ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

plutoภาพ “ปานรูปหัวใจ” บนดาวพลูโตถูกส่งข้ามอวกาศจากสุดพรมแดนของระบบสุริยะมายังฐานปฏิบัติการบนพื้นโลก กลายเป็นแลนด์มาร์กของดาวพลูโตนับแต่แรกเห็น

ภาพเต็มใบของดวงดาวซึ่งครั้งหนึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ดาวเคราะห์” ดวงที่ ๙ ของระบบสุริยะ ก่อนถูกปรับสถานภาพเป็น “ดาวเคราะห์แคระ” ได้รับการบันทึกด้วยกล้องถ่ายภาพระยะไกลประจำยานอวกาศนิวฮอไรซอนส์ (New Horizons) ขณะเคลื่อนที่ห่างจากโลกประมาณ ๔,๗๗๐ ล้านกิโลเมตร และเข้าใกล้วงโคจรดาวพลูโตมากที่สุดเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ด้วยระยะทาง ๑๒,๕๐๐ กิโลเมตร เป็นภาพดาวดวงเด่นสีออกโทนส้ม (แท้จริงเป็นสีที่เกิดจากการใช้ฟิลเตอร์ขับเน้นให้เห็นภูมิประเทศบนผิวดาว) ลอยกลางจักรวาลสีดำสนิท เมื่อขยายภาพก็พบรายละเอียดน่าสนใจ เช่น บริเวณเส้นศูนย์สูตรมีร่องรอยภูเขาสูงประมาณ ๓.๕ กิโลเมตรที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง หรือภาพดวงจันทร์แครอน (Charon) ซึ่งเป็นดาวบริวารมีส่วนมืดปรากฏบริเวณขั้ว ต่างจากพลูโตที่ส่วนมืดกระจายทั่วไป

ข้อมูลและภาพถ่ายที่ส่งกลับมาจะน่าตื่นเต้นสักเพียงใด ภาพที่ได้รับความสนใจที่สุดคงหนีไม่พ้นปานรูปหัวใจหรือภูมิภาครูปหัวใจทางโคนดาวด้านขวา คิดเป็นพื้นที่ราวหนึ่งในสี่ของภาพถ่ายดาวพลูโตที่ได้รับจากระยะทางอันไกลโพ้น…

จุดเริ่มต้นของการส่งยานนิวฮอไรซอนส์ ขึ้นสู่อวกาศต้องย้อนกลับไปประมาณ ๑๐ ปี

เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๙ ยานอวกาศชื่อ New Horizons หรือขอบฟ้าใหม่ ของโครงการนิวฟรอนเทียรส์ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (นาซา) ถูกปล่อยออกจากศูนย์อวกาศจอห์น เอฟ. เคนเนดี แหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เพื่อปฏิบัติภารกิจที่ไม่เคยมียานอวกาศลำใดเคยได้รับ นั่นคือศึกษาดาวพลูโต ดาวบริวารของดาวพลูโตแถบไคเปอร์ (Kuiper) ที่อยู่บริเวณสุดขอบของระบบสุริยะ

ก่อนหน้านั้นนักดาราศาสตร์ยอมรับว่าข้อมูล ความรู้ ความทรงจำของมนุษย์เกี่ยวกับดาวพลูโตนั้นมีน้อยมาก อาจเพราะระยะทางไกล ผู้ที่เติบโตมากับแบบเรียนวิทยาศาสตร์ยุคก่อนปี ๒๕๕๐ (ปัจจุบันอายุมากกว่า ๘ ปี) น่าจะพอจำเนื้อหาในตำราได้ ที่ระบุว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ มีดาวบริวารโคจรรอบดวงอาทิตย์ทั้งหมดเก้าดวง เรียกว่าดาวนพเคราะห์ เรียงลำดับจากดวงที่อยู่ใกล้สุดออกไป คือ พุธ ศุกร์ โลก อังคาร พฤหัสบดี เสาร์ ยูเรนัส เนปจูน พลูโต

แต่ภายหลังเมื่อมนุษย์มีความรู้ทางดาราศาสตร์มากขึ้น ค้นพบว่ามีวัตถุหลายชิ้นที่มวลใกล้เคียงหรือใหญ่กว่าพลูโตอยู่ในแถบไคเปอร์ สถานะดาวเคราะห์ของพลูโตจึงเริ่มสั่นคลอน ตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมาบรรดาพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์หรือท้องฟ้าจำลองก็นำดาวพลูโตออกจากการเป็นดาวเคราะห์ ซึ่งก่อให้เกิดความสับสน

กระทั่งปี ๒๕๔๙ นักดาราศาสตร์ ๒,๕๐๐ คน จาก ๗๕ ประเทศ ในที่ประชุมสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union – IAU) กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ก็ลงมติถอดพลูโตออกจากดาวเคราะห์อย่างเป็นทางการ พร้อมจัดสถานภาพใหม่เป็นดาวเคราะห์แคระ ในระบบสุริยะจึงคงเหลือดาวเคราะห์เพียงแปดดวง หรือเรียกว่าดาวอัฏฐเคราะห์

ต้นปีเดียวกันนั้นเองยานอวกาศนิวฮอไรซอนส์ถูกส่งออกจากฐานเพื่อไปสำรวจดาวพลูโต รวมทั้งวัตถุอื่น ๆ ในแถบไคเปอร์ที่ขอบระบบสุริยะ ใช้เวลาเดินทางเกือบ ๑๐ ปีก็เดินทางถึงวงโคจรของดาวพลูโต

มติพล ตั้งมติธรรม เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุในงานแถลงข่าว “ดาวพลูโต การเดินทางสู่พรมแดนสุดท้ายของระบบสุริยะ” คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ดาวพลูโตมีวงโคจรเป็นรูปวงรีมาก และอยู่ในช่วงโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในรอบ ๒๔๘ ปี หากรอช้ากว่านี้พลูโตจะยิ่งออกห่างจากดวงอาทิตย์ อุณหภูมิลดลงจนบรรยากาศบนดาวตกผลึกเป็นน้ำแข็ง การที่นิวฮอไรซอนส์เดินทางไปถึงในช่วงนี้ถือว่ามีความเหมาะสมต่อการศึกษาทางธรณีวิทยา ด้วยข้อมูลที่ส่งมาทำให้นักดาราศาสตร์ทราบเรื่องที่ไม่เคยทราบหรือเปลี่ยนความคิดไปเลย เช่น จากเดิมเราเชื่อว่าดาวพลูโตน่าจะเป็นก้อนน้ำแข็ง พื้นผิวเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตคล้ายผิวดวงจันทร์ แต่จากภาพถ่ายเปิดเผยว่าแทบไม่มีหลุมอุกกาบาต บ่งบอกว่าดาวพลูโตอาจมีกระบวนการทางธรณีวิทยาบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงสภาพพื้นผิวตลอดเวลา ซึ่งกลบหลุมอุกกาบาตอย่างต่อเนื่อง ดาวพลูโตจึงไม่ได้เป็นเพียงก้อนน้ำแข็งและไม่น่าใช่ “ดาวที่ตายแล้ว” อย่างที่เคยเข้าใจกันก่อนหน้านี้

นิวฮอไรซอนส์ มีจานสัญญาณขนาด ๒.๑ เมตรติดตั้งบนตัวยาน สื่อสารกับโลกด้วยคลื่นวิทยุ x-band ความถี่ ๘-๑๒ กิกะเฮิรตซ์ บนพื้นโลกมีสถานีรับส่งสัญญาณสามแห่ง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สเปน และออสเตรเลีย หมายความว่าตลอดเวลาจะมีอย่างน้อยหนึ่งสถานีที่หันจานรับส่งสัญญาณไปยังตำแหน่งของยาน

ทั้งนี้กว่ายานจะส่งสัญญาณถึงโลกใช้เวลา ๔.๕ ชั่วโมง อัตราการส่งข้อมูล ๑-๒ กิโลบิตต่อวินาที ข้อมูลที่ส่งมายังโลกตอนนี้จึงยังไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ของข้อมูลทั้งหมด และต้องรอถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ กว่าจะได้รับข้อมูลครบ

นิวฮอไรซอนส์ ไม่มีกำหนดเดินทางกลับ เมื่อผ่านดาวพลูโตแล้วจะออกนอกระบบสุริยะเพื่อเก็บข้อมูลอันลี้ลับในห้วงอวกาศให้แก่คนบนพื้นโลกต่อไป

ที่มาภาพ
http://apod.nasa.gov/apod/ap150715.html (NASA, Johns Hopkins Univ./APL, Southwest Research Inst.)