ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
งานเขียนและภาพดีเด่น
เรื่อง : รัศมิ์ลภัส กวีวัจน์

ภาพ : นวพล นวกิจพิพัฒน์

haroon01

มัสยิดฮารูน มัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 150 ปี ศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมย่านบางรัก

haroon02

การทำวุฎูอ์หรือการอาบน้ำละหมาด ชาวมุสลิมจะชำระร่างกายและจิตใจให้สะอาด ก่อนการเข้าหาพระเจ้า

“อัลลอฮุอักบัรฺ อัลลอฮุอักบัรฺ อัลลอฮุอักบัรฺ อัลลอฮุอักบัรฺ อัชฮะดุอัลลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ อัชฮะดุอัลลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ อัชฮะดุอันนะ มุหัมมะดัรฺเราะซูลุลลอฮฺ…”

เสียงสำเนียงภาษาอาหรับที่ฉันไม่เข้าใจความหมายแว่วผ่านตึกสูงในชุมชนที่คราคร่ำไปด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ส่งเสียงเชื้อชวนฝ่าความคับคั่งจอแจบนถนนเจริญกรุง ถนนสายเศรษฐกิจสำคัญที่เก่าแก่ที่สุดในเขตบางรักมาแต่ไกล ในชุมชนที่เต็มไปด้วยคนไทยเชื้อสายจีนจะมีชาวอิสลามอยู่ได้อย่างไรกัน ความสงสัยใคร่รู้ประกอบกับเสียงไพเราะเปี่ยมศรัทธานั้นสะกดให้ฉันเลี้ยวหลบความวุ่นวายบนท้องถนนสายหลักเข้ามาในซอยเจริญกรุง 36อย่างไม่รอช้า ทุกขณะจังหวะที่ก้าวเท้าฉันก็ได้ยินเสียงนั้นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงซุ้มทางเข้าสีเขียวขนาดใหญ่เขียนว่า ‘มัสยิดฮารูณ Haroon Mosque’

ฉันปาดเหงื่อที่ไหลย้อยลงตามแรงแสงอาทิตย์ยามเที่ยงวันแล้วรีบเดินตามผู้ใหญ่ที่แต่งกายด้วย ‘โต๊บ’ ชุดยาวคลุมถึงข้อเท้าสีขาวและสวมหมวก‘กะปิเยาะห์’ ทรงกลมสีเดียวกัน เข้าไปในชุมชนฮารูณ ชุมชนขนาดใหญ่ของชาวมุสลิมในเขตบางรัก เพื่อตามหาต้นเสียง‘อาซาน’ หรือเสียงประกาศให้ชาวมุสลิมรู้ว่าถึงเวลาละหมาดดุฮริ ซึ่งเป็นเวลาละหมาดในรอบที่ 2 ของวันสายตาคมเข้มหลายสิบคู่จ้องมองมาที่ฉันด้วยความสงสัยอย่างปิดไม่มิดแต่ทว่าแววตาเหล่านั้นล้วนแต่เป็นมิตร จนสาวหน้าหมวยที่นับถือศาสนาพุทธอย่างฉันรีบยิ้มตาหยีตอบกลับไปแทนการทักทายและขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ทันที

“เข้าไปดูข้างในได้เลยนะ ขึ้นไปได้เลย เค้ากำลังจะทำละหมาดกัน”คุณลุงใจดีท่านหนึ่งบอกฉันด้วยสำเนียงแปร่งหูขณะที่เห็นฉันกำลังจ้องๆ มองๆ ไปยังอาคารสองชั้นสีขาวสะอาดตาที่ตกแต่งอย่างเรียบง่ายตามแบบศิลปะอิสลาม โดยมีโดมสีทองและตัวอักษรอาหรับอยู่เหนือประตูทางเข้าพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ก่อนขึ้นไปละหมาดชาวมุสลิมจะไปล้างน้ำละหมาด เหมือนเป็นการชำระร่างกายและจิตใจให้สะอาดก่อนเข้าถึงพระเจ้าโดยจะล้างมือมาถึงข้อศอก บ้วนปาก ล้างจมูก ล้างหน้าลูบศีรษะ ใบหู และล้างเท้า เมื่อขึ้นมาชั้นสองก็จะพบกับห้องสี่เหลี่ยมขนาดไม่กว้างมากรองรับพี่น้องชาวมุสลิมในชุมชนฮารูณและละแวกใกล้เคียงที่เริ่มทยอยเข้ามายืนเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ โดยแบ่งพื้นที่ให้ผู้หญิงไปละหมาดอีกห้องหนึ่งที่กั้นไว้ทางด้านหลัง ไม่ละหมาดรวมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายเนื่องจากอาจทำให้เสียสมาธิได้ ภายในห้องหลักจะตกแต่งด้วยตัวอักษรอาหรับสีทองสลักเป็นบทสวดมนต์บทแรกที่อยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน ความวิจิตรของลวดลายตัดกับความเรียบง่ายภายในห้องที่ไร้วัตถุบูชาหรือรูปเคารพใดๆ ได้อย่างสง่างามและอ่อนน้อมในคราเดียวกัน

คุณลุงวุฒิ – ดาวุด หอมชื่น ผู้ทำหน้าที่เป็น ‘บิหลั่น’ มากประสบการณ์วัย 79 ปี เจ้าของเสียงอาซานเมื่อครู่นี้ เล่าว่ามัสยิดฮารูณเป็นศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องชาวมุสลิมในเขตบางรักมานานกว่าร้อยปี ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3(ประมาณปีพ.ศ. 2371)เดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทางการได้ขอแลกพื้นที่เพื่อสร้างศุกลสถานหรือโรงเก็บภาษีร้อยชักสาม มัสยิดจึงย้ายมาตั้งอยู่ในบริเวณปัจจุบัน บางรักเป็นพื้นที่การค้าขายที่สำคัญและคึกคักมากมาตั้งแต่อดีต มีพ่อค้าหลากหลายเชื้อชาติแวะเวียนผลัดเปลี่ยนมาแลกเปลี่ยนสินค้าอยู่ตลอดเวลา บ้างได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และมีจำนวนไม่น้อยที่ได้แลกเปลี่ยนรักเช่นเดียวกับโต๊ะฮารูณ บาฟาเดน พ่อค้าชาวมุสลิมจากประเทศอินโดนีเซียผู้ที่หลงรักจึงลงหลักปักฐานใช้ชีวิตในบางรักจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายโต๊ะฮารูณได้ก่อตั้งมัสยิดขึ้นเพื่อใช้ประกอบศาสนกิจสำหรับกลุ่มพี่น้องชาวมุสลิมในหมู่บ้าน เดิมชาวบ้านเรียกที่นี่ว่า ‘สุเหร่าวัดม่วงแค’ ‘สุเหร่าหลังโรงภาษี’ หรือ‘สุเหร่าต้นสำโรง’ ตามชื่อของสถานที่ใกล้เคียง จนในปีพ.ศ. 2490 ทางการประกาศใช้พ.ร.บ มัสยิดอิสลาม จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ‘มัสยิดฮารูณ’ ตามชื่อของผู้ก่อตั้งเพื่อระลึกถึงและยกย่องเชิดชูอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยบอกเล่าความสำคัญและความเก่าแก่ของมัสยิดแห่งนี้คือโคมไฟที่ห้อยอยู่กลางห้องซึ่งเป็นโคมไฟพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานไว้เป็นเครื่องสังเค็ดซึ่งเป็นของที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 5 นั่นเอง

นอกจากเงาสะท้อนลวดลายอักษรสีทองอร่ามยามแสงบ่ายส่องกระทบแล้ว พื้นพรมลายทางสีเขียวแดงก็ร้องเรียกความสนใจจากฉันจนยากที่จะละสายตาผ่านไปได้

“ทุกคนจะมายืนบริเวณแถบพื้นสีแดง จะจนหรือรวยก็ยืนติดกันได้ ทุกคนเสมอภาค เท่ากัน มุ่งหาพระผู้เป็นเจ้า” ตามคำสอนของศาสนาอิสลามมองว่าทรัพย์สมบัติไม่ใช่ใบเบิกทางไปสู่ดินแดนของพระเจ้า หากแต่ปัจจัยสำคัญก็คือการกระทำ ทุกคนสามารถปฏิบัติตามหลักคำสอนและเดินทางสู่อ้อมอกของพระเจ้าได้ โลกนี้เป็นเพียงโลกทดสอบหรือทางผ่านเท่านั้น โลกหน้าต่างหากที่เป็นโลกจริง คุณลุงอนันต์ มาริกัน คณะกรรมการการศึกษาของชุมชนฮารูณชี้ไปที่แถบพื้นนั้นก่อนจะหันมาอธิบายเพิ่มเติมด้วยแววตาประกายอย่างใจดีว่านอกจากแนวพื้นสีแดงสดนั้นจะเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเท่าเทียมกันของชาวมุสลิมในการเข้าถึงพระเจ้าแล้ว ยังใช้เป็นแนวยืนเรียงแถวหน้ากระดานเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยอีกด้วย

haroon03

ชาวมุสลิมต่างเชื้อชาติ ต่างเผ่าพันธุ์ ที่มาทำพิธีละหมาดในมัสยิดฮารูน เพราะ พี่น้องทางสายเลือดยังเข้มข้นน้อยกว่าพี่น้องทางศาสนา

haroon04

ความเสมอภาคในการเข้าหาพระเจ้าของชายหญิงในศาสนาอิสลาม มุสลิมะห์ (ผู้หญิงชาวมุสลิม) ก็สามารถเข้าร่วมละหมาดได้เช่นเดียวกัน

“พี่น้องทางสายเลือดยังเข้มข้นน้อยกว่าพี่น้องทางศาสนา”

ไม่นานทั้งห้องก็เต็มไปด้วยพี่น้องชาวมุสลิมหลากหลายเชื้อชาติทั้งชาวไทย อินเดีย ปากีสถาน พม่า แอฟริกัน และอีกมากมายเกินกว่าที่สายตาของฉันจะคาดเดาได้จากรูปลักษณ์ภายนอก บ้างนุ่งโสร่ง บ้างสวมชุดทำงานตามสากลสมัยบ้างก็ใส่ชุดโต๊บเต็มยศ และก่อนที่ฉันจะออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ภายนอกก็มีชายร่างสูงใหญ่คาดว่าเป็นชาวแอฟริกันเดินผ่านหน้าฉันไป แขนที่มีอยู่เพียงข้างเดียวของเขานั้นไม่อาจขวางความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าได้ เขายืนเคียงกันกับพี่น้องที่มาถึงก่อนหน้าและปฏิบัติตามมุสลิมวิถีด้วยความสำรวมสงบนิ่งเมื่อเสียงของอิหม่ามดังขึ้นทั้งห้องก็อบอวนไปด้วยบรรยากาศของความศรัทธา

หลังจากละหมาดเสร็จในเวลามักริบซึ่งเป็นการละหมาดรอบที่ 4 คุณลุงอนันต์ก็กลับมานั่งคุยต่อด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส คุณลุงเล่าว่าชุมชนฮารูณมีชาวมุสลิมประมาณ 200-300 คน และในเขตบางรักมีพี่น้องชาวมุสลิมกว่าแสนคน พื้นที่นี้จึงเป็นศูนย์รวมและศูนย์กลางความหลากหลายของชาวมุสลิมอย่างแท้จริง ในวันศุกร์ที่นี่จะคึกคักมากเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นวันสำคัญทางศาสนาอิสลามการเทศนาธรรมของมัสยิดฮารูณจึงมีความพิเศษกว่ามัสยิดอื่นๆ ตรงที่มีการเทศน์ถึง 3 ภาษา คือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอาหรับ เพื่อให้สอดรับและเข้าถึงผู้ฟังมากขึ้น ฉันนึกขึ้นในใจว่าถ้าไม่ใช่คนมุสลิมจะมาฟังเทศน์ได้ไหมนะและเหมือนคุณลุงจะได้ยินเสียงความคิดฉันจึงพูดขึ้นมาว่าเคยมีคนนอกศาสนามาร่วมฟังด้วยแต่น้อยเพราะเค้าคิดว่าจะมารบกวนเราแต่จริงๆ แล้วเข้ามาฟังได้เพราะที่นี่เปิดรับทุกคน ศาสนาอิสลามไม่ได้สอนให้ปิดกั้นหรือกีดกันใคร ชุมชนมุสลิมฮารูณจึงอยู่ร่วมกับศาสนาอื่นได้ปกติ เวลาที่วัดหรือโบสถ์คริสต์มีงานอะไรก็ไปร่วมกับเค้า อยากให้ช่วยอะไรถ้าไม่ขัดกับหลักศาสนาก็ยินดีช่วยเหลือ ส่วนเวลาที่มัสยิดจัดงานหลวงพ่อหรือบาทหลวงเค้าก็มาช่วยเหลือเช่นกัน ฉันพยักหน้าเห็นด้วยพลางคิดว่าบางครั้งคนเราก็ยึดติดกับคำว่า ‘ศาสนา’มากเกินไปจนมองว่าคนที่คิดต่างเชื่อต่างต้องเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเราเท่านั้น ทั้งๆ ที่แก่นแท้ของศาสนาเองนั้นไร้พรมแดน ขอบเขตเดียวที่ศาสนาแบ่งไว้คงเป็นแค่ความดีกับความชั่วเท่านั้น

มากกว่าพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบกิจทางศาสนาแล้ว ที่นี่ยังใช้เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนด้วย ซึ่งมัสยิดฮารูณต่างกับที่อื่นในเขตนี้ตรงที่มีความพร้อมของชุมชนมากกว่าดังที่ได้รับเลือกให้เป็นชุมชนสีขาวในเขตบางรัก ที่นี่จะมีมูลนิธิฮารูณซึ่งเป็นอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อพปร.) ของเขตบางรัก“อย่างเวลามีไฟไหม้ บางครั้งเราก็ออกไปไวกว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงอีก”คุณลุงกล่าวยิ้มๆ นอกจากนี้มัสยิดฮารูณยังจัดอยู่ในโปรแกรม Mosque Tour อันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ รอต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเป็นมิตรคุณลุงกล่าวถึงบทบาทสำคัญของชุมชนฮารูณทั้งงานภาคสังคม การมีส่วนร่วมในชุมชน และความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านต่างศาสนาอย่างภาคภูมิใจ

ระหว่างที่บทสนทนาดำเนินไปอย่างไม่เร่งรีบ ก็เริ่มมีเด็กๆ ชาวมุสลิมทั้งชายและหญิงอายุประมาณ 5-12 ปีส่งเสียงเจื้อยแจ้วเล่นซนตามวัยมาจากอาคารอเนกประสงค์ข้างๆ ที่เชื่อมต่อออกไปจากมัสยิด คุณลุงมองไปทางเด็กๆ หน้าห้องเรียนแล้วหันมาเล่าว่า จะมีเด็กๆ มาเรียนศาสนาทุกเย็น ส่วนมากจะเป็นชาวต่างชาติโดยเฉพาะแอฟริกัน และพม่าที่อพยพเข้ามาซึ่งที่นี่ได้ช่วยเหลือด้วยความเต็มใจมัสยิดเกือบทุกแห่งจะมีการสอนศาสนาอยู่แล้วแต่ที่มัสยิดฮารูณเป็นแห่งเดียวในเขตบางรักที่ใช้หลักสูตรใหม่จากต่างประเทศ มีการเรียนการสอนแบบบูรณาการผสมผสานภาคทฤษฎีกับปฏิบัติเน้นการมีส่วนร่วม มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างครู เด็ก และผู้ปกครองจะเปิดสอนทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์เวลาประมาณ 17.00-19.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่เด็กเลิกเรียนจากโรงเรียนทั่วไปแล้ว ที่นี่จะสอนภาษาอาหรับ ประวัติศาสตร์ กฎหมาย การละหมาด และเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา มีสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถม 6 แยกห้องเรียนเป็น 3 ห้อง ตามอายุและระดับชั้นเรียน ครูที่มาสอนก็เป็นผู้ที่จบการศึกษาโดยตรงจากต่างประเทศ เด็กจะได้เรียนรู้อย่างถูกวิธีรู้ภาษาอาหรับ สามารถออกเสียงถูกต้องตามอักขระวิธี สามารถอ่านคัมภีร์เองได้และปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง เมื่อพิจารณาสภาพสังคมในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุต่างๆ นานา รวมถึงกระแสความคิดที่แตกต่างหลากหลาย ฉันจึงถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นซึ่งคุณลุงก็บอกว่าวิธีปฏิบัติทางศาสนกิจนั้นเหมือนเดิมทุกอย่างไม่สามารถดัดแปลงอะไรได้เพราะมาจากพระเจ้า แต่วิถีชีวิตอื่นๆ นั้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยเพียงแต่อย่าให้ออกนอกลู่นอกทาง อย่างเด็กที่มาเรียนก็พยายามปลูกฝัง “เมื่อเค้ามีศรัทธาที่เข้มแข็ง รู้ผิดรู้ถูก อะไรเข้ามาก็จะแยกแยะได้”

haroon05

ชาวมุสลิมจะปลูกฝังให้เด็กๆ เริ่มละหมาดตั้งแต่ อายุ 7-10 ขวบ การละหมาดของเด็กๆอาจจะไม่ถูกต้องสวยงามเสมอไป แต่พระเจ้าจะมองเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม

haroon06

ความพิการไม่ใช่อุปสรรคในการทำละหมาด มัสยิดฮารูนเปิดรับผู้คนทุกเชื้อชาติศาสนา

haroon0 7

เด็กน้อยชาวต่างชาติกำลังเดินทางมาเรียนศาสนาที่ตาดีกาฮารูน (ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด) ที่นี่เปิดสอนด้านศาสนาให้แก่เยาวชนที่สนใจ

haroon08

เด็กๆ ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา มารวมเป็นหนึ่งเดียวเพราะศาสนาเดียวกัน ความเข้มข้นของพี่น้องทางสายเลือดยังเข้มข้นน้อยกว่าพี่น้องทางศาสนา

มีหลายคนมองชาวมุสลิมแบบเหมารวมว่าน่ากลัว หัวรุนแรง ไม่น่าคบหา แต่จากที่ฉันได้นั่งสนทนาอยู่ในชุมชนฮารูณหลายชั่วโมง ฉันกลับสัมผัสได้แต่ความเป็นมิตร ความรักและสันติภาพ

“เราไม่มีอะไรที่น่ากลัวเลย เราเป็นคนไทย นิสัยเราอ่อนน้อม” คือเสียงที่ดังขึ้นจากคุณลุงวุฒิ ก่อนจะเล่าให้ฟังถึงโครงการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอิสลามของชุมชนฮารูณในอนาคต ว่าตั้งใจจะสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่และบอกเล่าเรื่องราวของศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมของชาวมุสลิมที่ถูกต้อง เนื่องจากมีคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและคนมุสลิมอยู่หลายเรื่อง หากใครสนใจศึกษาเรื่องของชาวมุสลิมที่นี่ก็ยินดีต้อนรับ“เราอยากให้เค้าเข้าใจเรา” คุณลุงพูดทิ้งท้ายก่อนจะขอตัวไปทำหน้าที่บิหลั่นอีกครั้ง

ฉันเดินกลับออกมาด้วยความอิ่มใจพร้อมๆ กับเสียงอาซาน เสียงแห่งการเชื้อเชิญให้ทำความดี เสียงแห่งการนำพาไปสู่ดินแดนเดียวกันกับพระเจ้า ที่ดังขึ้นอีกครั้งยามตะวันลับฟ้าบ่งบอกเวลาละหมาดเป็นรอบสุดท้ายของวัน

เรื่องความรักนั้นฉันไม่สันทัดสักเท่าไหร่ แต่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ซ่อนอยู่ในบางรักแห่งนี้กลับทำให้ฉันรู้สึกและได้ยินเสียงของความรักที่มีต่อพระเจ้า ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อชุมชน ชัดเจนเหลือเกิน…

“อัสสลามมุอะลัยกุม” คือคำร่ำลาที่น่ายินดีจากคุณลุงทั้งสอง

หมายถึงขอความสันติสุขจงประสบแก่ท่าน

banner-camp-12-for-web