More Media

เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส


ยัติภังค์

Chris Cornell ภาพจาก http://static.spin.com/files/2017/05/CornellGettyImages-85148610-1495106347-640×420.jpg

๑๘ พฤษภาคม ค.ศ.๒๐๑๗ วงการดนตรีได้สูญเสียครั้งสำคัญอีกครั้ง เมื่อทางวง Soundgarden แถลงข่าวว่า คริส คอร์เนล(Chris Cornell) นักร้อง นักแต่งเพลง นักดนตรี และผู้นำวงของตน รวมถึงผู้นำวง Audioslave ได้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในโรงแรมด้วยวัย ๕๒ ปี ภายหลังจากแสดงร่วมกับวงในเมืองดีทรอยต์เมื่อคืน สาเหตุคาดว่ามาจากสภาพจิตใจหลังจากบำบัดการติดยาในอดีต แต่ครอบครัวเชื่อว่าการปลิดชีวิตตัวเองของ คริส คอร์เนล มาจากผลข้างเคียงของยาอาติวาน นับเป็นการจากไปของหนึ่งในหัวหอกแถวหน้าของดนตรีกรันจ์อีกครั้ง ต่อจาก เคิร์ท โคเบน แห่งวง Nirvana(เสียชีวิตปี ๑๙๙๔), และ สก็อตต์ วีแลนด์ แห่งวง Stone Temple Pilot (เสียชีวิตปี ๒๐๑๕)

ดนตรีกรันจ์(Grunge) หรือกรันจ์ ร็อค เป็นหนึ่งในแนวดนตรีที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในคริสตศตวรรษที่ ๙๐ เริ่มต้นนิยมเล่นในแถบเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา รวมถึงในเมืองใกล้เคียง จนมีคำเรียกดนตรีนี้อีกอย่างว่า ซีแอตเติล ซาวนด์ นับเป็นแนวดนตรีแขนงหนึ่งของแนวอัลเตอร์เนทีฟ ชื่อของมันที่มีความหมายว่าสกปรกถูกขนานนามจากเอกลักษณ์โดดเด่นในสำเนียงกีตาร์ที่แตกพร่าจากเอฟเฟกต์ Distortionของกีตาร์ไฟฟ้าเป็นเสียงหลักในเพลง โดยได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีเมทัล เพลงอินดี้ และพังก์ร็อค เนื้อหาเต็มไปด้วยถ้อยคำเสียดสี แสดงความเกรี้ยวกราด กดดัน สภาวะที่แปลกแยกจากคนในสังคม แต่แม้ดนตรีและเนื้อหาจะหนักหน่วง เพลงของวงกรันจ์ก็มักมีทำนองติดหู และภายหลังจากนิยมเล่นกันในบางเมือง มันก็ประสบความสำเร็จในวงกว้างจากอัลบั้ม Nevermind ของวง Nirvana ในปี ๑๙๙๑ สามารถขึ้นอันดับ ๑ ในบิลบอร์ดเอาชนะอัลบั้ม Dangerous ของราชาเพลงป๊อป ไมเคิล แจ๊คสัน สร้างความแปลกใจแก่วงการดนตรีในขณะนั้น ก่อนจะมีวงที่ได้รับความนิยมตามมาอีกมากมายทั้ง Pearl Jam, Soundgarden, Mudhoney, Alice in Chain, Hole

ทำไมวงดนตรีที่มีภาพลักษณ์ดิบๆ เหล่านี้จึงประสบความสำเร็จขึ้นมา ? คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าดนตรีกรันจ์เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมสำคัญของยุคที่ถูกเรียกว่า Generation X ซึ่งเป็นคำเรียกคนอเมริกันที่เกิดในช่วงระหว่างปี ค.ศ.๑๙๖๐ – กลางยุค ๑๙๗๐ ที่ต่อเนื่องมาจาก Baby Boomer หรือยุคที่ส่งเสริมการมีบุตร คนรุ่นนี้เติบโตมาท่ามกลางการถูกดูแคลนว่าเป็นคนขี้เกียจ ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เท่าคนรุ่นพ่อแม่ พวกเขาแม้จะมีการศึกษาแต่จำนวนไม่น้อยก็ตกงาน หลายคนอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ครอบครัวส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการหย่าร้างที่สูงขึ้น พ่อแม่ไม่ได้มีเวลาให้ และเป็นยุคที่คนได้รับอิทธิพลจากสื่อหลากแขนงที่แพร่หลายมากขึ้นทั้งมิวสิควิดีโอ, เพลง, หนังอิสระ, วิดีโอเกม รวมถึงการมาถึงของอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีไอทีต่างๆ ซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรมที่หลากหลาย และทำให้คนรุ่นนี้เปิดรับรสนิยม เชื้อชาติต่างๆ มากกว่าในอดีต ขณะเดียวกันแนวคิดต่างๆ ในยุคนี้ก็ต่อต้านคนรุ่นก่อนไม่ว่าจะเป็นการคุมกำเนิด หรือการรักษาสิ่งแวดล้อม ความคิดที่ขัดแย้งจากคนรุ่นก่อนอย่างมากนี่เองที่ทำให้เนื้อหาที่เน้นการแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึกของกรันจ์สื่อสารกับคนยุคเจนเอ๊กซ์

ในอีกด้านวงการดนตรีร็อคที่ขณะนั้นถูกยึดครองโดยวงแฮร์แบนด์ และแกลมร็อค ที่เน้นการทำผม แต่งหน้าแต่งตัวเต็มยศ มีดนตรีที่เน้นรายละเอียดแพรวพราว ซึ่งคนฟังกำลังถึงจุดอิ่มตัวนั้นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เชื่อว่าทำให้การเติบโตของเพลงกรันจ์เกิดขึ้น ด้วยภาพลักษณ์ศิลปินอยู่คนละขั้วตรงข้าม แต่งกายเรียบง่ายด้วยเสื้อผ้ามือสอง ไร้การจัดแต่งผมเผ้าให้สวยงาม แสดงบนเวทีอย่างไร้แบบแผน

คริส คอร์แนล หรือในชื่อจริง คริสโตเฟอร์ จอห์น บอยล์ ก็ไม่ต่างกับนิยามนั้นนัก ชาวซีแอตเทิลโดยกำเนิด เขาเปิดเผยว่าในช่วงวัยรุ่นอยู่ในสภาวะแปลกแยกจากเพื่อนที่โรงเรียน เป็นโรคซึมเศร้า โดดเรียน และหนีออกจากบ้าน หันหน้าเข้าหายาเสพติดทุกชนิด ก่อนจะเปลี่ยนแปลงและบำบัดตนเองด้วยการเล่นดนตรีอย่างจริงจังในวัย ๑๖ ปี วง Soundgarden กลายเป็นวงกรันจ์วงแรกที่ได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงใหญ่ A&M Records ในปี ค.ศ.๑๙๘๘ โดยเป็นวงกรันจ์ที่โดดเด่นด้วยกลิ่นอายของดนตรีเมทัล แต่มาประสบความสำเร็จอย่างมากกับอัลบั้มชุดที่ ๔ – Superunknown ซึ่งขายได้มากกว่า ๑๐ ล้านชุด มีเพลงดังๆ อย่าง Black Hole Sun, Fell on Black Day

แน่นอนว่านิยามของคนเจนเอ๊กซ์ดังกล่าวไม่สามารถเหมารวมผู้คนในยุคดังกล่าวได้ทั้งหมด หลายคนก็ไม่ได้เป็นดังคำจำกัดความเช่นนั้น หากภาพจำหลายๆ อย่างก็เป็นตัวบ่งชี้ว่าเหตุใดกรันจ์จึงกลายเป็นแนวเพลงที่ผงาดขึ้นมา และเช่นเดียวกับทุกสิ่งที่มีวันเสื่อมถอย ความเปลี่ยนแปลงเมื่อคนในยุคดังกล่าวเติบโตสู่วัยทำงาน ศิลปินเพลงก็ทำเพลงที่เปลี่ยนไปตามวัยไม่ได้มีสำเนียงเกรี้ยวกราดเหมือนเคย การเสียชีวิตของศิลปินยุคนั้นหลายรายจากการเสพยาเกินขนาด และฆ่าตัวตาย ค่ายเพลงที่มองหาเพลงแนวอื่นๆ ที่เข้าถึงคนฟังง่ายขึ้น ส่งผลให้ดนตรีกรันจ์เริ่มหมดความนิยมอย่างรวดเร็วในปลายคริสตศตรรษที่ ๙๐

เสียงแตกพร่าของกรันจ์ยังส่งอิทธิพลไปยังวงการดนตรีทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย มีวงดนตรีหลายวงที่เล่นในแนวทางนี้ อาทิ โมเดิร์น ด็อก, โลโซ, อรอรีย์, The Must เพลงซึ่งมีสำเนียงแตกต่างจากเพลงป๊อป-ร็อคในยุคก่อนหน้าที่ถูกปั้นแต่งโดยค่ายเพลง ทำให้เกิดกระแสการแต่งเพลง-เล่นเอง และออกอัลบั้มกับค่ายอิสระอยู่พักหนึ่ง และคนมักนิยามวงการเพลงยุคนั้นว่ายุคอัลเทอร์เนทีฟ

ผู้เขียนแม้ไม่ได้เป็นแฟนตัวกลั่นของ Soundgarden แต่ก็โตมากับการฟังเพลงอัลเทอร์เนทีฟ และเพลงของวงนี้ขอไว้อาลัยต่อการจากไปของ คริส คอร์เนล

ยามใดที่ต้องการความรู้สึกขบถ ปลดปล่อยตามวันและวัยที่ถดถอย เพลงกรันจ์ของเขาและอีกหลายวงยังส่งอิทธิพลไม่เสื่อมคลาย…

ที่มา

  • https://www.therecoveryvillage.com/recovery-blog/chris-cornells-mysterious-death-leaves-rock-world-shaken/
  • http://www.rollingstone.com/music/news/chris-cornells-wife-issues-statement-w483179
  • http://www.jenx67.com/who-is-generation-x
  • http://www.newworldencyclopedia.org/entry/Grunge_music