เรื่อง : สุชาดา ลิมป์ / ภาพ : Here Sakont

สุกี้ VS ชาบู

อาหารในหม้อไฟจำพวกสุกี้ ชาบู ต่างกันอย่างไร

ต้นกำเนิดของ “สุกียากี้” (sukiyaki) มาจากญี่ปุ่น หม้อสุกี้แบบดั้งเดิมเป็นหม้อเหล็ก ก้นแบนลึก เพื่อสะดวกในการใช้งานแบบกึ่งต้มกึ่งย่าง วัตถุดิบแท้แบบญี่ปุ่นจะมีแค่ผัก เต้าหู้ เนื้อ และไข่ โดยนิยมสไลซ์เนื้อให้หนา แล้วใส่ทุกอย่างยกเว้นไข่ลงไปในหม้อ จากนั้นราด “น้ำซุปสีดำรสหวาน” (ส่วนผสมหลักคือ ซอสโชยุ เหล้ามิริน น้ำตาล และสาเก) ให้พอท่วมวัตถุดิบ เวลาจะกินค่อยคีบเนื้อขึ้นมาจุ่มไข่ดิบ

ส่วนต้นกำเนิดของ “ชาบูชาบู” (shabu shabu) บ้างว่าแปลงจากเมนูหม้อไฟของจีนที่ชื่อ “Shuan Yang Rou” บ้างว่ารับอิทธิพลจากวิธีกินของชาวมองโกลโดยลวกเนื้อในหม้อไฟทีละชิ้น หม้อชาบูจึงต้องให้ความร้อนเร็วและคงอุณหภูมิสม่ำเสมอ เพราะการกินชาบูใช้เวลานาน ไม่ได้ใส่วัตถุดิบแล้วรอให้สุกครั้งเดียวเหมือนสุกี้ ศิลปะการกินชาบูนอกจากใช้ตะเกียบคีบเนื้อแล่บาง ๆ แกว่งไปมาในน้ำเดือดเพื่อให้เนื้อสุกในเวลาไม่กี่วินาที ทีเด็ดยังอยู่ที่ “ซุปคมบุ” (kombu) จากสาหร่ายทะเลชนิดหนึ่ง จิ้มกับ “ซอสพนซุ” (ponzu) รสชาติออกเปรี้ยว หวาน เค็มนิด ๆ หรือ “ซอสงาขาว” รสนุ่มหอมงา ส่วนไข่จะกินแบบตอกใส่หม้อ ไม่นำมาจุ่มแบบสุกี้

ทั้งสุกี้และชาบูที่แพร่หลายในไทยล้วนประยุกต์มาแล้วทั้งวัตถุดิบและวิธีกิน บ้างเพิ่มหมู ไก่ ปลา ปู กุ้ง หมึก และลูกชิ้นต่าง ๆ หรือดัดแปลงสูตรน้ำจิ้มให้เข้ากับลิ้นคนไทยและอาหารทะเลมากขึ้น มีการชูรสด้วยพริก กระเทียม มะนาว บางร้านผสมผสานให้ทั้งสุกี้-ชาบูกินร่วมกันได้ในหม้อเดียวก็มี