เรื่อง : วรรณิดา อาทิตยพงศ์
ภาพ : จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 11
(งานเขียนและงานภาพดีเด่น)

เสียงที่ไร้เสียง: ดนตรีคลาสสิกในชุมชนแออัดคลองเตย

“อ๋อ มาได้ครับ ตอนนี้กำลังซ้อมวงอยู่ มาที่ซอยตรงข้ามตึกมาลีนนท์ครับ”

เราวางโทรศัพท์จากพี่ต้น ผู้จัดการวงดนตรี เช้าวันนั้นเราเปิดกูเกิ้ลหาวิธีการไปตึกมาลีนนท์ ตึกสถานีโทรทัศน์ชื่อดัง กูเกิ้ลบอกทางไปตึกมาลีนนท์ แต่ไม่ยักมีบอกทางไป Immanuel music school พร้อมกันนั้นก็ให้นึกประหลาดใจ เราเสิร์ชหาตึกมาลีนนท์ แต่สิ่งที่ไปเจอกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง “ตรงข้ามตึกมาลีนนท์” ห่างกันแค่ถนนกั้น เหมือนโลกจะพลิกกลับได้ด้วยซ้ำ ก็ได้แต่ปลอบใจตัวเอง อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ในเมืองใหญ่หายใจแรงเมืองนี้

immanuel02

1

ถึงคลองเตยเตยแตกใบแฉกงาม คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย

เมื่อสุนทรภู่มาถึงคลองเตย กวีเอกกล่าวถึงคลองเตยไว้อย่างไพเราะในนิราศเมืองเพชร ตอนนั้นอะไรก็คงไม่โดดเด่นเท่าต้นเตยที่ขึ้นอยู่มากมายริมคลอง อันเป็นที่มาของชื่อ “คลองเตย” หากลองมองย้อนกลับไป ชุมชนคลองเตยเป็นชุมชนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และอาจกล่าวได้ว่า เป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศ โดยมีที่ตั้งอยู่บนที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) บริเวณท่าเรือคลองเตยริมแม่น้ำเจ้าพระยามานานกว่า 50 ปี ถือกำเนิดขึ้นเมื่อครั้งที่ประเทศไทยกำลังเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกๆ อันเป็นช่วงที่ภาครัฐพยายามผลักดันอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ทำให้รัฐบาลต้องสั่งสินค้าเครื่องจักรและวัตถุดิบจากต่างชาติ ท่าเรือคลองเตยซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางน้ำจึงมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากในการขนถ่ายสินค้า แรงงานเหล่านี้นี่เองที่เป็นคนกลุ่มแรกที่ทำให้เกิดชุมชนคลองเตย เพราะเมื่อไม่มีที่ซุกหัวนอน เหล่าแรงงานทั้งหลายจึงตั้งถิ่นฐานบนที่ดินของ กทท. จนกลายเป็นชุมชนคลองเตยในที่สุด

เชื่อว่าเมื่อพูดถึงการไล่รื้อที่ชุมชน ยาเสพติดและแหล่งเสื่อมโทรม สลัมคลองเตยคงเป็นชื่อแรกๆ ที่ทุกคนนึกถึง ภาพลักษณ์เหล่านี้จึงกลายเป็นภาพลักษณ์ในแง่ลบที่ติดตัวชุมชนมาจนถึงทุกวันนี้

แล้วก็ให้นึกสงสัย ถ้าสุนทรภู่ยังอยู่ ท่านผ่านมาแถวนี้อีกที จะว่ายังไงกันนะ

เราได้ยินเสียงน้ำตกจากข้างในชุมชน

เราเปิดฉากเช้าวันนั้นด้วยการเข้าชมชุมชนแออัดคลองเตย เราเคยได้ยิน รับฟัง พูดถึงมาโดยตลอด แต่ไม่เคยได้มาสัมผัสเลยสักครั้ง เดินไปตามตรอกเล็กๆ ที่แวดล้อมไปด้วยบ้านคน เราแอบมองเข้าไปข้างในก็อดตกใจไม่ได้ ทุกกิจกรรมรวมกันอยู่ในห้องเดียว ไม่ว่าจะกินข้าว ล้างจาน ทำกับข้าว หรือนั่งเล่น ทุกบ้าน (หรือห้อง) อยู่ติดกันโดยมีแผ่นสังกะสีหรือไม้อัดบางๆ กั้น ด้านหลังเป็นคลองขนาดใหญ่ที่น้ำคลองเน่าเสีย

“เตยแตกใบงาม” ในอดีตถูกแทนที่ด้วยขยะลอยเต็มเป็นแพใหญ่ น้ำจากคลองส่งกลิ่นเหม็นลอยอวล ระหว่างนั้นเราได้ยินเสียงน้ำตกตลอดเวลา หากหลับตา ตัดภาพ ตัดกลิ่นออก เราคงนึกว่านี่เป็นน้ำตกแน่ๆ แต่เมื่อเดินเลียบชายคลองไปจรดแหล่งกำเนิดเสียงแล้วจึงได้ค้นพบ เสียงน้ำตกที่ได้ยินนั้นมาจากท่อปล่อยน้ำทิ้งขนาดใหญ่ที่ปล่อยน้ำใช้แล้วจากบ้านเรือนลงลำคลอง

เห็นแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเขาอยู่กันได้อย่างไร นี่มันไกลจากคำว่า คุณภาพชีวิตที่ดี ตามสโลแกน “กรุงเทพฯ ชีวิตดีดีที่ลงตัว” ไปมาก ก่อนจะเตือนตัวเองว่า เราไม่ควรคิดแทนคนอื่น นี่อาจเป็นทางเลือกที่ดีพอของเขาแล้วก็ได้ และการเข้าถึงโอกาสของแต่ละคนไม่เท่าเทียมกัน

เวลานั้นดนตรีคลาสสิกกับชุมชนแออัดดูห่างไกลกันคนละโยชน์….

immanuel03

immanuel04

2

“พอพูดถึงดนตรีคสาสสิกปุ๊บนึกถึงอะไร” ถามเพื่อนกลางวงสนทนา เพื่อนคนหนึ่งโพล่งออกมาทันทีว่า ลูกคนรวย อดคิดไม่ได้ว่าดนตรีแบ่งชนชั้นหรือชนชั้นแบ่งดนตรีกันแน่ หรือมันเป็นมายาคติที่ลวงตาเราอยู่ แต่เราก็ปฎิเสธไม่ได้อยู่ดีว่า การเรียนดนตรีในประเทศไทยมีข้อจำกัดเยอะ ทั้งค่าเรียน ค่าเดินทาง แล้วก็ต้องมีอุปกรณ์ไว้ซ้อม ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวและเอื้อมไม่ถึง

ถ้าต้องลงทุนด้วยเงินพอประมาณ แถมนอกบทเรียน ลูกอยากเรียนแค่ไหน พ่อแม่คงส่ายหัว

แต่ถ้ามันฟรีล่ะ… ถ้ามันมีโอกาส

ไม่ไกลจากชุมชนนัก ในซอยอุทัยฟาร์ม ถนนพระราม 4 พระโขนง คลองเตย อาคารสองชั้นเลขที่ 1869-1875 เป็นที่ตั้งของคริสตจักรอิมมานูเอลลูเธอร์แรน (Immanuel Lutheran Church) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2520 ภายใต้สภาคริสตจักรลูเธอร์แรนแห่งประเทศไทย

แรกเริ่มเดิมทีทางโบสถ์เปิดสถานรับเลี้ยงเด็กในชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ ก่อนเข้าเรียน เด็กๆ ส่วนใหญ่ในชุมชนก็เริ่มเรียนอนุบาลที่นี่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 Solveig Meling Johannessen หรือที่คนในชุมชนเรียก “อาจารย์สุไว” และสามี Dag Johannessen มิชชันนารีชาวนอร์เวย์มาทำงานในโบสถ์ ในโครงการ Norwegian Mission Society (NMS) อาจารย์สุไวเรียนภาษาไทยอยู่ 1 ปี ก่อนเริ่มสอนเด็กๆ ในโบสถ์ โดยช่วงแรกเน้นสอนภาษาอังกฤษและดนตรีไทย

“ตอนแรกก็เป็นดนตรีไทยเยอะ ปี พ.ศ. 2545 ก็ไปทัวร์ที่นอร์เวย์ แต่รู้สึกว่าไม่เก่งไม่ถนัด ก็ทำได้นิดหน่อย ไม่มั่นใจในตนเอง แล้วก็ต้องพึ่งคนอื่น พอดีมีคนบอกว่า เบื่อดนตรีมากตอนนั้น หลังจากที่เราซ้อมเยอะๆ เพื่อไปทัวร์ มีคนอยากเล่นไวโอลินมากกว่า ประกอบกับเราก็เป็นนักดนตรีอยู่แล้ว ก็เลยเริ่มสอน ทีหลังก็ไม่ค่อยมีเวลาสอนอะไรอย่างอื่น”

อาจารย์สุไวคุยภาษาไทยกับเราอย่างคล่องแคล่ว ด้วยน้ำเสียงนุ่มๆ และยิ้มอ่อนโยน เราหันไปมองกรอบรูปที่เรียงรายอยู่บนฝาผนัง เป็นรูปเด็กๆ ใส่ชุดไทยเต็มยศสีไวโอลินอยู่ อดประหลาดใจไม่ได้ รู้สึกเป็นภาพขัดแย้งแต่ทว่าก็กลมกลืน
ระหว่างนั้นมีเสียงเลื่อนเปิดประตู ขัดจังหวะการพูดคุย เราหันไปดู เห็นใบหน้าเล็กๆ มอมแมมของเด็กชายคนหนึ่งโผล่ออกมา สบตาเราแล้วยิ้มเผล่ มองซ้ายขวา ก่อนปิดประตูแล้วเดินออกไป ส่วนอาจารย์สุไวหันมาพยักเพยิดบอกเรายิ้มๆ “นั่นเด็กใหม่ เพิ่งมา”

ช่วงแรกเด็กที่มาเรียนก็เป็นเด็กจากสถานรับเลี้ยงเด็กของโบสถ์ พออายุได้ 3-4 ขวบ อาจารย์ สุไวก็เริ่มจับมาเรียนพื้นฐานดนตรี ฝึกนิ้วมือ จับจังหวะ พอคล่องก็ให้เรียนไวโอลินต่อ ช่วงนั้นเด็กที่มาเรียนยังน้อย คนในชุมชนยังไม่ได้ให้การสนับสนุนมากนัก แต่ต่อมาเมื่อเห็นว่าเด็กที่ได้เรียนแล้วมีพัฒนาการที่ดี ก็เริ่มส่งเด็กๆ มาเรียนดนตรีที่โบสถ์มากขึ้น ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เด็กที่มาเรียนจึงเริ่มหลากหลายขึ้น การเรียนการสอนก็ขยับขยายจากไวโอลินเพียงอย่างเดียว ก็มีเชลโล่ เปียโน และร้องประสานเสียงบ้างในบางโอกาส

“เรียนกันเป็นรุ่นต่อรุ่นแล้ว บางคนเรียนมาตั้งแต่รุ่นพ่อเขา มีลูกก็ให้ลูกเรียนอีก อย่างน้อยมันก็ไม่เสียเงินอะไร แถมลูกได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไปอยู่ตรงนั้น ผู้ใหญ่ที่นี่ก็สบายใจ”

เสียงจากผู้ปกครองและชาวบ้านบริเวณนั้น แสดงให้เห็นถึงความรักและความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่ออาจารย์สุไว ไม่เพียงแค่อาจารย์สุไวเท่านั้น ตอนนี้ยังมีไอดอลคนใหม่ของเด็กๆ คือ “พี่ต้น” หรือ วรินทร์ อาจวิไล อายุ 24 ปี ศิษย์เก่าที่เริ่มเรียนไวโอลินจากที่นี่ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ จนถึงขั้นติวสอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ เรียนจบก็เลือกที่กลับมาสอนไวโอลินให้น้องๆ รุ่นต่อไป

“ที่มาทำตรงนี้เพราะอยากกลับมาช่วยอาจารย์ ช่วยน้องๆ และอยากเปลี่ยนภาพลักษณ์ของคำว่าชุมชนแออัดหรือสลัมออก เพราะคนยังเข้าใจว่าคนในชุมชนแออัดยังเป็นคนด้อยโอกาส ไม่มีการศึกษา ติดยา ถ้าเกิดสมมติเด็กทุกคนมีความสามารถและได้โชว์ให้คนในสังคมได้เห็น เปลี่ยนภาพลักษณ์มากขึ้น ครั้งก่อนเราไปโชว์คอนเสิร์ต คนก็ไม่คิดว่าจะดีขนาดนี้ เขาทึ่งมาก เขาไม่คิดว่าเด็กในชุมชนจะมีความสามารถถึงขนาดนี้ มันก็เหมือนเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ แต่ตอนนี้เรายังไม่มีชื่อเสียง แต่ในอนาคตเราหวังว่าถ้าเกิดเรามีชื่อเสียงออกไป คนก็จะเปลี่ยนความคิด”

พี่ต้นบอกเราอย่างภาคภูมิใจ ตอนนี้พี่ต้นก็มาช่วยอาจารย์สุไวสอนเต็มตัว โดยพี่ต้นรับผิดชอบสอนเด็กโตและการซ้อมวง ส่วนอาจารย์สุไวสอนพื้นฐานดนตรีและไวโอลินให้เด็กเล็ก โดยจะหลักๆ สอนทุกวันพุธช่วงห้าโมงเย็นถึงสามทุ่ม และทุกเสาร์อาทิตย์ บ่ายสองถึงห้าโมงเย็น ส่วนวันอื่นๆ เป็นวันซ้อม จะมาหรือไม่มาก็ได้

เมื่อทุกอย่างพร้อม การสอนดนตรีเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ในปี พ.ศ. 2556 จึงได้ใช้ชื่อเป็น Immanuel music school

เรามองไปรอบห้องเรียนเล็กบนชั้นสอง พื้นปูพรมสีแดง ทางด้านซ้ายมือเป็นกล่องไวโอลินเรียงราย ส่วนขวามือมีกระดานไวท์บอร์ดเล็กๆ แขวนอยู่ มีเก้าอี้พลาสสิกอยู่สองสามตัว

สารภาพว่าเรานึกยังไม่ออกว่าคลาสเรียนจะเป็นอย่างไร…

immanuel05

immanuel06

 

3

เริ่มต้น…โดเรมี

“โดเรมี มีฟาซอล ซอลลาที ลาทีโด” อาจารย์สุไวลากเสียงสูงต่ำสลับกันไป ส่วนเด็กๆ ก็ประสานเสียงลากลูกคอตาม สลับไปกับเสียงหัวเราะปนงอแง ภาพตรงหน้าน่ารักเสียจนผู้มาเยือนอย่างเราอด อมยิ้มไม่ได้ เด็กเล็กอายุประมาณ 3-4 ขวบเก้าคน นั่งล้อมเป็นวงกลมโดยมีอาจารย์สุไวนั่งรวมอยู่ด้วย เราแอบคิดว่าอาจารย์สุไวดูเหมือนยักษ์ใจดี ที่นั่งอยู่ท่ามกลางเหล่าลูกภูติตัวจิ๋ว เด็กๆ นั่งบ้างนอนบ้าง ทำตามบ้างไม่ทำบ้าง ทำให้เรานึกถึงตอนที่อาจารย์เล่าให้ฟังว่า เด็กๆ กลัวพี่ต้น เวลาฟังพี่ต้นสอนจะเงียบกริบ แต่พอเป็นอาจารย์สุไว เด็กจะดื้อ เล่น และไม่ค่อยฟัง สงสัยอาจารย์ใจดีไป เราสรุปยิ้มๆ “ใช่ ใจดีไป แต่จะดุก็ทำไม่ได้ ฉันพยายามแล้ว”

“โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด ทำท่ามือด้วยนะ เอ้าเร็วขึ้นนะ” อาจารย์พยายามอีกรอบ แล้วเสียงไล่โดเรมีก็ดังขึ้นพร้อมๆ กันจากเด็กๆ ที่นั่งล้อมเป็นวงกลมอยู่ ถึงตอนนี้เด็กบางคนกางแขนขานอนแผ่หลา เริ่มกลิ้งไปมาแล้ว

immanuel07

 

immanuel08

4

ดีด สี ตี ท่อง

“วิวาลดี เกิดปี ค.ศ. อะไร?” พี่ต้นถาม คำถามยากสุด เราคิด ในขณะที่เด็กๆ ทั้งเล็กใหญ่แข่งกันยกมือ ส่งเสียงแซงแซ่ให้พี่ต้นเลือกให้ตนเป็นคนตอบ สุดท้ายก็ตะโกนแย่งกันตอบ “1678” เราได้แต่ร้องอึ้งอยู่ในใจ สุดยอด เรายังไม่รู้เลย

ถามตอบกันไปได้สักพัก พี่ต้นก็เริ่มรวมเด็กๆ เข้ามาซ้อมวงในช่วงบ่าย การซ้อมวงนี้แบ่งออกเป็น 2 วง คือวงเอและวงบี วงเอเป็นวงเด็กโตแล้วทั้งหมด ส่วนวงบีเป็นวงรวมทั้งเด็กเล็กและเด็กโต โดยจะเริ่มต้นซ้อมที่วงบีก่อน

เสียงผสานรวมวงระหว่างไวโอลินและเชลโล่ออกจะฟังดูแปร่งๆ โดดบ้างเพี้ยนบ้าง หากแต่ละคนก็สีอย่างตั้งใจ ข้างหน้าเป็นเด็กตัวน้อยสีไวโอลินตัวจิ๋วหน้าเครียด ส่วนอีกด้านเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็เล่นเชลโล่บ้าง ไวโอลินบ้าง

พี่ต้นดุไปรอบนึงแล้ว คราวนี้ลองใหม่ ท่วงทำนองของฤดูใบ้ไม้ผลิ ขึ้นลง พลิ้วไหวของเพลง Spring ดังขึ้นอีกรอบ

แปร่งหูแต่ว่าชื่นใจ

แม้จะไกลคำว่าสมบูรณ์แบบ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ดี

ไม่เพียงมีพี่ต้นที่กลับมาสอนรุ่นน้องเท่านั้น ในระหว่างเด็กที่เรียนด้วยกัน คนที่โตหน่อยก็ต้องรับผิดชอบสอนรุ่นน้องอีกด้วย ทั้งนี้เพราะมีครูแค่สองคน ทั้งยังช่วยกระชับความสัมพันธ์และได้โอกาสฝึกไปในตัวอีกด้วย เราหันไปเห็นน้องไอซ์กำลังสอนการจับคันชักไวโอลินให้เด็กตัวน้อยอีกคนพอดี

น้องไอซ์ หรืออนงค์นาถ ดวงทอง อายุ 18 ปี จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว ตอนนี้กำลังติวเข้มกับพี่ต้นเพื่อสอบเข้าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ น้องไอซ์บอกว่า เธอมีพี่ต้นเป็นไอดอล พูดพลางก็ส่งยิ้มเขินๆ มาให้เรา “หนูก็ไม่มั่นใจว่าหนูจะทำได้หรือเปล่า แต่คนรอบข้างเขาให้กำลังใจ” เธอคิดจะตัดใจจากไวโอลินหลายหนแล้ว เพราะกลัวจบไปแล้วไม่มีงานทำ ก็ได้อาจารย์สุไวและพี่ต้นคอยสนับสนุนและพูดเกลี้ยกล่อมที่บ้านให้ “หนูอยากกลับมาทำเหมือนพี่ต้น” เราพยักหน้าเห็นด้วยหงึกหงัก ออกจะมั่นใจด้วยซ้ำว่าเธอทำได้

immanuel09

immanuel10

5

หกโมงเย็นวันนี้คนในโบสถ์เยอะเป็นพิเศษ ทั้งเด็กๆ ในชุดนักเรียนและไปรเวท และพ่อแม่ผู้ปกครองที่คอยมาให้กำลังใจ วันนี้จะมีคอนเสิร์ตบรรเลงเดี่ยว เด็กๆ หลายคนไม่เคยแสดงสดแบบนี้มาก่อน ต่างคนต่างซ้อมกันหน้าเคร่ง ยืนตัวตรงแน่ว ชักคันชักขึ้นลง โดยมีโค้ชเป็นอาจารย์สุไวยืนคุมอยู่ข้างๆ บรรยากาศแตกต่างจากวันเรียนโดยสิ้นเชิง ในห้วงยามของความคร่ำเคร่งนั้น มีกลิ่นอายของความตื่นเต้นปนอยู่ไม่น้อย

หกโมงครึ่ง คอนเสิร์ตก็เริ่มขึ้น เดี่ยวในที่นี้คือเดี่ยวไวโอลินและเชลโล่ โดยมีคนเล่นเปียโนคลอไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการรวมวงเฉพาะกิจของเด็กเล็กและเด็กโตอีกสองวง เปิดคอนเสิร์ตด้วยวงไวโอลินของเด็กตัวน้อย 5 คน ประเดิมด้วย
เพลงช้างเวอร์ชั่นไวโอลิน

หลังจากนั้นก็เริ่มเป็นเดี่ยวของจริง เดี่ยวคนแรก น้องแพรวอายุ 5 ขวบ น้องเดินตัวเกร็ง ถือไวโอลินตัวน้อย ไปกลางลานพื้นยกสูง ยกคันชักและเริ่มเล่นเพลง เล่นไปสักพักมีสะดุด หันไปมองหน้าอาจารย์สุไว อาจารย์ส่งยิ้มลุ้น อยากจะบอกว่าคนดูก็ลุ้นไม่แพ้กัน

สุดท้ายน้องก็เล่นได้จนจบ ตอนจบมีอุทาน “อุ๋ย” เป็นโน้ตแถมท้ายด้วย แล้วคอนเสิร์ตก็ดำเนินไปเรื่อยๆ จากช่วงแรกที่เด็กๆ เกร็ง ช่วงหลังก็เริ่มผ่อนคลายและมีการส่งเสียงกรี๊ดเชียร์และแซวเพื่อนๆ เรารู้สึกได้ถึงมิตรภาพผ่านเสียงดนตรี อดหันไปมองอาจารย์ไม่ได้ ทุกครั้งที่เด็กๆ ขึ้นบรรเลง อาจารย์ สุไวจนั่งะนิ่ง ยิ้มน้อยๆ มองตรงไปที่เด็กๆ ประกายตาฉายแววใจดีและภาคภูมิใจในตัวลูกศิษย์

ชวนให้นึกถึงตอนที่อาจารย์บอกเราถึงสาเหตุที่เริ่มสอนดนตรีคลาสสิกให้เด็กในชุมชน “ก็อยากช่วยเขา ให้เขาเล่นได้ แค่คิดเล็กๆ ก็มีคนอื่นช่วยคิดให้ใหญ่ขึ้น” ระยะเวลากว่า 15 ปี ตั้งแต่วันแรกที่อาจารย์เริ่มสอนจนถึงวันนี้ เราอดสงสัยไม่ได้ว่าอาจารย์คิดไหมว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่ได้ยกฐานะเป็น Immanuel music school ได้จัดคอนเสิร์ตเล็กใหญ่ประจำปี เด็กๆ ได้มีโอกาสไปร่วมเล่นกับวงออเคส- ตราระดับชาติ เช่น Siam Sinfonietta และได้อยู่ภายใต้มูลนิธิ Music for life ที่มีอาจารย์สมเถา
สุจริตกุล คอนดักเตอร์ชื่อดังเป็นที่ปรึกษา รวมไปถึงได้รับทุนจำนวนหนึ่งสำหรับเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนได้ต่อยอดอีกด้วย

คิดหรือไม่คิดเราไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ เรารู้ว่าอาจารย์ทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ในทุกวัน

คอนเสิร์ตจบลงแล้ว วันนี้ทุกคนได้รับของขวัญเป็นรางวัลแห่งการทุ่มเทตลอดหลายสัปดาห์ เด็กๆ ยิ้มร่าหยิบของขวัญที่ได้ไปอวดผู้ปกครองที่นั่งอยู่ไม่ไกล

มานึกดูแล้ว เราอุปาทานไปเองหรือเปล่าว่าดนตรีคลาสสิกเป็นสิ่งที่เอื้อมไม่ถึง ดนตรีไม่เคยเลือกผู้เล่นหรือผู้ฟัง มนุษย์เองต่างหากที่แบ่งแยก เรานั่งอยู่หน้าโบสถ์ ฟ้ามืดแล้ว เห็นแสงไฟจากตึกมาลีนนท์อยู่ลิบๆ ห่างกันแค่ถนนคั่น แต่เหมือนโอกาสในการไขว่คว้าชีวิตของผู้คนคนละฟากถนนกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทว่าสิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นภาพขัดแย้งที่คนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเคยชินไปแล้ว

เสียงดังแค่ไหนก็ไร้เสียง ถ้าผู้คนยังปิดหูและปฏิเสธจะฟัง

ต่อให้ไพเราะแค่ไหน ก็ไม่มีวันได้ยิน.