วิชาสารคดี ๑๐๑
ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

saraniyai

ย้ำกันอีกที หัวใจของงานสารคดีอยู่ที่การยึดกุมอยู่กับข้อเท็จจริง

ในแง่ “เนื้อหา” ใช้วัตถุดิบ ทรัพยากร ข้อมูล ตามที่มีอยู่จริง จะต่อเติมเสริมใส่เนื้อเรื่องเอาตามใจคนเขียนไม่ได้

แต่นอกเหนือจากนั้น ในแง่ของเทคนิค กลวิธีการนำเสนอ ผู้เขียนสามารถสร้างสรรค์วิธีการเล่าเรื่องได้อย่างเสรี ไม่ต่างจากเรื่องสั้น หรือนวนิยาย

แต่ต้องไม่แต่งเติมเนื้อหาในส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง

หรือหากมีส่วนที่ผู้เขียนจงใจจะบิดเบน หรือแต่งเติมเรื่องราว งานเขียนเรื่องนั้นก็จะนับเป็นเรื่องแต่ง (fiction)

และผู้เขียนก็จะบอกกับคนอ่านว่านั่นคือ เรื่องสั้น นิยาย และผู้อ่านก็จะอ่านมันในฐานะเรื่องแต่ง นักวิจารณ์ก็จะประเมินค่าผ่านกรอบเกณฑ์เรื่องแต่ง แม้ว่าจะปรากฏชื่อคนหรือเหตุการณ์จริงอยู่ในเรื่องนั้นๆ

ดังงานเขียนหลายๆ เรื่องที่คนอ่านคุ้นเคยดี

เหมืองแร่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เขียนจากประสบการณ์ชีวิตจริงของตัวเอง ช่วงที่ไปใช้ชีวิตชาวเหมืองที่พังงา แต่จงใจที่แปรและเล่าในรูปของเรื่องสั้น

พันธุ์หมาบ้า ชาติ กอบจิตติ เอาเรื่องจริงของเขากับเพื่อนวัยหนุ่มมาเขียนเป็นนิยาย เขาเคยเล่าเบื้องหลังว่า ไม่ต้องการให้เพื่อนบางคนเสียหายถึงครอบครัว จึงบิดความจริงไปบ้างเรื่องพื้นฐานครอบครัว และเครื่องดนตรีที่เพื่อนคนนั้นเล่น เรื่องราวในชีวิตจริงของคนหนุ่มกลุ่มนี้ก็กลายเป็นนิยายใน พันธุ์หมาบ้า

ผู้ชนะสิบทิศ เล่ากันว่า ยาขอบ เขียนจากข้อความในหนังสือประวัติศาสตร์ ๘ บรรทัด แต่เขามาขยายเป็นนิยายยาว ๘ เล่มจบ

ขณะที่นิยายจากฉากหรือเหตุการณ์จริงอย่าง คู่กรรม ทมยันตี สร้างตัวละคร โกโบริ อังสุมาลิน และคนอื่นๆ ขึ้นมาโลดแล่นบนฉากแถวบางกอกน้อยช่วงสงครามโลกครั้งสอง จนหลายคนอินว่าเรื่องแต่งนี้เป็นเรื่องจริง

หรือเรื่องสั้น “ค่าเฟ่คนใบ้” ของจำลอง ฝั่งชลจิตร ใช้ฉากมุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนคนอ่านบางคนไปเดินตามหาคาเฟ่แห่งนั้น

นิยายจากชีวประวัติบุคคลอีกเรื่อง สันติปรีดี ชมัยภร แสงกระจ่าง เขียนจากชีวิตจรงิของรัฐบุรุษปรีดี พนมยงค์ ให้ชีวิตชีวาแบบนิยาย ผู้เขียนเล่าเบื้องหลังว่า รู้ข้อมูลว่าอาจารย์ปรีดีชอบทำกับข้าว ผู้เขียนก็สร้างเหตุการณ์ให้ตัวละครปรีดีไปจ่ายตลาด พูดคุยกับแม่ค้า เข้าครัว ฯลฯ ผู้อ่านก็จะได้รับรสวรรณศิลป์ ความเพลิดเพลินรื่นรมย์ในการอ่าน โดยไม่ยึดถือข้อเท็จจริงแบบเคร่งครัด

ในเรื่องเดียวกันนี้ หากผู้อ่านต้องการอ่านเอาสารแบบงานสารคดี ก็ต้องอ่านจาก คือวิญญาณเสีรี ปรีดี พนมยงค์ ที่จัดทำโดยนิตยสาร สารคดี

คงพอเห็นความต่างเส้นแบ่งระหว่างโลกของเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง

อย่างไรก็ตาม การระบุประเภทของงานเขียนเรื่องหนึ่งๆ เป็นสิทธิ์ของผู้เขียน และยากที่ผู้อ่านจะรู้สึกถึงเบื้องหลังว่าแท้จริงแล้วในงานชิ้นนั้นมีส่วนที่คนเขียนแต่งเติมบ้างหรือไม่ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณและความเข้าใจที่ถูกต้องของคนเขียนเป็นหลัก

กับอีกบางกรณี ทั้งที่เล่าเรื่องจริงอย่างไม่ได้แต่งเติมบิดพลิ้ว แต่ผู้อ่านกลับไม่เชื่อว่าจริง ประเด็นนี้อยู่ที่ความสมจริงในการเล่า ซึ่งค่อยมาว่ากันต่อในโอกาสหน้า


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา