ภัควดี วีระภาสพงษ์

โลกใบใหม่ - ฟุตบอลเพื่อสันติภาพและสิทธิของผู้หญิง

พื้นที่ภาคเหนือของประเทศเคนยาเต็มไปด้วยการฆ่าฟัน ทั้งจากความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ ระหว่างกลุ่ม และระหว่างศาสนา การปล้น ข่มขืน สังหารหมู่ แทบจะเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ความยากจน ไร้การศึกษา และประเพณีดั้งเดิมอันโหดร้าย เช่นการขลิบอวัยวะเพศผู้หญิง ยังปฏิบัติกันทั่วไป

“มันเป็นพื้นที่ที่เด็กวัยรุ่นหาปืนอาก้า-๔๗ (AK-47) ได้ง่ายกว่าการศึกษา” ฟาตูมา อับดุลคาดีร์ อาดาน (Fatuma Abdulkadir Adan) เคยกล่าว เธอคือนักกิจกรรมสตรีผู้ก่อตั้งองค์กร Horn of Africa Development Initiative (HODI) และโครงการ “ยิงเพื่อประตู ไม่ใช่เพื่อฆ่า” (“Shoot to score, not to kill”) ซึ่งใช้ฟุตบอลเป็นสื่อสันติภาพและสร้างเสริมสิทธิของผู้หญิง

จากนักกฎหมายกลายเป็นนักกิจกรรม

ฟาตูมาเกิดเมื่อปี ๒๕๒๑ ภูมิลำเนาอยู่ที่เขตมาร์ซาบิต (Marsabit) ซึ่งเคยเกิดการสังหารหมู่ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์โบรานา (Borana) กับกาบรา (Gabra) เมื่อปี ๒๕๔๘ ในดินแดนที่ผู้หญิงอายุแค่ ๑๒ ปีถูกบังคับให้ออกจากโรงเรียนมาแต่งงาน ฟาตูมาโชคดีที่มีพ่อเป็นครูและเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา เธอจบทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในเคนยาภาคตะวันตกและเคยฝึกงาน ๖ เดือนในบริษัทกฎหมายที่เมืองมอมบาซา แต่แทนที่จะแสวงหาความรุ่งเรืองด้านงานอาชีพในเมืองใหญ่ ฟาตูมากลับรู้สึกว่านั่นไม่ใช่คำตอบสำหรับชีวิต เธอจึงตัดสินใจกลับบ้านที่มาร์ซาบิต

นอกจากใช้ความรู้กฎหมายเพื่อช่วยเหลือคนยากจนแล้ว ฟาตูมาต้องการทำกิจกรรมด้านสันติภาพและลดความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ต่าง ๆ นี่อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะพ่อแม่เธอมาจากกลุ่มชาติพันธุ์โบรานาและกาบราที่เป็นคู่อาฆาตกัน มิหนำซ้ำเธอยังแต่งงานกับสามีที่มาจากชาติพันธุ์เรนดิลล์ (Rendille) ด้วย ในปี ๒๕๔๖ ฟาตูมาก่อตั้งองค์กร Horn of Africa Development Initiative (HODI) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเคนยา รวมทั้งปกป้องและหนุนเสริมสิทธิมนุษยชน โดยตั้งอยู่บนหลักสำคัญสี่ประการคือ การช่วยเหลือด้านกฎหมาย การศึกษา การพึ่งตัวเองในด้านเศรษฐกิจและการสนับสนุนสิทธิมนุษยชน HODI เติบโตขึ้นจนกลายเป็นองค์กรเอกชนที่เป็นต้นแบบในระดับนานาชาติ

“ยิงเพื่อประตู ไม่ใช่เพื่อฆ่า”

ฟาตูมาชอบฟุตบอลมาแต่ไหนแต่ไร แต่เธอไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นในสังคมที่เคร่งครัดประเพณี เธอจึงเกิดแนวคิดที่จะใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือเสริมสร้างสันติภาพในหมู่เด็กผู้ชายและส่งเสริมสิทธิกับความมั่นใจตัวเองให้เด็กผู้หญิง

หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ระหว่างสองชาติพันธุ์ที่เธอสืบเชื้อสาย ฟาตูมาเริ่มคิดว่าเธอน่าจะใช้ฟุตบอลสร้างสัมพันธภาพและสันติภาพระหว่างเยาวชนชาย ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากในเคนยา “เราเคยชินกับเสียงปืน” ฟาตูมากล่าวด้วยสุ้มเสียงแผ่วเบานุ่มนวล “ฉันรู้ว่าหนุ่ม ๆ รักฟุตบอล และเมื่อไรที่ทีมอย่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและอาร์เซนอลลงสนาม วันนั้นเสียงปืนจะน้อยกว่าปรกติ”

เธอจึงริเริ่มโครงการ “ยิงเพื่อประตู ไม่ใช่เพื่อฆ่า” ซึ่งเป็นโครงการที่เสี่ยงกับความปลอดภัยส่วนตัวของเธอไม่น้อย เธอจัดการแข่งขันที่บางครั้งเป็นการปะทะระหว่างสองทีมที่มาจากชาติพันธุ์ที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน ฟาตูมาต้องใช้กลวิธีต่าง ๆ ป้องกันไม่ให้เด็กผู้ชายเหล่านี้เปลี่ยนเกมฟุตบอลจนกลายเป็นสงครามกลางสนาม “นักฟุตบอลจะโดนใบแดงถ้าทำความผิดซ้ำ ๆ” เธอเล่า “แต่ในไม่ช้าเราก็ตระหนักว่า เด็กผู้ชายภูมิใจกับการถูกลงโทษ พวกเขาพยายามให้ตัวเองได้ใบ ‘รางวัล’ นี้ด้วยการทำให้อีกฝ่ายหัวแตกหรือกระดูกหัก”

ฟาตูมาจึงออกแบบกติกาที่ให้คะแนน “สันติภาพ” แก่ความมีน้ำใจนักกีฬาและความประพฤติที่ดีในสนามนอกเหนือแต้มจากการยิงประตู ฟุตบอลที่นี่เปลี่ยนกติกาใหม่ ไม่แจกใบแดงใบเหลืองเมื่อทำฟาวล์ แต่แจกใบเขียวและขนมให้นักกีฬาที่ปฏิบัติตามกติกาแทน เธอหวังว่าการเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตามกติกา การได้คลุกคลีกับคนชาติพันธุ์อื่นที่เคยเป็นศัตรูกัน การเล่นกีฬาแทนจับปืนฆ่าคน จะช่วยให้เยาวชนเหล่านี้เปลี่ยนภาพฝังจำเกี่ยวกับ “คนอื่น” และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ๆ

ปัจจุบันมีทีมฟุตบอลเยาวชนถึง ๑๓๐ ทีม และขยายจากเขตมาร์ซาบิตไปถึงเขตอื่น ๆ รวมทั้งในประเทศเอธิโอเปียด้วย เด็กผู้ชายหลายคนยอมรับว่าเคยฆ่าคน แต่วันนี้พวกเขาวางปืนและหันมายิงลูกบอลแทนลูกกระสุน

“เด็กผู้หญิงต้องการการศึกษามากกว่าการแต่งงาน”

ในปี ๒๕๕๑ ฟาตูมาเริ่มตั้งสโมสรฟุตบอลสำหรับเด็กผู้หญิงแห่งแรกขึ้นในมาร์ซาบิต กิจกรรมนี้สร้างความแตกตื่นทางสังคมเป็นอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่นักกีฬาหญิงวัย ๑๓ ปีเหล่านี้ใส่ชุดนักฟุตบอลที่เป็นกางเกงขายาว เสื้อแขนยาวไม่รัดรูป รวมทั้งสวมผ้าโพกหัวตามประเพณีอย่างเรียบร้อย ตามที่ออกแบบหลังจากปรึกษากับผู้นำทางศาสนาอิสลามแล้ว

เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น พวกกองกำลังกึ่งทหารในท้องถิ่นก็เข้ามาแทรกแซง นักฟุตบอลหญิงเจ็ดคนถูกลักพาตัวจากสนามฟุตบอลและกักขังไว้ตามหมู่บ้านห่างไกล ฟาตูมาเล่าว่า “พวกเธอถูกทุบตี ข่มขืน บังคับให้แต่งงาน จุดมุ่งหมายคือการสั่งสอนว่าเด็กผู้หญิงไม่ควรคาดหวัง (สิทธิ) เท่าเทียมกับเด็กผู้ชาย ฉันกลัวมาก แต่ไม่กลัวจนยอมก้มหัวให้บทเรียนครั้งนี้”

ฟาตูมาใช้เวลาถึง ๒ ปีตามหาเด็กผู้หญิงเหล่านี้ เธอพาตัวกลับมาเรียนหนังสือได้สามคน แต่อีกสองคนไม่กล้าขัดใจสามีเพื่อมาเรียนต่อ ส่วนอีกสองคนที่เหลือถูกญาติ ๆ ของเด็กผู้หญิงขัดขวางการตามหา ฟาตูมารู้แค่ว่าพวกเธอยังมีชีวิตอยู่ ถูกบังคับให้แต่งงานและตั้งครรภ์

ความโศกเศร้าไม่ทำให้ฟาตูมาท้อถอย เธอต่อสู้ต่อจนกระทั่งปัจจุบันโรงเรียน ๑๐ แห่งในมาร์ซาบิตมีทีมนักฟุตบอลหญิงล้วนถึง ๓๖ ทีม พวกเธอถูกกลั่นแกล้งเป็นครั้งคราว แต่กองกำลังกึ่งทหารไม่กล้ามายุ่มย่ามอีก เพราะผู้นำศาสนาประณามการกระทำครั้งนั้น นักกีฬาหญิงสองคนจากทีมของฟาตูมาได้ไปแข่งฟุตบอลโลกหญิงที่เยอรมนี

ฟาตูมาหวังว่าการเล่นฟุตบอลของเด็กผู้หญิงจะช่วย “ทำลายความเงียบ” มันเป็นหนทางอ้อมที่จะทำให้พวกเธอกล้าโต้แย้งเรื่องการขลิบอวัยวะเพศสตรีและการบังคับเด็กแต่งงาน “เด็กผู้ชายที่เล่นฟุตบอลอย่างสันติน่าจะเติบโตเป็นผู้ชายที่ยอมรับว่าสันติภาพคือวิถีชีวิตปรกติ” ฟาตูมากล่าว “และเด็กผู้หญิงที่กล้าแข่งขันในเกมฟุตบอลน่าจะเติบโตเป็นผู้หญิงที่กล้ายืนหยัดในชีวิตของตัวเอง”

นอกจากโครงการฟุตบอลแล้ว HODI ยังมีโครงการอื่น ๆ อีกมาก เช่น การศึกษา การออม การเกษตร ฯลฯ ฟาตูมาได้รับรางวัลระดับนานาชาติหลายรางวัลและเป็นทูตสันติภาพของสหประชาชาติ

น่ายินดีที่ในประเทศไทยก็ ริเริ่มโครงการคล้าย ๆ กัน นั่นคือทีมฟุตบอล Buku FC ที่จังหวัดปัตตานี โดยการสนับสนุนของร้านหนังสือบูคู นอกจากส่งเสริมให้ผู้หญิงเล่นฟุตบอลแล้ว ยังเปิดพื้นที่ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้แสดงออกด้วย ติดตามอ่านรายละเอียดได้จาก http://prachatai.org/journal/2016/08/67687

ที่มาภาพ
ภาพ : Frank Schultze เว็บไซต์ http://www.peace-counts.org/kenya-shoot-to-score-not-to-kill/