สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์และถ่ายภาพ

SOTUS อยู่ได้เพราะโรงเรียนไทยไม่สอนเรื่องสิทธิมนุษยชน ถอดรื้อความรุนแรงในมหาวิทยาลัยไทยกับแอดมิน Anti-SOTUSทุกปีเมื่อเปิดเทอมเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ “รับน้องรุนแรง” มักตกเป็นข่าวหน้า ๑ ในสื่อต่าง ๆ เสมอ ไม่นานมานี้มีกลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับระบบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ดำรงอยู่ในมหาวิทยาลัยไทย ก่อตั้งเฟซบุ๊กเพจ Anti-SOTUS ขึ้นบนโลกออนไลน์

พวกเขาเกาะติดประเด็นข่าวการรับน้องรุนแรงและรายงานผ่าน Anti-SOTUS พลังของโซเชียลมีเดียทำให้เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ สังคมไทยจึงได้รับรู้ว่ามีกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากเกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาไทยแทบทุกแห่งสารคดีมีโอกาสพูดคุยกับแอดมินเพจ Anti-SOTUS ถึงการทำงานและเจตนารมณ์ของพวกเขา

มาเป็นแอดมินเพจแอนติโซตัสได้อย่างไร และโดยส่วนตัวต่อต้านระบบนี้อยู่แล้วแต่ต้นหรือไม่
Admin 1 : ผมเคยเรียนสายอาชีวะ สมัยก่อนผมไม่เห็นความรุนแรงของเรื่องนี้ ผมเคยอยู่ในกลุ่มปิดในโซเชียลมีเดีย เคยว่าคนที่ต่อต้านระบบนี้ แต่เมื่อรุ่นผมมี ๑๐๐ คน โดนระบบนี้จนลาออกเหลือไม่กี่คน บางครั้งตีสาม ตีสี่ รุ่นพี่โทร.มาปลุก โดนเรียกไปกินเหล้ากลางคืน ผมไม่ยอมไป แต่เพื่อนหลายคนกลัวก็ไป แล้วเช้าก็มาเรียนในสภาพเมาค้าง ผมเห็นว่ามันทำให้คนเสียโอกาส ผมจึงเริ่มต่อสู้ตอนย้ายไปที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลนครปฐม จนตอนหลังผมมาประชุมประจำปีของเพจนี้และกลายเป็นหนึ่งในทีมแอดมินเพจ
Admin 2 : ผมเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งย่านพระราม ๗ มีว้ากในห้องน้ำ เอาน้ำราด ใช้วาจาหยาบคาย ถูกกำหนดเรื่องการแต่งตัวซึ่งรุ่นพี่ก็ไม่เคยทำ ผมเคยส่งเรื่องร้องเรียนมาที่เพจนี้ และต่อมาโดนล่าแม่มด เลยถูกชวนมาช่วยกันสู้ พอมารับเรื่องเองก็เลยรู้ว่ามีคนที่โดนหนักกว่าเรามาก

เมื่อมีกรณีร้องเรียนเรื่องว้ากเข้ามา พวกคุณแบ่งงานกันอย่างไร
Admin 1 : ก่อนตั้งกระทู้เราจะคุยกลุ่มแบบออนไลน์ กำหนดแนวทางเล่นเรื่องนั้น จั๋มจะบอกความเป็นมา ที่ประชุมจะกลั่นกรองเรื่องว่าจริงแค่ไหน ที่เราพยายามทำคือติดต่อกับหน่วยงานที่มีอำนาจดูแลโดยตรงเพื่อขอให้แก้ไข
Admin 2 : ส่วนมากผมรับเรื่องและติดต่อสื่อมวลชน โดยเราต้องปกปิดคนให้ข้อมูลเพื่อความปลอดภัย และคุยกันให้เขาสบายใจที่จะให้ข้อมูลเรา มีหลายกรณีที่เราตั้งกระทู้แล้วมีคนในสถาบันนั้นส่งข้อความมาว่าลบได้ไหม เขาเสียชื่อเสียง เราก็มักต่อรองว่าอย่างนั้นให้สภานักศึกษา หรือหน่วยงานที่ดูแลมาติดต่อเรา ว่าคุณจะลงโทษคนก่อเรื่องหรือไม่ ถ้ามีการดำเนินการจริงเราก็จะเอากระทู้ลงและเขียนเล่าการแก้ไขปัญหาสถาบันนั้น ๆ แต่ประเภทที่จะมาขอให้ลบกระทู้เฉย ๆ คงทำให้ไม่ได้

นอกจากเหยื่อ ญาติเหยื่อ มหาวิทยาลัย คณะต้นสังกัด ฯลฯ ติดต่อมาเจรจาเองทุกกรณีหรือไม่
Admin 1 : มีทั้งแบบที่คณบดี หรืออาจารย์ในคณะติดต่อมา มาเจรจา หรือมาต่อว่าก็มี บางที่เราติดต่อไปก็เงียบ เช่นกรณีเมื่อปี ๒๕๕๘ ที่นักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ข่มขู่ ดร. ลลิตา หาญวงษ์ หลังอาจารย์วิจารณ์ระบบโซตัส ทางมหาวิทยาลัยไม่ตอบรับ ทั้งยังมีอาจารย์บางคนยั่วยุเด็กให้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อรักษาระบบ ก่อนเรื่องจะจบโดยกลับมีพิธีนำนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ไปขอขมากับผู้บริหารมหาวิทยาลัย แต่ไม่ใช่กับผู้เสียหาย

ตรรกะอะไรที่คนที่นิยมระบบโซตัสชอบใช้เวลาตอบโต้กับแอดมิน
Admin 1 : อ้างว่าระบบทำให้คนสามัคคี ซึ่งที่จริงมีวิธีอื่นที่ให้ผลไม่ต่างกัน เขามักบอกว่าคุณไม่ใช่คนในคุณไม่รู้หรอก แต่ข้อมูลที่เราได้มาก็มาจากคนในเองนั่นแหละ คนในก็อยากเปลี่ยน แต่ออกหน้าไม่ได้ รุ่นพี่ที่ชอบพูดแบบนี้ไม่คิดและน่าเบื่อที่จะพูดคุยด้วย ผมกลับชอบคนที่มีตรรกะแต่นิยมระบบ คนแบบหลังแม้นิยมโซตัส แต่จะถกเถียงกันได้ดีกว่า
Admin 2 : อีกเรื่องก็ชอบอ้างว่าระบบนี้มีมานาน มันต้องมีข้อดี แต่นี่คือคิดง่าย ๆ ไม่อย่างนั้นโลกก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหาสิ่งที่ดีขึ้น รุ่นพี่ชอบอ้างว่าเหนื่อยมาก ไม่เห็นใจกันบ้างหรือ แต่อย่าลืมว่ารุ่นน้องก็ไม่ได้ขอให้จัดให้ คุณเองต่างหากไปบังคับเขา ระบบนี้ทำให้มหาวิทยาลัยที่ควรให้อิสระกับคนเรียนกลายเป็นโรงเรียนมัธยมฯ รุ่นน้องหลายคนยังต้องการ “รุ่น” เพราะเชื่อว่าจะได้รับความช่วยเหลือ ได้ชีตจากรุ่นพี่ กลัวการบอยคอต ฯลฯ ทั้งที่ภาควิชาตั้งขึ้นจากเงินภาษี เจ้าของคือมหาวิทยาลัย สอบเข้ามาก็ได้ “รุ่น” แล้ว และเรื่องเหล่านี้ส่วนหนึ่งขึ้นกับความสามารถของเราเองต่างหาก

หลายครั้งเหยื่อไม่กล้าดำเนินคดีกับรุ่นพี่ที่ละเมิดสิทธิ บางคนขึ้นปี ๒ แล้วกลับมาช่วยดำรงระบบต่อ
Admin 1 : คนไทยจำนวนมากยังไม่ตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่รู้จักสิทธิในรัฐธรรมนูญ ระบบโซตัสอยู่ได้เพราะโรงเรียนไทยไม่สอนเรื่องสิทธิมนุษยชน ผมเองเคยไปแจ้งความ ปรากฏว่าตำรวจกลับบอกว่าจะแจ้งทำไม เรื่องเล็ก เขาก็เคยโดน เราจะเสียอนาคต ฯลฯ จนผมต้องบอกว่าถ้าตำรวจไม่รับแจ้งก็จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ สุดท้ายก็ทำได้แค่ลงบันทึกประจำวัน ส่วนคำถามที่ว่าทำไมขึ้นปี ๒ หลายคนกลับมาชอบระบบนี้ ส่วนหนึ่งคือคนเห่ออำนาจ ขึ้นปี ๒ เห่อเสื้อช็อป รู้สึกห้าว อย่าลืมว่าเดิมคนเหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมภายนอกด้วยซ้ำ จึงรู้สึกอยากใช้อำนาจ เป้าหมายขั้นต่ำของเราก็คือให้ผู้ประสบเหตุได้รับการดูแล หน่วยงานที่ทำหน้าที่ต้องรับผิดชอบ แค่นี้ผมถือว่าเราทำสิ่งที่ต้องทำแล้ว เขาจะย้อนมาว่าเราหรือจะเปลี่ยนความคิดไปก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ
Admin 2 : บางทีก็น่าสงสัยว่าถ้าเรื่องพวกนี้ดีจริงทำไมถึงต้องปกปิดกันนัก การที่ผู้ประสบเหตุหลายคนกลับโพสต์ช่วยรุ่นพี่ ปกป้องมหาวิทยาลัย ก็ต้องเข้าใจว่าเขาต้องหาทางอยู่ในสังคมนั้นต่อไปถ้าไม่ลาออก ส่วนพวกปีสูง ๆ ที่ไม่ต่อต้าน เขาอาจมองว่าเดี๋ยวก็เรียนจบแล้ว จะไปมีเรื่องทำไม เปิดเผยขึ้นก็โดนล่าแม่มดอีก ผมคิดว่าสู้เรื่องนี้ต้องเปิดในที่แจ้ง ยังมีข้อสังเกตว่ามหาวิทยาลัยเล็ก ๆ โซตัสจะแรงกว่าในมหาวิทยาลัยใหญ่ แล้วพวกนี้จะกลัวมากเมื่อเป็นข่าว จริง ๆ เราคุ้นแล้วกรณีเหยื่อไม่ดำเนินคดีคนก่อเหตุ ซึ่งเราก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขา

เคยสรุปสถานการณ์ที่ผ่านมาหรือไม่ แนวการทำงานในอนาคตเป็นอย่างไร
Admin 2 : ปรกติเทอมแรกจะมีกรณีเข้ามาเยอะ เทอม ๒ มักเป็นเรื่องรุ่นพี่ไม่ยอมเลิกรับน้อง แอบรับนอกสถานที่ อยากฝากพวกปี ๑ ว่าการรับน้องเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องสนใจถ้าไม่ชอบ ไม่มีใครมีสิทธิ์บังคับ ถ้าเพื่อนบอกว่าเดือดร้อนเพราะเราไม่เข้า ก็สวนกลับเลยว่าแล้วคุณเข้าไปให้เขาสั่งซ่อมทำไม ไม่ต้องกลัวเรื่องรุ่น ทุกวันนี้ผมไม่มีรุ่นก็ยังติวให้คนมีรุ่นด้วยซ้ำ เพื่อนผมก็มีทั้งห้องที่เรียนด้วยกัน
Admin 1 : ยังไม่เคยสรุปจำนวนเหตุการณ์จริง ๆ เพราะต้องมีอีกมากที่ไม่ได้เผยแพร่ แต่ทุกปีจะมีกรณีใหญ่ ๆ ไม่ต่ำกว่า ๒๐ กรณีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด ในอนาคตผมคิดว่าเราอาจร่วมกับหน่วยงานในต่างประเทศ ทำให้เห็นว่าการละเมิดสิทธิยังเป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับในสถาบันการศึกษาไทย ซึ่งมันน่าหดหู่มาก ตอนนี้การเปลี่ยนแปลงขั้นต่ำสุดที่อยากเห็นคือ อยากให้คนจัดกิจกรรมรู้ว่ามันมีกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรงแต่ให้ผลแบบเดียวกัน และผมหวังว่าใน ๕ ปีนี้จะทำให้เรื่องนี้จบลงได้ ด้วยอำนาจที่เป็นธรรมชาติที่สุดคือ “โลกาภิวัตน์”