แลไปรอบบ้าน  บันทึกมุมมองสั้นบ้าง (ยาวบ้าง) ของ สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีที่สนใจประเด็นประวัติศาสตร์ ปรากฎการณ์ทางสังคม ไม่ว่าจะการเมือง สิ่งแวดล้อม จนถึงเรื่องราวเล็กๆ ใกล้ตัว


สุเจน กรรพฤทธิ์

ถึงแม้ตอนนี้เราจะยังไม่รู้ว่าใครขโมย “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือ “หมุดคณะราษฎร” ไปจากลานพระบรมรูปทรงม้า ใจกลางกรุงเทพฯ ช่วงต้นเดือนเมษายน 2560

ในระหว่างที่มึนงงกับ “หมุดหน้าใส” ผมก็นึกถึงกรณีคล้ายกันที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน

ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมขอเรียกว่า “ศึกชิงสัญญะ” ที่เกิดขึ้นจริงใน “เวียดนาม”

เรื่องราวต่อไปนี้ เกิดขึ้นกับอนุสาวรีย์สองแห่ง ที่ไซ่ง่อน (Saigon / โฮจิมินห์ซิตี) เมืองที่มีการฟาดฟันเรื่อง “สัญญะ” แบบหมัดต่อหมัดตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

รื้อถอน-ย้าย-ทำลาย “ศึกชิงสัญญะ / ความหมาย” ในไซ่ง่อน

ภาพเก่าของอนุสาวรีย์ Statue de l’évêque d’Adran
saigonmonument02

ภาพเก่าอีกมุมหนึ่งของอนุสาวรีย์ Statue de l’ évéque d’ Adran

เรื่องราวต่อไปนี้ เกิดขึ้นกับอนุสาวรีย์สองแห่ง ที่ ไซ่ง่อน (Saigon / โฮจิมินห์ซิตี) เมืองที่มีการฟาดฟันเรื่อง “สัญญะ” แบบหมัดต่อหมัดตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

รูปปั้นพระแม่มารีที่ถูกนำมาตั้งแทนในสมัยรัฐบาลเวียดนามใต้




อนุสาวรีย์ ปิแอร์ ปิโย เดอ บิเฮน

(Pierre Pigneau de Behaine) / Statue de l’ évéque d’ Adran
ที่ตั้ง : หน้าโบสถ์นอร์ทเธอดาม
ปีที่ถูกย้าย / ทำลาย : ค.ศ. 1945

อนุสาวรีย์นี้ สร้างจากหินแกรนิต ลักษณะเด่น คือ ปั้นเป็นรูป “บาทหลวงเดอบิเฮน” สูง 2.9 เมตร มือขวากางสนธิสัญญาแวร์ซายส์ (the Treaty of Versailles) มือซ้ายแตะลงบนพระวรกายของ “เจ้าชายแก๋งห์” (Prince Cảnh) ที่ยืนอยู่ข้างๆ ทำพิธีเปิด 10 มีนาคม ค.ศ.1902 สมัยที่เวียดนามเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส

ความเป็นมาของอนุสาวรีย์นี้ผูกพันกับประวัติศาสตร์การก่อตั้งราชวงศ์เหงวียน ราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม ด้วย “เจ้าชายแก๋งห์” คือโอรสองเชียงสือ (Nguỹen Phúc Anh – จักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์เหงวียน) ที่ถูกส่งไปปารีสพร้อมกับท่านบิชอป ปิโย เดอ บิเฮน เพื่อขอความช่วยเหลือด้านกำลังทหารและอาวุธจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ต่อต้านขบวนการเตยเซินและฟื้นฟูอำนาจของตระกูลเหงวียนขึ้นมาอีกครั้ง

ทูตสองคนนี้ สามารถลงนามในสัญญาที่จะให้สิทธิการค้าและเผยแพร่ศาสนากับพระเจ้าหลุยส์ได้สำเร็จ ทว่า ความวุ่นวายทางการเมืองในฝรั่งเศสก็ทำให้ฝรั่งเศสช่วยอะไรไม่ได้ บาทหลวงเดอบิเฮนก็เลยต้องบากหน้าไปอินเดีย ใช้เงินจ้างทหารรับจ้างและเรือรบกลับมาช่วยองเชียงสือสู้กับขบวนการเตยเซินแทน

Inauguration of the Pigneau de Béhaine statue บทความในปี 1902 จากหนังสือ Annales des Missions étrangères de Paris บอกว่า อนุสาวรีย์นี้เกิดจากการระดมทุนได้เป็นมูลค่าถึง 50,000 ฟรังก์ คนจ่ายมีทั้งฝรั่งเศสและบรรดาชาวเวียดนามผู้มั่งมีในเมืองใหญ่

มีบันทึกว่าทั้งรัฐบาลอาณานิคมและสภาเมืองไซ่ง่อน “เห็นชอบ” ให้สร้างเพื่ออุทิศให้กับ “ความรักเวียดนาม เพื่อแสดงความขอบคุณจากเรา และแสดงการยอมรับของชาวอานนาม (เวียดนาม)” ที่มีต่อเดอบิเฮน

ส่วนจักรพรรดิเวียดนามเวลานั้นคือ แท่ญท๋าย (Thành Thái) มีพระราชสาส์นกล่าวถึงความดีของเดอ บิเฮน ที่มีส่วนช่วยพระบรมอัยกาของพระองค์ ทรงกล่าวถึงการสร้างอนุสาวรีย์นี้ว่า “ (เวียดนาม) ตอนนี้อยู่ภายใต้อารักขา ด้วยความเข้าใจร่วมกัน เราได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์ท่านบิชอปและเจ้าชายแก๋งห์ มรดกความทรงจำนี้จะได้รับการส่งต่อถึงคนรุ่นหลัง”
ตลกร้ายคือ แม้ว่า เดอ บิเฮนเคยช่วยองเชียงสือสร้างราชวงศ์ แต่สุดท้าย พอถึงรุ่นเหลนองเชียงสือ เวียดนามกลับต้องไปอยู่ใต้การปกครองของคนฝรั่งเศส คนชาติเดียวกันกับเดอบิเฮน

อนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่ที่ “จตุรัสโบสถ์นอร์ทเทรอดาม” หน้าโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดในไซ่ง่อนมาได้ ๔๒ ปีก็ถูก “รื้อ” ในปี 1945 เมื่อขบวนการชาตินิยมเวียดนามลุกฮือต่อต้านอำนาจฝรั่งเศสที่พยายามกลับเข้ามาปกครองเวียดนามอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพวกเขาจัดการนำอนุสาวรีย์นี้ออกไป

ในมุมมองของขบวนการชาตินิยม เดอ บิเฮน คือคนฝรั่งเศสที่เข้ามาแทรกแซงเวียดนาม ราชวงศ์เหงวียนก็อ่อนแอดึงชาวต่างชาติเข้ามายุ่ง ภายหลังยังทำให้ประเทศตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส

อนุสาวรีย์นี้จึงไม่ควรมีอยู่อีกต่อไป

ทิม ดอลริง (Tim Doling) นักเขียนซึ่งค้นคว้าเรื่องของไซ่ง่อนระบุว่า หลังถูกรื้อถอนลง อนุสาวรีย์นี้ก็เหลือแต่ฐาน จนปี 1959 รัฐบาลเวียดนามใต้ก็ติดตั้งรูปปั้นพระแม่มารีเข้าไปแทนบนฐานเดิม

ส่วนชะตากรรมตัวอนุสาวรีย์เดิม สาบสูญอย่างไร้ร่องรอย

saigonmonument04

อนุสาวรีย์ทหารนิรนาม ด้านหน้าโอเปร่าเฮาส์ กรุงไซ่ง่อน สมัยที่เป็นเมืองหลวงเวียดนามใต้

saigonmonument05

การประท้วงของนักศึกษาเวียดนามใต้ด้านหน้าอนุสาวรีย์ทหารนิรนาม (ภาพจากนิตยสาร LIFE)

saigonmonument06

เหตุการณ์ทำลายอนุสาวรีย์ทหารนิรนามในวันที่ 5 พ.ค. 1975

saigonmonument07

อนุสาวรีย์ทหารนิรนามในปี 1969 – ภาพจากเว๊บ chienhuuoregon

อนุสาวรีย์ทหารนิรนาม / อนุสาวรีย์นาวิกโยธินเวียดนามใต้

ที่ตั้ง : หน้าอาคารรัฐสภา กลางกรุงไซ่ง่อน (ปัจจุบันคือบริเวณลานพื้นที่ด้านหน้าโอเปร่าเฮ้าส์)
ปีที่ถูกทำลาย : 1975

อนุสาวรีย์นี้ สร้างเป็นเกียรติให้ทหารที่ออกรบในแนวหน้ากับทหารเวียดมินห์ (เวียดกง) ปั้นจากคอนกรีตเสริมแรงเป็นรูปทหารถือปืนยาว กำลังก้าวไปข้างหน้า ตั้งอยู่ใน “จตุรัสลามเซิน” ด้านหน้าโอเปร่าเฮาส์

ผมไม่พบข้อมูลว่าอนุสาวรีย์นี้สร้างปีใดและชื่ออะไรแน่ระหว่าง “อนุสาวรีย์ทหารนิรนาม” ที่ถูกกล่าวถึงโดยนักประวัติศาสตร์ กับ “อนุสาวรีย์นาวิกโยธินเวียดนามใต้” อันเป็นชื่อที่ทหารผ่านศึกอเมริกันเรียก

แต่ที่แน่ๆ อนุสาวรีย์นี้น่าจะสร้างเมื่อรัฐบาลอเมริกันช่วยรัฐบาลเวียดนามใต้ทำสงครามเต็มตัว

“สงครามเวียดนาม” ระหว่างเวียดนามเหนือ (คอมมิวนิสต์) กับเวียดนามใต้ (บางทีก็ประชาธิปไตย บางทีก็แปลงร่างเป็นเผด็จการทหาร) ที่กินเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 นอกจากจะทำให้เวียดนามถูกแบ่งแยกแล้ว ผลที่หลายคนมองข้ามคือ รัฐบาลฮานอย (เหนือ) และไซ่ง่อน (ใต้) ยังแข่งกันสร้างสัญลักษณ์ทางการเมืองมากมายทิ้งไว้ในเมืองของตน

พอถึงวันที่ 30 เมษายน 1975 เมื่อฝ่ายเหนือชนะ พวกเขาก็ไม่รอช้าที่จะทำลาย “สัญลักษณ์” ฝ่ายใต้

เมื่อไซ่ง่อนแตก ภาพแรกๆ คือรถถังเวียดนามเหนือชนประตูทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนามใต้ จากนั้น สัญลักษณ์แรกๆ ที่ถูก “ถอนออก” คือ ธงชาติเวียดนามใต้บนเสาธงทำเนียบ สิ่งที่ถูกใส่แทนคือธงของขบวนการเวียดมินห์ (เวียดกง) ที่ถูกชักขึ้นสู่ยอดเสา

2 พฤษภาคม รัฐบาลเวียดกงที่ยึดอำนาจในกรุงไซ่ง่อนก็ประกาศว่า “ทุกสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบอบเก่าต้องถูกทำลาย”
5 พฤษภาคม ก็ถึงคิวอนุสาวรีย์ทหารนิรนาม
10.30 น. มีฝูงชนเข้ารื้อทำลายอนุสาวรีย์โดยเริ่มจากทำลายส่วนหัวก่อน

ทิเซียโน เทอซานี (Tiziano Terzani) นักข่าวชาวอิตาเลียน สื่อตะวันตกไม่กี่คนที่ยังคงปักหลักทำข่าวอยู่ในเวียดนามใต้ได้เล่าฉากการพังอนุสาวรีย์นี้ว่า “เมื่อส่วนหัวที่ทำโดยคอนกรีตเสริมแรงถูกดึงตกกระแทกพื้น ฝุ่นก็ฟุ้งไปทั่ว พร้อมกับเสียงไชโยโห่ร้อง ผู้คนต่างชูป้ายที่เขียนคำขวัญการปฏิวัติ บรรดาค้างคาวที่แอบไปทำรังในตัวอนุสาวรีย์ต่างก็บินหนีออกไปอย่างโกลาหล”

กล่าวได้ว่าอนุสาวรีย์นี้ถูกทำลายแบบ “ไม่เหลือซาก” ทั้งในแง่กายภาพและความทรงจำ ด้วยปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยใดๆ ให้เราเห็น ซ้ำพื้นที่จตุรัส ยังถูกปิดกั้นเพื่อก่อสร้างรถไฟใต้ดินสายแรกของเมือง คนเวียดนามรุ่นหลังจึงแทบนึกไม่ออกว่า ด้านหน้าโอเปร่าเฮ้าส์เคยมีอนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่

การต่อสู้กับเวียดนามเหนืออย่างทรหดของทหารสหรัฐฯ และทหารเวียดนามใต้ คือประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ผู้ชนะสงคราม ไม่ต้องการให้เยาวชนในเวียดนามใต้จดจำ

*********

กรณีของเวียดนาม ผมพบว่า การทำลาย “สัญญะ” เกิดขึ้นหลังฝ่ายหนึ่ง “เอาชนะทางกายภาพ” เหนืออีกฝ่าย จากนั้นจึง “ไล่ลบความทรงจำ” ด้วยการทำลายสิ่งก่อสร้างและสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายตรงข้าม เพื่อเอาชนะทางความคิดให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ของที่เกินกำลังจะทุบและต่อมาคงคิดว่าน่าจะใช้หากำไรได้ในโลกทุนนิยม (ที่คอมมิวนิสต์เปลี่ยนใจกลับมาสมาทานภายใต้นโยบายหนึ่งประเทศ 2 ระบบ) อย่างทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนามใต้ ก็ถูกทำเป็นพิพิธภัณฑ์ พวกเขาเปลี่ยนการจัดแสดง จัดวางสิ่งของ เล่าเรื่องของระบอบเก่าตามที่ต้องการเสียใหม่ จากนั้น เปิดขายบัตรเข้าชมโกยเงิน

พอเป็นทุนนิยมมากเข้า ต่อมาก็จัดการเปิดให้เช่าจัดงานเลี้ยงสังสรรค์เสียเลย (ฮา)

แต่ทั้งหมด ก็เพื่อจุดหมายเดียว คือบอกกับสังคมว่าของพวกนี้ “ไม่มีความหมาย” อีกต่อไป