เรื่อง : ภัคจิรา มาตาพิทักษ์
ภาพ : ศุภาวีร์ จุลบุตร

“ถ้าเป็นผู้ชาย ไม่ตายก็ติดคุก ถ้าเป็นผู้หญิง ไม่ท้องไม่มีพ่อก็หนีตามผู้ชายไปเลย” คือคำนิยามถึงอำเภอทับสะแกในสายตาของคนภายนอก

หมู่บ้านทุ่งประดู่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เคยเป็น “พื้นที่ตกสำรวจ” มีคนอาศัยอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน และมักมีปัญหาสังคมเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงหรือยาเสพติด ซึ่งบีบคั้นให้ประชากรในพื้นที่ต้องพยายามหาทางอยู่รอด หรือแม้แต่ดิ้นรน “ออกจากบ้าน” เพื่อไปมีชีวิตที่ดีกว่าและไม่แร้นแค้นเช่นอยู่ที่นี่

ทว่าสำหรับใครบางคน การออกจากบ้านโดยไม่หันหลังกลับมาอีกอาจยิ่งสร้างบาดแผล รวมถึงซ้ำเติมให้ปัญหาในพื้นที่นั้นฝังรากลึกยิ่งกว่าเก่า และคงทำให้คนในชุมชนไม่มีวันออกจากวังวนนั้นได้เสียที

“ทับสะแกคือสังคมที่เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะเป็นได้”

คือเหตุผลประการสำคัญที่ วิทยา สันติสุขไพบูลย์ หรือที่รู้จักกันในนามของ “พี่วิท” เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจออกเดินทางไปไกลบ้าน เลือกที่จะ “กลับบ้าน” มาปลูกต้นกล้าแห่งความหวังและเมล็ดพันธุ์แห่งการพัฒนาให้พื้นที่ตกสำรวจนี้อีกครั้ง

กลับบ้าน (ทับสะแก) เรา รักรออยู่ : จากพื้นที่ตกสำรวจสู่ชุมชนการเกษตรยั่งยืน
พี่วิท” วิทยา สันติสุขไพบูลย์ คนรุ่นใหม่ที่นำความรู้ทางด้านการเกษตรกลับบ้าน ที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังออกจากบ้านไป 9 ปี สมัยเด็กพี่วิทเคยทำสวนกับพ่อ วันนี้ทั้งคู่ได้ทำสวนร่วมกันอีกครั้ง
tubsakae02
ดิน สภาพอากาศ และทุกอย่าง เอื้ออำนวยให้มะพร้าวที่ทับสะแกได้ประทับตรา GI ของเด็ดของดีที่เกิดได้เฉพาะที่นี่เท่านั้น วิถีชีวิตของคนทับสะแกเชื่อมโยงกับมะพร้าวเป็นส่วนใหญ่ นั่นหมายความว่ารายได้ของเกษตรกรก็ขึ้นอยู่กับมะพร้าวด้วย
tubsakae03
เกษตรกรจะปอกเปลือกมะพร้าวไว้รอให้โรงงานมารับซื้อเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อในระบบอุตสาหกรรม หากไม่มีโรงงานมารับซื้อ เปลือกมะพร้าวก็จะกลายเป็นขยะ

ออกไปเผชิญโลกกว้างและกลับมาอย่างแข็งแกร่ง

ทุ่งกว้างขวางสีเขียวชอุ่ม ต้นมะพร้าวสูงเสียดฟ้าเรียงติดกันเป็นไร่ ลูกมะพร้าวจำนวนมหาศาลกองกันเป็นภูเขาขนาดย่อม อากาศอันแสนสดชื่นและความเงียบสงัดของธรรมชาติที่หาไม่ได้ในเมืองหลวง คือเอกลักษณ์ของถิ่นทับสะแก

วิทยา สันติสุขไพบูลย์ เจ้าบ้านพ่วงตำแหน่งไกด์นำทัวร์ของเราในวันนี้ เล่าให้ฟังถึงความหลังครั้งเยาว์วัยว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากสานต่องานเกษตรกรรมคือเมื่อครั้งยังเป็นเด็กที่ได้ติดสอยห้อยตามพ่อไปดูการทำไร่ไถนาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนกลายเป็นภาพจำว่าการทำเกษตรนั้นแสนสนุกและสุดจะน่าสนใจ

“เราผูกพันกับพ่อมาก ทุกวันที่พ่อเข้าไร่ลงนาก็มีโอกาสตามไปตลอด ไปจับปลาในแปลงข้าว ได้เห็นผักต่าง ๆ ตอนนั้นรู้สึกว่าการเกษตรนี่สนุกมาก พอโตขึ้นก็เลยอยากเรียนด้านการเกษตรและอยากเอาความรู้มาพัฒนาบ้านเรา สิ่งนี้ติดอยู่ในใจมาตลอด”

ชีวิตในแปลงเกษตรกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “อุดมการณ์” ไปจนถึง “ความฝัน” ความมุ่งหวังของวิทจึงพาเขามุ่งหน้าสู่เส้นทางแห่งการเกษตรอย่างเต็มขั้น

เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนทับสะแกวิทยา เขาเริ่มต้นเรียนต่อในทางที่ชื่นชอบที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี หลังจากนั้นก็ทุ่มทุนจากบ้านหลายปีด้วยการสอบชิงทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอิสราเอล ในสาขาวิชาการส่งเสริมและผลิตพืชไร่

หลังกลับไทยมาเป็นนักวิชาการได้พักหนึ่ง วิทตัดสินใจทำงานที่สำนักการเกษตร ณ ทับสะแก บ้านหลังเดิมของเขา

หลายคนอาจจะสงสัยว่าเมื่อชีวิตของวิทยาไปไกลและมีหน้าที่การงานมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว เหตุผลอะไรกันที่ทำให้เขาเลือกหักพวงมาลัยเลี้ยวกลับมายัง “พื้นที่ตกสำรวจ” และลงทุนลงแรงทั้งชีวิตเพื่อพัฒนาพื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง ทั้งที่หากเขาจะหนีจากที่นี่ไปให้ไกลก็ย่อมทำได้

“ตอนเราออกไป พ่อกับแม่ก็เอาทรัพยากรที่นี่ส่งเราเล่าเรียน วันนี้เมื่อมีโอกาส เราก็อยากจะนำความรู้ความสามารถที่มี และนำเอาทรัพยากรกลับมายังบ้านหลังนี้เช่นกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นการเก็บมะพร้าวหรือปลูกผักต่าง ๆ ในอำเภอทับสะแกก็ล้วนทำให้เรามีเราในวันนี้ ทำให้ครอบครัวดำรงชีวิตได้ สิ่งที่เรามีอยู่ที่นี่คือพื้นฐานในการดำรงชีวิตทั้งนั้น” วิทยายืนยันหนักแน่นในน้ำเสียง

อย่างไรก็ดี ความแตกต่างทางความคิดระหว่างคนสองเจนเนอเรชันก็เกิด วิทเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากจะนำความรู้มาพัฒนาบ้านเกิด ทว่าพ่อแม่กลับต้องการให้เขาออกไปมีชีวิตที่ดีกว่าในพื้นที่อื่น หรือแม้กระทั่งให้ไปทำอาชีพอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ “เกษตรกร”

“แน่นอนว่าคนสมัยก่อนเวลาส่งลูกไปเรียนเขาก็อยากจะให้ลูกไปเป็นเจ้าคนนายคน อยากให้เราได้อยู่ในจุดที่ดีขึ้น เพราะเขามองว่าอาชีพเกษตรกรของเขามันลำบาก”

หากเพราะอุดมการณ์อันแข็งแกร่งไม่อาจถูกทำลายได้โดยง่าย แนวคิดอยากจะนำความรู้มาพัฒนาพื้นที่ทับสะแกของวิทยากลับยิ่งสั่งสมทุกครั้งที่ร่ำเรียนทางการเกษตร จนกระทั่งระหว่างทำงานก็ทำให้เขามีแรงขับเคลื่อนและมองเห็นศักยภาพในพื้นที่บ้านเกิดตนเอง นำมาสู่ความตั้งใจที่จะสอนให้เด็กและเยาวชนเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่

วิทจึงตัดสินใจลาออกมาจัดทำศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านการเกษตรทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ของชุมชน

“จุดเปลี่ยนอยู่ที่ระหว่างทำงานก็มีโอกาสเข้าร่วมงานอบรมเกษตรกร เราต้องไปสอน ไปให้ความรู้คนอื่น ทำให้ได้เจอเกษตรกรที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อแม่ของเรา ตอนนั้นเราเป็นนักวิชาการจบใหม่ จึงสอนเขาด้วยทฤษฎีในหนังสือ ท่องตำราไปสอน ในขณะที่เกษตรกรที่มาฟังเขาปลูกผักด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลย เราจึงตัดสินใจครั้งสำคัญว่าเป็นแค่นักวิชาการสอนทฤษฎีอย่างเดียวมันไม่เพียงพอแล้ว ต้องลาออกมาเป็นเกษตรกรเต็มตัวเลย”

“เกษตรกรมีโอกาสแค่ครั้งเดียว” คำพูดของคุณลุงเกษตรกรคนหนึ่งในงานนั้นจุดประกายให้วิทอยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิด

ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาทฤษฎี หากปลูกพืชต้นหนึ่งแล้วตาย ถึงอย่างไรก็ยังมีเมล็ดพันธุ์อีกมากมายให้ลองปลูกใหม่ แต่สำหรับเกษตรกรนั้น พืชที่ตายหนึ่งต้นหมายถึงเงินที่ใช้เลี้ยงชีพนั้นหายไปในพริบตา

tubsakae04
พี่วิทลาออกจากงานมาลงมือทำเกษตรเองในทุกกระบวนการเพื่อให้เข้าใจปัญหาที่เกษตรกรต้องเจอ พี่วิทพบว่าส่วนของกะลามะพร้าวเป็นปัญหาใหญ่ต่อโลก เพราะวิธีจัดการแต่เดิมคือการเผา
tubsakae05
ส่วนของมะพร้าวที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จะถูกคัดแยก อย่าง “ผิวมะพร้าว” มีไขมันสูง จะนำไปขายให้โรงงานคั้นน้ำมัน

กลับมาปลูกต้นกล้าแห่งความหวังให้ทับสะแก

วิทยาเล่าด้วยภาคภูมิใจว่าจุดเด่นของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์คือลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อหนุนให้ทำการเกษตรได้หลายส่วน ทางทิศตะวันออกที่ติดกับอ่าวไทยทำการประมงได้ พื้นที่ตอนบนเหมาะปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างสับปะรดและอ้อย รวมถึงเขตอำเภอเมืองที่เหมาะกับการปลูกพืชตระกูลปาล์มและมะพร้าว

ความแตกต่างในการปลูกพืชผลทางการเกษตรในแต่ละพื้นที่นี้เองที่เพิ่มมนต์เสน่ห์ให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

มากไปกว่านั้น วิทยังนำเอาความรู้ที่ได้จากการ “โกอินเตอร์” มาปรับใช้กับพื้นทับสะแกอีกด้วย อย่างเช่นลักษณะพื้นที่ของอิสราเอลเป็นทะเลทรายเสียส่วนใหญ่ จึงนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ทั้งในส่วนของเครื่องจักรและการปลูกพืช แต่ด้วยบ้านทับสะแกมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อหนุนมากกว่า เขาจึงเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในไทยมาปรับใช้เท่าที่จำเป็น แล้วจึงค่อยขยายผลไปยังส่วนอื่น ๆ

“การจะสอนเกษตรกรรุ่นเก่านี่ยาก ต้องทำให้เขาเห็นเชิงประจักษ์เท่านั้น เราฝึกปลูกผักหลังบ้าน จากนั้นจึงขยายผลและรวมกลุ่มเกษตรกรในชุมชนจนได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักปลอดสารพิษ ตำบลทับสะแก หลังจากทำอยู่หลายปีก็ได้เห็นศักยภาพของชุมชน ไม่ใช่แค่ในภาคการเกษตร แต่ทับสะแกยังมีทำเลที่ตั้งที่ทำกิจกรรมได้หลากหลาย จึงเกิดเป็นเครือข่ายวิสาหกิจที่ทำได้ทั้งการท่องเที่ยว ปศุสัตว์ การประมง และการแปรรูป” วิทอธิบายเพิ่มเติม

นอกจากนี้ “ความมั่นคงทางด้านอาหาร” ยังเป็นอีกบทเรียนหนึ่งจากอิสราเอลที่วิทนำมาสานต่อ โดยเขาเล่าว่าในระหว่างที่เรียน ศักยภาพของการผลิตอาหารถือเป็นความมั่นคงอันดับแรกที่อิสราเอลสนใจ ทั้งนี้เป็นเพราะสถานการณ์ในประเทศอันไม่สงบ ความมั่นคงทางด้านอาหารจึงต้องมาก่อน เพื่อความอยู่รอดของประชาชน

“ตัดภาพมาที่พื้นที่ทับสะแกที่มักจะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นมามันอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ จึงเป็นการจุดประกายว่าเราจำเป็นต้องปลูกพืชหลาย ๆ อย่างเพื่อให้มีความมั่นคงทางด้านอาหาร

“กระบวนการจัดสรรทรัพยากรทางภาคการเกษตรก็สำคัญมาก ถ้าคุณต้องการให้มีความมั่นคงทางด้านอาหารจะต้องเข้าใจปัจจัยภายในของพื้นที่นั้นให้ได้ก่อน เช่น ศักยภาพของดิน สภาพอากาศ สภาพภูมิสังคม หรือปัจจัยด้านการตลาด สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยพื้นฐานที่เกษตรกรต้องรู้ก่อนเพาะปลูก” วิทเสริม

tubsakae06
จาวมะพร้าวคือหัวของหน่ออ่อนที่เกิดในลูกมะพร้าว นอกจากกินสด ๆ ได้แล้ว ยังนำไปประกอบอาหารได้อีก
tubsakae07
เนื้อมะพร้าวถูกแยกไว้เพื่อรอส่งให้กับโรงงานทำน้ำกะทิ ใช้ประกอบอาหารหรือทำขนม
tubsakae08
พี่วิทตั้งใจศึกษาวิจัยเพื่อหาวิธีจัดการกับเศษของกะลามะพร้าวที่เป็นขยะและสร้างมลพิษ จนเกิดเป็นไม้อัดจากกะลาที่แรกในโลก ซึ่งได้รับเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินต์จากกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยต่อโลกและผู้บริโภค

มะพร้าว” ผลผลิตตั้งต้นของชาวทับสะแก

มะพร้าวถือเป็นพืชชนิดแรก ๆ ที่ธรรมชาติรังสรรค์ให้ผลิตเพื่อสร้างมูลค่าใช้ชาวทับสะแกได้ วิทกล่าวว่าอำเภอทับสะแกผลิตมะพร้าวได้ผลดีที่สุด ทว่าเป็นการเก็บและขายมะพร้าวเชิงเดี่ยว ขายได้แค่เดือนละครั้ง ระหว่างนี้คนในชุมชนจึงไม่มีรายได้จุนเจือครอบครัว ช่องว่างที่เกิดขึ้นทำให้วิทเกิดแรงบันดาลใจอยากนำมะพร้าวมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“โดยปรกติมะพร้าว 1 ผลที่เกษตรกรของเราเก็บลงมาจะได้มูลค่าองค์รวมแค่ 5% อีก 95% คือส่วนต่างที่ได้มาจากการแปรรูปขั้นต้น ทั้งเปลือก ผิว กากใย และน้ำ ซึ่งถ้ารู้จักนำผลผลิตเหล่านี้มาแปรสภาพจะทำให้ได้มูลค่าเพิ่มสูงมาก”

การแปรรูปมะพร้าวในแต่ละส่วนผ่านกรรมวิธีที่แตกต่างกัน

เริ่มต้นจากเปลือกมะพร้าว วิทอธิบายว่าสมัยก่อนจะขายเปลือกมะพร้าวให้โรงงานที่นำเปลือกไปแยกเป็นเส้นใยกับขุย โดยเส้นใยจะเอาไปทำเบาะและที่นั่ง ส่วนเศษขุยเล็ก ๆ จะทำเป็นปุ๋ยหมัก

เปลือกมะพร้าวมีมูลค่าค่อนข้างต่ำ วิทจึงคิดสร้างประโยชน์และเพิ่มมูลค่าสูงสุด ด้วยการนำมาทำเป็น “สีธรรมชาติ” ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ไร้สารเคมี ทั้งยังนำมาเป็นสีย้อมผ้าต่อยอดผลงานชิ้นอื่นได้อีกด้วย

“เรามองว่ายังมีส่วนของสีมะพร้าวที่แปรรูปได้ก่อนแยกเป็นเส้นใย จึงนำเปลือกมาต้มเพื่อเอาน้ำสีมาทำเป็นสีย้อมผ้าธรรมชาติโดยแท้ และเม็ดสีจากเปลือกมะพร้าวของทับสะแกมีความเข้มข้นมากกว่าพื้นที่อื่นเพราะมีความชัดเจนของเม็ดสีมาก”

ต่อมาคือส่วนของกะลา เดิมทีจะเอามาเผาเป็นถ่านอัดเป็นแท่งเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิง หรือถ้าใช้เทคโนโลยีขั้นสูงก็จะได้ถ่านที่มีคุณภาพสูง แต่ในชุมชนไม่ได้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระดับสูงมากขนาดนั้น วิทจึงนำกะลามาสร้างเป็นชิ้นงานใหม่ด้วยการทำงานวิจัย “ไม้อัดจากกะลา” เป็นวัสดุทดแทนไม้แท้เพื่อเพิ่มมูลค่าและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในการจัดการกะลา วิทเสริมว่างานชิ้นนี้ได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย บ่งบอกถึงความสำเร็จในการคิดค้นและการใช้งานที่เป็นไปได้จริง

ผิวมะพร้าวเป็นส่วนที่มีไขมันค่อนข้างสูง จึงขายเข้าสู่โรงคั้นน้ำมันได้ กากจะถูกแยกเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ ส่วนของน้ำมันที่ได้ก็เอามาผลิตเป็นสบู่และแชมพู

สุดท้ายคือน้ำมะพร้าวที่แบ่งออกเป็นสามประเภท ประเภทแรกคือน้ำที่กะเทาะออกจากลูกแล้วเก็บไว้ทันที ระยะเวลาไม่เกิน 6 ชั่วโมง ส่วนนี้จะขายสู่โรงงานผลิตน้ำมะพร้าวพร้อมดื่มหรือทำวุ้นมะพร้าว ถ้าเป็นน้ำมะพร้าวที่ระยะเวลาไม่เกิน 12 ชั่วโมง จะขายสู่โรงงานทำน้ำส้มสายชู และส่วนที่สามคือน้ำมะพร้าวที่ค้างมากกว่า 1 วัน มีความเปรี้ยวจากการเสื่อมสภาพโดยธรรมชาติ ก็จะรวบรวมไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพต่อไป

จากเดิมที่เกษตรกรทับสะแกขายผลผลิตลูกมะพร้าวได้แค่ 1 ครั้งต่อเดือน แต่ด้วยแนวคิดที่นำส่วนต่าง ๆ ของลูกมะพร้าวมาแปรรูป ทำให้มูลค่าองค์รวมของมะพร้าวเพิ่มขึ้นถึง 200 บาทต่อผล

“มะพร้าวของทับสะแกได้รับการรับรองมาตรฐาน GI คือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งแสดงถึงความโดดเด่นของผลิตผลทางการเกษตรในชุมชนที่ได้มาจากลักษณะเด่นของพื้นที่ที่ลาดเอียงของเทือกเขาตะนาวศรีมาทางอ่าวไทย จึงนำพาเอาแร่ธาตุต่าง ๆ มาทับถมเป็นชั้นดิน มะพร้าวที่บ้านทับสะแกจึงมีสารอาหารสูงมาก เข้มข้นมาก ความมันของมะพร้าวในกะทิต่าง ๆ ก็มากกว่าพื้นที่อื่นอีกด้วย” วิทกล่าว

นอกจากนี้ วิทยังตั้งใจอธิบายเพิ่มเติมว่ามะพร้าวธรรมดากับมะพร้าวกะทิแตกต่างกัน ถ้าสังเกตจากลักษณะทางกายภาพหรือรูปทรงภายนอกอาจจะไม่สามารถบอกได้ ต้องอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญของผู้เก็บเกี่ยวในการ “เขย่าฟังเสียง” เพราะโอกาสเกิดผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิมีเพียง 1 ใน 7,500 เท่านั้น

“มะพร้าวธรรมดาที่แก่จนน้ำด้านในลดน้อยลงและจะมีช่องว่างของอากาศ เวลาเขย่าก็จะมีเสียงใส ๆ แต่ถ้าเป็นมะพร้าวกะทิ น้ำจะหนืดและเนื้อฟู ทำให้มีเสียงดังก๊อกแก๊ก ๆ จนรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง อีกอย่างคือต้องอาศัยการเคาะกะลา ปลอกเปลือกแล้วเอาค้อนมาทุบกะลา ถ้าเป็นมะพร้าวธรรมดาจะมีความแน่นของเนื้อด้านใน จึงจะมีความแข็งของกะลา แต่ถ้าเป็นมะพร้าวกะทิเสียงจะโปร่ง ๆ”

tubsakae09
จากจุดเริ่มต้นที่เต็มไปด้วยความพยายาม สู่จุดที่ได้เป็นเกษตรกรต้นแบบ พี่วิทและภรรยาจึงเปิดศูนย์การเรียนรู้ เพื่อแบ่งปันความรู้ที่มีและนวัตกรรมที่ทำได้ให้เกษตรกรคนอื่น ๆ
tubsakae10
การเติบโตทางด้านเกษตรของพี่วิทเปรียบเสมือนกับการเติบโตของเกษตรกรในชุมชนด้วย เพราะความรู้เรื่องการแปรรูปทำให้มูลค่าองค์รวมของมะพร้าวเพิ่มขึ้น คนในชุมชนจึงมักแวะเวียนมาทักทายด้วยรอยยิ้มอยู่เสมอ
tubsakae11
การลงมือพัฒนาศักยภาพทางธรรมชาติที่หลากหลายของพี่วิท เป็นการวางรากฐานเพื่อให้คนรุ่นใหม่เห็นว่า บ้าน “ทับสะแก” เหมาะที่จะกลับมาเพื่อยังชีพในระยะยาวได้

กลับบ้าน (ทับสะแก) เรา รักรออยู่

ความตั้งใจของวิทยาในการกลับมาพัฒนา “ทับสะแก” บ้านเกิดยังรวมถึงการเปลี่ยนจาก “พื้นที่ตกสำรวจ” ที่คนภายนอกดูถูกเหยียดหยามให้แปลงเป็น “พื้นที่ท่องเที่ยว” ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาให้เข้ามายลโฉมความงดงาม

ประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล มีจุดเด่นคือเม็ดทรายชายหาดมีขนาดใหญ่ วิทยาเล็งเห็นความแตกต่างอันงดงามนี้ และเลือกนำความโดดเด่นดังกล่าวมาทำเป็นกิจกรรมดึงดูดความสนใจให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่า “ห้ามพลาด”

กว่ากิจกรรมนี้จะสัมฤทธิผลไม่ใช่เรื่องง่าย เกิดขึ้นได้จากความพยายามและน้ำพักน้ำแรงของวิทยาและคนชุมชนทับสะแก เริ่มต้นจากการติดต่อให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มาเก็บตัวอย่างทรายไปตรวจสอบ ได้ผลว่าทรายบริเวณชายหาดประจวบคีรีขันธ์เป็นกลุ่มของแร่ประเภทหนึ่ง

จากนั้นวิทจึงขอให้กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งนักสำรวจมาตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีของทรายว่าเหมาะแก่การทำกิจกรรมธรรมชาติบำบัดหรือไม่ สุดท้ายจึงเริ่มต้นดำเนินกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ จึงเกิดเป็น “กิจกรรมห่มทรายคลายเครียด” นั่นเอง

“การจัดกิจกรรมในการท่องเที่ยว รวมถึงการพูดจูงใจและนำเสนอให้คนเข้ามา หลักการคือเราต้องพิสูจน์ให้คนเห็นจริง ๆ ว่ากิจกรรมของเราปลอดภัยและมีคุณภาพ เราจึงขอความร่วมมือให้หน่วยงานต่าง ๆ มาตรวจสอบคุณภาพของทรัพยากรในพื้นที่

“เมื่อได้รับการยืนยันว่าทรายของพื้นที่เราไม่มีการอมสารเคมีหรือโลหะหนักใด ๆ เราจึงส่งเอกสารหากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเพื่อปรึกษาการให้บริการเชิงการท่องเที่ยวและเพื่อจะได้นำทรัพยากรที่ธรรมชาติรังสรรค์ในพื้นที่เรามาเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเชิงสุขภาพบำบัดต่อไป”

ประจวบคีรีขันธ์ และ ทับสะแก ในสายตาของวิทยานั้นเป็นสถานที่ที่ทุกคน “กลับบ้าน” มาอยู่ในระยะยาวได้ ด้วยการพัฒนาศักยภาพทางธรรมชาติที่หลากหลายเพื่อให้คนในพื้นที่ยังชีพในระยะยาว และเพื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาหาความรู้และนำความรู้ไปเป็นแนวทางประกอบอาชีพได้โดยไม่ต้องละทิ้งพื้นที่ไกลปืนเที่ยงนี้แบบไม่หันหลังกลับอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

“ถ้าถามว่าเราทำตามที่ตัวเองคาดหวังไว้สำเร็จหรือยัง บอกได้เลยว่าทุกวันนี้เราอิ่มใจมากเกินพอแล้ว”

ทับสะแกอาจจะไม่ได้หรูหราหรืออู้ฟู่ เพียงขอแค่คนในชุมชนไม่รู้สึกขาดแคลนหรือแร้นแค้น สามารถนำทรัพยากรมาทำการเกษตรอย่างยั่งยืนได้เสมอ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับวิทยา

“โอกาสในชีวิตคนเรามีไม่มาก ในแต่ละครั้งที่โอกาสนั้นไหลมาตามอากาศ ถ้าเราไม่รู้จักหยิบฉวยหรือไขว่คว้าไว้ โอกาสนั้นอาจจะไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้รับโอกาสจากสังคมและมีโอกาสจะนำความรู้นั้นมาทำให้บ้านเกิดก้าวหน้าต่อ เราจึงถือว่าทั้งหมดที่เราทำเป็นการมอบโอกาสคืนไปสู่ชุมชน สำหรับคนที่อาจจะไม่เคยได้รับโอกาสในหลาย ๆ ด้าน อย่างน้อยให้คนในชุมชนได้มีแนวทางประกอบอาชีพในอนาคตต่อไปได้”

วิทยาปิดท้ายประโยคนั้นด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มสดใส

รอยยิ้มบนใบหน้าอันเปี่ยมสุขของคนที่ได้ “กลับบ้าน” อันเป็นที่รักของตัวเองอย่างแท้จริง