“คนทำงานด้านสิทธิในอาเซียนต้องเปลี่ยนวิธีคิด” – วิเคราะห์ปรากฏการณ์ “เสรีภาพถดถอย” ในอาเซียน กับ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ*
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ

“ในภาพรวม (กลางปี ๒๕๕๙) สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถอยหลังทั่วภูมิภาค ในฟิลิปปินส์เรื่องน่าสนใจคือการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดี โรดรีโก ดูเตร์เต ที่ใช้นโยบายฆ่าตัดตอนทำสงครามกับยาเสพติด มีลักษณะอำนาจนิยม นโยบายของเขาทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมากจากการฆ่าตัดตอน แต่ก็ยังได้รับเสียงสนับสนุนค่อนข้างมากจากผู้ออกเสียง

“มีบทวิเคราะห์ของ วอลเดน เบลโล อดีตวุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์ ซึ่งพยายามหาคำตอบว่าปรากฏการณ์นี้เกิดได้อย่างไร เบลโลมองว่านี่คือผลจากการที่นักการเมืองตระกูลใหญ่ ๆ ของฟิลิปปินส์ ไม่ว่าจะเป็นอากีโน โรฮาส ฯลฯ ครองอำนาจมานาน ประชาธิปไตยและสิทธิ-มนุษยชนยังไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงอะไร ในขณะที่คนชั้นสูงและชั้นกลางในกรุงมะนิลาประเมินว่าไม่ว่าอย่างไรประสบการณ์ที่ผ่านยุคเผด็จการมาร์กอสมาด้วยกันจะทำให้คนส่วนมากยังให้ความสำคัญกับกระบวนการและคุณค่าเรื่อง ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกประธานาธิบดี

“แต่พวกเขาประเมินผิด คนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่มองว่าชีวิตและปากท้องสำคัญกว่าจนเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีที่สร้างภาพว่าไม่ใช่ชนชั้นสูง เสนอนโยบายทำให้สังคมปลอดภัยด้วยมาตรการรุนแรง ไม่สนใจว่าจะละเมิดสิทธิหรือไม่ ตอนนี้กลุ่มที่เรียกร้องให้สืบสวนเรื่องฆ่าตัดตอนกลายเป็นชนกลุ่มน้อย ถูกวิจารณ์ว่าก่อนหน้านี้ทำไมไม่รักษาสิทธิ์คนที่ถูกพ่อค้ายากระทำบ้าง เรื่องนี้ต้องหาคำตอบให้ได้สำหรับคนทำงานด้านสิทธิในฟิลิปปินส์ เราต้องไม่ลืมว่าแม้การเลือกตั้งจะนำมาสู่สถานการณ์นี้ แต่ยังมีปัจจัยอื่น สถาบันการเมืองในฟิลิปปินส์ยังอยู่ครบ ประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งชัดเจน และต้องมีการเลือกตั้งอีกครั้ง

“ในอินโดนีเซียฝ่ายมุสลิมอนุรักษนิยมกลับมามีบทบาทด้วยข้ออ้างทางศาสนา พื้นที่เสรีภาพลดลง ประธานาธิบดีโจโกวีที่เคยเป็นความหวังก็ทำอะไรไม่ได้มาก ล่าสุดยังตั้งนายพลวิรันโตผู้เคยสั่งปราบประชาชนเป็นรัฐมนตรี อาการนี้บอกว่าทหารอินโดนีเซียยังคงมีอิทธิพล มีการต่อรองกับนักการเมือง ตอนนี้ LGBT ก็แย่เพราะมีความพยายามทำให้กลุ่มนี้ผิดกฎหมาย มีการทำลายกลุ่ม LGBT ด้วยกฎหมายหยุมหยิม ตัดสินประหารนักโทษคดียาเสพติดด้วยระบบศาลเดียว มีการจัดระเบียบสังคม ทุกวันนี้ในอินโดนีเซียไม่มีเบียร์ขายในร้านสะดวกซื้อแล้ว ต้องไปกินในผับบาร์เท่านั้น

“ลาวกับเวียดนามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนไม่ดีมาตลอด เราแทบไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น คนในลาวไม่มีใครกล้าพูด เรายังเห็นการอุ้มหายนักกิจกรรมทางสังคมอยู่เสมอ กรณีเวียดนามมีความเคลื่อนไหวของคนนอกประเทศที่เรียกร้องสิทธิต่าง ๆ มีความเคลื่อนไหวที่คึกคักบางเรื่อง เช่น LGBT ซึ่งสถานการณ์นี้คล้ายสิงคโปร์ที่กลุ่ม LGBT มีความเคลื่อนไหวมากพอสมควร

“พม่านั้นภาพรวมดูดีกว่าที่ผ่านมา แต่ก็พูดได้ไม่เต็มปากเพราะเป็นรัฐซ้อนรัฐ ทหารยังมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ อองซาน ซูจี ทำอะไรไม่ได้มากนักเพราะมีเพดาน ต้องต่อรองอำนาจ ตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนขึ้นสู่อำนาจ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติกำหนดว่าใน ๑๐๐ วัน ๑ ปี พม่าน่าจะปรับปรุงอะไร ตอนนี้ผ่าน ๑๐๐ วันไปแล้ว ที่ควรทำกลับทำได้แค่เรื่องเดียว คือการปล่อยนักโทษการเมืองกลุ่มเก่า แต่คนที่ประท้วงเรื่องที่ดินทำกิน แรงงาน ก็ยังคงถูกคุมขัง

“ในกัมพูชาสถานการณ์ล่าสุดมีการฆาตกรรมนักวิจารณ์รัฐบาล จับกุมนักสิทธิมนุษยชน รัฐเริ่มคุกคามการทำงานของเอ็นจีโอ ส่วนไทยต้องพูดว่าเดินตามพม่า คือเป็นรัฐทหาร หลังลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ อาจพอสรุปได้ว่าคนที่รับส่วนหนึ่งอยากเลือกตั้งเร็ว อีกส่วนมองว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะคุมนักการเมืองได้ แต่ก็น่าสนใจว่าคนจำนวนมากไม่อ่านรายละเอียดรัฐธรรมนูญ ตามผลโพลคนที่อ่านมากที่สุดคือคนอีสาน คนเมืองหลวงกับภาคใต้อ่านน้อยที่สุดแล้วโหวตรับถล่มทลาย รัฐบาลทหารแถลงตอบโต้องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ แต่ยังไม่คุกคามเท่าที่ทำกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ คดีไหนต่างชาติสนใจ จะชะลอไปฟ้องทีหลัง นอกจากนี้ยังมีคดีเล็ก ๆ หลายคดีที่เราไม่ทราบ โดยที่ปรกติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ต้องทำงานตรงนี้

“ผลประชามติในไทยสร้างความเสียหายให้ขบวนการสิทธิ-มนุษยชน การเคลื่อนไหวจะยากขึ้น และถ้าเกิดวิกฤตทางการเมือง การควบคุมอาจหนักข้อขึ้น แต่เราก็ต้องทำงานต่อและทบทวนโจทย์ที่เคยตั้งไว้ และไทยต้องการคนที่เคลื่อนไหวภายนอกเรื่องสิทธิมนุษยชนมากกว่าที่เป็นอยู่

“ตอนนี้ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สถานการณ์ถอยหลังไปหาลาว เขมร พม่า ชนวนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือเศรษฐกิจ ปรากฏการณ์ที่เกิดกับสิงคโปร์และไทยที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจระดับหนึ่งคือ คนจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เอาตัวรอดกันไป ไม่ได้อยากส่งเสียงมากนัก ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจยังทรงตัว ก็ยากมากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง

“ในภาพรวมเราต้องการความคิดสร้างสรรค์เพื่อทำงานต่อ ในฟิลิปปินส์มรดกการต่อสู้กับมาร์กอสนั้นไม่ได้รับการส่งต่อ มีการนำชุดความคิดบางเรื่องมาย้อนถามนักสิทธิฯ ในไทยเราขาดรุ่นคนทำงาน ส่วนหนึ่งถูกระบบกลืนกินไปจนเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจ บางกลุ่มยังได้ผลประโยชน์จากการยึดกุมการเคลื่อนไหวและมองปัญหาแยกส่วน เช่นคนที่ทำเรื่อง LGBT ก็สนใจแต่ประเด็นตัวเอง ไม่สนใจวิธีที่จะได้ชัยชนะ ไม่สนใจว่าคนที่เรียกร้องเรื่องการเมืองถูกจับอย่างไร ทั้งที่การเรียกร้องความเป็นธรรมแยกไม่ได้ มันคือเรื่องบนพื้นฐานเดียวกัน

“ขบวนการเคลื่อนไหวที่ประสบความสำเร็จ เช่นซาปาติสตา (Zapatista) ที่ทำเรื่องสิทธิชนพื้นเมือง เขาไม่เคยปฏิเสธเรื่องสิทธิผู้ติดเชื้อเอดส์ ไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของกลุ่ม LGBT แม้ไม่ได้ทำเรื่องพวกนี้ แต่เขาสนใจว่าเกิดอะไรกับคนอื่น นี่เป็นปัญหาว่าบางกลุ่มไม่ยอมพูดนอกประเด็นที่ตัวเองทำงานเพราะกลัวจะเสียขนมที่เป็นของล่อจากรัฐ ถึงตอนนี้คนทำงานด้านสิทธิในอาเซียนต้องเปลี่ยนวิธีคิด การมองแยกประเด็นจะไม่มีทางได้อะไรกลับมาแน่นอน”

*พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ – เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟอรั่มเอเชีย (Forum Asia) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคที่มีสมาชิกเป็นองค์กรซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ๕๘ องค์กร จาก ๑๙ ประเทศในทวีปเอเชีย