ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

Layla and Other Assorted Love Songs (1970) - วงดนตรี Derek and the Dominos

ภาพวาดโดย เอมิล เทโอดอร์ ฟรานเซน –  https://goo.gl/U5wx0M

ภาพบนปกอัลบัมนี้เป็นภาพวาดของ เอมิล เทโอดอร์ ฟรานเซน ชื่อ La Fille au Bouquet หรือ The girl with the bouquet (เด็กสาวกับช่อดอกไม้) อีริก แคลปตัน เห็นภาพนี้เป็นครั้งแรกในบ้านของ จิออร์จิโอ โกเมลสกี พ่อของเพื่อนที่เขาอาศัยอยู่ด้วยระยะหนึ่งตอนไปเล่นคอนเสิร์ตกับวง the Dominos ที่ฝรั่งเศส ช่วง ค.ศ. ๑๙๗๐

ทันทีที่เห็นรูปสาวผมบลอนด์ในภาพ แคลปตันก็รู้สึกว่าช่างประพิมพ์ประพายคล้าย แพตตี บอยด์ นางในดวงใจที่เขากำลังลุ่มหลงอย่างคลุ้มคลั่ง ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาแต่งเพลง “Layla” (เพลงเอกที่กลายเป็นชื่ออัลบัมนี้ด้วย) เสียเหลือเกิน เขาจึงยืนยันเป็นมั่นเหมาะจะใช้ภาพนี้เป็นปกอัลบัมโดยไม่ให้ใครโต้แย้ง และไม่ยอมให้มีชื่ออัลบัมหรือชื่อวงมาวางบนภาพให้เกะกะลูกตา (ตัวหนังสือตัวเดียวที่อยู่บนภาพเป็นลายเซ็นของฟรานเซนศิลปินผู้วาดภาพ) ส่วนปกหลังเป็นภาพกีตาร์และโดมิโนที่กองเกลื่อนกลาดซึ่งเป็นตัวแทนของพ่อยอดชายนายเดเร็ก (Derek-ก็อีริกนั่นแหละ) และเหล่าผองเพื่อน (the Dominos)

เอมิล เทโอดอร์ ฟรานเซน เดอ โชมแบร์ก (Émile Théodore Frandsen de Schomberg / 1902-1969) เป็นจิตรกรชาวเดนมาร์กที่อาศัยและทำงานในฝรั่งเศส ผลงานส่วนใหญ่เป็นภาพพอร์ตเทรต หุ่นนิ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบประหลาดล้ำที่นำโลกแห่งความเป็นจริงผนวกกับโลกจินตนาการ ภาพวาดโดดเด่นที่สุดคือภาพผู้หญิงงดงามพิสุทธิ์ น่าหลงใหล หากแต่แฝงด้วยความเจ็บปวด เศร้าสร้อย ความโหดร้ายและความหวัง ดูผลงานอื่น ๆ ของเขาได้ที่ https://goo.gl/LuhJR2

Layla and Other Assorted Love Songs (1970) สตูดิโออัลบัมแรกและอัลบัมเดียวของวงบลูส์ร็อกระดับตำนานที่อายุสั้นที่สุดวงหนึ่งอย่าง Derek and the Dominos ซึ่งเป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจของสุดยอดนักดนตรี นำทีมโดย อีริก แคลปตัน มือกีตาร์บลูส์ร็อกชาวอังกฤษ ผู้โด่งดังจากการเป็นหนึ่งในมือกีตาร์ของวงบลูส์ร็อกระดับตำนานอย่าง The Yardbirds และโด่งดังยิ่งขึ้นเมื่อเขาลาออกมาฟอร์มซูเปอร์แบนด์อย่าง Cream เจ้าของสำเนียงกีตาร์และการเล่นดนตรีอันเฉียบขาด ดุดัน ร้อนแรง (เขาโด่งดังถึงขนาดมีคนมือดีพ่นสีสเปรย์บนกำแพงว่า “Clapton is God” จนเขาได้ฉายาว่า “มือกีตาร์เทพเจ้า” ติดตัวอยู่พักหนึ่ง)

หลังจากวง Cream ต้องยุบลงด้วยปัญหายาเสพติดและความขัดแย้งภายในวง ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่แคลปตันมีโอกาสได้รู้จักและสนิทสนมกับ จอร์จ แฮร์ริสัน มือกีตาร์ของวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่และโด่งดังที่สุดในยุคนั้นอย่าง The Beatles แต่มิตรภาพกลับก่อให้เกิดปัญหา เพราะแคลปตันได้ตกหลุมรัก แพตตี บอยด์ นักแสดงและนางแบบสาวสวย ภรรยาของแฮร์ริสันเข้าอย่างจังและลุ่มหลงจนหัวปักหัวปำนี่สิ !

พิษสงจากความไม่สมหวังในรัก เพราะดันไปรักเมียเพื่อนสนิท และความผิดหวังจากการฟอร์มวง Blind Faith ที่ล้มเหลวยับเยินทั้งรายได้และเสียงวิจารณ์ ทำให้เขาเก็บตัวเขียนเพลงเพลงหนึ่ง เพื่อแสดงออกถึงความเจ็บช้ำในใจ และเสมือนหนึ่งส่งสาส์นรักลับ ๆ ถึงเมียสาวแสนสวยของเพื่อนรัก ซึ่งก็คือเพลง “Layla” นั่นเอง

เขานำแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงนี้มาจากบทกวีคลาสสิกของกวีเอกชาวเปอร์เซีย The Story of Layla and Majnun ซึ่งเป็นเรื่องราวของชายหนุ่มที่ตกหลุมรักเจ้าหญิงแสนสวยผู้ต้องจำใจแต่งงานกับชายแก่คราวพ่อ จนสุดท้ายต้องเสียสติเพราะความผิดหวัง และรวบรวมมิตรสหายซึ่งเป็นนักดนตรีชั้นนำอย่าง บ็อบบี วิตล็อก, คาร์ล แรเดิล, จิม กอร์ดอน และ ดวน ออลแมน มาช่วยบันทึกเสียงเพลงนี้ และอีกหลาย ๆ เพลงที่แคลปตันแต่งจนกลายเป็นอัลบัม และในที่สุดก็ฟอร์มวงเฉพาะกิจขึ้นมาคือ Derek and the Dominos อัลบัมนี้ประสบความสำเร็จอย่างมโหฬาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงเอกอย่าง “Layla” ที่กลายเป็นเพลงร็อกคลาสสิกระดับขึ้นหิ้งของวงการจวบจนทุกวันนี้

น่าเสียดายซูเปอร์กรุ๊ปอย่าง Derek and the Dominos (1970-1971) ที่มีอายุสั้นนัก เหตุเพราะปัญหาส่วนตัวของแคลปตัน ที่หมกมุ่นในความรักจนหัวปักหัวปำประกอบกับติดยาเสพติดจนเพ้อคลั่ง และการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอย่างน่าเศร้าของ ดวน ออลแมน (ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความสำเร็จส่วนหนึ่งของอัลบัมและเพลงเอกอย่าง “Layla” มาจากฝีมือการสไลด์กีตาร์อันเฉียบขาดบาดจิตของ ดวน ออลแมน แห่ง Allman Brothers Band) แต่ในความโชคร้ายและความมืดมนก็ยังมีแสงสว่างจากมิตรภาพของเพื่อนสนิทอย่าง จอร์จ แฮร์ริสัน ที่ยื่นมือมาช่วยเหลือแคลปตันผู้ตกต่ำอย่างถึงขีดสุด ให้เลิกยาจนกลับมาเป็นผู้เป็นคน และยินยอมหลีกทางให้เพื่อนซี้ได้สมรักสมรสกับอดีตเมียตัวเองอย่างสมใจนึกลอนดอน

และนอกจากเพลง “Layla” จะเป็นเพลงบลูส์ร็อกซึ่งเป็นเจ้าของเสียงกีตาร์เฉียบขาด ดุดัน และโหยไห้ที่สุดในวงการร็อกเพลงหนึ่งแล้ว ยังเป็นเจ้าของท่อนจบ (coda) อันสุดแสนไพเราะหวานซึ้งตรึงจิตที่สุดอีกเพลงหนึ่งด้วย (coda ภาษาอิตาลีแปลว่า “หาง” เป็นท่อนจบหรือท่อนแยกปิดท้ายเพลง)

ซึ่งตรงส่วนนี้ต้องยกเครดิตความดีความชอบให้มือกลอง จิม กอร์ดอน ที่ตอนซ้อมดนตรีอยู่ดี ๆ ก็ครึ้มอกครึ้มใจผละจากกลองชุดมาที่เปียโนเพื่อด้นสดท่อนนี้ต่อหลังจากเพลงจบหน้าตาเฉย โดยเพื่อน ๆ ในวงก็ไม่งง แต่รับมุกเล่นต่อจนจบด้วย จากเพลงที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว ก็เลยกลายเป็นความสมบูรณ์แบบมหัศจรรย์อย่างหาที่ติมิได้

ไม่น่าเชื่อว่าคนที่แต่งท่อนจบอันหวานหยดและเพราะพริ้งให้เพลง “Layla” อย่าง จิม กอร์ดอน จะเป็นคนเดียวกับชายโรคจิตที่ฆาตกรรมแม่ตัวเองด้วยมีดหั่นเนื้อและค้อนอย่างน่าสยดสยอง ต้องจำคุกอยู่หลายสิบปีและถูกควบคุมตัวและรักษาในฐานะผู้ป่วยทางจิตมาจนทุกวันนี้

…………………….

แถมท้าย : เทพธิดาแห่งแรงบันดาลใจของวงการร็อก

นอกจากความงามของเธอจะเป็นแรงบันดาลใจให้ยอดชายนายอีริก แคลปตัน แต่งเพลง “Layla” ให้เธอจนกลายเป็นเพลงคลาสสิกในวงการร็อก นางแบบและนักแสดงหนังสาวแสนสวยอย่าง แพตตี บอยด์ ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เพลงเอกในวงการร็อกอีกหลายเพลง นับตั้งแต่สามีเก่าอย่าง จอร์จ แฮร์ริสัน ที่แต่งเพลงหวานหยดอย่าง “Something” และ “For You Blue” อุทิศให้เธอ ไปจนถึงสามีใหม่ (ที่แย่งเขามา) อย่าง อีริก แคลปตัน ที่นอกจากจะแต่งเพลงอมตะสุดฮิตเกี้ยวพาจนได้เมียเพื่อนรักมาครองแล้ว เขายังแต่งเพลง “Bell Bottom Blues” และเพลงรักหวานหยาดเยิ้มที่สุดในสามโลกอย่าง “Wonderful Tonight” เป็นอนุสรณ์แก่ความรักที่เขามีแด่เธอ (แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็เลิกกัน นี่แหละน้าความรักของพวกเซเลบฯ รักง่ายหน่ายเร็วจริง !) เรียกได้ว่าเธอเป็นเทพธิดาแห่งแรงบันดาลใจของวงการดนตรีร็อกจริง ๆ