดี๋ยวกลับเอง”

“ป้าเนี่ยคล้ายๆกับมีเซนส์ คือทำให้คนตายจนชิน อย่างพ่อเรา บอกเราว่า ดูสิน้องพ่อ(ที่ตายไปแล้ว)มันเอาเรือมารับกูว่ะ เราก็เลยบอก พ่อนั่นล่ะระวังให้ดีเลย พออีกสักอาทิตย์หนึ่ง พ่อตาย โอ้โห ขาอ่อนเลย พ่อตายจริงๆ”

ป้าตุ๊กกล่าวด้วยน้ำเสียงแห่งความระลึกถึงพ่อพร้อมๆกับน้ำตาที่คลออยู่ในแววตา

“มีคนหนึ่งเขาไปโดนรถชนตายที่สุพรรณฯ ศพจะมาตอนเช้า หมอเขาผ่าสมองชันสูตรเพราะไม่รู้ว่าเป็นอิสลาม แต่เราไม่เห็นนะว่าเขาพันผ้าพันแผลมาที่หัว เราเป็นเพื่อนกับเมียเขาเราก็ไปช่วยเขาทำดอกไม้ตอนกลางคืน ขากลับป้ากลับคนเดียว พอเดินผ่านท่าน้ำที่คนตายเขาไปลงเรือจ้างบ่อยๆ เราก็ระแวงไปเองเปล่าไม่รู้ เราก็เอ๊ะ! ผู้ชายคนนี้ตัวสูงๆขาวๆ แล้วทำไมพันหัวมา พอตอนเช้าไปงานศพ เปิดหน้าดู โอ้โห! ใช่เลย เขาก็บอกกันว่าเขาคงมาขอบใจเรามั้ง ที่เราไปช่วยงาน”

ป้าตุ๊กเล่าประสบการณ์ลี้ลับที่ป้าตุ๊กเคยประสบให้ผู้เขียนฟัง ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่เคยประสบเหตุการณ์ลี้ลับเช่นนี้เท่าไรนัก แต่สำหรับผู้เขียน สิ่งที่ป้าตุ๊กเล่านั้นสะท้อนถึงความผูกพันและความใกล้ชิดที่คนในชุมชนมีต่อกันและกันในตอนที่มีชีวิตอยู่ร่วมกันในชุมชนแห่งนี้…

“มีคนตายบ่อยๆก็ชิน เลิกกลัวผีตั้งแต่เจอบ่อยๆเนี่ยล่ะ การทำศพก็ช่วยให้เราชินกับศพ คิดเสียว่าเขานอนหลับอยู่ ตอนเป็นๆเรายังรักกัน ตอนตายทำไมต้องไปรังเกียจไปกลัวเขาด้วยล่ะ” ป้าตุ๊กบอก

ทันใดที่ป้าตุ๊กพูดจบประโยค ผู้เขียนก็พลันนึกถึงหลักคำสอนจากคัมภีร์อัลกุรอานที่เคยได้ยินมาอีกครั้ง…

“ทุกชีวิตต้องลิ้มรสความตาย”

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตมุสลิมอย่างแยกกันไม่ออก ศาสนาอิสลามคือวิถีชีวิต ตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอน ตั้งแต่เกิดจนตาย บทบัญญัติและข้อบังคับต่างๆที่กำหนดไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานยิ่งส่งเสริมความใกล้ชิดให้มากยิ่งขึ้นทุกวันทุกเวลา การทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกันยิ่งส่งเสริมความผูกพันระหว่างคนในชุมชนมากขึ้นไปอย่างไม่สิ้นสุด

ความใกล้ชิดภายในชุมชนนี้ถูกสะท้อนออกมาผ่านพิธีกรรมหลายๆพิธีกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พิธีศพ” ที่ผู้เขียนเล่าให้ฟังอยู่นี้ เพราะเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นตั้งแต่รากฐานของแนวคิดเรื่องการเกิดของชีวิตถึงการตาย พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาจากดิน เมื่อสิ้นอายุขัยก็ต้องกลับไปสู่ดิน

การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนมัสยิดบางหลวงที่มีความเป็นมาอันยาวนานกว่าสองร้อยปีนี้ ยิ่งทำให้พิธีกรรมนี้ไม่อาจตายจากไป ดังที่ชาวมุสลิมเชื่อว่า การอาศัยในโลกนี้ ณ ตอนนี้ เป็นเพียงแค่การเตรียมตัวสู่โลกหน้า การสิ้นอายุขัยไม่ใช่ความตายที่แท้จริง การประกอบพิธีศพที่มีขั้นตอนอันซับซ้อนให้แก่ครอบครัวและญาติๆถือเป็นการเตรียมตัวให้ผู้ที่สิ้นลมไปสู่ชีวิตที่แท้จริงและเป็นนิรันดร์

ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่า พิธีการทำศพอิงอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และไม่เคยตายจากไปจากชุมชน พิธีนี้เป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นและคนตายผ่านขั้นตอนแต่ละขั้นตอนของพิธีกรรม ผ่านบทบาทของป้าตุ๊กที่เป็นตัวแทนของมุสลิมที่ปฏิบัติตามคำสอน ที่เป็นตัวแทนของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ที่เป็นตัวแทนของชุมชนที่แสดงออกถึงความผูกพันที่คนในชุมชนมีต่อกันและกันแม้จะสิ้นลมหายใจไปแล้วดังประสบการณ์ลี้ลับที่ป้าตุ๊กเล่าให้ฟัง

และท้ายที่สุดทุกคนจะไปอยู่ในที่เดียวกันเพื่อรอวันพิพากษา

เพราะความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชุมชนและคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอานนั้นทำให้”คนตาย”ยังคงสถิตย์อยู่

…เหมือนกับลมหายใจที่ยังมีชีวิต เหมือนกับความใกล้ชิดระหว่างคนเป็นและคนตาย

“พี่ชายป้าบอกป้าเสมอว่า มึงทำไปเถอะ เกิดมาแล้วมึงเป็นคนของพระเจ้า เราก็เลยทำทุกอย่างเลยเกี่ยวกับเรื่องศาสนาเนี่ย แล้วเรารู้สึกว่าเราภูมิใจที่เราได้ทำสิ่งที่เราอยากจะทำ”

ป้าตุ๊กกล่าวทิ้งท้ายด้วยประกายความปลาบปลื้มที่เอ่อล้นออกมาผ่านแววตาและรอยยิ้ม