ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
งานเขียนและถ่ายภาพดีเด่น
นิราวัฒน์ นารอด : เรื่อง
พงศกร สุภาพรรณ : ภาพ

ธนาคารเลือดสัตว์เลี้ยง ความหวัง พลังชีวิต

คุณป้าใจดีคนหนึ่งกำลังพาสุนัขผู้กล้าหาญไปบริจาคเลือด

ทุกวันเวลา 5 โมงเย็น ฮาชิ สุนัขพันธุ์อะกิตะอินุจะไปที่สถานีรถไฟเพื่อรอเจ้านายกลับมา ภาพสองนายบ่าวเดินคู่กันในเวลาอาทิตย์อัสดงเป็นที่คุ้นตาของคนย่านนั้น

กระทั่งเย็นวันหนึ่งในปี ค.ศ. 1998 พรมหิมะปกคลุมไปทั่วเมือง ฮาชินั่งรอเจ้านายในที่ประจำของมันใต้ต้นหลิวกิ่งสีคล้ำไร้ใบโดดเด่นท่ามกลางฉากหลังสีขาวของฤดูหนาว เวลาล่วงเลยแต่ก็ไร้วี่แววของนาย เกล็ดหิมะบนตัวเยือกเย็นเสียดแทงทะลุเข้าไปในจิตใจของมันเป็นเวลานาน 9 ปีที่มันยังคงเฝ้ารอด้วยความหวัง

คืนหนึ่งกลางเดือนเมษายนปี พ.ศ.2559 ลอยด์ สุนัขพันธุ์ชิบะอินุนอนหายใจรวยรินอยู่ภายในห้องฉุกเฉิน ความเจ็บปวดถูกถ่ายทอดออกมาทางแววตาที่อ่อนระโหย ขาข้างซ้ายถูกคมมีดแห่งความโหดร้ายเชือดเฉือนหายไป คนร้ายลอยนวล และชีวิตยืนอยู่บนทางแยกของความอยู่รอด

มันสบตาเจ้านายที่คอยเคียงข้าง ลมหายใจแผ่วเบาค่อย ๆ หลุดลอยออกไป

จริงหรือที่ว่าชีวิตคือบทละครเรื่องยาว?

ฮาชิเป็นตัวละครเอกในภาพยนตร์เรื่อง Hachi a Dog’s Tale ซึ่งสร้างอ้างอิงจากเหตุการณ์จริงของฮาชิโกะสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ที่กินใจผู้คนในแดนอาทิตย์อุทัย ส่วนลอยด์ สุนัขพันธุ์ชิบะอินุที่ถูกคนร้ายลอบเข้าไปตัดขาถึงในบ้าน เป็นเหตุการณ์จริงเมื่อไม่นานมานี้

หลังจากที่รอคอยเจ้านายที่สถานีรถไฟนาน 9 ปี ฮาชิก็สิ้นลมที่บริเวณนั้น และราวกับปาฏิหาริย์ ภายหลังที่หยุดหายใจ ลอยด์ก็กลับมาสู้ชีวิตอีกครั้งจนกระทั่งหายเป็นปกติ

หากเปรียบชีวิตของฮาชิและลอยด์ดั่งบทละคร แล้วบทละครของชีวิตอื่น ๆ เป็นอย่างไร?

bloodbank02

ห้องปฏิบัติการณ์ที่ใช้เจาะเลือดของสุนัขที่มีชื่อว่า “หน่วยธนาคารเลือด”

ฉากที่ 1 ภายใน / ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / เย็น-ค่ำ

บริเวณโถงชั้นหนึ่งของโรงพยาบาลสัตว์ไร้ซึ่งผู้คน ไฟหลายดวงถูกปิดบางพื้นที่ตกอยู่ในความมืด ความเงียบเริ่มเข้ามาทดแทน แต่อีกด้านของโรงพยาบาล ตึกที่ถูกต่อเติมออกมาด้านหลังเป็นที่ที่ไม่เคยตกอยู่ในความสงบ ไฟหลายดวงเปิดสว่างโร่ มีอุปกรณ์กู้ชีพครบครันเพื่อช่วยเหลือหลายชีวิต หมาหลายตัวนอนซมอยู่ในกรงพักฟื้นเพื่อรอดูอาการ บางตัวอาการหนักก็อาเจียนออกมา บางตัวถ่ายเป็นเลือด บางตัวนอนให้น้ำเกลือโดยมีเจ้าของนั่งเฝ้าอยู่เคียงข้าง ตัวเลขสีเขียวกระพริบบนหน้าจอของเครื่องควบคุมปริมาณน้ำเกลืออัตโนมัติ จังหวะการกระพริบของตัวเลขดั่งจังหวะหัวใจ ได้แต่หวังว่ามันคงกระพริบเช่นนี้เรื่อยไป

นอกจากหมาแล้ว ยังมีแมวหลายตัวที่อาการไม่สู้ดีนัก ไม่สามารถจินตนาการถึงความสดใสร่าเริงยามที่สุขสบายดีได้เลย คงเป็นความหมายที่แท้จริงของห้องฉุกเฉิน เป็นการดูแลชีวิตที่กำลังประสบภาวะฉุกเฉิน

เมื่อเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่คนกระทำกับเพื่อนร่วมโลกได้อย่างเลวร้าย คนร้ายบุกเข้าไปในบ้านระหว่างที่เจ้าของบ้านเดินทางไปต่างจังหวัด แล้วก่อเหตุทำร้ายหมาตัวหนึ่งโดยการตัดขาหน้าด้านซ้าย ทำให้หมาตัวนั้นเสียเลือดมากด้วยแผลที่หากเป็นมนุษย์คงสาหัสเจียนตาย

“ตอนนั้นมีแต่คนคิดว่าคงไม่รอด หมอหลายคนลงความเห็นว่าไม่น่าจะอยู่ได้เกิน 10 ชั่วโมง เนื่องจากแผลใหญ่มาก และหมาเราเสียเลือดมาก” ศิกวัสส์ ลือโสภณ เล่าเหตุการณ์ในวันที่กลับมาบ้านแล้วพบลอยด์ ในสภาพที่ขาซ้ายหายไป คราบเลือดสีดำนองอยู่บนพื้น

หลังจากที่ข่าวแพร่ออกไป เราก็ได้รู้จักกับลอยด์ หมาพันธุ์ชิบะอินุเพศผู้ ความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกระทบใจหลายคน จากความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน นำมาสู่ความช่วยเหลือ

“ผมพาลอยด์ไปโรงพยาบาลสัตว์อีกที่หนึ่งก่อน หมอบอกว่าลอยด์ต้องได้เลือดเนื่องจากเสียไปมาก และแผลเริ่มติดเชื้อเลยมีความจำเป็นต้องย้ายมาที่นี่”

จากความช่วยเหลือของหมอเจ้าของไข้ และมิตรภาพจากกลุ่มผู้เลี้ยงสุนัข การกระจายข่าวทางโซเชียลเน็ตเวิร์คก็แพร่ออกไปเพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าของหมาที่สุขภาพแข็งแรง นำหมาของตนมาบริจาคเลือด

“ตอนนั้นยอมรับเลยว่าไม่รู้มาก่อนว่ามีการบริจาคเลือดในสัตว์เลี้ยง เพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่วยในกรณีแบบนี้ มีเพื่อนหลายคนที่เค้ารู้ว่าต้องรับบริจาคเลือดเลยประชาสัมพันธ์ออกไปก่อน”

ในความโชคร้าย บางครั้งนำมาซึ่งความช่วยเหลือที่น่าประทับใจ

หลังจากที่ลอยด์ย้ายมาโรงพยาบาลสัตว์เกษตร เจ้าของหมาที่ทราบข่าวได้พาหมาที่สุขภาพดีของตนมาบริจาคเลือดให้ลอยด์ ศิกวัสส์เล่าว่าวันนั้นทั้งวันมีคนนำหมาของตัวเองมาบริจาคเลือดไม่ต่ำกว่า 60 ตัว และหลังจากนั้นก็ยังมีคนทยอยนำมาบริจาครวม ๆ แล้วเกินกว่า 100 ตัว เป็นพลังที่คนรักหมาแสดงให้เห็นว่าความโหดร้ายที่เกิดขึ้นนั้นพวกเขาสามารถเอาชนะได้อย่างอยู่หมัด

“ลอยด์ได้เลือดจากเฉาก๊วย ซึ่งเป็นลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์สีดำ” รอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าของเจ้าของลอยด์ ซึ่งเรื่องเลวร้ายนั้นได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว

bloodbank03

คุณหมอกำลังใช้เข็มเจาะไปที่บริเวณเส้นเลือดตรงคอของสุนัขที่มาบริจาค

bloodbank04

ถุงเลือดถุงใหญ่ที่ได้จากการบริจาคของเจ้าตูบ

ฉากที่ 2 ภายใน / หน่วยธนาคารเลือด โรงพยาบาลสัตว์ฯ / เช้า

หากพูดถึงการบริจาคเลือด หลายคนนึกถึงสภากาชาดไทยซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการรับบริจาคเลือด เพื่อนำไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บหากแต่ว่าสัตว์เลี้ยงที่เจ็บป่วย บางกรณีก็มีความต้องการใช้เลือดไม่ต่างจากคน

หน่วยธนาคารเลือดของโรงพยาบาลสัตว์เกษตร ตั้งอยู่บนชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา เปิดทำการรับบริจาคเลือดสัตว์เลี้ยงอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีการถ่ายเลือดสัตว์โดยเฉพาะในหมาและแมวเพื่อทำการรักษาอยู่แล้ว แต่การเปิดหน่วยธนาคารเลือดทำให้การรับบริจาคเลือดเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม กว่าทศวรรษที่ผ่านมาหน่วยธนาคารเลือดแห่งนี้ได้ช่วยเหลือสัตว์ป่วยมาแล้วอย่างมากมาย

สพ.ญ.จรรยาภรณ์ ธัญกานต์สกุล หรือหมอยิ้ม หัวหน้าหน่วยธนาคารเลือดเล่าว่าในแต่ละวันมีหมาป่วยที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลสัตว์ฯ ประมาณ 300-400 ตัว ซึ่งหากมองภาพรวมในแต่ละเดือนมีหมาที่จำเป็นจะต้องใช้เลือดประมาณ 300 ตัว ซึ่งหน่วยธนาคารเลือดสามารถให้เลือดได้เพียง1 ใน 3 ของที่ต้องการทั้งหมด หรือประมาณ100 ตัวเท่านั้น

เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เพราะสื่อให้เห็นว่ายังมีหมาอีก 200 ตัวต่อเดือนที่ไม่ได้รับเลือด และคงเป็นเจ้าของอีกกว่า 200 ครอบครัวที่อาจจะสูญเสียเพื่อนร่วมชีวิตไป

จากการสอบถามหัวหน้าหน่วยธนาคารเลือด ทำให้รู้ว่าการรับบริจาคเลือดสัตว์เลี้ยงที่โรงพยาบาลสัตว์เกษตร จะแบ่งเป็น 2 กรณี กรณีแรกเป็นการบริจาคให้โรงพยาบาลสัตว์ เจ้าของที่นำหมาและแมวของตนมาบริจาคจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ตลอดกระบวนการบริจาคเลือด

แต่อีกกรณีคือการบริจาคเลือดแบบระบุตัวรับ คือการกำหนดแบบจำเพาะเจาะจงว่าจะให้สุนัขป่วยตัวไหน แบบหลังมีค่าใช้จ่ายในการตรวจเลือดอยู่ที่ 350 บาท และถ้าผลเลือดผ่านสามารถให้เลือดกับตัวรับได้ จะมีค่าใช้จ่ายอีก 2,000 – 2,500 บาท ซึ่งเป็นราคาต้นทุนของอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บ และให้เลือด แต่ถ้าตัวรับไม่สามารถรับเลือดได้ก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ มีเพียงค่าตรวจเลือดเท่านั้น

bloodbank05

คุณหมอกำลังตรวจหาความเข้ากันได้ของเลือดที่จะนำไปช่วยเหลือสุนัขตัวอื่นๆ

bloodbank06

ตู้เก็บเลือดของเหล่าเจ้าตูบผู้กล้าหาญทั้งหลายจะถูกเก็บไว้ก่อนหากยังไม่ได้ใช้

ฉากที่ 3 ภายใน / ห้องตรวจสุนัขหมายเลข 9 / เช้า

คงเป็นภาพแปลกตาหากใครไม่เคยเดินทางมาที่โรงพยาบาลสัตว์ ยิ่งในช่วงเช้าวันเสาร์เช่นนี้ เจ้าของต่างพาทั้งหมาและแมวมาหาหมอ และคงเป็นบรรยากาศแปลกใหม่สำหรับคนที่เข้ามาครั้งแรก เพราะโรงพยาบาลแห่งนี้ระงมไปด้วยเสียงเห่าทั้งเล็กแหลม และทุ้มใหญ่จากหมานับร้อยตัว

แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาลของคนหรือสัตว์ คือความหดหู่

ไช้ หมาพันธุ์ค็อกเกอร์สีน้ำตาลอายุ 13 ปีนอนอยู่บนโต๊ะสำหรับตรวจร่างกาย วันนี้เป็นวันที่หมอนัดมาฟังผลหลังจากเมื่อสองสัปดาห์ก่อนนั้นภัทราวุธ รุธิรวัฒน์เจ้าของได้พามันมาด้วยอาการนอนซมหมดแรง ไม่กินอาหาร ฉี่เป็นเลือด และขาที่บวมอย่างผิดปกติ

สพ.ญ.ศกลวรรณ ล้ำเลิศเมธี หมอเจ้าของไข้ของไช้ พลิกแฟ้มประวัติสีชมพู “จากผลตรวจเราเจอมะเร็งที่ไต (renal mass) และพบเลือดออกในช่องท้องร่วมด้วย ตอนที่มาตรวจครั้งก่อนพบว่ามีปัญหาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะทำให้ฉี่เป็นเลือด แต่วันนี้ดีขึ้นแล้ว”

หมอเจ้าของไข้เว้นช่วงไปก่อนที่จะพูดขึ้นว่า “ก้อนเนื้อที่ตรวจพบมีขนาดใหญ่ และตอนนี้มันไปกดเบียดบริเวณเส้นเลือดใหญ่ที่ไปเลี้ยงไตทำให้เราไม่สามารถผ่าตัดได้ ที่สำคัญคือพบการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังบริเวณต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงแล้ว”

อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้ หลังจากที่หมออธิบายเสร็จแล้วนั้น ไช้และเจ้าของก็หันมาสบตากัน เขายิ้มให้มันสายสัมพันธ์ 13 ปีแสดงออกมาอย่างเต็มเปี่ยม

หมอศกลวรรณได้ให้ข้อมูลแก่เจ้าของว่าการเกิดมะเร็งที่ไตของไช้นั้นมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับเลือด เพราะโดยปกติแล้วไตเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไปกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง มะเร็งที่เกิดขึ้นทำให้ความสามารถส่วนนั้นด้อยลงไปมาก ผลเลือดของไช้แสดงให้เห็นว่าจำนวนเม็ดเลือดแดงน้อยลงอย่างน่ากังวล แต่การให้เลือดไม่ใช่การรักษา แต่เป็นการดึงภาวะต่าง ๆ ของร่างกายขึ้นมาให้พร้อมสำหรับการรักษา

“คราวก่อนที่มา หมอบอกว่าไช้จำเป็นต้องให้เลือดก็ติดต่อไปตามโรงพยาบาลสัตว์ต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน แต่ไม่มีที่ไหนมีเลือดเลย ผมจึงลงประกาศตามเพจในเฟสบุค ให้เบอร์โทรไว้ ไม่นานก็มีคนติดต่อมา” ภัทราวุธเล่า

“เมื่อวานได้หมาของเพื่อน 2 ตัวแต่พอมาตรวจแล้วตัวแรกอายุเกินกำหนด ส่วนอีกตัวค่าเกล็ดเลือดต่ำไม่สามารถให้เลือดได้เพราะอาจจะเป็นอันตรายแก่ตัวหมาเอง”

“แล้ววันนี้ก็มีคุณดาติดต่อมา” รอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าเจ้าของ “พอตรวจเลือดแล้วปรากฏว่าผ่านเกณฑ์สามารถบริจาคได้ แล้วเลือดของตูมตามหมาของคุณดา ก็สามารถเข้ากับเลือดไช้หมาของผมได้ โชคดีมาก”

bloodbank07

ฉากที่ 4 ภายใน / ห้องบริจาคเลือด / เที่ยง

ภายในห้องบริจาคเลือด สพ.ญ.กฤตจิต พันธุ์นิธิสัตวแพทย์ประจำหน่วยธนาคารเลือดกำลังอธิบายขั้นตอนต่างๆ ให้เจ้าของเข้าใจ ซึ่งผู้ให้ในวันนี้คือตูมตาม หมาลูกผสมระหว่างพันธุ์ไทยกับลาบราดอร์อายุปีครึ่งนั่งอย่างสงบเรียบร้อย เฝ้ามองเจ้าของซึ่งคุยอยู่กับหมออย่างอยากรู้อยากเห็น

“ในหมาเราจะเก็บเลือดบริเวณคอ เนื่องจากเป็นเส้นเลือดดำขนาดใหญ่ทำให้เก็บเลือดได้เร็วและไม่เป็นอันตราย” หมอ กฤตจิตเริ่มอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ของการบริจาคเลือดให้กับเจ้าของเข้าใจ

“ปกติแล้วเราจะให้ยาซึม เป็นยานำสลบแต่ใช้ในปริมาณน้อยกว่ามากเพื่อให้หมาสงบลง แต่ผลข้างเคียงคืออาจจะทำให้หมาคลื่นไส้อาเจียนซึ่งเป็นเรื่องปกติ ก่อนบริจาคเลือดจึงควรให้หมาอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง และเมื่อบริจาคเสร็จแล้วจะให้ยาต้านฤทธิ์ยาซึม หมาจะกลับมาปกติ ซึ่งขั้นตอนต่างๆ จะใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง”

ดารนี อินโสม หรือที่เจ้าของไช้เรียกว่า “พี่ดา” เจ้าของตูมตามหมาใจบุญที่จะบริจาคเลือดในวันนี้รู้ข่าวจากการประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลสัตว์

“แต่คราวก่อนที่พามา ตูมตามมีค่าเกล็ดเลือดต่ำเลยบริจาคไม่ได้ ครั้งนี้เห็นประกาศขอเลือดในเฟสบุคของเจ้าของไช้ ซึ่งป่วยต้องการเลือดอย่างเร่งด่วน เลยลองพามาอีกครั้งและปรากฏว่าค่าเลือดผ่านสามารถบริจาคเลือดได้”

อีกมุมหนึ่งของห้อง ปนัดดา คงจันทร์ นักวิทยาศาสตร์ประจำหน่วยธนาคารเลือดกำลังเตรียมอุปกรณ์สำหรับเก็บเลือดเริ่มจากอุปกรณ์ทำความสะอาดที่ทางการแพทย์เรียกว่า Scrub ประกอบด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์ และน้ำยาฆ่าเชื้อและถุงเลือดซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้เก็บเลือดในคน ขนาดที่เก็บในวันนี้คือ 350 ซีซี

ภายในห้องบริจาคเลือดสัตว์เลี้ยงมีโต๊ะตั้งอยู่กลางห้องเพื่อให้หมาที่มาบริจาคหรือที่เรียกว่า Donor นอนให้เลือด การบริจาคทำได้เพียงครั้งละตัวไม่เหมือนกับการบริจาคเลือดในคน ซึ่งทั้งเจ้าหน้าที่และเจ้าของต้องช่วยกันควบคุมหมาให้ขึ้นมาบนโต๊ะ หมาบางตัวตื่นตกใจ หรือหมาพันธุ์ที่ดุมาก ๆ ก็จะใช้เวลานานกว่าจะฉีดยาซึมให้สงบลงได้

ปนัดดาเล่าถึงการบริจาคเลือดในสุนัขว่า “โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะต้องฉีดยาซึมให้เกือบทุกตัว มีบางกรณีเท่านั้น เช่น หมาพันธุ์โกเด้นรีทรีฟเวอร์ที่มาบริจาคแล้วหลายครั้งจะไม่ค่อยตื่นมาก เลยไม่ต้องให้ยาซึม แต่ถ้าเป็นหมาบางพันธุ์ที่ดุมาก ๆ เช่น ร็อตไวเลอร์ ไทยบางแก้ว หรือแม้แต่โกเด้นฯ หรือลาบราดอร์เอง บางตัวก็ดุมาก เจ้าหน้าที่ก็เคยโดนกัดเหมือนกันแต่หากเจ้าของควบคุมได้ก็บริจาคได้”

ดารนีอุ้มตูมตามซึ่งตื่นเล็กน้อยขึ้นบนโต๊ะกลางห้อง “ปกติเค้าจะตื่นเวลาออกนอกบ้าน แต่ก็เป็นหมาขี้เกรงใจเลยไม่ต่อต้านอะไรมาก” เมื่อขึ้นโต๊ะเรียบร้อยเจ้าของหมาก็บังคับให้นอนตะแคงลงพลางพูดปลอบที่หูตลอดเวลา ตูมตามที่กำลังตื่นเต้นนอนตัวสั่นแต่ก็เชื่อฟังโดยง่าย

หมอกฤตจิตนำยาซึมมาฉีดเข้าที่เส้นเลือดบริเวณขาหลัง ไม่นานตูมตามก็ค่อย ๆ นิ่งลงตัวไม่สั่นอีกแล้ว

นักวิทยาศาสตร์ของหน่วยธนาคารเลือดทำงานด้วยความชำนาญและรวดเร็ว ปนัดดานำแบตตาเลี่ยนมาโกนขนบริเวณคอตรงจุดที่จะใส่เข็มเก็บเลือด เช็ดผิวหนังบริเวณนั้นด้วยสำลีชุปแอลกอฮอล์ และยาฆ่าเชื้อเป็นเวลา 3 ครั้ง “เราต้องมั่นใจว่าผิวจะสะอาดจริงๆ เนื่องจากเข็มที่ใช้เป็นขนาดเดียวกับคนซึ่งค่อนข้างใหญ่ จะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายถ้าไม่สะอาด”

เมื่อทำความสะอาดแล้ว สัตวแพทย์จึงมาแทงเข็มบริเวณลำคอเข้าไปในเส้นเลือดดำ เลือดสีแดงเข้มไหลลงมาตามสายเข้าไปในถุงเก็บเลือด เจ้าหน้าที่คอยขยับถุงเพื่อดูการไหลของเลือด และผสมเลือดให้เข้ากับสารป้องกันการแข็งตัวในถุง เพื่อให้ได้เลือดที่มีคุณภาพพร้อมที่จะนำไปช่วยชีวิตสัตว์ป่วยตัวอื่นๆ

5 นาทีผ่านไปก็ได้เลือดเพียงพอ ปิดแผลเรียบร้อยก็ให้ยาต้านฤทธิ์ยาซึม เรียกตูมตามให้กลับมาปกติอีกครั้ง

หมาและแมวที่มาบริจาคเลือด นอกจากจะได้รับการตรวจร่างกายฟรี ได้รับการฉีดยาป้องกันเห็บหมัด และพยาธิหนอนหัวใจฟรีแล้ว ยังได้รับผ้าพันคอ “Give Love for Life” เป็นของที่ระลึก
เหนือสิ่งอื่นใด ความภาคภูมิใจที่ได้ “Give Them Wishes” แก่เพื่อนร่วมสายพันธุ์นั้นยิ่งใหญ่เสมอ

bloodbank08

เจ้าของสุนัขป่วยกำลังพาสุนัขคู่ใจของเขาไปยังห้องรับเลือด

ฉากที่ 5 ภายใน / ห้องปฏิบัติการ หน่วยธนาคารเลือด / บ่าย

“จริง ๆ แล้วในหมาเองก็มีหมู่เลือด แต่ใช้ระบบการแบ่งหมู่เลือดต่างจากคน”หมอยิ้ม หัวหน้าหน่วยธนาคารเลือดพูด

ในคนใช้ระบบที่เรียกว่า “ABO” ประกอบด้วยหมู่เลือด A B AB และ O ในหมาเรียกว่าระบบ DEA (Dog Erythrocyte Antigen) ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 10 หมู่ แต่หลัก ๆ ที่แยกจะมี 8 หมู่ คือ DEA1.1-1.2 และ DEA3-8 และในแมวมีหมู่เลือดคล้ายคนคือ A B และ AB

หลังจากได้เลือดมาแล้ว ก่อนที่จะนำไปให้กับหมาที่ป่วย ต้องเข้าสู่ขั้นตอนของการ “ตรวจความเข้ากันได้ของเลือด” ก่อน

สมฤดี สมมาตย์ นักวิทยาศาสตร์ของหน่วยธนาคารเลือดจะนำเลือดที่ได้จาก Donor มาทดสอบกับเลือดของสัตว์ป่วยซึ่งส่งมาจากหมอเจ้าของไข้ ขั้นตอนในห้องปฏิบัติการกินเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ในกรณีของตูมตามนี้เลือดสามารถเข้าได้เป็นอย่างดีกับไช้ซึ่งป่วยและรอรับเลือดอยู่ด้านล่าง

เลือด 1 ถุงสามารถแบ่งไปใช้ตามความต้องการได้หลากหลาย

“เลือดสด” เมื่อเก็บมาแล้วจะต้องนำไปใช้เลยภายใน 6 ชั่วโมง ส่วนประกอบในถุงเลือดสดก็จะมีทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และน้ำเลือดอยู่ครบ เช่นในกรณีของไช้ ซึ่งรอรับเลือดสดอยู่แล้ว

หากไม่ใช้ภายใน 6 ชั่วโมงต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4องศาฯ เก็บไว้ได้นาน 18 วัน จะเรียกเลือดประเภทนี้ว่า “เม็ดเลือดกับโปรตีนเลือด” แต่ไม่มีส่วนของเกล็ดเลือดซึ่งถูกใช้ไปหมดแล้วตามระยะเวลาที่นานขึ้น

และหากนำถุงเลือดสดมาปั่นเหวี่ยง เม็ดเลือดที่มีน้ำหนักมากกว่าก็จะตกตะกอนตามแรงโน้มถ่วงของโลก แยกชั้นเป็นเม็ดเลือดอัดแน่น และโปรตีนเลือดสีเหลืองใส ส่วนของโปรตีนนี้จะแยกเก็บในตู้เย็นพิเศษที่อุณหภูมิ -30 องศาฯ สามารถเก็บได้นานเป็นปี

แม้ว่าเม็ดเลือด และเลือดสดจะเก็บไว้ได้ไม่นานนัก แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารเลือดก็ไม่เป็นกังวลเลย เพราะมันจะถูกใช้จนหมดก่อนที่จะถึงวันหมดอายุเสมอ ตู้เย็น 4 องศาฯ ที่แช่เลือดสดอยู่ราวๆ 10 ถุง มีป้ายติดว่า “จองแล้ว” ทุกถุง

สมฤดีเล่าว่าในทางปฏิบัติห้องปฏิบัติการจะไม่จำแนกหมู่เลือดของหมาและแมว แต่จะทดสอบความเข้ากันได้ของเลือดเลย จริง ๆ แล้วกว่า 80% ของเลือดหมาจะเข้ากันได้ ส่วนแมวไทยส่วนใหญ่ซึ่งมีหมู่เลือด A ก็สามารถให้เลือดกันได้ แต่เจ้าของสัตว์มักเข้าใจผิดว่าการที่หมาและแมวมีหมู่เลือดที่หลากหลายจะทำให้การทดสอบความเข้ากันของเลือดเป็นไปได้ยาก

ซึ่งความจริงแล้วการที่หมาและแมวบริจาคเลือดไม่ได้นั้นเป็นเพราะค่าเลือดไม่ผ่านเกณฑ์ และมีโรคติดต่อซึ่งโรคติดต่อทางเลือดที่สำคัญที่จะทำให้หมาไม่สามารถบริจาคเลือดได้คือ พยาธิเม็ดเลือดที่มีเห็บหมัดเป็นพาหะ และพยาธิหนอนหัวใจที่มียุงเป็นพาหะ

จากข้อมูลของหน่วยธนาคารเลือด โรงพยาบาลสัตว์เกษตรพบว่าในอดีตหมาที่มาบริจาคเลือดกว่า 50% มีผลเลือดไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะให้เลือดได้แต่ปัจจุบันเจ้าของนิยมเลี้ยงหมาพันธุ์ใหญ่มากขึ้น มีมาตรฐานในการเลี้ยงที่ดีกว่าเมื่อก่อนมาก และจากสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2558 พบว่ามีหมาที่ผ่านเกณฑ์เพิ่มขึ้นถึง 70%

เนื่องจากการเลี้ยงหมาที่เพิ่มมากขึ้น หมายถึงจำนวนตัวที่ป่วยไข้ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ที่สุดแล้วเลือดในธนาคารเลือดก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ราวกับว่าความละเอียดอ่อน และความยากลำบากของชีวิตจะเป็นตัวทดสอบการมีชีวิต

bloodbank09

การเฝ้ารอด้วยความหวังของ “พี่ต้น” เจ้าของ “ใช้” สุนัขคู่ใจที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาไปแล้ว

ฉากที่ 6 ภายใน / ห้องรอดูอาการ โรงพยาบาลสัตว์ฯ / บ่าย

ไช้นอนอยู่บนรถเข็น เสาข้างเตียงแขวนถุงเลือดที่มีชื่อเขียนไว้ว่า “ตูมตาม” สายสีแดงเข้มที่ต่อจากถุงเลือดเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างหมาสองตัวที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน ข้างกายภัทราวุธลูบหัวของมันเบา ๆ ความป่วยไข้ราวกับจะหลอมใจทั้งสองเป็นหนึ่งเดียว

“หมอบอกว่าการให้เลือดไม่ใช่การรักษา” เจ้าของค็อกเกอร์พูด “แต่เป็นการช่วยดึงพลังชีวิตของมันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับโรคร้าย”

“เราก็ช่วยมันจนสุดความสามารถของเรา เวลาหมาป่วย มักจะมีมิตรภาพที่มองไม่เห็นเกิดขึ้นเสมอ”

จริงหรือที่ว่าชีวิตคือบทละครเรื่องยาว?

แม้บทละครของฮาชิจะจบลงไปแล้ว และบทของลอยด์ก็ผ่านช่วงที่เลวร้ายที่สุดไปได้ ส่วนของไช้เองแม้ความหวังจะริบหรี่เพียงไร แต่สิ่งที่ชัดเจนคือความป่วยไข้นำมาซึ่งมิตรแท้

ภาพของสัตว์ป่วยกว่าร้อยตัวในแต่ละวัน ย้ำเตือนสติเราได้เป็นอย่างดีถึงคุณค่าของการมีชีวิต

เจ้าของลอยด์พูดไว้ว่า “หากวันนั้นลอยด์ตายไปโดยไม่ได้เลือด เราคงเสียใจมากกว่าการที่แม้จะได้เลือดแล้วต้องตาย เพราะอย่างหลังนั้นเราได้ช่วยอย่างเต็มที่แล้ว”

แม้ว่าการให้เลือดจะไม่ใช่การรักษา แต่การได้เลือดคือความหวังบางครั้งความหวังก็เปลี่ยนชีวิตไปสู่บทใหม่ได้ชั่วข้ามคืน

กรกฎาคม 2559
กำลังใจแด่สัตว์ป่วยทุกตัว

DIRECTOR’S COMMENTARY

คุณสมบัติของสุนัขหรือแมวสำหรับเป็นผู้บริจาคเลือด

สุนัขและแมวต้องมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง อายุ 1-7 ปี เนื่องจากหากเด็ก หรือแก่เกินไปกระบวนการสร้างเม็ดเลือดในร่างกายจะทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงไม่เป็นผลดีต่อผู้บริจาค ไม่มีประวัติการเข้ารับผ่าตัดในช่วง 3 เดือนก่อนบริจาคเลือด หากเป็นสุนัขเพศเมียไม่ควรอยู่ในระหว่างเป็นสัด ตั้งครรภ์ หรือให้นมลูก

ไม่มีโรคประจำตัว ได้รับการฉีดวัคซีน และควบคุมป้องกันเห็บหมัด พยาธิหนอนหัวใจอย่างต่อเนื่อง (หากพึ่งได้รับวัคซีนควรเว้นระยะอย่างน้อย 1 เดือน) และที่สำคัญไม่เคยได้รับการให้เลือดมาก่อนในชีวิต

สุนัขที่มาบริจาคเลือดต้องมีน้ำหนักอย่างน้อย 17 กิโลกรัม ยกเว้นสุนัขที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือสุนัขพันธุ์หน้าสั้น เช่น อิงลิชบลูด็อก ชาไป่ ฯลฯ ส่วนแมวต้องมีน้ำหนักอย่างน้อย 4 กิโลกรัม

ก่อนพามาบริจาคเลือดควรงดอาหารอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมงเพื่อป้องการการอาเจียน และสำลักเศษอาหารเข้าไปในหลอดลม แต่สามารถดื่มน้ำได้ตามปกติเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
ภายหลังบริจาคเลือดทางธนาคารเลือดมียาบำรุงเลือดให้กินติดต่อกัน 1 สัปดาห์ และไม่ควรออกกำลังกายหนักในช่วงสัปดาห์แรกหลังบริจาคเลือดเพื่อป้องกันการเป็นลม

ข้อดีของการพาสุนัขหรือแมวมาบริจาคเลือด

การบริจาคเลือดถือเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง สัตว์เลี้ยงที่มาบริจาคเลือดจะได้รับการตรวจสุขภาพฟรีทุกครั้ง เช่น การตรวจเลือด ตรวจฟังเสียงปอด หัวใจ อีกทั้งยังได้รับการฉีดยาป้องกันเห็บหมัด และพยาธิหนอนหัวใจฟรี

หากใน 1 ปีมาบริจาคเลือดอย่างน้อย 2 ครั้งจะได้รับการฉีดวัคซีนประจำปีฟรี และหากบริจาคเลือดรวมแล้วเกิน 10 ครั้ง จะได้รับการฉีดวัคซีนฟรีตลอดชีวิต และได้รับของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ แทนคำขอบคุณ

ที่มา: แผ่นพับประชาสัมพันธ์ของธนาคารเลือด โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

END CREDIT
ขอขอบคุณ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
สพ.ญ.จรรยาภรณ์ ธัญกานต์สกุล หัวหน้าหน่วยธนาคารเลือด
สพ.ญ.กฤตจิต พันธุ์นิธิ สัตวแพทย์ประจำหน่วยธนาคารเลือด
สพ.ญ.ศกลวรรณ ล้ำเลิศเมธี สัตวแพทย์เจ้าของไข้สัตว์ป่วย
ปนัดดา คงจันทร์ นักวิทยาศาสตร์ประจำหน่วยธนาคารเลือด
สมฤดี สมมาตย์ นักวิทยาศาสตร์ประจำหน่วยธนาคารเลือด
พงษ์ศักดิ์ จันทร์ลอยนภา นักวิทยาศาสตร์ประจำหน่วยธนาคารเลือด
ดารนี อินโสม เจ้าของสุนัขบริจาคเลือด
อัญญาอร ธรรมจิราเจ้าของสุนัขบริจาคเลือด
ยงยุทธ และรำไพ ทักขนนท์ เจ้าของสุนัขบริจาคเลือด
ภัทราวุธ รุธิรวัฒน์ เจ้าของสุนัขป่วย
ศิกวัสส์ ลือโสภณ เจ้าของสุนัขลอยด์
คุณปุ๊ก แอดมินเพจปู่ลอยด์
คณะกรรมการค่ายสารคดี ครั้งที่ 12

banner-camp-12-for-web