เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน

*ตัดตอนจากต้นฉบับ ประชาชนในประวัติศาสตร์ : สงครามโลกในหนังสืองานศพ ของผู้เขียน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล

ประวัติศาสตร์เปรียบเหมือนการถักทอความทรงจำขึ้นจากชิ้นส่วนจำนวนมากของอดีต นักประวัติศาสตร์ผลิตงานจากการค้นคว้าหลักฐาน เอกสาร การตีความ เชื่อมโยงข้อมูล สร้างเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา  กรณีของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต่างจากประวัติศาสตร์ยุคโบราณ เช่นสมัยสุโขทัยหรือสมัยอยุธยา ตรงที่ว่าเป็นเรื่องราวร่วมสมัย  แม้ผู้คนที่เคยผ่านประสบการณ์ครั้งนั้นมาต่างสูงอายุขึ้นตามวันเวลาและทยอยล้มหายตายจากไป หากแต่ความทรงจำและเรื่องเล่าของเขาและเธอได้รับการบันทึกไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพ–เอกสารอันมีลักษณะเฉพาะตัวของสังคมไทย–จำนวนไม่น้อย ทั้งในรูปของคำไว้อาลัย และบันทึกหรืออัตชีวประวัติของผู้วายชนม์  ในที่นี้จะทดลองหยิบยกเรื่องราวชีวิตประจำวันของคนไทยยุคสงครามโลกมาร้อยเรียงพอให้เห็นภาพของ “สงครามมหาเอเชียบูรพา” จากความทรงจำร่วมสมัยในหนังสืองานศพ

เซ็งลี้ รถถ่าน ไทยถีบ :  เศรษฐกิจสงครามโลกจากหนังสืองานศพ

ใบปลิวของกองทัพญี่ปุ่นที่แจกจ่ายในช่วงเริ่มต้นสงครามมหาเอเชียบูรพา (เอื้อเฟื้อภาพ : สยามบรรณาคาร)

เซ็งลี้

“เซ็งลี้” เป็นคำภาษาจีนแต้จิ๋ว มีความหมายว่าธุรกิจหรือการค้าขาย แต่ในสมัยสงครามโลก “เซ็งลี้” มีความหมายใหม่ว่าเป็นการค้าเก็งกำไร  พลอากาศตรี บุญเลิศ สุทธิสำแดง (ปี ๒๔๔๘-๒๕๓๓) บันทึกไว้ว่า

“คำว่า เซ็งลี้ เริ่มเกิดขึ้นในตอนนี้เอง ประชาชนไม่ว่าหนุ่มสาวเฒ่าแก่ หรือแม้แต่เด็ก ๆ ก็วิ่งเต้นซื้อขายกันจ้าละหวั่นไปหมด พวกพ่อค้าเศรษฐีมีเงินก็กว้านซื้อสินค้าต่าง ๆ กักตุนเอาไว้ ซื้อถูกขายแพงกันทั่วไป  คนที่ไม่มีทุนทรัพย์ก็วิ่งเต้น เสาะหาสินค้าต่าง ๆ มาขายให้แก่นักกักตุน  แต่ละคนต่างก็หาเงินกันได้คล่อง มีเงินทองใช้จ่ายกันฟุ่มเฟือยแทบทุกตัวคน…”

ขณะเดียวกันคนจำนวนไม่น้อยก็หันมาค้าขายกับกองทัพญี่ปุ่นเพราะได้กำไรดี  เจริญ ฐ. วิทยศักดิ์ (ปี ๒๔๕๒-๒๕๓๗) ขณะนั้นเป็นครูใหญ่โรงเรียนสวรรควิทยา อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เล่าให้ลูกๆ ฟังว่า

“กองทหารญี่ปุ่นมาพักที่โรงเรียนสวรรควิทยาเต็มหมด ทางโรงเรียนต้องหยุดเรียน  พ่อในฐานะครูใหญ่ต้องต้อนรับอำนวยความสะดวกและรู้จักกับนายทหารญี่ปุ่น จึงต้องเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น พอพูดกันได้บ้างเล็กน้อย คนไทยพ่อค้าก็พลอยรู้ภาษาญี่ปุ่นไปด้วย  พ่อยังจำได้จนบัดนี้ที่พวกลูกค้าที่ขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ทหารญี่ปุ่นจะร้องขายว่า ‘จาบัง แบนาน่า ปาปาย่า โฮตาชิกิ’ ซึ่งแปลว่า ส้ม กล้วย มะละกอ และอ้อย เพราะทหารญี่ปุ่นชอบผลไม้ไทยมาก…”

เมื่อมีกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทย ปริมาณความต้องการอาหารก็เพิ่มมากขึ้น ราคาจึงถีบตัวสูงกว่าช่วงก่อนสงครามเป็นเท่าตัว  พลอากาศตรี บุญเลิศ สุทธิสำแดง บันทึกไว้ว่า เมื่อเริ่มสงคราม (คือราวปี ๒๔๘๔) กาแฟราคาถ้วยละ ๕ สตางค์ แต่เมื่อถึงปี ๒๔๘๗ ราคากาแฟใส่นมอยู่ที่ถ้วยละ ๑๘ สตางค์ เนื่องจาก “เป็นของหายากในเวลาสงคราม กาแฟไทยปลูกเองไม่ทันกิน ต้องอาศัยกาแฟชวาซึ่งต้องเสียค่าขนส่งแพงมาก”

เครื่องอุปโภคบริโภคที่เคยนำเข้าจากต่างประเทศล้วนขาดตลาด แม้กระทั่งนมข้นหวาน จึงมีคนไทยคิดผลิตขึ้นออกจำหน่าย เช่นหลวงจบกระบวนยุทธ (แช่ม กระบวนยุทธ ปี ๒๔๓๔-๒๕๑๕) ท่านบันทึกไว้ว่า

“ราคานมข้นในสมัยนั้นแพงมาก ราคาตกกระป๋องละเกือบ ๑๐ บาท  ข้าพเจ้าเป็นผู้ค้นหาวิธีทำนมข้นขึ้นได้เป็นคนแรกในประเทศไทย จึงได้เริ่มทำขึ้น ขั้นต้นใช้ชามกาละมังสีขาวตั้งขึ้นบนเตาอั้งโล่เคี่ยวนมสดให้เป็นนมข้น  ครั้นได้ที่แล้วปรากฏว่ามีรสดีกว่านมข้นของต่างประเทศมาก จึงได้ตวงใส่กระป๋องนมเก่า ๆ โดยไม่ปิดฝาแล้วนำเอาไปขายให้แก่ร้านที่ชงกาแฟขาย  ข้าพเจ้าขายเพียงกระป๋องละ ๖ บาทเท่านั้น พวกจีนตามร้านขายกาแฟชอบใจจึงสั่งซื้อมากขึ้นทุกที…”

sengli02

ใบปลิวที่ทิ้งจากเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาในระยะปลายสงคราม (ภาพ : ของสะสมส่วนบุคคล)

รถถ่าน

หากแต่สิ่งที่ขาดแคลนมากที่สุดในยามสงครามก็คือน้ำมันเชื้อเพลิง ยุทธปัจจัยสำคัญซึ่งเกือบทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ  อ้วน สุระกุล (ปี ๒๔๕๑-๒๕๓๘) อดีตนายอำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ช่วงปลายสงครามโลก เล่าว่า

“ระหว่างสงคราม น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับยานพาหนะและให้แสงสว่างตามบ้านเรือนขาดแคลน แต่คนไทยก็สามารถแก้ไขข้อขัดข้องได้ โดยกลั่นยางพาราแผ่นให้เป็นน้ำมันเบนซินใช้กับรถยนต์ และใช้น้ำมันยางชนิดใสแทนน้ำมันดีเซลเดินเรือยนต์  ส่วนตามบ้านเรือนก็ใช้น้ำมันมะพร้าวและไต้ อำเภอบ้านนาสารส่งไต้เป็นสินค้าออกไปขายจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้ เพราะอำเภอนี้เป็นป่า มีต้นยางมาก ใช้เปลือกเสม็ดชุบน้ำมันยางห่อด้วยกาบหมากหรือใบกะพ้อเป็นลำไต้…”

อีกสิ่งที่คนในปัจจุบันอาจจะนึกภาพได้ยากสักหน่อย คือการใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิงของรถประจำทาง  ในหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พลตรี ศักดา วุฒิรณฤทธิ์ (ปี ๒๔๖๕-๒๕๔๒) เพื่อนร่วมรุ่นหวนระลึกถึงชีวิตระหว่างการถูกระดมไปสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ที่เพชรบูรณ์ไว้ว่า เมื่อไม่มีน้ำมัน

“ประชาชนหันไปใช้รถเทียมม้า เทียมวัว-ควาย  ผู้ที่มีรถยนต์เก่า ๆ ก็นำมาเปลี่ยนแปลงติดตั้งหม้อเผาถ่าน (ถ่านไม้ธรรมดา) เอาพัดลมเป่า (หมุนด้วยมือ) จนกระทั่งเกิดแก๊สร้อนต่อเข้าเครื่องยนต์ใช้งานได้เหมือนกัน  รถวิ่งไปได้สักพักก็ต้องเติมถ่าน และปั่นพัดลมกันอีกนานกว่าจะเดินทางต่อได้ รถยนต์ใช้ถ่านนี้มีใช้ทั่ว ๆ ไปในชนบท”

sengli04

ใบปิดของภาพยนตร์ไทยถีบ (๒๕๔๙) ซึ่งอ้างอิงจากเหตุการณ์จริงสมัยสงครามโลก

sengli03

ธนบัตรไทยแบบ ๕ ชนิดราคา ๑๐ บาท จัดพิมพ์โดยฝ่ายญี่ปุ่น  หลังจากถูก “ถีบ” ลงจากรถไฟก็มีการลักลอบพิมพ์ลายเซ็นรัฐมนตรีและหมายเลขนำออกใช้กันแพร่หลาย เรียกกันว่า “แบงก์ไทยถีบ”  และเนื่องจากมีการปลอมแปลงกันมาก เมื่อสงครามสงบทางการจึงนำธนบัตรชุดนี้มาพิมพ์แก้ราคาเป็น ๕๐ สตางค์ / ภาพจากหนังสือ เบี้ย บาท กษาปณ์ แบงก์ (๒๕๔๗)

ไทยถีบ

อีกหนึ่งในความทรงจำเกี่ยวกับสงครามโลกของคนจำนวนมากคือเรื่อง “ขโมย” ชาวไทย โดยเฉพาะที่เรียกกันว่า “บริษัทไทยถีบ” หรือ “แก๊งไทยถีบ” ดังที่ อ้วน สุระกุล ในฐานะข้าราชการกระทรวงมหาดไทยประจำภาคใต้ เล่าว่า

“ตอนปลายสงครามเกิดมีแก๊งไทยถีบระบาดบนขบวนรถไฟที่บรรทุกสัมภาระทหารญี่ปุ่นที่เดินทางระหว่างสิงคโปร์-กรุงเทพฯ  เมื่อรถจอดตามสถานีจะมีแก๊งคนไทยแอบขึ้นไปซ่อนตัวอยู่บนขบวนรถบรรทุกสัมภาระของทหารญี่ปุ่น พอตกกลางคืนค่ำมืดก็จะถีบสัมภาระหรือสินค้าลงจากรถ มีพรรคพวกคอยเก็บตามรายทางที่นัดกันไว้  …วันหนึ่งมีคนนำธนบัตรไทยพิมพ์ใหม่ราคาต่าง ๆ มาให้ข้าพเจ้าดู บอกว่ามีคนเก็บได้เป็นหีบ ๆ หรือลัง ๆ ในเขตอำเภอท่าฉาง คงเป็นของที่พวกแก๊งถีบ ๆ ลงมา โดยครั้งแรกคงไม่รู้ว่าเป็นธนบัตร  ตอนแรกรัฐบาลไม่รับรอง ใครพบให้ทำลาย ใครมีไว้ในครอบครองมีความผิด  ตอนหลังรัฐบาลรับรองให้เป็นธนบัตรที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยให้นำมาแลกต่อคลังจังหวัด พวกที่กล้าซื้อและเก็บไว้จึงรวยกันหลายคน  ธนบัตรเหล่านี้เป็นธนบัตรที่ไทยยอมให้ญี่ปุ่นกู้เงินใช้ในเวลาสงคราม แต่ให้ญี่ปุ่นไปพิมพ์มาเองตามจำนวนที่ตกลงกัน ทราบว่าญี่ปุ่นไปพิมพ์มาจากฟิลิปปินส์หรือที่ไหนไม่ทราบ แล้วบรรทุกรถไฟจากสิงคโปร์เข้ากรุงเทพฯ”

อ้างอิง
๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก. กรุงเทพฯ : หอรัตนชัยการพิมพ์, ๒๕๓๓. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศตรี บุญเลิศ และ สมาน สุทธิสำแดง).
ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลิลิตยวนพ่าย. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๓๗. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจริญ ฐ. วิทยศักดิ์).
ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี หลวงจบกระบวนยุทธ (แช่ม กระบวนยุทธ). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร, ๒๕๒๐.
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายอ้วน สุระกุล. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟันนี่พับบลิชชิ่ง, ๒๕๓๘.
อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พลตรี ศักดา วุฒิรณฤทธิ์. กรุงเทพฯ : บริษัทศรีอนันต์การพิมพ์ จำกัด, ๒๕๔๒.