คอลัมน์ : ดนตรี + ดีไซน์
ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ดนตรี + ดีไซน์ - The Dark Side of the Moon (1973)

วงดนตรี : Pink Floyd

ออกแบบโดย : Hipgnosis

อัลบัมนี้เป็นปรากฏการณ์หลายอย่างของ Pink Floyd ตัวอัลบัมก็มีองค์ประกอบหลายอย่างที่น่าสนใจ นอกจากจะประสบความสำเร็จอย่างมโหฬาร (เป็นหนึ่งในอัลบัมขายดีที่สุดและอยู่บนชาร์ตบิลบอร์ดยาวนานที่สุดตลอดกาล) ปกอัลบัมนี้ยังได้รับการโหวตเป็นหนึ่งในแบบปกอัลบัมยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลจากสื่อมวลชนหลายแขนงรวมถึงนิตยสารดนตรีชั้นนำหลายเล่มด้วย (ใน ค.ศ. ๒๐๑๑ นิตยสาร Rolling Stone จัดให้อยู่อันดับ ๒ ปกอัลบัมยอดเยี่ยมตลอดกาล เป็นรองก็แค่เพียงปกอัลบัม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ของ The Beatles เท่านั้น)

แต่ดีไซน์ของมันกลับเรียบง่ายอย่างเหลือเชื่อ เป็นภาพกราฟิกของแท่งสามเหลี่ยมปริซึมที่ถูกยิงด้วยเส้นแสงและฉายแถบสีสเปกตรัมออกมาบนพื้นดำ ซึ่งออกแบบโดยสมาชิกกลุ่ม Hipgnosis อย่าง สตอร์ม ทอร์เกอร์สัน และ ออเบรย์ เพาเวลล์ ภาพกราฟิกที่เห็นบนปกวาดโดย จอร์จ ฮาร์ดี กราฟิกดีไซเนอร์ และนักวาดภาพประกอบ สมาชิกอีกคนของกลุ่ม

ก่อนหน้านั้น Hipgnosis เคยออกแบบปกอัลบัมให้ Pink Floyd มาแล้วสองสามอัลบัม ซึ่งมีผลตอบรับค่อนข้างอื้อฉาว ค่ายต้นสังกัดของวงที่เคยรู้สึกมึนตึ้บกับดีไซน์หลุดโลกของปกอัลบัมอย่าง Atom Heart Mother และ Obscured By Clouds เสนอแนะว่าพวกเขาอยากจะเห็นปกอัลบัมแบบ “ปรกติธรรมดา” ที่มีโลโกชื่อวงและตัวหนังสือบนปกเสียที แต่อย่างไรก็ดีทอร์เกอร์สันและเพาเวลล์ไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับข้อเสนอแนะนั้นเพราะทางวงเป็นคนจ้างพวกเขาโดยตรง

แต่สำหรับอัลบัมนี้ ริชาร์ด ไรต์ ให้โจทย์ว่าเขาอยากได้อะไรที่ “ฉลาด ประณีตสะอาดตา และมีคลาสกว่าปกที่ผ่าน ๆ มา” และอยากได้อะไรที่เป็นกราฟิกมากกว่าภาพถ่าย ทอร์เกอร์สันได้ไอเดียของปริซึมมาจากหนังสือเรียนฟิสิกส์พื้นฐานที่เป็นภาพแสงส่องผ่านปริซึม ความจริงดีไซน์นี้เดิมทีทอร์เกอร์สันดีไซน์สำหรับเสนอเป็นแบบโลโกของค่ายเพลง Charisma (ค่ายเพลงแรกของวงโพรเกรสซีฟร็อกชื่อดังอย่าง Genesis) แต่ถูกปฏิเสธไป ซึ่งต่อมาดีไซน์นี้เป็นตัวเชื่อมโยงไปถึงโชว์อันอลังการตระการตาของวงที่มีความโดดเด่นเรื่องแสงสี และเป็นนัยถึงแนวคิดของความทะเยอทะยานและความบ้าคลั่งที่ โรเจอร์ วอเทอร์ส สื่อสารผ่านเนื้อหาของบทเพลงในอัลบัมนี้ของเขาด้วย

แสงสเปกตรัมที่ฉายจากปริซึมบนปกหน้าถูกออกแบบให้วิ่งไปยังหน้าพับบนซองซึ่งมีปริซึมกลับหัววางอยู่และวิ่งสะท้อนกลับไปกลับมา วอเทอร์สเสนอไอเดียว่า ควรจะมีสัญลักษณ์ของชีพจรอยู่บนแถบสเปกตรัมในหน้าพับด้วยเพื่อเชื่อมโยงกับเสียงเต้นของหัวใจที่แทรกเป็นซาวด์เอฟเฟกต์ในอัลบัม แถบสีของสเปกตรัมมีหกสีแทนที่จะเป็นเจ็ด (ขาดสีคราม) ด้านในอัลบัมสติกเกอร์กราฟิกรูปพีระมิดและโปสเตอร์ภาพวง และภาพมหาพีระมิดกีซาที่ทอร์เกอร์สันเดินทางไปถ่ายถึงอียิปต์ และอัลบัมนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ Pink Floyd พิมพ์เนื้อเพลงลงบนซองอัลบัม

ย้อนกลับไปก่อนที่จะออกอัลบัมนี้ สตอร์ม ทอร์เกอร์สัน เล่าให้ฟังว่า “วันหนึ่ง สตีฟ โอโรร์ก ผู้จัดการของ Pink Floyd เดินเล่นกับผมอย่างสบายอารมณ์บนถนนบอนด์อันแสนทันสมัยในลอนดอน เขาเอามือโอบไหล่ผมและชี้ไปที่รถสปอร์ตหรูหราราคาแพงที่จอดอยู่บนถนนเส้นนั้นแล้วถามผมว่า ทำไมผมไม่มีแบบนี้กับเขาสักคัน ? เขาบอกว่าเขารู้มาว่าดีไซเนอร์ในแอลเอมีกันทุกคน ผมตอบว่า ผมไม่มีสตางค์ซื้อ เขาไม่เชื่อ ผมเลยบอกไปว่าถ้า Pink Floyd ขึ้นค่าจ้างให้ผมมากกว่านี้ผมอาจจะลองซื้อดูสักคันนะ นี่ผมไม่ได้บ่นนะ ไม่ทันขาดคำเขารีบเอามือของเขาออกจากไหล่ผมทันที ไม่มีวันซะล่ะ เขาบอก และเปลี่ยนเรื่องคุยทันที …ลาก่อนรถสปอร์ต”

ทอร์เกอร์สันคุยโวถึงงานออกแบบปกอัลบัมนี้ตามสไตล์ว่า

“คิด ๆ ดูความลับที่จะทำให้อัลบัมนี้ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล ทั้ง ๆ ที่มันดูไม่น่าจะเป็นไปได้เลย เพราะไม่มีทั้งซิงเกิลฮิต (ทั้งในยุโรปและอเมริกา) ไม่มีมิวสิกวิดีโอ เพลงไม่มีท่อนฮุกติดหู ไม่มีเรื่องอื้อฉาว ไม่มีทัวร์คอนเสิร์ตมโหฬาร แล้วอะไรล่ะที่ทำให้อัลบัมนี้ประสบความสำเร็จทั้งคำวิจารณ์และยอดขาย ทำให้ยืนอยู่บนชาร์ตบิลบอร์ดส์ทอป ๒๐๐ ได้ถึง ๑๔ ปี ขึ้นถึงอันดับ ๔ ของชาร์ตยูเคในอีก ๒๐ ปีให้หลัง และขายได้กว่า ๓๐ ล้านแผ่น พอเอากลับมารีแพ็กเกจก็ขายได้อีก ๒ ล้านแผ่น ความสำเร็จเหล่านี้มาได้อย่างไร ไม่มีใครหรือแม้แต่ทางวงเองที่ตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจนจะแจ้ง แต่ถ้าถามผม ผมคงต้องตอบคำเดียวว่า เพราะปกอัลบัมของมันนั่นแหละ” (อ่านะ)

อนึ่งชื่อวงและชื่ออัลบัมในวงกลมนั้นเป็นสติกเกอร์ที่ติดลงไปทีหลัง เพราะเดิมทีปกนี้ออกแบบให้มีแต่ภาพโดยไม่มีตัวหนังสือในแบบของงานดีไซน์สไตล์ Hipgnosis นั่นเอง

Hipgnosis

เป็นกลุ่มศิลปินนักออกแบบกราฟิกชาวอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุค 60s-70s เขาออกแบบและทำปกอัลบัมระดับคลาสสิกให้เหล่าศิลปินและวงดนตรีร็อกที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกในยุคนั้นหลายต่อหลายวงอย่าง Pink Floyd, T.Rex, UFO, Bad Company, Led Zeppelin, AC/DC, Scorpions, Yes, Paul McCartney&Wings, The Alan Parsons Project, Genesis, Peter Gabriel, ELO ฯลฯประกอบด้วยสมาชิกก่อตั้งอย่าง สตอร์ม ทอร์เกอร์สัน และ ออเบรย์ เพาเวลล์ สมทบด้วย ปีเตอร์ คริสโตเฟอร์สัน โดยแรกเริ่มเดิมที ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ ทอร์เกอร์สันและเพาเวลล์ถูกเพื่อน ๆ ซึ่งก็คือวงดนตรีโพรเกรสซีฟร็อกระดับตำนานอย่าง Pink Floyd เสนอให้ออกแบบปกอัลบัมที่ ๒ ของพวกเขา A Saucerful Of Secrets (1968) ที่ออกกับค่าย EMI รวมไปถึงออกแบบและถ่ายภาพปกอัลบัมให้วงดนตรีอื่น ๆ ในค่ายด้วย อย่าง The Pretty Things, Free, Toe Fat และ The Gods ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นพวกเขายังเป็นนักศึกษาศิลปะและภาพยนตร์อยู่ที่ Royal College of Art อีกทั้งยังใช้ห้องมืดของมหาวิทยาลัยในการทำงานอยู่เลย

หลังจากจบการศึกษาในช่วงต้น ค.ศ. ๑๙๗๐ พวกเขาก็เปิดสตูดิโอ โดยได้ชื่อว่า “Hipgnosis” ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากกราฟฟิตีบนผนังประตูอพาร์ตเมนต์ ซึ่งพอพวกเขาเห็นปั๊บก็ชอบปุ๊บ นอกจากจะเป็นการเล่นคำพ้องเสียงกับคำว่า “Hypnosis” (ซึ่งแปลว่า “การสะกดจิต”) ยังเป็นการประกอบคำที่มีความหมายแตกต่างกันสองคำอย่าง “hip” ซึ่งหมายถึง ใหม่, เท่, เก๋, คูล, ดึงดูดใจ กับคำว่า “gnosis” (อ่านว่า “โนซิส”) ซึ่งเป็นคำโบราณที่หมายถึง “ความรู้อันลึกซึ้ง”

เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างก็เมื่อตอนที่ออกแบบปกอัลบัมอันลือลั่นอย่าง The Dark Side of the Moon หลังจากนั้นงานก็เข้าทันที พวกเขากลายเป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ ของวงดนตรีร็อกชั้นนำในยุคนั้น

มีเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Hipgnosis ตรงที่ว่า พวกเขาไม่เคยตั้งราคาค่าออกแบบปกอัลบัมเลย หากแต่บอกให้ศิลปินและวงดนตรีที่พวกเขาทำงานให้จ่ายค่าออกแบบมา “ตามแต่ที่พวกเขาพอใจกับผลงาน” (ฮิปซะไม่มี !) ซึ่งผลลัพธ์โดยส่วนใหญ่ก็ออกจะเป็นที่พึงพอใจด้วยกันทั้งผู้ออกแบบและลูกค้า (นโยบายแบบนี้คงเอามาใช้ที่บ้านเราไม่ได้ เพราะโดยส่วนใหญ่ลูกค้ามักจะขอต่อราคาเอาไว้ก่อน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เห็นงานด้วยซ้ำไป !)

ใน ค.ศ. ๑๙๘๓ Hipgnosis ก็ปิดตัวลงและแยกย้ายกันไปทำงานทางใครทางมัน เหลือไว้แต่ผลงานที่ยังคงทนทานเหนือกาลเวลาตราบเท่าที่ยังมีคนฟังเพลงในอัลบัมเหล่านั้นอยู่ แม้จะเปลี่ยนรูปแบบการฟังไปอย่างสิ้นเชิงแล้วก็ตามที แต่ทอร์เกอร์สันเองก็ยังคงได้รับการเรียกตัวมาออกแบบปกอัลบัมให้ Pink Floyd ต่ออีกหลายชุด รวมถึงวงดนตรีและศิลปินชั้นนำอีกหลายคน

ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ Mind Over Matter – The Images of Pink Floyd โดย สตอร์ม ทอร์เกอร์สัน ภาพจาก http://goo.gl/C2vwss