เรื่องและภาพ  กลุ่มวรรคทอง

๑๗.๐๐ น.ของวันธรรมดา คือเวลาแห่งความสุขและความเหนื่อยล้าที่สุดในรอบวัน เพราะเป็นเวลาสิ้นสุดของสงครามการงานและเป็นเวลาเริ่มต้นของสงครามการจราจรแห่งกรุงเทพมหานคร

ทันทีที่ลิฟต์ของออฟฟิศซึ่งอัดแน่นด้วยผู้คนเปิดออก พนักงานประจำอย่างเรารีบวิ่งมาด้านหน้าเพื่อต่อคิวขึ้นรถแท็กซี่ วันนี้แท็กซี่สีเขียวเหลืองทำหน้าที่ส่งเรากลับบ้าน  คนขับแท็กซี่หน้าตาซื่อ ๆ ยิ้มให้เราอาย ๆ มองซ้ายมองขวาอย่างไม่มั่นใจก่อนจะเคลื่อนรถออกไปช้า ๆ ตามคันข้างหน้า ช้าชนิดที่เรียกได้ว่าเหมือนจอดรถไว้กลางถนน

ปี ๒๕๕๘ เว็บไซต์ทริลลิสต์ (www.thrillist.com) เปิดเผยข้อมูลการจัดอันดับเมืองรถติดเลวร้ายที่สุดของโลกซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้ใช้ระบบนำทางยี่ห้อหนึ่งใน ๗๘ ประเทศ  กรุงเทพมหานครติดอันดับที่ ๘  รถทุกคันที่ติดอยู่บนถนนตอนนี้ต่างช่วยยืนยันการจัดอันดับอย่างพร้อมเพรียง

ระหว่างที่เรามองแท็กซี่คันข้าง ๆ ที่มีผู้โดยสารหน้าบูดกับแท็กซี่หงุดหงิด เสียง “ปัง !” ก็ดังมาจากห้องเครื่องของแท็กซี่คันที่เรานั่ง  โชเฟอร์หนุ่มตกใจสุดขีด รีบลงจากรถและเข็นรถเข้าข้างทางโดยขอให้เราบังคับพวงมาลัยให้  เขารีบเปิดฝากระโปรงหน้ารถเพื่อตรวจหาสาเหตุท่ามกลางเสียงบีบแตรไล่ดังสนั่นจากรถคันที่ตามมาด้านหลัง โชเฟอร์หนุ่มทั้งตื่นตกใจและกังวลจนมือสั่น  เขาพูดกับเราที่คอยช่วยอยู่ใกล้ ๆ ด้วยน้ำเสียงสั่นคลอน

“พี่ครับ เขาไม่เห็นเหรอว่าผมซ่อมรถอยู่ ทำไมคนกรุงเทพฯ ใจร้ายขนาดนี้  ผมมาจากต่างจังหวัดมาขับแท็กซี่วันนี้วันแรกก็เจอแบบนี้เลย”

โชเฟอร์หนุ่มกล่าวขอโทษเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภาพแท็กซี่ยืนซ่อมรถตัวสั่นตรงสี่แยก สลับกับภาพแท็กซี่บนพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ ข่าวโทรทัศน์ หรือกระทู้ข่าวออนไลน์ ทั้งเรื่องโกงค่าโดยสาร หรือการปฏิเสธรับผู้โดยสาร คือจุดเริ่มต้นการเดินทางของเรากับคำถามมากมายที่ต้องการคำตอบ

อาจไม่ใช่คำถามซ้ำ ๆ เดิมว่าทำไมแท็กซี่ถึงปฏิเสธผู้โดยสาร ส่งรถกันบ่อยแค่ไหน โกงมิเตอร์อย่างไร  แต่เป็นเรื่องราวชีวิต ความคิด ความรัก ความฝัน และความดี

เพียงแต่การหาคำตอบครั้งนี้เราโดยสารผ่านรถแท็กซี่หลากสีสันเท่านั้น

taxi01โลกที่มีแต่ผู้ร้าย ?

บริษัทแท็กซี่สยามก่อตั้งครั้งแรกในปี ๒๔๖๖ โดยพระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) สมัยนั้นมีรถให้บริการ ๑๔ คัน คิดค่าบริการไมล์ละ ๐.๑๕ บาท แต่ประสบปัญหาขาดทุนจึงล้มเลิกไปในที่สุด  จนกระทั่งปี ๒๔๙๐ เจ้าของธุรกิจบางรายเริ่มชุบชีวิตกิจการแท็กซี่ในประเทศไทยกลับมาอีกครั้ง

ปัญหาของแท็กซี่กับผู้โดยสารได้เริ่มขึ้นตั้งแต่นั้น…

เนื่องจากแต่ก่อนป้ายทะเบียนรถแท็กซี่มีราคาแพง เวลาผ่านไปผู้โดยสารจึงต้องทนนั่งรถแท็กซี่สภาพชำรุดทรุดโทรมที่ผู้ให้บริการใช้งานมายาวนานหลายสิบปีเพื่อให้คุ้มทุนค่าป้าย  ส่วนกฎหมายบังคับใช้มิเตอร์คิดค่าโดยสารยังเดินทางมาไม่ถึงเมืองไทย ค่าโดยสารจึงเป็นไปตามการต่อรองระหว่างแท็กซี่กับผู้โดยสาร ซึ่งการจอดรถต่อรองราคาสร้างปัญหาแก่การจราจร  กระทั่งปี ๒๕๓๕ จึงมีการออกกฎหมายให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เป็นต้นไปต้องติดมิเตอร์คิดค่าโดยสาร และกรมการขนส่งทางบกได้เปลี่ยนระบบป้ายทะเบียนแท็กซี่ คิดค่าจดทะเบียนจากเงินหลักแสนเป็นเงินหลักพัน จำกัดอายุการใช้งานของรถแท็กซี่ไว้ไม่เกิน ๑๒ ปี

ผ่านมา ๙๒ ปี อาจเพราะจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นสวนทางกับทรัพยากรธรรมชาติที่น้อยลง ทำให้ผู้คนในโลกต้องดำรงชีวิตด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน และอาจเพราะการเข้ามาของโลกใบใหม่ที่ชื่อ “โซเชียลมีเดีย” ซึ่งทุกคนสามารถเผยแพร่ข่าวสารได้อย่างรวดเร็วถ้วนทั่ว ความผิดพลาดของคนขับรถแท็กซี่จึงถูกส่งต่อโดยทั่วกัน และโลกของอาชีพแท็กซี่จึงคล้ายว่ามีแต่ผู้ร้าย…

อย่างไรก็ตามโลกของผู้ร้ายใบนี้กลับมีประชากรย้ายเข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จากสถิติการจดทะเบียนรถสะสมของกลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๘ มีรถรับจ้างบรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน Urban Taxi จดทะเบียนจาก ๑๐๒,๓๑๗ คัน เป็น ๑๐๘,๔๒๒ คัน เพิ่มขึ้น ๖,๑๐๕ คัน

มีร้อยพันเหตุผลที่คนตัดสินใจย้ายเข้าอยู่ในโลกของแท็กซี่ คนหลากหลายอาชีพทั้งข้าราชการเกษียณอายุผู้อยากเปลี่ยนเวลาว่างอันเหลือเฟือให้เป็นเงินทอง พนักงานบริษัทที่อยากหารายได้เสริมไว้แบ่งเบาภาระในครอบครัว หนุ่มอีสานเว้นว่างจากฤดูทำนาผู้ต้องการหาค่าปุ๋ย และชายตกงานที่คิดว่าอาชีพแท็กซี่สบาย นั่งในห้องแอร์ แค่ขับรถก็ได้เงิน

แต่ใครจะรู้ว่างาน “สบาย” นี้ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงอะไรบ้าง ทั้งความรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายซึ่งประกอบด้วยค่าเช่ารถ ค่าแก๊ส ค่าอาหาร และค่าล้างรถ รวมประมาณ ๑,๐๐๐ บาทสำหรับ ๑ วัน  เผชิญความเสี่ยงบนท้องถนนและความเครียดจากสภาพการจราจรติดขัด รับมือกับผู้โดยสารต่างพ่อต่างแม่ต่างจิตใจ อีกทั้งยังต้องรับแรงเสียดทานจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในมุมผู้ร้าย แต่เมื่อมั่นใจหรือด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม หลายคนก็ตัดสินใจก้าวเข้าสู่อาชีพขับแท็กซี่

โลกของแท็กซี่ต้อนรับเฉพาะผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๒ ปี ขับรถเป็น รู้กฎหมาย ไม่พิการ ไม่มีโรคประจำตัวที่อันตรายต่อการขับรถ ไม่วิกลจริต ไม่อยู่ในระหว่างถูกยึดหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ ได้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วมากกว่า ๑ ปีก่อนจะขอใบขับขี่รถสาธารณะ โดยรถแท็กซี่มีสองประเภท ได้แก่ รถแท็กซี่ส่วนบุคคลที่ตัวรถเป็นสีเขียวเหลือง และรถแท็กซี่เช่าขับหรือเช่าซื้อผ่านนิติบุคคลที่ตัวรถเป็นสีต่าง ๆ ตามต้นสังกัด  หลังจากทำตามเงื่อนไขต่าง ๆ ในการซื้อ-เช่าขับ-เช่าซื้อเสร็จสิ้นก็เข้าสู่โลกของอาชีพแท็กซี่ได้อย่างเต็มตัว

คนขับรถแท็กซี่แบบเช่าซื้อ-เช่าขับจะตอกบัตรเข้างานเป็นกะ กะละ ๑๒ ชั่วโมง หรือควงกะ ๒๔ ชั่วโมง โดยเลือกเวลาทำงานและวันหยุดงานได้ตามความสะดวก  ก่อนตอกบัตรเข้างาน ผู้ขับต้องตรวจเช็กสภาพรถให้พร้อม ทั้งลมยาง น้ำในหม้อน้ำ น้ำมันเครื่อง  เมื่อสภาพรถและสภาพจิตใจพร้อมก็ขับรถออกไปยัง “ออฟฟิศ” ของอาชีพแท็กซี่ได้เลย

TAXI Driver ชีวิตหลากสีสัน

ออฟฟิศของแท็กซี่

ถ้าจะมีเรื่องไหนที่ทำให้พนักงานออฟฟิศอิจฉาคนขับรถแท็กซี่ก็คงเป็นสถานที่ทำงานอันกว้างขวาง การเข้างานที่เลือกเวลาและวันลาหยุดได้ตามต้องการ และการเดินทางพบเจอเรื่องราวแปลกใหม่แบบไม่มีวันสิ้นสุด

อาจกล่าวได้ว่าออฟฟิศของคนขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพมหานครนั้นคือทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล บางครั้งอาจไปไกลถึงต่างจังหวัด  ในออฟฟิศแห่งนี้แบ่งห้องที่เข้าทำงานประจำ ๆ เป็นสนามบิน สถานีขนส่งผู้โดยสาร ย่านตลาด ศูนย์การค้า สถานบันเทิง

ในช่วงกลางวันแท็กซี่หลากสีสันบนท้องถนนเป็นภาพชินตาจนราวกับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  แต่ในช่วงกลางคืน…แท็กซี่เหล่านี้ไปอยู่ที่ไหนและทำอะไร  ชีวิตอันคล้ายนักเดินทางนี้ พวกเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง…

๒๒.๐๐ น.
สนามบินดอนเมือง

เวลา ๔ ทุ่มตรง แท็กซี่กว่า ๔๐๐ คันจอดเรียงแถวยาวบริเวณลานปูนเพื่อรอคิวขึ้นรับผู้โดยสารที่อาคารผู้โดยสารดอนเมืองซึ่งบริษัทพลังร่วม จำกัด เป็นผู้ดูแลการจัดระเบียบรถแท็กซี่บริเวณสนามบินแห่งนี้ทั้งหมด ตั้งแต่การเข้าเป็นสมาชิก การรักษาความปลอดภัยต่อแท็กซี่และผู้โดยสาร รวมถึงการควบคุมคิว  แสงไฟนีออนจาง ๆ จากออฟฟิศเล็ก ๆ ใกล้ลานปูนส่องร่างคนขับรถแท็กซี่ราว ๒๐ คนให้เห็นราง ๆ คนเหล่านี้คือผู้ที่ผ่านการตรวจสอบประวัติ การอบรมเบื้องต้น และผ่านการทดลองขับเป็นเวลา ๓ เดือนเรียบร้อยแล้ว  พวกเขากำลังต่อแถวเพื่อซื้อตั๋วที่ใช้แสดงแก่เจ้าหน้าที่สนามบินและผู้โดยสาร ก่อนทยอยกลับมาที่รถของตนเอง รอเรียกคิวครั้งละห้าแถวโดยประมาณเพื่อไปเข้าคิวรอรับผู้โดยสารที่ลานดินหรือลานโพธิ์ต่อ

หญิงผมสั้น รูปร่างอวบ สวมแว่นตา พูดจาเสียงดัง หัวเราะร่าเริงอารมณ์ดีที่กำลังเดินกลับมาจากออฟฟิศลานปูนคือ สำอางค์ ขันธนิธิ หรือ พี่หนู  แท็กซี่หลายคนที่กำลังยืนรอคิวส่งเสียงแซวเธอว่า “นางฟ้าดอนเมือง” ทั้งที่เธอไม่ใช่ผู้หญิงสวยสะดุดตา  เราจึงสงสัยว่าถ้าไม่ใช่ความงามภายนอกที่ทำให้คนเป็นนางฟ้าแล้ว…สิ่งนั้นคืออะไรนะ

เสียงประกาศดังจากลำโพงบริเวณลานปูน รถแท็กซี่แวนสีเขียวเหลืองของพี่หนูเร่งเครื่องไปยังลานดินที่อยู่ห่างออกไปราว ๗ กิโลเมตร  ผู้หญิงอวบอารมณ์ดีคนนี้เล่าเส้นทางชีวิตสู่อาชีพคนขับแท็กซี่กว่า ๔ ปีให้เราฟังว่า เธอคืออดีตข้าราชการกรมประมงที่เคยขับรถไปส่งแม่พันธุ์ปลาให้ชาวบ้านในทุกจังหวัดของประเทศไทย แต่ต้องลาออกเพราะสามีป่วยจากอาการติดเชื้อราในสมองจนแทบเอาชีวิตไม่รอด  หลังจากนั้นเธอเปิดร้านอาหารและเปิดร้านขายของเก่า แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงพร้อมหนี้สินมากมาย

“หลังจากทำมาหลายอาชีพแล้วเราก็ไปสมัครงานเป็นแม่บ้าน ได้เงินเดือน ๙,๐๐๐ บาท  ตอนนั้นเดินผ่านประตูน้ำเห็นผู้หญิงขับแท็กซี่ก็ เฮ้ย ! ผู้หญิงขับแท็กซี่ได้ด้วยเหรอ เอาเลย ทำอาชีพนี้แหละ ไม่คิดมากแล้ว  ตอนทำใหม่ ๆ ลำบากมากเพราะต้องจำเส้นทางให้ได้ เราอาศัยถามผู้โดยสารด้วยความสุภาพ  ช่วงแรก ๆ รายได้ไม่เคยพอส่งรถ ต้องขอเงินแม่ทุกวัน เราก็ไม่ท้อ ลองลุยดูก่อน เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ จนประมาณ ๑-๒ สัปดาห์เราเริ่มมีกำไร”

วิถีชีวิตและรายได้ของพี่หนูเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในวันหนึ่งที่เธอเห็นประกาศรับสมัครสมาชิกแท็กซี่ดอนเมืองและตัดสินใจสมัคร  เธอเล่าว่าจากที่ต้องขับรถหน้าดำคร่ำเครียดหาผู้โดยสารและทุกข์ทนกับสภาพการจราจรติดขัด ตอนนี้เธอมีเวลาพักทำกิจกรรมที่ชอบขณะนั่งรอคิวเรียกขึ้นอาคารผู้โดยสาร และสามารถรับผิดชอบภาระหนี้สินของครอบครัวหลายหมื่นบาทต่อเดือน โดยเหลือเงินทำบุญและจุนเจือทุกคนในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข

“เวลาเห็นเพื่อนแท็กซี่ขับตระเวนข้างนอกแล้วไม่ได้เงิน เราจะชวนมาขับสนามบิน อาจรอนานหน่อยแต่ได้แน่ ๆ ได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับดวง  วันที่ดวงดีก็จะได้ผู้โดยสารเหมาออกต่างจังหวัด  ที่สำคัญคือปลอดภัย เพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว เขาคงไม่ได้มาเพื่อปล้นหรือทำร้ายเรา  เราสามารถขับตั้งแต่ ๙ โมงเช้าถึงตี ๒ โดยที่ทุกคนไม่ต้องเป็นห่วง  สุดท้ายเราพบว่าแท็กซี่ดีที่สุด เป็นอาชีพที่มีอิสระ ไม่ต้องลงทุนมาก แค่ออกรถก็ได้เงินแน่นอน  เราทำมาทุกอาชีพแล้ว ถึงตอนนี้ไม่กังวลหรอกว่าอาชีพนี้มีเกียรติหรือไม่มีเกียรติ ทำไปเลย ถ้ามีเงินให้ทุกคนในบ้านเราก็พอใจแล้ว”

จะว่าไปการขับแท็กซี่เป็นอาชีพที่ยุติธรรมสำหรับคนขยัน เพราะขยันมากก็ได้มาก แต่ความขยันจนกินนอนไม่เป็นเวลานั้นคือการเปิดประตูสู่โรคภัย  ปี ๒๕๕๕ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตรวจสุขภาพคนขับรถแท็กซี่กว่า ๕,๐๐๐ คนในโครงการสุขภาพดีแท็กซี่ไทย พบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับโรคเรื้อรัง โดยโรคประจำตัวที่พบมากที่สุด ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคทางสายตา และโรคเบาหวาน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของอุบัติเหตุบนท้องถนน

พี่หนูเล่าว่า บางวันเธอทำงานจนไม่มีเวลารับประทานอาหารและขับถ่าย แต่เธอยังไม่มีโรคภัยที่น่ากังวลนอกจากอาการปวดหลังจากการนั่งขับรถนาน  อย่างไรก็ตามภาระที่บีบคั้นทำให้เธอยังคงต้องทำงานหนักอยู่เช่นนี้ เพราะเธอเป็นเสาหลักของสองครอบครัว ครอบครัวกรุงเทพมหานครมีพ่อชราที่เริ่มสติเลอะเลือน ส่วนครอบครัวอยุธยามีสามีป่วยเป็นเชื้อราในสมอง อาศัยอยู่กับลูกชายแขนพิการหนึ่งข้าง

“แปลกนะ…พี่ไม่เคยบ่นว่าเหนื่อย ไม่เคยบ่นว่าทุกข์ เราทำหน้าที่ของเราให้ดีจนทุกคนที่สนามบินเอาเป็นตัวอย่าง  แต่นี่ไม่ใช่ว่าเราใจดีอะไรจนคนเรียกว่านางฟ้าหรอกนะ ที่เขาเรียกนางฟ้าเพราะเราแทบจะเป็นแท็กซี่ผู้หญิงคนเดียวที่สนามบินดอนเมืองตอนกลางคืน”

ครึ่งชั่วโมงผ่านไป รถแท็กซี่สีเขียวเหลืองของนางฟ้าดอนเมืองขับเข้าสู่อาคารรอรับผู้โดยสาร ในเวลาไล่เลี่ยกันที่ถนนวิภาวดีรังสิต แท็กซี่หญิงอีกคนที่เลือกขับหาผู้โดยสารทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล กำลังออกปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองสุดความสามารถ ทั้งหน้าที่แม่ผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวและหน้าที่จิตอาสาช่วยเหลือผู้คนบนท้องถนนให้กลับบ้านอย่างปลอดภัยและรวดเร็วที่สุด

๒๓.๐๐ น. กรุงเทพมหานคร-สระบุรี

“มีข่าวแจ้งเข้ามานะครับว่าแท็กซี่สีชมพูทะเบียน ทม ๒๗๗๖ แก๊สหมดอยู่ตรงซอยวิภาวดีรังสิต ๑๖”

เสียงแจ้งข่าวการจราจรจากสถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ FM ๙๑.๐ เมกะเฮิรตซ์ หรือ สวพ. ๙๑ ดังมาจากรถแท็กซี่สีเขียวเหลือง  สถานีวิทยุแห่งนี้มีพันธกิจหลักด้านการรายงานสภาพการจราจรและการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์
สินของประชาชนเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตลอด ๒๔ ชั่วโมง เรียกได้ว่าเป็นคลื่นวิทยุยอดฮิตของแท็กซี่เมืองไทย เพราะจากการศึกษาพฤติกรรมการฟังและทัศนคติของกลุ่มผู้ฟังคลื่นจราจร ของ เอซี นีลเซ่น เมื่อปี ๒๕๕๔ พบว่า ผู้ฟังสถานีวิทยุ สวพ. ๙๑ ร้อยละ ๔๓.๓๙ เป็นผู้ขับรถแท็กซี่  พวกเขาใช้สถานีวิทยุ สวพ. ๙๑ เป็นช่องทางสื่อสารถึงกัน

หญิงสาววัย ๓๙ ปียื่นมือขาวอวบไปเพิ่มเสียงวิทยุให้ดังขึ้น เปลือกตาที่แต้มด้วยอายชาโดว์สีทองขยับไปมาตามสายตาที่มองถนนแล้วสลับมามองมือถือก่อนจะกดโทร.หา สวพ. ๙๑

“สวัสดีค่ะ พี่ชื่อ เพ็ญพิมล อัฏฐัฒน์ แท็กซี่เขียวเหลือง ขอเบอร์แท็กซี่ที่แก๊สหมดตรงวิภาวดีฯ ๑๖ ด้วยค่ะ”

เพ็ญพิมลวางสายจาก สวพ. ๙๑ แล้วรีบโทร.หาผู้ประสบเหตุแต่ปลายสายไม่รับโทรศัพท์  เธอรีบตีไฟเลี้ยวเพื่อมุ่งหน้าไปทางถนนวิภาวดีรังสิตก่อนจะเพิ่มน้ำหนักเท้าเหยียบคันเร่งลงไปอีก เสื้อแขนยาวปักลาย “ฅนของแผ่นดิน” ที่แขวนตรงเบาะคนขับไหวไปมาตามแรงรถ

ชมรมฅนของแผ่นดินเกิดจากการรวมตัวของแท็กซี่และตุ๊กตุ๊กจิตอาสากว่า ๑๐๐ คน ออกปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้คนบนท้องถนนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลยามค่ำคืนมากว่า ๔ ปีแล้ว เช่น ซ่อมรถ พ่วงแบตเตอรี่ ลากรถ เปลี่ยนยางรถ  การทำงานจิตอาสาของพวกเขาดำเนินไปพร้อมกับการทำงานหาเลี้ยงชีวิต  พี่เพ็ญซึ่งเป็นสมาชิกของชมรมเล่าว่า แม้กระแสวิพากษ์วิจารณ์แท็กซี่ที่ไหลบ่าในสื่อต่าง ๆ อย่างหนักจะเป็นแรงเสียดทานในการทำงานขณะนี้ แต่พวกเขาก็ยังคงทุ่มเทพลังกายพลังใจเพื่อช่วยคนบนท้องถนนให้ได้กลับบ้านอย่างปลอดภัยโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ขอเพียงแค่สังคมอย่าตัดสินคนขับรถแท็กซี่จากภายนอก

รถแท็กซี่สีชมพูจอดขวางอยู่กลางถนนปากซอยวิภาวดี-รังสิต ๑๖ เจ้าของรถเป็นชายสูงอายุผมสีดอกเลา ยืนเหลอหลาหันซ้ายมองหาความช่วยเหลือ  พี่เพ็ญเลี้ยวรถจอดแอบข้างทางอย่างฉับไวก่อนเปิดประตูวิ่งลงจากรถแล้วตะโกนเสียงดังจนชายชราสะดุ้ง

“เข็นรถก่อนสิลุง !”

คุณลุงเจ้าของรถยังยืนงงขณะพี่เพ็ญเข็นท้ายรถเข้าข้างทางอย่างคล่องแคล่ว กว่าจะตั้งสติได้ว่าคนที่ช่วยตนเองอยู่นั้นเป็นผู้หญิง รถก็จอดชิดข้างทางเสร็จพอดี  คุณลุงถามเบา ๆ ว่าต้องทำอย่างไรต่อ พี่เพ็ญวิ่งไปเปิดท้ายรถ หยิบเหล็กสำหรับลากรถออกมาแทนคำตอบ ก่อนจะนอนลงแนบพื้นและนำเหล็กท่อนโตพ่วงรถแท็กซี่สีชมพูไร้แก๊สกับแท็กซี่สีเขียวเหลือง

วินาทีนั้นเราเพิ่งสังเกตผู้หญิงคนนี้ชัด ๆ เธอเป็นผู้หญิงร่างอวบ ทว่าคล่องแคล่ว สวมเครื่องแบบแท็กซี่สีฟ้าไว้ข้างนอก แต่ข้างในเป็นเดรสสีเขียวลวดลายเปรี้ยวไม่หยอก รองเท้าสีดำมีคริสตัลประดับวิบวับ ใบหน้าที่บ่งบอกว่ากำลังใช้สมาธินั้นแต่งแต้มด้วยเครื่องสำอาง ทั้งหมดพอสรุปได้ว่าพี่เพ็ญเป็นคนรักสวยรักงามคนหนึ่ง

แต่ทำไมหญิงสาวรักสวยรักงามคนนี้จึงยอมลงไปนอนแนบพื้นโดยไม่ห่วงสวยเพื่อช่วยคนที่ไม่รู้จัก

ไม่นานรถแท็กซี่สีเขียวเหลืองก็ลากรถแท็กซี่สีชมพูไร้แก๊สเข้าไปในปั๊มแก๊สละแวกนั้น ชายชราไม่ได้กล่าวคำขอบคุณใด ๆ พี่เพ็ญยิ้มให้เล็กน้อยก่อนขับรถของเธอมาจอดใกล้ห้องน้ำ

“ก็ไม่เป็นไรนะ ผู้ชายบางคนเห็นเราเป็นผู้หญิงมาลากรถให้ก็จะอึ้งแบบนี้แหละ อีกอย่างเป็นจิตอาสาสมัยนี้มันยากเพราะบางคนคิดว่าเราจะหาผลประโยชน์จากเขา ซึ่งพวกทำงานจิตอาสาเพื่อหวังผลประโยชน์ก็มีจริง ๆ เพราะฉะนั้นเราต้องอธิบายว่าเราช่วยด้วยใจ ไม่ได้เรียกร้องอะไร ส่วนมากจะเข้าใจ  หลายครั้งเราทำให้บางคนมองภาพแท็กซี่เปลี่ยนไปว่าแท็กซี่แบบนี้ก็มีด้วย เราก็ยิ้มออก”

ครั้งหนึ่งมีมิจฉาชีพขึ้นรถแท็กซี่ของพี่เพ็ญ แต่คนร้ายเปลี่ยนใจไม่ทำร้ายเธอเพราะทราบว่าเธอทำงานจิตอาสา พี่เพ็ญจึงเชื่อเสมอว่าการทำความดีย่อมส่งผลดีเสมอ  เธอแนะนำวิธีป้องกันตนเองสำหรับผู้โดยสารที่ต้องนั่งแท็กซี่ยามค่ำคืน คือบอกทะเบียนรถแก่คนใกล้ชิด เลือกนั่งฝั่งเดียวกับคนขับเพื่อป้องกันคนขับใช้อาวุธหรือยาสลบ ห้ามหลับบนรถแท็กซี่ ต้องคอยสังเกตคนขับด้วยว่ามองกระจกหลังบ่อยหรือไม่ และถ้ามีเหตุการณ์ผิดปรกติให้รีบเปิดกระจกร้องตะโกนขอความช่วยเหลือทันที

กรณีที่แท็กซี่โกงมิเตอร์ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น เปลี่ยนยางล้อรถให้ขนาดแก้มยางเล็กลงจากขนาดมาตรฐาน ดัดแปลงแก้ไขสายไฟวงจรรอบเครื่องที่ต่อเชื่อมตรงกับมิเตอร์ให้รอบจัดขึ้นจนตัวเลขวิ่งเร็วขึ้น หรือแท็กซี่บางคันอาจมีมิเตอร์สองตัวที่ตั้งระบบกลโกงไว้  แท็กซี่บางคนอาจทำเนียนเหมาจ่ายไม่กดมิเตอร์หรือเลือกเส้นทางวิ่งที่อ้อมไกล  กรณีนี้ให้ผู้โดยสารจำเลขทะเบียนรถ หรือเลขบนบัตรประจำตัวคนขับ อย่าโต้เถียงปะทะคารมเพราะอาจนำไปสู่การทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกัน  หลังจากนั้นจึงขอลงจากรถอย่างนุ่มนวลและโทรศัพท์ไปร้องเรียนที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ ๑๕๘๔ หรือหมายเลขโทรศัพท์ส่วนกลาง ๐-๒๒๗๑-๘๘๘๘

พี่เพ็ญชี้ให้ดูสติกเกอร์ GRAB TAXI ที่ติดอยู่ข้างกระจกรถ ซึ่งเป็นชื่อแอปพลิเคชันที่ทำหน้าที่เป็นยามรักษาความปลอดภัยให้คนขับรถและผู้โดยสาร ผ่านระบบที่สามารถตรวจสอบข้อมูลของคนขับรถและแชร์ตำแหน่งที่อยู่ให้คนใกล้ชิดเพื่อติดตามการเดินทางได้ตลอดเวลา  แอปพลิเคชันนี้ยังช่วยแก้ปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร รวมถึงปัญหาการโกงมิเตอร์เพราะสามารถรู้ราคาค่าโดยสารคร่าว ๆ ก่อนใช้บริการ โดยคิดค่าบริการเพิ่ม ๒๕ บาท

เพ็ญพิมลเปิดท้ายรถแท็กซี่ที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ช่วยเหลือรถเสียเบื้องต้น เช่น สายพาน เหล็กลากรถ ผ้าเบรก น้ำกลั่น ซึ่งวางเต็มจนแทบไม่มีที่ว่างสำหรับวางสัมภาระของผู้โดยสาร

“ทำไงได้ ตอนนี้พี่ค่อนข้างเป็นโรคจิต เห็นรถเสียไม่ได้ต้องจอดต้องเข้าไปช่วย”

ปากที่แต้มลิปสติกสีแดงขยับขึ้นลงตามเสียงหัวเราะก่อนขับรถแท็กซี่ออกจากปั๊มแก๊ส  สายตาคู่นั้นยังคงสอดส่องหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือรายต่อไป  ไม่นานก็เจอคุณลุงผมสีดอกเลากำลังมองหาความช่วยเหลืออยู่ข้างทางเพราะรถเสีย พี่เพ็ญลงไปช่วยซ่อมรถอยู่ราวครึ่งชั่วโมงก่อนจะอาสาลากรถคุณลุงกลับสระบุรีจนถึงที่หมายในเวลาตี ๑  คุณลุงกล่าวขอบคุณและขอเบอร์โทรศัพท์ไว้ก่อนพี่เพ็ญจะขอถ่ายรูปคู่คุณลุงเพื่อโพสต์ในเฟซบุ๊ก  แสงแฟลชสว่างวาบฉาบรอยยิ้มกว้างของคุณลุงอยู่สองสามครั้ง หลังจากนั้นชายชรายื่นเงิน ๑,๐๐๐ บาทให้เธอเป็นการตอบแทน เธอรับเงินนั้นอย่างง่ายดาย ง่ายดายจนเกิดเป็นคำถามติดค้างในใจเราว่าทำไมถึงรับเงิน และทำไมถึงโพสต์รูปขึ้นเฟซบุ๊ก ?

ขณะเดินทางกลับจากสระบุรี เพ็ญพิมลเล่าเรื่องการเดินทางของชีวิตที่ไม่ราบเรียบว่า ๓ ปีก่อนเธอคือคนขับรถตู้เส้นจตุจักร-มีนบุรี  ชีวิตที่สุขสงบหายไปทันทีหลังจากเธอมีปัญหากับสามีและต้องแบกรับภาระหนี้สินก้อนโตพร้อมเลี้ยงลูกอีกสามคน รวมถึงพ่อและแม่  ฉะนั้นเวลานี้งานจิตอาสาและเพื่อน ๆ ในชมรมฅนของแผ่นดินคือความสุขในแต่ละวันของเธอ

ท้องถนนไร้แสงไฟไปช่วงหนึ่ง เราอาศัยความมืดถามคำถามที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนจนต้องซ่อนความกังวลไว้ในแววตา

“พี่รับเงินเวลามีคนให้ พี่ไม่กลัวใครมองว่าพี่ทำงานจิตอาสาเพื่อเงินเหรอคะ”

เราคาดว่าพี่เพ็ญจะโกรธ แต่เธอกลับหัวเราะร่วนอารมณ์ดี ตอบเราอย่างโผงผางตรงไปตรงมาตามสไตล์สาวเปรี้ยวซ่ามั่นใจ

“พี่คิดว่าถ้าจะช่วยใครเราก็ต้องไม่เดือดร้อน  อุปกรณ์ที่น้องเห็นในรถพี่ พี่ต้องซื้อเองทุกอย่าง น้ำกลั่นเอย น้ำมันเอย แบตเตอรี่เอย  พี่คิดว่าเราเอาเงินที่เขาให้ไปซื้ออะไหล่ต่าง ๆ มาเพิ่ม บางครั้งก็เข้าเนื้อเหมือนกัน แต่พี่ไม่สนใจ ทุกอย่างอยู่ที่คนจะมอง เรามีเหตุผลของเรา  เราไม่เคยกรรโชกเขาว่าพี่ต้องให้หนู ๕๐๐ ค่าพ่วงแบตฯ นะ ถ้าใครให้ก็เพราะเขาอยากให้  แล้วพี่ก็ไม่เคยเลือกช่วยเฉพาะรถหรู พี่ช่วยตั้งแต่รถมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ ยันสิบล้อ”

“แล้วทำไมต้องถ่ายรูปขึ้นเฟซบุ๊กคะ”

“เชื่อไหม บางครั้งทั้งเหนื่อยทั้งท้อ แต่พอดูรูปพวกนี้แล้วเรายิ้มออก ได้ช่วยคนที่เราไม่รู้จักมันรู้สึกดีนะ เป็นกำลังใจให้เราทำงานต่อ  พี่ไม่กลัวคนจะมองว่าเราอวดความดี พี่เฉยมากเพราะพี่ไม่ได้ออกสื่ออะไรใหญ่โต  รูปนี่ก็ให้เพื่อน ๆ ที่รู้จักเราอยู่แล้วเห็นความเคลื่อนไหวของเรา”

แสงไฟบนท้องถนนกลับมา ส่องคราบน้ำมันเครื่องติดบนมือขาวอวบของเพ็ญพิมล เรานึกถึงเหงื่อชุ่มเต็มหลังขณะที่เธอซ่อมรถเสีย เธอต้องทนร้อนทนเหนื่อยแบบนี้มา ๓ ปีแล้ว อย่างน้อยเธอก็ได้ช่วยให้คนกลับถึงบ้านทุกวัน ทั้งส่งเขาในฐานะแท็กซี่และส่งเขาในฐานะจิตอาสา  เรามองแสงไฟสีเหลืองนวลสวยข้างทางที่ส่องสว่างท่ามกลางความมืด

แสงไฟเหล่านั้น…ช่างไม่ต่างอะไรกับพี่เพ็ญพิมล

taxi03๐๒.๐๐ น. หัวหิน

ใกล้เวลากลับบ้านของนักตระเวนราตรี แท็กซี่หลายคันจอดรอผู้โดยสารตามย่านสถานบันเทิง  หลายคันรอผู้โดยสารที่กำลังเดินทางมากรุงเทพมหานครตามสถานีขนส่ง  ขณะที่บางคันรอผู้โดยสารอยู่ที่ต่างจังหวัด

รถแท็กซี่สีเขียวขับลัดเลาะซอกซอยในอำเภอหัวหินจนมาถึงหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง สมหมาย สาลีสังข์ หรือ ลุงสมหมาย ชี้แจงแก่ยามประจำหมู่บ้านว่าต้องมารับผู้โดยสารที่หมู่บ้านแห่งนี้เวลาตี ๔ ก่อนจะขอจอดนอนภายในหมู่บ้าน ท่าทางสุภาพอ่อนน้อมบวกแววตาจริงใจทำให้ยามอนุญาตอย่างง่ายดาย  ทันทีที่จอดรถดับเครื่องสนิทชายผิวขาวเหลืองร่างเล็กในชุดฟอร์มแท็กซี่สีครีมรีบกินอาหาร “มื้อเย็น” คือขนมปังและนมหนึ่งกล่อง ก่อนจะถอดเครื่องแบบแท็กซี่แขวนไว้อย่างเรียบร้อย รีบแปรงฟันล้างหน้าทาแป้งและกลับเข้ามาในรถ เก็บกระเป๋าสตางค์อย่างมิดชิด ลดกระจกลงมาประมาณ หนึ่งในสี่ เพื่อติดผ้าลูกไม้กันยุง ปรับเบาะเอนลง ไม่ถึง ๕ นาทีหลังปิดไฟ ชายที่นอนคุดคู้บนเบาะสีขาวก็ส่งเสียงกรนเบา ๆ

ก่อนที่เขาจะหลับไป ระยะเวลาราว ๓ ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ถึงหัวหิน คุณลุงสมหมายเล่าถึงกุญแจแห่งความสำเร็จในการประกอบอาชีพแท็กซี่ตลอด ๑๖ ปีที่ผ่านมา  เขาเกิดในครอบครัวชาวนาจังหวัดนครปฐมรวมพี่น้องเก้าคน ต้องช่วยพ่อแม่ทำนาและขายของตั้งแต่เด็กตามประสาครอบครัวลูกมากยากจน ก่อนโชคชะตาจะพัดพาให้ได้เรียนต่อด้านเครื่องยนต์จนเป็นลูกจ้างประจำอยู่ที่กรมการขนส่งทางบก สะพานแดง บางซื่อ  แต่ด้วยใจรักศิลปะคุณลุงจึงเบนเข็มมาเป็นผู้รับเหมาต่อเติมตกแต่งฉากให้รายการทีวีกว่า ๔ ปี ทว่าสุดท้ายสู้ค่าใช้จ่ายไม่ได้ จึงเปลี่ยนมาประกอบอาชีพขับแท็กซี่ในที่สุด

“ทั้งตัวผมมีเงิน ๒,๗๐๐ บาท เช่าบ้านไม่ได้ เดี๋ยวจะไม่มีกิน ก็เลยไปเช่ารถแท็กซี่ขับ ไปนอนสนามหลวง อาบน้ำตามปั๊ม มีกระเป๋าเสื้อผ้าสบู่ยาสีฟันพร้อมที่ท้ายรถ  ใช้ชีวิตแบบนี้หลายวัน แต่ไม่เป็นไร ผมลำบากมาตั้งแต่เด็ก ชีวิตเราเลยง่าย”

การรับงานออกต่างจังหวัดเป็นเหมือนโชคสองชั้นที่แท็กซี่ทุกคนต้องการ เพราะนั่นหมายถึงรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว เส้นทางสายนี้เปิดต้อนรับลุงสมหมายในเย็นวันหนึ่งเมื่อ ๗ ปีที่แล้ว เมื่อสาวนครปฐมโบกรถแท็กซี่กลับบ้านและประทับใจบริการของคุณลุง จึงบอกต่อเพื่อน ๆ ของเธอจนแตกยอดลูกค้าไปถึงเพื่อนฝรั่งมังค่า  ลูกค้าของคุณลุงยิ่งเพิ่มมากขึ้นหลังจากมีผู้โดยสารใจดีตั้งกระทู้ “บทเรียนราคาแพงจากคนขับแท็กซี่และเงิน ๕๐ บาท” เล่าถึงความประทับใจในการบริการของคุณลุงลงเว็บไซต์พันทิปจนมีคนแชร์จำนวนมาก  คุณลุงโชว์สมุดรับงานเล่มหนาที่มีคนจองคิวยาวเหยียดถึงปีหน้า ลงชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของผู้โดยสาร จุดหมายปลายทางทั่วไทย พร้อมราคาค่าโดยสารเต็มหน้ากระดาษสมุดเก่า ๆ  จะว่าไปก็ไม่ต่างอะไรจากสมุดบัญชีธนาคาร เพียงแต่บัญชีของคุณลุงเล่มนี้มีแต่ยอด “เงินฝาก”

แม้จะมีประกาศปรับปรุงอัตราค่าโดยสารแท็กซี่มิเตอร์ในเขตกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๗ ให้คิดค่าโดยสารระยะทางเกินกว่า ๘๐ กิโลเมตรขึ้นไปจากกิโลเมตรละ ๘.๕๐ บาท เป็น ๑๐.๕๐ บาท ซึ่งระยะทางจากสนามบินสุวรรณภูมิถึงหัวหินประมาณ ๒๒๐ กิโลเมตร มีค่าโดยสารตามมิเตอร์ราว ๒,๑๑๐ บาท แต่พอลองเปรียบเทียบราคาในสมุดตารางงาน เราพบว่าลุงคิดราคาถูกกว่าจนน่าใจหาย ลุงบอกว่าเลือกคิดราคาเหมาโดยตั้งต้นจากคำว่า “ใจเขาใจเรา” เป็นอันดับแรก

“หัวใจหลักในการทำงานของผมคือถูกและดี  ถูก คือคำนวณกำไรแต่ละวันให้ถูกที่สุด สมมุติว่าไปส่งผู้โดยสารที่หัวหินหมดไป ๑ วันอาจคิดราคาคำนวณแล้วเหลือกำไรแค่ ๔๐๐ บาท บางคนบอกว่าแค่นี้ไม่คุ้มค่าเหนื่อย  แต่ผมจะบวกลบคูณหารให้เป็นกำไรที่น้อยที่สุด พอได้เพิ่มจากที่เราวางไว้ ใจเราก็ฟู มีกำลังใจทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้มากกว่าที่เราคิด  ส่วน ดี คือบริการดี เราเจอลูกค้าต้องยกมือไหว้สวัสดี  ที่สำคัญเป็นแท็กซี่ต้องเข้าใจผู้โดยสารว่าเขาต้องการอะไร ต้องสังเกตละเอียดและบริการให้ดีที่สุด  ฝนตกฟ้าร้อง น้ำท่วม ประท้วง ผมยังมีลูกค้าเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”

เราดูตารางงานในสมุดบันทึกที่บางวันมีถึง ๑๕ งานพร้อมชื่อทีมงานคนอื่นมาช่วย  ลุงสมหมายเล่าเรื่องการคัดเลือกแท็กซี่เพื่อเป็นทีมงานในกลุ่ม “มดตะนอยต่อยอย่างเดียว” ชื่อกลุ่มที่ตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเพื่อรับงานของลุงว่าเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะทุกคนที่เข้ามาจะรู้สึกคล้ายกันว่าไม่คุ้มค่าเหนื่อย

“กฎข้อสำคัญของการทำงานกับผมคือห้ามรับทิปเด็ดขาด ผมมองการณ์ไกลนะ เพราะการรับทิปทำให้เราเกิดความโลภ สมมุติฝรั่งเคยให้ทิปเรา ๕๐๐ มาอีกครั้งให้แค่ ๒๐๐ เราอาจจะโกรธเขา โลภ อยากได้ของเขาอีก โลภมาก ๆ ก็อาจนำไปสู่การโกงหรือการขโมยได้ง่าย ๆ  ผมบอกลูกน้องว่าอาชีพไหนก็แล้วแต่ต้องมีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบหน้าที่ และตรงต่อเวลา  แต่สำหรับลูกค้าต้องยืดหยุ่น  ถ้าลูกค้าให้รอเราก็ต้องรอ สิ่งไหนผิดต้องขอโทษ สิ่งไหนถูกก็ทำไป  สิ่งที่ห้ามเอาเข้าตัวเด็ดขาด คือโลภ โกรธ หลง อิจฉาริษยา  ถ้าอยู่ในตัวเรามันทำงานกับใครไม่ได้ ไม่มีคำว่าเจริญ”

ถ้าเปรียบรถแท็กซี่สีเขียวคันนี้เป็นธนาคาร และค่าโดยสารในแต่ละเที่ยวคือเงินฝาก  การฝากเงินในจำนวนที่ดูน้อยกว่าที่ควรจะได้ของคุณลุง มีดอกเบี้ยเป็นแนวทางการประกอบอาชีพให้ประสบความสำเร็จและมีความสุข

“ชีวิตคนเราอย่ามัวแต่คิดเรื่องกำไรขาดทุน วันนั้นได้พันวันนี้ได้ร้อย มันจะเครียด  ทำอาชีพของเราให้ดีที่สุด ให้สนุกมีความสุขและเพลิดเพลินกับมัน  ถ้าวันไหนเราขาดทุนก็จงขาดทุนอย่างมีความสุขและสนุก”

การขาดทุนอย่างมีความสุขและสนุกของลุงสมหมายนั้น…น่าจะหมายถึงกำไรของชีวิต

 

ช่วงเวลาแห่งความสุข

เมื่อขับรถครบหนึ่งกะและจวนได้เวลาส่งรถคืนอู่ แท็กซี่ที่เช่าขับทุกคันจะต้องรีบไปเติมแก๊สไว้จนเต็มถัง ล้างรถให้สะอาด เช็กสภาพรถและน้ำมันเครื่อง ก่อนจะจ่ายค่าเช่าวันละ ๖๐๐-๘๐๐ บาทและส่งให้คู่กะ  การเช่ารถของแต่ละอู่จะมีวันฟรีให้ ๑ วันแล้วแต่กำหนด เช่น เช่าขับ ๖ วัน ฟรี ๑ วัน  ส่วนแท็กซี่เช่าซื้อจะจ่ายค่าเช่าเป็นงวดทุกสิ้นเดือน และหากส่งรถช้าจะต้องจ่ายค่าปรับตามราคาของแต่ละอู่ เช่น ชั่วโมงละ ๓๐๐ บาท

หลังภารกิจส่งรถเสร็จสิ้นก็เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความสุข แท็กซี่หลายคนอาจตั้งวงสมาคมสนทนาสุราเมรัยกันตามอู่รถหรือร้านอาหารเด็ดราคาถูก หรืออาจรวมตัวกันทำกิจกรรมชมรม เช่น ชมรมดนตรี ชมรมกีฬา ชมรมจิตอาสา

และหลายคนมุ่งหน้ากลับไปหาคนที่พวกเขารักที่สุด…ที่บ้าน

๐๒.๐๐-๑๗.๐๐ น.
ลาดปลาเค้า
กรุงเทพฯ-อยุธยา

เวลาเดียวกับที่ลุงสมหมายหลับสนิทอยู่บนรถ พี่สำอางค์ นางฟ้าดอนเมืองเลี้ยวรถเข้าซอยข้างวัดลาดปลาเค้าและถึงบ้านในเวลาตี ๒  บ้านไม้หลังเล็กสีน้ำตาลซีดตั้งอยู่หลังกำแพงที่ซีดเซียวกว่า บ่งบอกถึงการยืนหยัดปะทะร้อนฝนหนาวมานาน  ทุกพื้นที่รอบบ้านมีของวางเต็มจนแทบไม่เหลือที่ว่าง  ฟ้าร้องครืน ๆ พี่หนูมองท้องฟ้าอย่างกังวล

“ที่นี่ฝนตกนิดเดียวน้ำก็ท่วมบ้านแล้ว  บ้านหลังนี้อยู่ต่ำ บางทีนอน ๆ อยู่ก็ต้องหนีน้ำท่วมไปนอนข้างบน”

เธอรีบอาบน้ำเข้านอน เพราะพรุ่งนี้เป็นวันกลับบ้านที่อยุธยาประจำเดือนของเธอ…พรุ่งนี้การรอคอยจะสิ้นสุดลง

เที่ยงตรงพี่หนูขับรถมาถึงบ้านอยุธยาพร้อมข้าวของเต็มท้ายรถ  ชัย ลูกชายแขนพิการวัย ๒๐ ปลาย ร่างผอมบางหนวดเคราผมเผ้ารุงรังเดินมาหยอกล้อคลอเคลียแม่ด้วยความคิดถึง หมาสีน้ำตาลกระโดดโลดเต้นดีใจออกนอกหน้า  พี่หนูผลักหัวลูกยิ้ม ๆ ก่อนลูกชายจะขนกระสอบและกะละมังใส่อาหารสดเข้าบ้านราวคนแขนปรกติ

บ้านกึ่งไม้กึ่งปูนสองชั้นซ่อนอยู่หลังกอไผ่ใกล้คลอง เสียงไก่เจื้อยแจ้วสลับเสียงหวีดหวิวของต้นไผ่ดังรอบบ้าน  พี่แดงสามีผู้ป่วยจากการติดเชื้อราในสมอง เดินช้า ๆ มาที่หน้าบ้าน ค่อย ๆ ยกแขนใช้มือจับขอบประตูดันออกอย่างยากลำบาก ชายร่างผอมคลี่ยิ้มเล็ก ๆ บนใบหน้าซีดเซียวต้อนรับภรรยาที่เดินเข้าบ้าน ก่อนช่วยเธอหยิบจับของที่มีน้ำหนักเบาอย่างทุลักทุเล

นอกจากเตียงพยาบาลของพี่แดงที่บ่งบอกว่าบ้านหลังนี้คือบ้านของผู้ป่วยและคนพิการ ยังมีหยากไย่ที่เกาะเต็มเพดาน สีกระดำกระด่างบนผนังสีฟ้า ฝุ่นที่เกาะเครื่องใช้ในครัวราวของเก่าที่ถูกทิ้งร้าง และจานชามเขรอะหล่นอยู่ตามพื้น  พี่แดงเล่าว่าตัวเองไม่สามารถก้มเก็บอะไรได้เวลาของตก เลยต้องปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น

พี่หนูไม่พูดพร่ำทำเพลงจัดแจงนำผักไปล้าง ชัยเตรียมน้ำและน้ำแข็ง ส่วนพี่แดงพยายามช่วยหั่นผักทำลาบ  ไม่ถึง ๑๐ นาที สามคนพ่อแม่ลูกก็นั่งกินข้าวด้วยกันเป็นอาหารมื้อแรกของวันและคงเป็นมื้อที่ดีที่สุดของเดือน

เรานึกถึงภาพโฆษณาที่มักผูกความสุขกับความสำเร็จทางการงาน ความร่ำรวย หรือการได้ครอบครองสิ่งของหรูหรา  แต่ความสุขตรงหน้าเราช่างห่างไกลจากภาพเหล่านั้นเหลือเกิน

ในบ้านหลังทรุดโทรม ผู้ป่วย คนพิการ คนเป็นหนี้ กำลังนั่งคุยกันอย่างสนุกสนาน หัวเราะเยาะเรื่องราวทุกข์ร้อนในอดีตไปด้วยกัน

taxi04๑๗.๐๐ น.
ค่ายมวยลูกสวน
ชุมชนนูรุ้ลยากีน

ขณะพี่หนูและครอบครัวใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข พนักงานขับรถประจำธนาคารกรุงไทย สาขาเจริญนคร ชายร่างเล็ก ผิวคล้ำ หน้าตาเคร่งขรึม ทว่าแฝงความสุภาพเรียบร้อย ทำหน้าที่รับโทรศัพท์อยู่ที่ชั้น ๓ ของธนาคาร ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ กว่า ๗ ปีมาแล้ว  ชายผู้นี้คือคนขับรถแท็กซี่ และอีก ๓ ชั่วโมงข้างหน้า ชายคนเดียวกันนี้จะแปลงร่างเป็นครูมวยไทยแห่งค่ายมวยลูกสวนที่ปั้นนักมวยในค่ายเป็นแชมป์มาหลายต่อหลายคน

เสียงเตะต่อยกระสอบทรายสลับเสียงโหวกเหวกโวยวายตามประสาลูกผู้ชายค่ายมวยดังมาจากชุมชน “นูรุ้ลยากีน” ย่านพระราม ๒ นักมวยหลากรุ่นตั้งแต่เด็กอนุบาลยันวัยกลางคน รวมถึงชาวต่างชาติ กำลังฝึกซ้อมอย่างขะมักเขม้น บ้างวิ่งรอบชุมชน บ้างกระโดดเชือก บ้างยกน้ำหนักเพื่อเสริมกล้ามเนื้อ  ค่ายมวยเล็ก ๆ แห่งนี้มีอายุเก่าแก่กว่า ๕๐ ปี เวทีมวยเพียงสองเวทีที่อยู่คู่สนามมวยมายาวนานนั้นได้สร้างแชมป์มานักต่อนัก

อดิศักดิ์ หมัดป้องตัว หรือ บังฮับ เปลี่ยนชุดเครื่องแบบพนักงานธนาคารเป็นกางเกงมวยไทยสีน้ำเงินเดินออกมาจากห้องน้ำ พร้อมสวมอุปกรณ์ชกมวยทั้งสนับเข่า สนับมือ และเป้ากันหน้าท้องเพื่อเตรียมขึ้นซ้อมล่อเป้าบนเวที  ไม่ใช่แค่ชุดเท่านั้นที่เขาเปลี่ยน ความเคร่งขรึมสุภาพเรียบร้อยก็ถูกถอดออกกลายเป็นความแข็งกร้าวดุดันตามแบบฉบับครูมวย

“เร็วดิ ! อย่าช้า !” บังฮับตะโกนเสียงดัง ลูกศิษย์คนแรกเดินตรงเข้ามาและรัวเตะใส่เป้าหน้าท้องของเขาเต็มกำลังขา  สองเท้าของบังฮับยืนหยัดหนักแน่นตั้งรับแรงอัดจากลูกศิษย์ แววตายังคงดุดันมุ่งมั่น  นอกจากเป็นเป้าให้นักมวยซ้อมเตะต่อย บางจังหวะเขาก็ออกหมัดออกเท้าสวนกลับไปบ้างเพื่อทดสอบสัญชาตญาณของลูกศิษย์  กว่า ๒ ชั่วโมงบนเวทีกับลูกศิษย์หกคน มีเพียงเหงื่อไหลโซมกายและท่วงท่าซึ่งดูล้าลงเท่านั้นที่บ่งบอกถึงความเหนื่อยยาก ทว่าไม่มีเสียงโอดครวญใด ๆ จากปากครู

ข้างสนามมวยมีรูปของ ส. สุวรรณภักดี หรือขวานเพชร นักมวยอันดับ ๑ ของค่ายแขวนอยู่ใหญ่โต  ขวานเพชรเป็นนักมวยที่บังฮับฝึกมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กไร้ชื่อจนกลายเป็นแชมป์มวยรอบซีพี เมจิ เงินล้าน แชมป์ลุมพินี รุ่นแบนตัมเวต พ่วงตำแหน่งแชมป์ภูธร  แม้ขวานเพชรจะมีค่าตัวสูงขึ้น แต่บังฮับยังคงเลือกรับเงินเพียงน้อยนิดเพื่อให้ลูกศิษย์เก็บเงินไว้ใช้ยามลำบาก

หลังจากซ้อมล่อเป้าให้ลูกศิษย์เสร็จเรียบร้อย บังฮับลงจากเวทีและหยิบเครื่องแบบแท็กซี่มาแขวนไว้ใกล้ห้องน้ำ  อีก ๑ ชั่วโมงต่อจากนี้ความดุดันจะถูกถอดออกเป็นความสุภาพเรียบร้อยเพื่อผู้โดยสาร  เขาเล่าว่าชีวิตยากลำบากมาตั้งแต่เด็ก จนถึงขณะนี้มีภาระมากมายที่ต้องแบกรับ ทั้งส่งเสียเลี้ยงดูลูกหลาน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เขาจึงขับแท็กซี่เป็นอาชีพเสริม  นอกจากนี้ยังรับจ้างหารายได้อีกหลายช่องทาง เช่น ตัดต้นไม้ รับจ้างขนย้ายของ

“ผมชอบอาชีพแท็กซี่เพราะได้เจอคนหลากหลาย  เจอคนบ้า เจอป้าไม่มีเงินคนเดิมสามครั้ง ป้าแกจ่ายด้วยการใบ้หวย ให้เลขมา แต่ไม่เคยถูกเลย  เคยรับเด็กพิการทางสมอง คันอื่นไม่มีใครรับ เรารับเขาดีใจ กระโดดกอดเราเลย แถมขี้เยี่ยวใส่รถเราด้วย สุดท้ายเขาไม่มีสตังค์ให้ เราต้องให้สตังค์เขาเสียอีก ๒๐๐  การได้สังเกตคน เจอคนหลากหลายทำให้ผมรับมือกับคนหลาย ๆ แบบได้”

ความประทับใจและแรงปะทะใจมากมายของผู้โดยสารที่ผ่านเข้ามาในรถแท็กซี่สีส้มคันนี้ หล่อหลอมให้หัวใจของบังฮับแข็งแกร่ง เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงที่ช่วยให้เปลวเทียนของเขาส่องสว่าง นำทางให้ลูกศิษย์ทุกคนบนสังเวียนมวย

taxi05๑๘.๐๐-๒๒.๐๐ น.
สนามบินสุวรรณภูมิ

ช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ตกดินที่ลานจอดรถแท็กซี่บริเวณ Bus Terminal สนามบินสุวรรณภูมิแห่งนี้ คือช่วงเวลาแห่งความสุขหลากสีสันของคนขับรถแท็กซี่โดยแท้

เสียงเพลง “ผู้ชนะ” ของ เสก โลโซ ดึงดูดคนขับรถแท็กซี่นับสิบให้เข้ามาที่เพิงเล็ก ๆ ของชมรมดนตรีแท็กซี่สุวรรณภูมิ  ภายในเพิงที่ยกพื้นสูงเล็กน้อย มือเบส มือคีย์บอร์ด มือกลอง และมือกีตาร์โซโล กำลังบรรเลงเพลงอย่างดื่มด่ำ  คนขับแท็กซี่นอกเพิงบ้างนั่งหลับตาฟัง บ้างตบมือ บ้างแอบฟังอยู่ห่าง ๆ และคิดอะไรอยู่เงียบ ๆ คนเดียว

เจ้าของรถแท็กซี่กว่าพันคันที่จอดอยู่ในบริเวณลานจอดรถแห่งนี้ต้องผ่านการตรวจสอบประวัติและการอบรมเบื้องต้นเพื่อเข้าเป็นสมาชิกของท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ ๘,๐๐๐ คัน  เมื่อขับรถมาถึงทางเข้าจุดจอดรถแท็กซี่บริเวณ Bus Terminal คนขับจะแตะบัตรตรงทางเข้าเพื่อรับลำดับคิว จากนั้นก็เข้าไปจอดรถเพื่อรอเรียกขึ้นอาคาร  ราว ๑ ชั่วโมง เมื่อได้ยินเสียงประกาศจากลำโพงตัวจิ๋วบนเสาไฟก็ไปรับผู้โดยสารที่อาคารผู้โดยสารทันที

ช่วงเวลารอเรียกขึ้นอาคารผู้โดยสารนี่เองที่ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ของคนขับรถแท็กซี่  เพิงมากมายที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยให้เวลา ๑ ชั่วโมงนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งเพิงร้านอาหาร ร้านของหวาน ร้านเสื้อผ้าราคาถูก ร้านขายอะไหล่รถ ร้านขายเครื่องใช้ในบ้าน รวมถึงเพิงชมรมกิจกรรมของเพื่อนพ้องแท็กซี่ที่ชื่นชอบสิ่งเดียวกัน เช่น ชมรมลูกเหล็กยกน้ำหนัก ชมรมหมากรุก ชมรมดนตรีแท็กซี่สุวรรณภูมิ หรือกระทั่งบางเพิงมีไว้เพื่อการนอนหลับพักผ่อน

…ขอเพียงแค่ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึงที่จุดหมาย โปรดจงมั่นใจ ที่ทำลงไปนะถูกแล้ว อย่าฟังคำคน อย่าสนใจใคร อย่าเปลี่ยนแนว คนแน่แน่วเท่านั้น ผู้ชนะ…

ธนวัฒน์ ศรีสุธรรม มือกีตาร์โซโลประจำชมรม หลับตาร้องเพลง “ผู้ชนะ” อย่างซาบซึ้ง หนุ่มอุดรธานีเล่าว่า ชีวิตของเขามีเสียงดนตรีเดินทางมาด้วยกันทุกเวลา ไม่ว่าจะทำอาชีพเมสเซนเจอร์ ทำสวนที่ประเทศอิสราเอลอยู่ ๔ ปี เปิดร้านขาย-ซื้อ-ซ่อมโทรศัพท์มือถือ หรือขับแท็กซี่ เขาและดนตรีไม่เคยทอดทิ้งกัน

เราสงสัยว่าความผูกพันที่หยัดรากลึกขนาดนี้จะทำให้เขามีความฝันอยากเป็นนักดนตรีมืออาชีพบ้างไหม

“ผมเล่นเพราะใจรัก เป็นความฝันที่อยากเล่นกีตาร์แล้วได้เล่น แค่นี้มีความสุขแล้ว  เราไม่ได้ฝันว่าต้องไปเป็นดาว ฝีมือเราไม่ถึงขั้นประกวด  ความสุขของการเล่นดนตรี คือเห็นคนมีความสุข บอกไม่ถูก มันเป็นความสุขที่จับต้องไม่ได้”

เสียงเพลงจากชมรมแท็กซี่ดนตรีสุวรรณภูมิช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลายคนเริ่มขยับ บ้างนำกลองทอมบามาตี บ้างรับ-ประทานอาหารเย็นแกล้มเสียงดนตรี  นักดนตรีทั้งสี่คนทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่และมีความสุขที่สุดก่อนจะต้องแปลงร่างเป็นคนขับแท็กซี่ธรรมดา ๆ ในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า

ที่เพิงร้านอาหารข้างชมรม คนขับรถแท็กซี่คนหนึ่งกำลังดูโทรทัศน์รายการประกวดร้องเพลง “ชิงช้าสวรรค์ไมค์ทองคำ”  เราเกิดคำถามเล็ก ๆ ในใจ

“แล้วจะมีใครบ้างไหม…ที่ฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นคนขับรถแท็กซี่”

บริเวณลานจอดรถแท็กซี่แห่งนี้ คนขับรถแท็กซี่กำลังมีความสุขกับเสียงดนตรี หมากรุก ยกน้ำหนัก อาหารเย็น และการพูดคุย  มีสักกี่คนที่ฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นคนขับรถแท็กซี่ มีสักกี่คนที่ต้องทิ้งความฝันหรือซ่อนความฝันไว้ลึกสุดใจ เพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสำคัญกว่า…นั่นคือความอยู่รอดของทุกคนในครอบครัว

เราเกรงว่าทุกคนที่กำลังมีความสุขอยู่ในบริเวณลานจอดแท็กซี่แห่งนี้…คือคนที่ต้องทิ้งความฝันเหล่านั้น

ในโลกหลากสีสัน

เดือนมีนาคม ๒๕๕๘ หลังมีการจัดระเบียบแท็กซี่ทั่วกรุงเทพมหานครผ่านกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ พบว่ามีสถิติการร้องเรียนแท็กซี่อยู่ที่ ๑,๙๐๐-๒,๐๐๐ รายต่อเดือน จากสถิติการร้องเรียนก่อนหน้านี้ ๓,๕๐๐-๔,๐๐๐ รายต่อเดือน ลดลงจากเดิมประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ โดยเรื่องที่ร้องเรียนมากที่สุดหนีไม่พ้นการปฏิเสธรับผู้โดยสาร รองลงมาคือการให้บริการไม่สุภาพ และการขับรถหวาดเสียว

เดือนมีนาคม ๒๕๕๘ เราได้เข้าไปทำความรู้จักโลกของแท็กซี่ผ่านคนขับรถแท็กซี่จำนวนหนึ่ง เราได้เรียนรู้จากโลกใบนี้ว่า พวกเขาแต่ละคนล้วนมีความพิเศษและมีชีวิตในแบบฉบับของตน  ดังนั้นเราจึงลองสุ่มโบกรถแท็กซี่คันสุดท้ายในการเดินทางของเราครั้งนี้ เพื่อพิสูจน์สิ่งที่เราเข้าใจและเชื่อมั่น

บ่ายวันอาทิตย์ในซอยอินทามระ ๔๐ ย่านสะพานควาย เราเรียกรถแท็กซี่สีเขียวเหลืองให้ไปส่งถึงปลายทางที่เรามั่นใจว่าจะได้คุยกับเขานานพอสมควร  คนขับแท็กซี่พยักหน้าเล็กน้อย หน้าตาไม่สื่ออารมณ์ใด ๆ  เขาเป็นชายวัยกลางคนท่าทางเคร่งขรึมอยู่ในที ไม่ได้สวมเครื่องแบบแท็กซี่ที่เราคุ้นตา แต่ก็อยู่ในชุดที่จัดว่าสุภาพเพราะสวมเสื้อกล้ามสีขาวทับด้วยเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีเทา  มีเพียงบัตรประจำตัวคนขับรถเท่านั้นที่ทำให้เรารู้จักเขาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยว่าเขาชื่อ บัญชา วงค์จันทร์

เราเริ่มบทสนทนาอย่างเป็นมิตรด้วยคำถามพื้นฐาน เช่น การจราจรในบ่ายวันอาทิตย์ ลมฟ้าอากาศ แล้วค่อย ๆ ขยับมาถึงพื้นเพภูมิลำเนาของเขา และเมื่อเริ่มเป็นกันเองมากขึ้น เราจึงถามถึงเหตุผลที่เขาเลือกก้าวเข้าสู่โลกของแท็กซี่

“คนอื่นอาจมาขับเพราะรายได้ แต่สำหรับผมเพราะอยากรู้เหตุผลว่าทำไมแท็กซี่ถึงชอบปฏิเสธผู้โดยสาร”  คำตอบที่ไม่ได้มีใจความซับซ้อนทำเราเงียบไปสักพัก เพราะถ้าเป็นเหตุผลดังว่านี้จริง ๆ ก็จัดว่าเขาเป็นคนจริงคนหนึ่ง จะมีสักกี่คนที่ยอมลงทุนไขข้อข้องใจด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงแบบนี้

พี่บัญชาวัย ๔๔ ปี เป็นสามีและพ่อของลูกห้าคน ชายจากมหาสารคามคนนี้เล่าว่าเขาเข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ นานกว่า ๒๐ ปีแล้ว  วันธรรมดาเขาเป็นข้าราชการประจำ ทำหน้าที่ตรวจสอบงานก่อสร้างของมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง แต่ก่อนไปทำงานเขาขับแท็กซี่ตั้งแต่ตี ๕ ถึง ๗-๘ โมงเช้า  ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ เขาขับรถแท็กซี่ทั้งวันมา ๗-๘ ปีแล้ว

“กรุงเทพฯ รถติดขึ้นตั้งแต่มีโครงการรถยนต์คันแรก โครงการก่อสร้างโน่นนี่ก็ทำให้รถติดเพิ่มขึ้นอีก  แต่ถามว่าผมหงุดหงิดไหมที่รถติด ก็ไม่ครับ เรารู้อยู่แล้วว่ารถจะติด ก็ไม่รู้จะหงุดหงิดไปทำไม  สิ่งที่น่าหงุดหงิดกว่าคือมารยาทการขับรถของชาวกรุงเทพฯ  ต่างคนต่างรีบ  ตอนยังไม่ได้ขับแท็กซี่ ผมเคยมีเรื่องต่อยกับแท็กซี่ที่ขับปาดหน้า ตอนนั้นยังเป็นหนุ่มใจร้อน”

เราถามถึงมุมมองต่ออาชีพคนขับแท็กซี่ เขาหัวเราะก่อนจะเล่าว่า “ปรกติผมชอบขับรถแท็กซี่ไปที่ทำงาน  เชื่อไหม รปภ. หน้ามหาวิทยาลัยจะทำท่ารังเกียจเหมือนไม่อยากให้เข้า  แต่ตอนที่ผมขับรถราชการออกมา เขาสวัสดี ทำท่าเคารพผมอย่างกับเป็นคนละคน” เขาส่ายหน้าอย่างเหนื่อยใจ

“ก็แปลก…อย่างตอนผมเอารถไปล้าง เขาบอกว่าไม่ล้างแท็กซี่ แต่รถเก๋งธรรมดาเขาล้างให้อย่างดี  เขาคงมองเราต่ำ  ถ้าเป็นคนรู้จักหรือคนสนิทกับเรา เขาจะมองว่าเราขยัน” พี่บัญชาหยุดบทสนทนาไปชั่วครู่

“แต่เอาจริง ๆ ส่วนตัวผมก็มองคนขับแท็กซี่ค่อนข้างลบนะ  ผมเจอแท็กซี่โกงเงินคนอีสานที่เพิ่งเข้ามากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ไม่มีจรรยาบรรณในอาชีพเลย ทั้งที่คนขับแท็กซี่หลายคนก็เป็นคนอีสาน น่าจะเห็นใจคนอีสานด้วยกัน  แต่ว่าก็ว่าเถอะสังคมสมัยนี้ทุกอาชีพทุกการงานคนเห็นแก่ตัวมันเยอะ” เขาส่ายหน้าอย่างเอือมระอา

“ผมเองก็ไม่ได้บอกว่าผมดีหรอกนะ  แต่เราทำมาหากิน เราก็ต้องรักอาชีพของเราสิ”

เราทวนคำถามที่เป็นจุดพลิกวิถีชีวิต เพราะอยากรู้ว่าเขาได้คำตอบเรื่อง “ทำไมแท็กซี่ถึงชอบปฏิเสธผู้โดยสาร” แล้วหรือยัง

“มันเป็นเรื่องของแต่ละคน บางคนปฏิเสธด้วยความเห็นแก่ตัว อยากจะไปรับลูกค้าต่างชาติ  แต่บางคนก็มีเหตุผลจำเป็นจริง ๆ อย่างเช่นส่งรถ เพราะถ้าส่งรถช้าก็จะโดนปรับ  ผมเองก็ใช่ว่าจะไม่เคยปฏิเสธผู้โดยสารนะ  บางครั้งคำนวณดูถ้ารับแล้วไปทำงานสาย ผมก็ปฏิเสธ พอบอกเหตุผลเขาก็เข้าใจนะ  เราต้องอธิบาย ถ้าไม่อธิบายเขาก็มองเราไม่ดี”

เรานึกถึงประสบการณ์ที่โดนรถแท็กซี่ปฏิเสธด้วยการส่ายหัว ขับรถหนี หรือพูดสั้น ๆ ว่าแก๊สหมด ส่งรถ นั่นทำให้เราหงุดหงิด ยิ่งถ้าเป็นวันที่อากาศร้อนจัดหรือฝนตกหนัก มันจะพาลให้เราเกลียดคนในเครื่องแบบสีฟ้า  แต่ถ้าเขาอธิบายด้วยความจริงใจถึงเหตุผลที่ต้องปฏิเสธ ความหงุดหงิดหรือความโกรธนั้นจะทุเลาลงทันที

“แต่จริง ๆ อีกใจผมก็ชอบอาชีพนี้ ได้เจอคนหลากหลายและได้ช่วยคน  อย่างครั้งหนึ่งนักศึกษาโบกรถผมแล้วบอกว่า พี่ครับ ผมเรียกมาหลายคันแล้ว ผมไปขายของ แต่ฝนตก ผมขายของไม่ได้  ผมมีเงินอยู่แค่ ๔๐ บาท ให้พี่ ๒๐ บาท ผมเหลือไว้กินน้ำ ๒๐ ได้ไหมครับ  ผมประทับใจมาก ครั้งนั้นเป็นประสบการณ์ที่ผมจำตลอด”

พี่บัญชาเชื่อว่าเพราะเขาตั้งใจดีเลยทำให้เขาเจอแต่คนดี ๆ ก่อนจะเล่าประสบการณ์แปลก ๆ ในรถคันนี้ ทั้งถูกสาวประเภทสองลวนลาม หรือเกือบโดนจี้แต่คนจี้เปลี่ยนใจ  เมื่อเราถามว่าจะขับไปอีกนานเท่าไร จนเกษียณเลยไหม ? เขาส่ายหน้าแทนการปฏิเสธ

“ไม่ขับแล้ว พอแล้ว รถใกล้หมดอายุเต็มที…” เขาเงียบไปครู่หนึ่งก่อนจะบอกว่า “ผมจะกลับบ้านไปดูแลแม่ ไปทำเกษตรพอเพียง เบื่อเต็มทนแล้วชีวิตในเมือง…รอให้ลูก ๆ เอาตัวรอดได้ ผมก็จะกลับแล้ว  ที่นี่อยู่กันหลายคน แต่ที่โน่นมีแม่คนเดียว”

เขาเล่าแผนการในอนาคตให้เราฟังคร่าว ๆ แล้วเงียบไป บทสนทนาของเราสิ้นสุดเพียงแค่นี้ ไม่ใช่เพราะเราถึงที่หมาย แต่เพราะการค้นหาคำตอบที่เราต้องการจบลงแล้ว

แท็กซี่คันสุดท้ายที่เราโบกและพูดคุยกันไม่ถึง ๑ ชั่วโมง เขาสอนให้เรามองคนทุกคนจากภายในโดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจ

เรามองออกไปนอกหน้าต่างรถแท็กซี่สีเขียวเหลืองของพี่บัญชา รถแท็กซี่หลากสีสันขับสวนไปมาตลอดทาง เขียว ส้ม เหลือง ฟ้า แดง ชมพู  ก่อนการเดินทางของเรื่องนี้ สิ่งแรกที่เราทราบ คือแท็กซี่แต่ละคันแยกสีตามสหกรณ์หรือบริษัทผู้ดูแล  แต่เมื่อใกล้จบการเดินทาง สิ่งที่เราเรียนรู้ คือแท็กซี่แต่ละคนแยกสีตามความชอบ ความเชื่อ ความรัก ความฝัน และสิ่งที่เขาเรียนรู้มาทั้งชีวิต

เราจ่ายค่าแท็กซี่ ๑๒๐ บาทให้พี่บัญชาแล้วเปิดประตูรถลงจากรถแท็กซี่เขียวเหลือง เรามองรถแท็กซี่คันนั้นขับไกลออกไปจนลับสายตา  ถ้าไม่มีผู้โดยสาร ไม่มีผู้ให้บริการ ไม่มีเจ้าของเงิน ไม่มีคนรับเงิน มีแค่เพื่อนมนุษย์ที่ต่างต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เพื่อนมนุษย์ที่มีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าในการกระทำเรื่องต่าง ๆ …เราจะเปิดใจถามไถ่และมอบความเห็นใจให้กันไหม

เราอาจพบว่าเราพูดคุยและทำความเข้าใจกันได้

เพราะเราต่างเป็นเพื่อนร่วมทาง…ในโลกที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน สับสนวุ่นวาย ทว่ามีสิ่งดี ๆ ซุกซ่อนอยู่มากมายใบนี้

ขอขอบคุณ :
– กรมการขนส่งทางบก
– สถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ FM ๙๑.๐ เมกะเฮิรตซ์ สำหรับข้อมูลและการประสานงานช่วยเหลือ
– สนามบินดอนเมือง
– ชมรมต่าง ๆ ที่ลานจอดรถแท็กซี่บริเวณ Bus Terminal สนามบินสุวรรณภูมิ
– ชมรมฅนของแผ่นดิน
– ชมรมแท็กซี่สตรีไทยเพื่อสังคม
– อู่แท็กซี่หลากหลายแห่งและคนขับรถแท็กซี่หลากสีสัน
– ลุงสมหมาย พี่สำอางค์ พี่เพ็ญพิมล บังฮับ พี่ธนวัฒน์ และพี่บัญชา    แท็กซี่ผู้น่ารักทั้งหกคนของพวกเรา
– เพื่อนช่างภาพและนักเขียนจากค่ายสารคดีรุ่นที่ ๑๐