ผลงานคัดสรรจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
เรื่อง : สุนันทา จันทร์หอม
ภาพ : กิตติคุณ ขุนทอง

สวนมะนาวลุงจำรัส สุขยั่งยืนบนพื้นซีเมนต์

แสงแดดจางๆ กระทบพื้นถนนที่มีรถหนาแน่น สายฝนโปรยปรายในช่วงบ่ายพอทำให้ความร้อนระอุเมื่อตอนกลางวันทุเลาลงบ้าง

สองขาของฉันเดินไปตามถนนที่ยังสร้างไม่เสร็จ คงไว้ด้วยอุปกรณ์ก่อสร้างทั้งกองเหล็ก กองดิน กองทราย เศษปูนจากการทุบและขยายถนน รวมไปถึงซากสะพานลอยที่ถูกรื้อทิ้ง

บอกให้รู้ว่าบริเวณนี้กำลังได้รับการพัฒนามากขึ้น พร้อมๆ กับบ้านเรือนที่กำลังถูกกลืนหายไปในหมู่คอนโดมิเนียม

ใครเลยจะรู้ว่าห่างจากรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีวุฒากาศ มุ่งหน้าไปทางถนนราชพฤกษ์เพียง ๕๐๐ เมตร จะมีสวนมะนาวกว้างกว่า ๗๐๐ ตารางวา รายล้อมไปด้วยตึกสูง

ทันทีที่กดกริ่ง สุนัขหลายตัวเข้ามาต้อนรับ มีฉากหลังเป็นต้นมะนาวหลายต้นเขียวชอุ่มด้วยน้ำฝนที่มาเยือนหลังจากแล้งไปหลายเดือน

เจ้าของสวนยิ้มต้อนรับเราอย่างอารมณ์ดี

“ผมเป็นคนแปลก ถ้าทำอะไรแล้วต้องทำให้มีจุดเด่นขึ้นมา แล้วเดินหน้าเรื่อยๆ ไป”

จำรัส คูหเจริญ เปิดประโยคสนทนาเมื่อเห็นฉันกวาดสายตามองไปรอบๆ สวนด้วยความสงสัย

ตรงหน้าฉันคือชายวัย ๗๘ ปี ผิวขาวตามแบบฉบับคนจีน ผมสีดอกเลา มีริ้วรอยปรากฏทั่วใบหน้า แต่ทว่ารอยยิ้มยังคงสดใส รูปร่างสันทัด ร่างกายแข็งแรง แม้จะดูโรยราไปบ้าง แต่ดวงตาคู่นั้นยังคงดูกระชุ่มกระชวย

ลุงคือชาวสวนแท้ๆ แต่กำเนิด ผู้ใช้ความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดที่มีสืบต่อการทำสวนบนที่ดินผืนนี้จากพ่อและแม่มาตลอดชั่วอายุ โดยมี ณัฏฐวัฏิ คูหเจริญ หรือขาว อายุ ๘๐ ปี ผู้เป็นพี่ชายเป็นผู้ช่วย และตั้งชื่อสวนแห่งนี้ว่า “สวนมะนาวลุงจำรัส” หรือที่หลายคนรู้จักในนาม “สวนเกษตรธนบุรี”

……………….

suanjamrus02

suanjamrus03

suanjamrus04

เมื่อครั้งเด็กๆ ลุงจำรัสเคยทำสวนช่วยพ่อแม่และพี่ชาย จนรักและสนใจด้านเกษตรจริงจัง เริ่มต้นวิถีเกษตรกรด้วยการปลูกกล้วยไม้เป็นอาชีพ ตามคำแนะนำของศาสตราจารย์ระพี สาคริก บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย
หลังจากทำสวนกล้วยไม้ได้ ๘ ปี เขาต้องพักเดินตามฝันของพ่อแม่ที่อยากให้เขาเรียนหนังสือสูงๆ ไม่ต้องกลับมาเป็นชาวสวนที่มีชีวิตลำบากอย่างเช่นบรรพบุรุษ ลุงจำรัสมุมานะจนสอบชิงทุนรัฐบาลได้มีโอกาสไปศึกษาต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ๒๕๐๖ แต่ด้วยใจรักและมีเลือดเกษตรกรอยู่เต็มตัว จึงเลือกเรียนสาขาการเกษตรควบคู่ไปด้วย ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นราวๆ ๕ ปีครึ่ง

หลังสำเร็จการศึกษาก็ตัดสินใจกลับมาเรียนต่อด้านพืชสวนและส่งเสริมการเกษตรในเมืองไทย และจบหลักสูตรส่งเสริมการเกษตรอีกมากมายจากหลายมหาวิทยาลัย ระหว่างเข้ารับราชการที่กรมไปรษณีย์ เขาก็ยังใช้เวลาว่างอยู่กับสวนแห่งนี้ จนกระทั่งกรมไปรษณีย์ปรับโครงสร้างเป็นการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ลูกชาวสวนผู้นี้ก็ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการกองเคเบิลใต้น้ำเรื่อยมาจนครบเกษียณอายุ จึงได้เวลาทำงานเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว

……………………………..

“กว่ามะนาวจะมีวันนี้ได้ ผมทำเสียไปตั้งเยอะ”

เจ้าตัวเล่าให้ฟังถึงช่วงที่เริ่มต้นทำสวนมะนาวใหม่ๆ มีการลองผิดลองถูกในการผสมพันธุ์มะนาวต่างๆ เรียนรู้วิธีการปลูก การดูแลบำรุงรักษา ตลอดจนรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ

ทุกขั้นตอนในการปลูกและบำรุงรักษาสำคัญเท่าๆ กันหมด แต่ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากดินเป็นหลัก เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มะนาวเจริญเติบโตและแข็งแรง

ดินสำหรับเพาะต้นมะนาวสั่งมาจากพื้นที่ภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ต้องไม่เป็นดินเค็มหรือดินกร่อย มีค่าความเป็นกรด-เบสในระดับมาตรฐาน บางครั้งลุงใช้ปูนขาวโรยหน้าดินเพื่อช่วยปรับสภาพของดินให้เป็นเบส และช่วยป้องกันเชื้อรา

ก่อนนำดินเหนียวมาเพาะต้องตากให้แห้งทั้งนอกและใน ไม่เช่นนั้นดินจะแน่นเกินไป ทำให้รากงอกไม่ได้ ดินเหนียวมีคุณสมบัติที่ดีในการยึดรากของมะนาวและมีอัตราการย่อยสลายของจุลินทรีย์ภายในดินต่ำ ทำให้รากของมะนาวยึดแน่นคงทนแข็งแรงและไม่ต้องคอยเปลี่ยนดินบ่อยๆ

ลุงย้ำว่าแม้จะทำสวนมาตลอดทั้งชีวิต แต่พืชแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ต้องการการดูแลรักษาต่างกัน ทุกๆ ครั้งที่ปลูกจึงเหมือนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

“อาจารย์ผมเคยบอกว่า อย่าให้หัวสมองนิ่ง มันจะตาย ให้คิดเรื่อยๆ ไป อายุเท่าไหร่ก็ต้องคิด ต้องพัฒนา”

suanjamrus05

suanjamrus06

suanjamrus07

แตกกิ่งก้านความสุข

การเพาะพันธุ์มะนาวทำได้หลายวิธี เกษตรกรแต่ละคนก็มีวิธีหรือเทคนิคแตกต่างกันไป แต่ที่สวนนี้ใช้วิธีปักชำ

เริ่มจากการคัดกิ่งมะนาวที่อายุกำลังพอดี หากกิ่งอ่อนเกินไปจะไม่แข็งแรง ลงปลูกแล้วตายได้ หากกิ่งแก่ไปจะออกรากยาก

ขนาดของกิ่งและความยาวของการควั่นก็สำคัญ

ถ้ากิ่งเล็กๆ ควั่นยาวจะตาย ควั่นสั้นจึงจะติด แต่ถ้ากิ่งใหญ่ต้องควั่นให้สั้นจึงจะติด เมื่อตัดกิ่งแล้วต้องขูดยางออกให้หมด หลังจากนั้นเช็ดซ้ำแล้วทิ้งไว้ ๑ สัปดาห์จึงนำมาใช้ได้

ลักษณะและความคมของใบมีดก็มีผล

ลุงบอกว่าใช้มีดประจำตัวที่ได้มาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ ทำจากใบเลื่อย คมมาก ถึงปัจจุบันก็ทำมีดจากใบเลื่อยไว้หลายขนาดหลายแบบ เพื่อรองรับการใช้งานที่แตกต่างกันในสวน

“จริงๆ ถ้าถามว่าเทคนิคมีอะไรบ้าง ก็ไม่รู้หรอกอันไหนเทคนิค อันไหนไม่ใช่ เพราะเราทำสวนมาตั้งแต่จำความได้ เกิดมาก็เห็นสวนแล้ว ไม่ต้องมีคนสอน หรือบอกว่าต้องทำยังไง มันเป็นของมันเอง”
ลุงขาวผู้เป็นพี่ชายเท้าความ

ที่ดินผืนเดิมนี้มาจากบรรพบุรุษตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ใช้ทำสวนมานาน ปลูกพืชมาหลายชนิด ทั้งพลู มะลิ รักเร่ สร้อยทอง กล้วยไม้ หรือผลไม้อย่างมะม่วง ส้มโอ พืชชนิดไหนราคาดีก็ปลูก ชนิดไหนราคาตกก็เปลี่ยน และล่าสุดก่อนทำสวนมะนาวคือโป๊ยเซียน มีคนมาซื้อถึงที่ ไม่ต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง เมื่อความนิยมโป๊ยเซียนลดลงจึงผันมาปลูกมะนาว

สวนมะนาวแห่งนี้อยู่มาได้ ๑๐ กว่าปีแล้ว

“ตอนนี้มะนาวอยู่ตัวแล้ว สวนมีชื่อเสียงมากขึ้น ก็คงทำสวนมะนาวไปเรื่อยๆ” ลุงขาวกล่าว

………………………..

ใครอาจบอกว่ามะนาวก็คือมะนาว แต่มะนาวที่นี่กับที่อื่นต่างกันหลายอย่าง

สิ่งเด่นชัดที่สุดคือมะนาวสวนนี้คิดค้นและพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความต้านทานโรคสูงกว่ามะนาวที่อื่น

ช่วงฤดูแล้งมะนาวจะมีผลผลิตออกมาน้อย ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น บางครั้งสูงถึง ๕-๑๐ บาทต่อผล แต่เมื่อเข้าฤดูฝนมะนาวจะถูกลงมาก นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องโรคระบาด โดยเฉพาะโรคแคงเกอร์ เมื่อฝนตกชุกการระบาดของโรคจะรุนแรงขึ้น การรักษาโดยการพ่นสารเคมีเป็นไปได้ยาก เพราะน้ำฝนจะชะล้าง ใบที่เกิดโรคจะหลุดร่วง ถ้าเกิดที่กิ่งก็จะทำให้กิ่งแห้งตาย หากลุกลามไปที่ผลก็จะเกิดจุดแผล ทำให้ขายไม่ได้ราคา

ลุงจำรัสจึงได้คิดปรับปรุงพัฒนาพันธุ์มะนาวที่มีความต้านทานโรคแคงเกอร์ คือมะนาวพันธุ์จำรัส ๒๘ (จ.๒๘) และจำรัส ๒๙ (จ.๒๙) ที่มีต้นทางมาจากมะนาวแป้นจริยา ๑ มะนาวแป้นพวง และมะนาวน้ำหอม ให้ลูกดก ผลโต น้ำมาก น้ำ เนื้อ และกลิ่นเหมือนมะนาวแป้น เปลือกบาง น้ำหนักผลอยู่ที่ ๗๐-๑๐๐ กรัม การเจริญเติบโตของต้นดี ใบใหญ่และต้านทานโรคดีมาก

มะนาวทั้งสองพันธุ์นี้เหมาะจะปลูกในแหล่งปลูกที่มีการระบาดรุนแรงของโรคแคงเกอร์ เกษตรกรที่ขาดความรู้ความชำนาญในการควบคุมโรคก็สามารถปลูกได้ และเหมาะสำหรับการผลิตมะนาวนอกฤดูเพื่อขายได้ราคาสูงขึ้น

ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตและประหยัดแรงงานที่จ้างมาป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งลดปริมาณสารเคมี ซึ่งจะลดปัญหาสารพิษตกค้าง ส่งผลให้สินค้าปลอดภัยต่อผู้บริโภค

…………………….

“สองสามปีที่ผ่านมานี้มะนาวขายดีมาก โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งคือเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะมีราคาดี”

พี่ชายเล่าถึงผลผลิต แต่ที่นี่ไม่เน้นขายลูกมะนาว เน้นขายต้นให้คนไปปลูก ราคาต้นละ ๒๐๐ บาท ปลูกประมาณ ๑ ปีก็เริ่มเก็บผลผลิตได้แล้ว ปีแรกจะติดลูก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ปีที่ ๒ จะเพิ่มขึ้นเป็น ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ปีที่ ๓ จะเก็บได้ทั้งต้น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ นับว่าต้นมะนาวจากสวนมะนาวลุงจำรัสนั้นให้ผลผลิตดีมาก

มะนาวเป็นพืชที่ชอบน้ำในระดับกลางๆ ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป ฝนตกมากก็ไม่ได้ อากาศร้อนเกินไปก็ไม่ดี

ลุงขาวบอกว่าหน้าแล้งเหนื่อยที่สุดเพราะต้องคอยรดน้ำตลอด ไม่อย่างนั้นต้นจะตาย หรือใบไหม้ หน้าฝนไม่ต้องรดน้ำเพราะฝนตกตลอด จะมีน้ำเต็มท้องร่องสวน ถึงหน้าหนาวและหน้าแล้งจะใช้น้ำฝนในท้องร่องรดต้นมะนาว แต่ช่วงหลังๆ ที่อากาศร้อนมากขึ้น แล้งมาก น้ำในท้องร่องไม่มีก็จะใช้น้ำประปารดแทน ซึ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายไปหลายพันบาทต่อเดือน อีกทั้งยังส่งผลให้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร เพราะคลอรีนในน้ำประปาส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นโดยตรง

ที่สวนนี้ยังมีเคล็ดลับในการเพิ่มผลผลิต คือการปลูกต้นมะนาวในบ่อซีเมนต์ สามารถปลูกให้ต้นมีขนาดทรงพุ่มเท่ากับการปลูกในแปลงดินได้ และง่ายต่อการรดน้ำเพื่อบังคับให้ออกลูกนอกฤดูกาล พร้อมๆ กับการให้ปุ๋ยให้ยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งที่นี่เน้นใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ผสมกัน

ลุงจำรัสและลุงขาวเดินนำเข้าไปในสวน ฉันเดินตามไป ฝ่าดงหนามของต้นมะนาวขนาดกลางจำนวนมากเพื่อไปดูต้นมะนาวขนาดใหญ่ที่สุดในสวน อายุประมาณ ๕ ปี แผ่กิ่งก้านเต็มบริเวณ ใบสีเขียวชอุ่มด้วยน้ำจากฝนที่ตกลงมาเมื่อครู่

มะนาวลูกโตพวงใหญ่สมคำร่ำลือ

ลุงจำรัสบอกว่ามะนาวนี้ยังไม่สุก หากจะดูว่าผลสุกดีหรือไม่ต้องดูที่เปลือก เปลือกต้องตึงไม่มีรอยย่นถึงจะเก็บไปขายหรือประกอบอาหารได้

ช่วงเก็บผลผลิตเป็นเวลาที่ชาวสวนมีความสุขที่สุด ถือเป็นรางวัลจากการตรากตรำทำสวนมานาน

ลุงทั้งสองคนดูแลต้นมะนาวเหมือนลูก ผูกพันเสมือนครอบครัว เมื่อต้นมะนาวผลิดอกออกผล ก็เหมือนเห็นความสำเร็จของลูกที่ฟูมฟักเลี้ยงดูมาตั้งแต่เกิด

suanjamrus08

suanjamrus09

suanjamrus10

ความสุขยั่งยืนนาน

เวลาผ่านไปราวครึ่งชั่วโมง ฉันยังอยู่ในสวนมะนาวกลางกรุง เสียงรถไฟฟ้าดังผ่านมาเป็นระยะ พ้นพื้นที่สวนไปไม่ไกลนักก็เป็นตึกสูงของคอนโดมิเนียม ฉันมองไปรอบๆ ด้วยความสงสัย ลุงขาวพูดขึ้นราวกับจะอ่านใจฉันออก

“แต่ก่อนแถวนี้เป็นสวนทั้งหมดแหละ แต่สวนอื่นๆ เขาขายที่กันหมดแล้ว ตอนสร้างรถไฟฟ้านายหน้ามากว้านซื้อที่ไปหมด ที่เราเห็นรอบๆ เป็นที่รกร้าง พวกนายทุนเขาซื้อไว้เก็งกำไรหมดแล้ว”

ฉันเลิกคิ้วด้วยความสงสัย สายตาส่งคำถามไปยังลุงทั้งสอง ลุงก็อ่านใจฉันออก

“ที่ไม่ขายที่นี่เพราะมันเป็นที่ดินของบรรพบุรุษ เป็นสมบัติ แต่ก่อนแถวนี้เปลี่ยวนะ เดินทางไปมาลำบาก พอความเจริญเข้ามา ขโมยก็เข้ามาด้วย มันเดินทางมาง่ายแล้วไง”

“แต่มองอีกมุมก็ดี คนมาสวนง่ายขึ้น”

น้องชายเสริม ขณะที่พี่ชายเล่าต่อว่าเคยมีนายหน้ามาติดต่อขอซื้อที่ดินหลายครั้ง แต่ตนและน้องชายยืนกรานไม่ขาย เพราะไม่อยากย้ายไปไหน อยากทำสวนอยู่ที่นี่ต่อไปเรื่อยๆ

บ่ายแก่ๆ แต่แสงแดดยังไม่จาง หยดน้ำบนใบมะนาวเริ่มแห้ง

ในเรือนเพาะชำเต็มไปด้วยต้นอ่อนของมะนาวหลายร้อยต้น ลำต้นมีหนามเต็มไปด้วยใบสีเขียวอ่อนบนกระถางสีดำใบเล็กวางเรียงรายดูแล้วสบายตา ป้ายพลาสติกเล็กๆ เขียนหมายเลข ๒๘ และ ๒๙ เพื่อบอกสายพันธุ์

ลุงคอยสังเกตต้นมะนาวแต่ละต้น ลูบใบ และหยิบตัวอย่างให้ฉันดู ฉันมองเห็นสายใยระหว่างลุงกับต้นไม้ นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมต้นมะนาวที่นี่ถึงไม่เหมือนที่อื่น

“ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องทำให้ดี พืชอื่นๆ ที่เคยปลูกมา ผมก็ผสมกันกว่า ๑๐๐ ชนิด มะนาวนี่ผมทำถึง จ.๔๖ แล้ว แต่ยังไม่ออก รู้ไหมว่าทำไม? เพราะญี่ปุ่นเขาทำรถออกมาขายรุ่นหนึ่งนี่ เขาคิดไว้แล้วห้ารุ่น ผมก็นักเรียนเก่าญี่ปุ่น นั่นแหละใช้วิธีคิดเดียวกัน”

ลุงเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี

เพราะความอารมณ์ดีและยินดีถ่ายทอดความรู้เช่นนี้ ทำให้ชายสูงวัยมีลูกศิษย์จำนวนมาก หลายคนมาซื้อหลายร้อยต้นเพื่อนำไปปลูก ซื้อแล้วก็แวะเวียนกลับมาหาเพื่อขอคำแนะนำ

เจ้าของสวนมะนาวบอกว่าความรู้อยู่ในห้องเรียนและคำบอกเล่า แต่ประสบการณ์จะเป็นครูสอน ถ้าจะเอาไปปลูกเป็นอาชีพก็ยินดีสอน

“ใครซื้อต้นไปเราก็จะสอน กลัวเขาปลูกแล้วต้นตาย เขาจะเสียความรู้สึก”

การทำสวนเป็นงานหนัก นอกจากต้องจับจอบจับเสียมแล้ว ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่ต้องใช้เวลาและประสบการณ์ทำความเข้าใจ

“แต่จริงๆ มันก็มีช่วงสบายนะ อย่างช่วงหน้าฝน ฝนตกบ่อยๆ ก็ไม่ต้องทำอะไรเยอะ บางวันก็อยู่เฉยๆ”

ลุงขาวบอก

“ช่วงไหนเงินน้อยก็กินน้อยหน่อย อยู่แบบนี้สบายดี อยู่ไปได้ยาวๆ”

น้องชายพูดพลางหัวเราะ

………………….

สายฝนเริ่มปรอยลงมาครู่หนึ่งก่อนจะหยุดลง ฉันเก็บสัมภาระก่อนเตรียมตัวให้พร้อมไปเผชิญความวุ่นวายอีกครั้ง

“ถ้าอยากเป็นลูกศิษย์ผมก็มาเลยนะ ยินดีสอน เป็นวิทยาทาน ผมมีความสุขกับการให้ ถ้าเห็นคุณหรือใครมีเงิน มีชีวิตที่ดีขึ้นจากมะนาวของผม ผมก็ดีใจ”

ฉันยิ้มรับไมตรีที่ส่งผ่านคำพูดและรอยยิ้มของชายสูงวัยผู้ใจดีก่อนยกมือไหว้อำลา

เส้นทางระหว่างเดินกลับเข้าสู่ใจกลางเมืองยังคงขรุขระเต็มไปด้วยรถราและฝุ่นควัน จนอดหันหลังกลับไปมองพื้นที่เขียวขจีเล็กๆ ที่เพิ่งเดินจากมาไม่ได้

ทุกวันนี้เราอาจมองเห็นน้ำใจหรือความเมตตาผ่านม่านตึกสูงในเมืองหลวงได้ยากเย็นนัก แต่ที่สวนมะนาวลุงจำรัสแห่งนี้กลับมีให้ทุกคนที่มาเยี่ยมเยือนอย่างเต็มเปี่ยม และไม่มีทีท่าว่าจะหมดหรือลดน้อยลง

ชายชราทั้งสองปลูกต้นมะนาวด้วยความรักมาต้นแล้วต้นเล่า

ก่อนส่งต่อผลผลิตแห่งความสุขให้ผู้อื่นอยู่เรื่อยๆ

ลูกแล้วลูกเล่าเช่นกัน

banner-camp-12-for-web