ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 12
เรื่อง : วรัญญา เชาว์สุโข
ภาพ : ปัญญวัฒน์ เอื้ออิฐผล

Water Monitor สัตว์ที่ได้ชื่อว่า ‘เหี้ย’

“วรนุช วรานัส วอเตอร์มอนิเตอร์ ตัวเงินตัวทอง ตัวอัปมงคล ตัวกินไก่ หัวขโมย…” และอีกหลายชื่อที่ถูกใช้แทนคำว่า ‘เหี้ย’ ที่ทำให้ทั้งคนฟัง และคนพูดลำบากใจ แต่ไม่ว่าจะเลือกใช้คำไหน อย่างไรภาพในใจก็คงไม่แตกต่าง “ตัวเป็นเกล็ด หัวเหมือนงู ตัวยาวเหมือนจระเข้ ขากลมอวบคล้ายกิ้งก่า”

แม้จะพบเห็นได้ง่ายและมีจำนวนประชากรในประเทศไทยมากที่สุดติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่เหี้ยกลับเป็นสัตว์ที่ถูกวิจัยและศึกษาอย่างจริงจังในประเทศแห่งนี้…นับครั้งได้

แต่เพียงไม่กี่ครั้งนั้น กลับบอกอะไรเกี่ยวกับเพื่อนร่วมเมืองและคนที่เรียกตัวว่าเป็นเจ้าของพื้นที่อย่างเราได้อยู่ไม่น้อย

watermonitor3

จ้าว (ระบบนิเวศ) เมือง

“เคยไปสวนลุมฯไหม ฝูงนกพิราบที่นั่นไม่ค่อยหนีใช่หรือเปล่า ? เหี้ยในเมืองก็เหมือนกัน” ปรเมศวร์ ตรีวลัยรัตน์ เจ้าของงานวิจัยที่ศึกษาประชากรเหี้ยในเมืองหลวงถามขึ้นมาลอยๆ

“สัญชาตญาณสัตว์ป่าจะมีระยะ หากมีอะไรเข้ามาใกล้ใน 10 เมตร มันก็หนีแล้ว” ชายหนุ่มผู้เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของเหี้ยเล่าถึงความต่างของสัตว์ป่าและสัตว์เมืองในความคิดเขาแล้วชี้แจงต่อว่า เพราะสัตว์มีพฤติกรรมแบบหนึ่งที่เรียกว่า habituation หรือพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ ความเคยจนชินกับเหตุการณ์ที่เจอซ้ำ ซ้ำ สัตว์จะเกิดการเรียนรู้และจดจำ จนทำให้รูปแบบของพฤติกรรมเปลี่ยนไป

“เมื่อสัตว์รู้ว่ารูปร่างแบบนี้ไม่ทำร้าย มันก็จะไม่หนี จะกล้าเข้าใกล้และใช้ประโยชน์จากมนุษย์ได้มากขึ้น” เขาเล่าถึงภาพคุ้นตาของคน สัตว์และขนมปังที่พบได้บ่อยครั้งตามสวนสาธารณะ

“เมือง ก็เป็นป่านะ เป็นระบบนิเวศรูปแบบนึง” นักศึกษาปริญญาโท สาขาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดลให้ข้อมูล “ป่าไม่จำเป็นว่าต้องมีแต่ต้นไม้ ทะเล เกาะ สวนหรือเมือง ก็ใช่ทั้งนั้น”

“อาจเพราะมันตัวใหญ่ มันเลยคิดว่าไม่มีใครทำอะไรมันได้” เขาตั้งข้อสันนิษฐานกับพฤติกรรมของเหี้ย ที่มักจะเดินเหมือนไม่สนใจใคร “เหี้ยเป็นสัตว์วัดไซส์ ถ้ามันคิดว่าสัตว์หรือรูปร่างที่มันเจอมีขนาดใหญ่กว่าตัวมัน มันจะไม่ค่อยเข้าไปยุ่ง แต่ถ้าเห็นว่าเล็กกว่า จะคิดว่าเป็นอาหาร” เขาเล่าถึงข่าวเหตุการณ์ ‘เหี้ยทำร้ายเด็กทารก’ ในอดีต “ทารกตัวเล็กและมีกลิ่นตัวคาว เหี้ยไม่รู้หรอกว่าเป็นลูกของคนไหม มันแค่ตามกลิ่นมา”

เขายังเล่าเสริมต่อว่ามุมมองสายตาของเหี้ยแคบกว่าคนมาก แต่ธรรมชาติชดเชยให้ด้วยประสาทสัมผัสการรับกลิ่นที่ยอดเยี่ยม

“ซากอยู่ไกลเป็นกิโล มันก็ได้กลิ่น ตามมากินได้” ส่วนรับสัมผัสสำคัญของเหี้ย ไม่ใช่จมูกแต่คือปลายลิ้นสองแฉกที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นสัญลักษณ์ของพวกที่เชื่อไม่ได้อันตราย แม้ว่าภาพลักษณ์นั้นจะติดมาจากสัตว์คนละชนิดกัน แต่เหี้ยก็ถูกเหมารวมไปด้วย

“มันแลบลิ้นออกมา เพื่อสัมผัสสารเคมีในอากาศ”

เหี้ยสร้างระบบนำทางด้วยการยื่นลิ้น ที่มีตัวรับสารเคมีออกมาเพื่อดักจับสัญญาณอาหารที่ถูกทิ้งไว้ในอากาศ และจะส่งเข้าไปแปลงผลในเครื่องรับสองช่องเล็กๆ บนเพดานปาก ซึ่งเชื่อมต่อกับโพรงจมูก ตัวรับสัญญาณนี้จะทำหน้าที่แปลงสารเคมีเป็นข้อมูล ละส่งไปสมอง เพื่อประมวลผลว่าข้างหน้า น่าจะมีอาหารหรือไม่ ?

การที่มีเหี้ยอยู่ ทำให้ประชากรสัตว์เล็กในพื้นที่ไม่ชุกชุมมากจนเสียสมดุล และในต่างประเทศก็มีรายงานเกี่ยวกับการใช้เหี้ยเป็นตัวชี้วัดของสารเคมีตกค้างในระบบนิเวศเมือง อย่างยาฆ่าหญ้า ซึ่งสารเคมีเหล่านี้เมื่อถูกใช้งาน ก็จะกระจัดกระจาย เจือปนอยู่ในสภาพแวดล้อม ปริมาณที่หลงเหลือเพียงเล็กน้อย ทำให้ตรวจวัดได้ยากนัก จนกระทั่งทีมนักวิจัยค้นพบว่า สารเหล่านี้มักจะตกค้างอยู่ในสัตว์เล็กสัตว์น้อยซึ่งอาศัยอยู่ในระบบนิเวศที่เจือปนพิษ และเมื่อเหี้ยคือผู้ล่าสูงสุดของระบบนิเวศป่าปูน สารเคมีเหล่านั้นก็จะไปตกค้างอยู่ในตัวของเหี้ย มากที่สุดเช่นกัน การตรวจวัดสารเคมีจากเหี้ย จึงทำได้ง่ายและวัดได้แน่นอนกว่าการตรวจจากน้ำหรือสภาพอากาศ “พอกินเป็นทอดๆ มันจะถ่ายเท สะสมไปเรื่อยๆ วัดในตัวสุดท้ายอย่างเหี้ย อย่างไรก็เจอ” หนึ่งในอนาคตของนักวิจัยของไทยอธิบาย

watermonitor4

ตัวอัปมงคล (?)

“ก็ไม่ชอบอยู่แล้วสัตว์กินซาก เหมือนเป็นตัวนำความตาย เหี้ยกินซากไม่พอ ยังมากินสัตว์ที่เลี้ยงอีก เลยเหมือนเป็นประเพณีความเกลียดที่ถูกส่งต่อตั้งแต่นั้นมา” ปรเมศวร์ เล่าถึงข้อขัดแย้งที่ถูกบ่มเพาะทัศนคติมาโดยไม่รู้ตัว และกินเวลายืดเยื้อมานานระหว่างเหี้ยกับคน

“ที่บอกว่าจะเป็นตัวที่ทำร้ายคนก่อน แทบไม่เคยเจอเลย” เกรียงศักดิ์ สอาดรักษ์ อาจารย์ผู้ดูแลวารานัส ฟาร์ม หรือฟาร์มตัวเหี้ยแห่งเดียวในประเทศ เล่าถึงข้อมูลใกล้เคียงกับที่ได้ฟังจากปรเมศวร์

“มันเป็นสัตว์กินซาก ถึงจะบอกว่าไม่มีพิษ แต่น้ำลายมันก็สกปรก” หลายความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ให้ข้อมูลไว้อย่างนั้น

“อาจารย์สัตวแพทย์เคยสุ่มตัวอย่างน้ำลายของสัตว์หลายชนิดมาวิเคราะห์ร่วมกัน เจอว่าน้ำลายของเหี้ยเป็นแบคทีเรียทั่วไป ไม่ได้แตกต่างกับสัตว์ชนิดอื่น ต่างกับ ‘โคโมโด’ ที่ในน้ำลายมีแบคทีเรียเป็นพิษ” อาจารย์เล่าถึงข้อมูลวิจัยซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลในอินเตอร์เน็ต “ที่กัดแล้วเป็นแผลน่ากลัว ติดเชื้อ ก็เป็นแผลทั่วไป ไม่ต้องใช่เหี้ยกัด เราก็ติดเชื้อได้เหมือนกัน” อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิยืนกราน

“มันไม่ได้มีสัญชาตญาณของการชอบทำร้าย ส่วนที่จะทำกับคนจริงๆ คือแอบไปกินพวกสัตว์เลี้ยงเสียมากกว่า”

“ทำไมคนถึงไม่รัก นี่มาจากคำว่า ตัวกินไก่ เลย” ปรเมศวร์ชี้ประเด็นที่สอดคล้องกันแม้ว่าทั้งสองจะปฏิบัติหน้าที่อยู่กันคนละส่วน

กรณีพิพาทนี้เกิดขึ้นมานานนับตั้งแต่ คนเริ่มมาตั้งรกรากอยู่ริมน้ำ เพราะน้ำคือชีวิตของอีกหลายชีวิตไม่ใช่แต่เพียงมนุษย์ สมัยก่อนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามริมน้ำ มักจะเลี้ยงสัตว์เล็ก อย่างเช่นเป็ดหรือไก่ไว้เป็นอาหาร มีกรง มีรั้ว ล้อมไว้ และบ้านของเหี้ยก็มักจะตามริมน้ำเช่นกัน

เหี้ยจะไม่ใช่นักล่าที่เก่งกาจนัก มันไม่มีพิษ วิ่งเร็วๆ ก็ไม่ได้นาน ไม่มีเขี้ยวอย่างสัตว์นักล่าทั่วไป ฟันของมันมีลักษณะคล้ายใบเลื่อยเล็กๆ เหมือนกันทั้งปาก ทำได้ก็แค่ฉีกอาหาร จะกัดหรือหรือเคี้ยวไม่ได้ ที่เป็นอย่างงี้ เพราะเหี้ยถูกออกแบบมาให้กินซากมากกว่า ล่าสัตว์ ไก่หรือสัตว์อะไรที่ยังไม่ตายจึงไม่ใช่เป้าหมายที่เหี้ยจะอยากวิ่งไล่เท่าไหร่นัก แต่ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้มันสามารถจะล่าสัตว์ ขโมยกินไก่ ในรั้วของชาวบ้านได้เป็นเพราะว่าสัตว์เหล่านั้นไม่มีทางหนี เพราะสัตว์เหล่านั้นอยู่ในเขตกรงหรือพื้นที่จำกัด

“ที่ล่า เพราะเขาหิว” เมื่อเรามีเทศบาลเข้ามา ทั้งขยะและอาหารของเหี้ยก็มีคนเข้ามาช่วยเก็บกวาด รวมถึงเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป สัตว์เล็กสัตว์น้อยตามธรรมชาติลดลง เหี้ยจึงต้อง ‘ล่า’ ทำในสิ่งที่ไม่ถนัดนักเพื่อเอาชีวิตรอด

นอกจากงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำลาย ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่พบว่าน่าสนใจ คือระบบการย่อยอาหารของตัวเหี้ย ที่แม้ว่าอาหารที่กิน จะไม่สดใหม่ แต่เหี้ยก็ไม่เคยท้องเสีย

งานวิจัยที่ศึกษาโครงสร้างและกายวิภาคทางเดินอาหารของเหี้ย ซึ่งพบว่า มันเหมาะสำหรับกินอาหารที่อ่อนนุ่มหรือหมักแล้วอย่างซากสัตว์มากกว่า ในทางเดินอาหารของมันจะมีเมือก ซึ่งมีความเป็นกรดสูง ไว้เพื่อย่อยและเปลี่ยนซากกับแบคทีเรียเหล่านั้นให้กลายเป็นสารอาหาร เพื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกายตัวเอง “มันกินซาก แต่มันไม่ได้นำพาโรค” ปรเมศวร์สรุป

เขาสันนิษฐาน จากการที่เรานิยมใช้ชีวิตอยู่ติดกับน้ำ ซึ่งเป็นทั้งที่ระบายทิ้งและแหล่งน้ำกินน้ำใช้ เมื่อมีสัตว์ตาย ก็มีทิ้งลงน้ำบ้าง ปล่อย ฝังบนดินบ้าง เมื่อถูกฝนชะทุกอย่างก็จะไหลงสู่แหล่งน้ำ “สมัยก่อนที่สาธารณะสุขยังไม่ดี ถ้าเหี้ยไม่กินซาก คนไทยอาจจะติดกาฬโรค หรือโรคระบาดหนักๆ อย่างในยุโรปอเมริกาก็ได้” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงชื่นชม
“ถึงแม้มันจะตัวใหญ่แต่มันก็ไม่ได้จะทำร้ายคน เมื่อเทียบกันแล้ว เป็นคนที่ทำร้ายมันมากกว่าอีก” ทั้งสองผู้ใกล้ชิดกับเหี้ยทิ้งท้ายเอาไว้ ด้วยใจความที่ไม่แตกต่างกัน

watermonitor5

watermonitor7

เกลียดตัวกินไข่

“ไม่ค่อยมีหรอก สัตว์ที่จะกินเหี้ยเป็นอาหาร” ปรเมศวร์เล่า

เราอาจคุ้นชื่อขนมไข่หงส์ มากกว่าไข่เหี้ย และคุ้นคำว่าปลาสลิดบางบ่อ มากกว่าปลาสลิดบางเหี้ย แต่ครั้งหนึ่งไข่เหี้ยเคยเป็นของว่างยอดนิยม และแหล่งปลาสลิดก็เคยมีชื่อว่าบางเหี้ยมาก่อน

มีข้อสันนิษฐานที่น่าเชื่อถือ ว่าสำนวน ‘เกลียดตัวกินไข่’ ได้มาจากเหี้ย ข้อหนึ่ง เพราะความขัดแย้งที่มีมายาวนานระหว่างเหี้ยกับคน และข้อสอง มีการค้นพบว่าในหนังสือของ พ.เนตรรังษี มีการกล่าวอ้างถึง ไข่เหี้ย ของว่างซึ่งเป็นที่นิยมกันทั้งภายนอกและในวังหลวง โดยเล่าถึงกระบวนการทำไว้ว่า “ต้องแช่น้ำเกลือ หมกขี้เถ้า ก่อนจะเจาะเปลือกด้วยเหล็กแหลมเล็กๆ และนำไปอังไฟให้สุกหอม” หากใครทำไม่เป็นก็จะได้ที่เหม็นคาว รับประทานไม่อร่อย

แม้ว่าในปัจจุบันเราจะไม่นิยมกินไข่เหี้ยกันแล้ว แต่ทางภาคเหนือและภาคอิสาน หางของเหี้ย นับว่าเป็นอาหารชั้นเลิศ

บ้องตัน หรือส่วนโคนหาง ซึ่งอุดมไปด้วยคอลลาเจนสารเพิ่มความอ่อนเยาว์ เป็นส่วนที่ทั้งทีมนักวิจัยผู้ศึกษา และชาวบ้านทั่วไปต่างลงความเห็นว่า “อร่อยสุดๆ อันนี้รับประกัน”

“รสชาติคล้ายไก่ แต่ลักษณะเนื้อออกไปทางหมูติดมันมากกว่า เราชอบตอนเอาไปผัดกับพริกไทยดำ” ไผ่หรือปรเมศวร์ พูดถึงเมนูเด็ดยามที่ออกสำรวจ “ทำเนื้อเหี้ย ถ้าทำตอนตาย กลิ่นจะสาบ ต้องเชือดแล้วรีบทำเลย ทำงานอยู่ป่าต้องหัดหาอาหารให้เป็น บางครั้งการกินก็ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นนะ” เขาเล่ากลั้วเสียงหัวเราะ

“ไม่ค่อยมีหรอก สัตว์ที่จะกินเหี้ยเป็นอาหาร” ชายคนเดียวกันเคยบอกไว้

watermonitor2

ตัวเงินตัวทอง

“อินโดขายส่งปีละกว่า 5 แสนตัว ส่วนใหญ่จะส่งเนื้อไปขายทางเอเชียเหนือ แถบจีน เวียดนาม ไต้หวัน พม่า ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 20$ เป็นอย่างน้อย กระเป๋าแบรนด์ดังๆ อย่าง Valentino หรือ Hermes ก็มีหนังของเหี้ยอยู่ในคอลเลคชันของสัตว์ป่า” นักวิจัยหนุ่มเล่าถึงตลาดการค้าเหี้ยในต่างประเทศ

“เมื่อก่อนเคยมีคนที่ทำอยู่ แต่ไม่รู้จะขายที่ไหน คนจะซื้อก็ถือ ว่าชื่อไม่ค่อยดีไม่เป็นมงคล เลยทำเป็นอาชีพยากหน่อย ตอนนี้ตลาดเกือบทั้งหมดเลยต่างประเทศ คนไทยไม่เคยเห็นมีใครสนใจ” อาจารย์เกรียงศักดิ์ เล่าถึงสถานการณ์ตลาดเหี้ยในไทยซึ่งฝากไว้กับความเชื่อของคน

“จะทำให้เป็นรูปเป็นร่างได้ เราต้องทำตลาดก่อน”

“หนังเหี้ยคุณภาพดีกว่าหนังจระเข้ เพราะบางและเหนียวกว่า ถ้าใช้หนังจระเข้หนึ่งตัวแล้วเหลือ จะต้องทิ้งเศษนั้นไปเลย เอามาปั้มต่อกันจะเห็นเป็นรอยไม่สวย แต่หนังเหี้ยสามารถนำมาปั้มต่อกันได้ ไม่มีรอยให้เห็น”

“ใช่แล้วครับ ‘ดอกทอง’ มาจากตัวนี้แหละ”

แม้ว่าจะเคยได้ยินหลายที่มา แต่ปรเมศวร์ก็เลือกจะจำว่าคำคำนี้มีที่มาจากลายดอกสีเหลืองทองกลมๆ ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ตามผิวหนังของเหี้ย แต่ใช่ว่าลายเหล่านี้จะไม่เข้าตาไปเสียหมด เพราะความสวยงามและรูปแบบที่ไม่ซ้ำกันของลายดอกสีทองบนหนังแต่ละผืน ทำให้เป็นที่ต้องการของแบรนด์เครื่องหนังยักษ์ใหญ่ หลายแห่ง

“ทางยุโรป อเมริกา ชอบนำไปเป็นสัตว์เลี้ยง เชื่องจนจูงเดินได้ หรือเรียกให้มากินอาหารก็ยังได้ บางที่เพาะพันธุ์จนเป็นสีดำล้วนเลยก็มี” ไผ่เล่า พร้อมชักชวนให้ลองไปเปิดหาคำว่า water monitor pet ดูใน Youtube

แต่เมื่อถามว่า เหี้ยจะเป็นสัตว์เลี้ยงได้จริงหรือ

“เขาเป็นสัตว์ป่า และยังเป็นสัตว์ป่าอยู่” นักวิจัยหนุ่มกลับตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

watermonitor6

watermonitor8

เหี้ยบุกบ้าน !

ช่วงนี้ข่าวเกี่ยวกับสัตว์บุกบ้านคนบน Facebook นอกจากจะเจองูในโถส้วมแล้ว ยังมีเหี้ยบุกครัวอีก

“ส่วนใหญ่คือ หนีน้ำมา เพราะบ้านโดนน้ำท่วมเขาก็เลยต้องออกมา” ไผ่อธิบาย

“ถ้าเขามาหน้าบ้านเราควรทำอย่างไร ?”

“ควรปล่อยผ่าน เดี๋ยวมันก็ออกไปเอง แค่ดูแลสัตว์เลี้ยงเก็บถุงอาหาร หรืออะไรก็ตามที่เป็นพวกขยะสดให้มิดชิด ไม่มีอะไรให้มันค้นหา มันก็จะไปเอง”

“เวลาต้องสู้ เหี้ยจะใช้หาง (แส้) หากจำเป็นต้องจับ ควรคว้าหางไว้ก่อน แต่ส่วนใหญ่ผู้เชี่ยวชาญการจับสัตว์ตามบ้าน เขาจะมีไม้ที่คล้องบ่วงไว้สำหรับล็อคคอ ที่ต้องทำคือกดหางไว้ไม่ให้มันสะบัด จับขาไพล่ไว้บนหลัง และมัดกันไม่ให้วิ่งหนี”

“ทางที่ง่ายกว่านั้นคือป้องกัน ดูแลรอบบ้านของเราไม่ให้รก เก็บขยะเศษอาหารทิ้งให้สะอาด เท่านั้นก็ลดความเสี่ยงที่จะปะทะกันแล้ว”

“เหี้ยอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยก่อนคนก็มักจะสร้างบ้านอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพราะสะดวกต่อการเดินทางและทำสวนทำไร่ คนที่มาทีหลังก็คือคน ที่มาสร้างบ้านครอบเหี้ย” ไผ่เล่าถึงลำดับเหตุการณ์ที่สันนิษฐานถึง

“เราเคยไปช่วยเขาจับเหี้ยบนฝ้าเพดานสภา เพราะแถวนั้นมันมีรังเหี้ยก็ไม่ผิดหรอก เพราะแต่เดิมเป็นบ้านของมัน ผิดที่เรา ไปทับที่บ้านเขา”

watermonitor9

watermonitor10

สัตว์คุ้มครองตามสนธิสัญญาไซเตส

“ไซเตสคือสนธิสัญญาที่คุ้มครองสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ของทั้งโลก ต่างประเทศเขามีน้อย สวนทางกับบ้านเรา” อาจารย์เกรียงศักดิ์ชี้แจงถึงเหตุผลที่เหี้ยยังอยู่ในบัญชีของสัตว์คุ้มครอง

เหี้ย จัดเป็นสัตว์คุ้มครองประเภทสอง คือสามารถที่จะขอเพาะเลี้ยงได้ ถ้าหากต้องการ ก็ยื่นคำขอที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้

“ลองเปิดในกูเกิลดูนะ Megalania” ไผ่เล่าแทรกมาตอนเรากำลังพูดถึงโอกาสการสูญพันธุ์ของเหี้ย “นั่นคือบรรพบุรุษของเหี้ย เห็นการเปลี่ยนแปลงไหม ?”

“ไม่เลย”

“ใช่ มันแทบไม่เปลี่ยนจนเกือบจะพูดได้ว่าเป็น living fossil ได้เลย” ไผ่เฉลย
“ต่างลงมาแค่ขนาด ข้อดีของการลดขนาดลง คือ ลดพื้นที่อยู่อาศัย ลดปริมาณอาหารที่ต้องหาในแต่ละวัน เข้าช่วงวัยสืบพันธุ์ได้เร็ว และเมื่อนำพื้นที่ผิวมาหารปริมาตร จะได้สัดส่วนมากขึ้น ทำให้ร่างกายแลกเปลี่ยนความร้อนได้ดี จึง active มากขึ้น”

เหี้ยเป็นสัตว์ที่เก่งเรื่องการปรับตัว รูปร่างสัดส่วนที่อาจจะมองว่าไม่น่ารักของมัน ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ เหี้ยปรับตัวให้สามารถอยู่ในน้ำที่สกปรกได้โดยที่ตัวเองจะเข้าไปกินซาก ทำความสะอาดได้โดยที่ไม่เป็นอะไร

ล่าไม่ได้ ก็กินซาก เพื่อประหยัดพลังงานในการหาอาหาร ระบบการย่อยอาหารของเหี้ยถูกปรับให้เหมาะสมกับการเป็นผู้ย่อยสลายโดยสมบูรณ์ แต่หากเมื่อจำเป็นต้องล่า ก็ล่าได้ หากเมื่อจำเป็นต้องหนี ก็สามารถที่จะชาร์จพลังเพื่อวิ่งไวได้ (แต่ได้เพียงชั่วคราว และต้องชาร์จใหม่อีกนานมาก) กล้ามเนื้อที่แข็งแรง ช่วยในการปีนป่ายขึ้นต้นไม้เพื่ออาบแดด (เพราะเหี้ย เป็นสัตว์เลือดเย็น เอนไซม์ย่อยอาหารจะทำงานในอุณหภูมิต่ำไม่ได้ จึงจำเป็นต้องอาบแดดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ร่างกายทำงานได้) และยังหลงเหลือหางยาวๆไว้ในยามที่จำเป็นจะต้องป้องกันตัว

ย้อนไปถึงบรรพบุรุษผู้แข็งแกร่งของเหี้ยอย่าง Megalania ซึ่งมีบันทึกไว้ว่าหายไปในช่วงหลังของยุคน้ำแข็ง แม้ว่าก่อนหน้านั้น Megalania จะเคยเป็นผู้ล่าในอันดับต้นๆมาก่อน

“เพราะโลกที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ นั้น การเป็นจุดสูงสุดไม่ได้ทำให้รอดชีวิตเท่ากับการเอาตัวรอดได้”
“เราควรอนุรักษ์เหี้ยอย่างไรไหม ?”

ไผ่ยิ้มให้กับคำถาม “เราไม่ต้องไปคุ้มครองหรือไปอนุรักษ์อะไรมันเลย มันอยู่ของมันมาได้ ขอแค่เราไม่ล่าอย่างเดียวพอ” เขาตอบ

แม้จะถูกมองไปต่างๆ นานา แต่เหี้ยก็ยังคงเป็นตัวเดิม ไม่ว่าจะถูกยกให้เป็นตัวนำโชค สัตว์เศรษฐกิจ หรือถูกกล่าวว่าเป็นสัตว์อัปมงคล วิถีชีวิตและหน้าที่กำจัดสิ่งที่คนรังเกียจของเหี้ย ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่พบจากการศึกษาวิจัยเหี้ย คือ หากไม่ถูกทำร้าย สัญชาตญาณเหี้ยก็มักไม่เลือกจะทำร้ายใครก่อน

“เขาเป็นสัตว์ เหมือนกับเราที่อยากมีชีวิตรอด และพยายามทุกทางให้มีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะนั่นคือธรรมชาติของสัตว์ และสิ่งมีชีวิต”