ไกรวุฒิ จุลพงศธร
teandyou@hotmail.com

ภาพยนตร์ - The Birth of a Nation หนังแห่งปี (ในแบบที่คนทำหนังไม่อยากให้เป็น)ค.ศ. ๒๐๑๖ The Birth of a Nation คือหนังที่ตกเป็นข่าวมากที่สุดในบรรดาหนังฮอลลีวูด เพราะเป็นข่าวตั้งแต่ต้นปี กลางปี จนถึงท้ายปี เริ่มจากข่าวดีสุดจนถึงข่าวร้ายสุด

ในแง่หนึ่งหนังเรื่องนี้คือบทบันทึกทางอ้อมถึงการเปลี่ยนแปลง “ขาลง” ภายในช่วงเวลา ๑ ปีของขบวนการเสรีนิยมในสหรัฐอเมริกา กล่าวคือตอนหนังเปิดตัวในเทศกาลหนังซันแดนซ์เมื่อเดือนมกราคมได้สร้างปรากฏการณ์ เนื่องจากค่ายหนังฟ็อกซ์เซิร์ชไลต์ซื้อไปด้วยมูลค่า ๑๗.๕ ล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุที่ค่ายกล้าลงทุนเพราะเป็นหนังที่เชิดชูประวัติศาสตร์คนดำด้วยการถ่ายทอดการประท้วงของทาสผิวดำ หนังยังกำกับ เขียนบท และนำแสดงโดย เนต พาร์เกอร์ นักแสดงผิวดำที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นดาวรุ่งคนต่อไป ดังนั้นหนังเรื่องนี้จึงเข้ากับกระแส “ออสการ์ขาวเกินไป” หรือกระแสต่อต้านว่ารางวัลออสการ์ใน ค.ศ. ๒๐๑๖ เป็นรางวัลของคนผิวขาวเท่านั้น มันจึงถูกคาดหวังว่าจะชนะรางวัลออสการ์ใน ค.ศ. ๒๐๑๗ หนังยังตอบรับความรุ่งเรืองของกระแสการเชิดชูความหลากหลายทางเชื้อชาติ ความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) และขบวนการ Black Lives Matter ซึ่งรณรงค์แก้ไขปัญหาการเหยียดสีผิว ค่านิยมเหล่านี้ล้วนเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ทางสังคมในยุคประธานาธิบดีโอบามา

ครั้นถึงเดือนสิงหาคม สื่อได้ขุดคุ้ยข่าวและพบว่า เนต พาร์เกอร์ และผู้เขียนบทร่วม ชอง เซเลสติน เคยถูกฟ้องคดีข่มขืนเมื่อ ๑๗ ปีก่อน ฝ่ายเนตรอดพ้นจากโทษ แต่ชองถูกตัดสินจำคุกก่อนจะพ้นโทษในศาลชั้นต่อมา ทว่าสิ่งแย่ที่สุดคือหญิงสาวซึ่งเป็นผู้ฟ้องในคดีนี้ผิดหวังขนาดหนักจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย อดีตอันหลอกหลอนทำให้เกิดการถกเถียงว่าพวกเขาทำผิดจริงไหม และคนดูควรจะดูหนังของนักข่มขืนไหม กระแสยิ่งย่ำแย่ขึ้นเมื่อเนตให้สัมภาษณ์สื่อด้วยท่าทีค่อนข้างเย็นชา ทำให้ผู้ชมปฏิเสธเมื่อหนังเข้าฉายในเดือนตุลาคม จนกระแสรางวัลออสการ์หดหายไป

ความร่วงหล่นนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ วิกฤตของขบวนการเสรีนิยมในอเมริกา อันเห็นได้จากกระแสต่อต้านความหลากหลายทางเชื้อชาติและความถูกต้องทางการเมืองที่ถูกปลุกให้เป็นรูปธรรมผ่านการขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ขบวนการเสรีนิยมต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าทำอะไรผิดพลาด ส่งผลให้หนังที่มีกระแสแย่อยู่แล้วอย่าง The Birth of a Nation ถูกโต้กลับยิ่งขึ้น เพราะโปรโมตให้เป็นหนังตัวแทนของกลุ่ม Black Lives Matter อันเป็นขบวนการที่มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านอย่างสูง

ความล้มเหลวของ The Birth of a Nation และความล้มเหลวของแคมเปญ ฮิลลารี คลินตัน เหมือนกันประการหนึ่ง คือการสะท้อนว่ากระบวนการของกลุ่มเสรีนิยมล้มเหลวได้หากเกิดการไม่ลงรอยระหว่างคนสามกลุ่ม นั่นคือกลุ่มเฟมินิสต์ กลุ่มผู้ชายเสรีนิยม และขบวนการผิวดำ อย่างกรณีของ The Birth of a Nation นั้น ขณะที่กลุ่มเรียกร้องสิทธิคนผิวดำใช้หนังเป็นตัวเปิดบทสนทนาถึงประวัติศาสตร์การกดขี่ กลุ่มเฟมินิสต์ก็โจมตีหนังเรื่องนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการข่มขืน

แล้วตัวหนังจริง ๆ เป็นอย่างไร ?

thebirthoan04

คำตอบคือ The Birth of a Nation ไม่ประนีประนอมในการเสนอภาพคนผิวขาวในแง่ชั่วร้ายเมื่อเทียบกับบรรดาหนังเกี่ยวกับทาสในอเมริกาเรื่องอื่น ๆ อย่าง Amistad (1997) และ 12 Years A Slave (2013) หนังเรื่องนี้มีลูกเล่น “เรียกแขก” ด้วยการตั้งชื่อล้อเลียนหนัง ค.ศ. ๑๙๑๕ เรื่อง The Birth of a Nation โดยผู้กำกับ ดี.ดับเบิลยู. กริฟฟิท ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในหนังที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์หนังอเมริกัน เพราะมีการพัฒนาไวยากรณ์หนังจนสามารถเล่าเรื่องขนาดยาวได้ แต่ขณะเดียวกันเนื้อหาของ The Birth of a Nation เวอร์ชันเก่าก็เชิดชูขบวนการคูคลักซ์แคลน ดังนั้นถึงแม้จะเด่นในแง่วิวัฒนาการภาพยนตร์ แต่ก็เต็มไปด้วยรอยบาป ด้วยเหตุนี้เอง The Birth of a Nation เวอร์ชัน ค.ศ. ๒๐๑๖ จึงต้องการตั้งชื่อให้เหมือนกันเพื่อ “ยึดคืน” ประวัติศาสตร์ของคนผิวดำ ว่าอเมริกาเกิดขึ้นได้เพราะการต่อสู้ของคนผิวดำเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม

The Birth of a Nation เวอร์ชันใหม่บอกเล่าประวัติของ แนต เทอร์เนอร์ (Nat Turner) ทาสที่เป็นผู้นำขบวนการปลดปล่อยทาส ที่ออกสังหารนายทาสผิวขาวราว ๖๐ ชีวิต เขาเป็นผู้อื้อฉาวในประวัติ-ศาสตร์เพราะด้านหนึ่งถูกมองว่าเป็นฆาตกรชั่วร้าย แต่อีกด้านหนึ่งคือตำนานของคนดำในการปลดปล่อยอิสรภาพ

หนังเล่าตั้งแต่แนตเกิดจนตาย เขาเป็นทาสในไร่ของตระกูลเทอร์เนอร์ พ่อต้องหนีไปเพราะฆ่าคนขาวตาย ส่วนแม่และยายของเขาก็เป็นทาส ความแตกต่างของแนตกับคนอื่น ๆ คือแนตมีพรสวรรค์ในการอ่านหนังสือ ในวัยเด็กนายหญิงผิวขาวเลือกแนตมาเป็นนักเรียนส่วนตัวของเธอ แต่หนังมิได้เสนอความเป็นหนี้บุญคุณระหว่างทาสและนายหญิงเลย ถ้าเป็นหนังเรื่องอื่นคงต้องสาดแสงสว่างไสวให้ตัวละครผิวขาวใจบุญไปแล้ว แต่ฉากที่นายหญิงชวนแนตไปห้องสมุด หนังใส่โทนน่ากลัวขึ้นมา และเมื่อแนตเดินไปเลือกหนังสือ นายหญิงก็สั่งห้ามหยิบหนังสือเล่มอื่นเพราะเป็นหนังสือของคนขาว หนังสือเล่มเดียวที่นายหญิงให้แนตฝึกอ่านคือไบเบิล

หนังเรื่องนี้นำเสนอคัมภีร์ไบเบิลในสองมุม มุมแรกคือหนังโชว์ให้เห็นว่าชนชั้นสูงผิวขาวไม่ได้แค่สอนให้แนตอ่านไบเบิลเพื่อผลทางจิตวิญญาณ แต่สอนให้เป็นเครื่องมือใช้เขาอีกทอดหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อแนตเติบโต ตระกูลเทอร์เนอร์ก็ใช้แนตเป็นทาสผู้สร้างรายได้พิเศษ โดยให้บ้านคนขาวอื่น ๆ “เช่า” แนตไปเทศน์ให้บรรดาทาสของบ้านนั้น ๆ ฟัง การเทศน์นี้ไม่ได้ให้ทาสบรรลุทางจิตวิญญาณ แต่เพื่อให้ทาสเชื่อฟังและต้องทำงานหนักต่อไปโดยไม่มีปากมีเสียง การออกตระเวนไปเทศน์ตามฟาร์มต่าง ๆ ทำให้แนตเห็นความยากแค้นของชีวิตทาสในไร่อื่น ๆ หนังมีฉากรุนแรงที่ทาสโดนทรมานอย่างโหดร้าย รวมทั้งฉากเล็ก ๆ แต่ใจหายวาบเมื่อแนตนั่งรถผ่านแล้วเจอศพทาสกองบนพื้นไร้ดินกลบหน้า

thebirthoan03 thebirthoan02

ในอีกทางหนึ่ง ไบเบิลก็ถูกเชื่อมโยงกับชะตาชีวิตของแนตเอง เพราะหนังจงใจเปรียบเทียบเขาเป็นดั่งพระเยซู ตั้งแต่ฉากแรกหนังเปิดเรื่องกลางป่า มีพิธีกรรมบ่งบอกว่าแนตเป็น “ผู้ถูกเลือก” พอถึงฉากกลางเรื่องไบเบิลก็เป็นส่วนสำคัญที่แนตใช้ชักชวนทาสคนอื่นมาร่วมต่อสู้เพื่ออิสรภาพ หนังยังมีฉากแฟนตาซีที่แนตถูกนำเสนอในรูปลักษณ์พระเยซูผิวดำ เมื่อแนตถูกประหารก็มีทูตสวรรค์มารอรับ และท้ายที่สุดตามโครงสร้างแบบพระเยซู แนตก็ฟื้นคืนขึ้นมา แต่ไม่ได้คืนชีพจริง ๆ หากแต่อุดมการณ์ของแนตมีเด็กรุ่นใหม่สานต่อจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองในอเมริกา

ความเด็ดขาดของหนังคือ ไม่มีตัวละครผิวขาวตัวใดไม่มีความผิด จุดนี้แตกต่างอย่างมากกับหนังเกี่ยวกับทาสเรื่องอื่น ๆ ที่มักจะสร้างตัวละครคนขาวที่ดีปะปนกับคนขาวที่ไม่ดี รวมทั้งการให้ภาพคนขาวที่ดีเป็นผู้ปลดปล่อยคนดำ หรือมีฉากที่คนดำต้องซึ้งในพระคุณของคนขาว แต่สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นเลยในหนังเรื่องนี้ ตรงกันข้ามกลับมีภาพคนดำใช้ขวานจามหัวคนขาว และบอกว่าคือการกระทำที่ถูกต้อง

อีกประเด็นสำคัญที่ทำให้ประเด็นในหนังและข่าวฉาวของหนังเชื่อมกันคือการนำเสนอภาพตัวละครหญิง โดยหนังเล่าว่าแนตมีภรรยาที่เป็นทาสด้วยกัน และต่อมาเธอถูกนายทาสผิวขาวข่มขืน รวมทั้งเพื่อนสนิทของแนตก็มีภรรยาที่ถูกคนผิวขาวข่มขืนเช่นกัน หนังใช้การปกป้อง/ล้างแค้นให้ผู้หญิงเป็นชนวนสำคัญที่สุดให้บรรดาทาสชายลุกขึ้นสู้จนแม้จะตายก็ยอม ดังนั้นเมื่อดูถึงฉากเหล่านี้ ผู้ชมก็มักนึกถึงข่าวฉาวเกี่ยวกับผู้กำกับและคนเขียนบทร่วมในฐานะที่อาจเป็นผู้ข่มขืนเสียเองในชีวิตจริง นั่นทำให้เกิดคำถามว่า เราจะเสพงานศิลปะโดยไม่สนใจเรื่องราวของศิลปินนั้นได้อย่างไร ในเมื่อแก่นกลางของงานศิลปะ และแก่นกลางของประเด็นฉาวในชีวิตศิลปินนั้นเป็นเรื่องใกล้เคียงกัน จนคนดูหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเชื่อมโยงกัน