หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ชุมชนริมน้ำย่านชานกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลเรียนรู้สร้าง “งานชิ้นแรก” ของค่ายสารคดี ครั้งที่ 13 จาก 25 นักเขียน 25 ช่างภาพ จับคู่กันสร้างสรรค์ผลงานคู่ละเรื่อง ต่อจากนี้คือผลงานผ่านคมเลนส์และปลายปากกาของผู้ได้ชื่อว่าเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งค่าย “คนบันทึกสังคม”


ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 13
งานภาพสารคดี ดีเด่น
เรื่อง : ภาวิณี คงฤทธิ์
ภาพ : มานิตา ตันติพิมลพันธ์

(อนึ่ง มีผู้แสดงความเห็นให้ข้อมูลเพิ่มเติมมาดังนี้ คุณสุวัฒน์เป็นประธานชุมชนหลวงพรตฯ ส่วนประธานกลุ่มคนรักหัวตะเข้ คือป้าอ้อย อำภา ทั้งสองท่านทำงานขับเคลื่อนกิจกรรมในชุมชนด้วยกัน)

“แพน” มรดกวิชาช่างของคนหัวตะเข้

panhuatake01

ชุมชนหัวตะเข้ ชุมชนริมน้ำในเขตลาดกระบัง

panhuatake02

สุวัฒน์ พรหมมณีรัตน์ ประธานชุมชนคนรักหัวตะเข้

ถ้าพูดถึงคำว่า “แพน” คุณจะนึกถึงอะไร แน่นอนฉันมั่นใจว่าต้องมีสักคนตอบว่าเป็นชื่อยี่ห้อรองเท้าที่มีสัญลักษณ์รูปเสือ ไม่ก็อาจจะมีคนบอกว่ามันแปลว่ากระทะในภาษาอังกฤษ หรือบางคนอาจจะจินตนาการไปถึงคำว่านกยูงรำแพนไปเลยก็เป็นได้ แต่ถ้าเรามาถามคำถามนี้กับคนในชุมชนหัวตะเข้ เราจะได้คำตอบมาว่า แพนคือวิชาช่างพื้นบ้านที่คนหัวตะเข้ภูมิใจ เพราะบ้านทุกหลัง สะพานทุกสาย ถนนทุกเส้น บนพื้นที่ชุมชนริมน้ำแห่งนี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ถ้าไม่มีเครื่องมือช่างชิ้นนี้ เครื่องมือที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษของคนหัวตะเข้ได้มอบไว้ให้ เครื่องมือที่เรียกว่า “แพน”

แพนที่เรากำลังจะไปตามหานี้ สามารถหาเจอได้แค่ที่ชุมชนริมน้ำอย่าง “ชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม” หรือที่คนท้องถิ่นเรียกกันจนติดปากว่า “ตลาดหัวตะเข้” ตั้งอยู่ในซอยลาดกระบัง 17 เขตพื้นที่ลาดกระบัง เดิมทีชุมชนแห่งนี้เคยเป็นชุมชนริมน้ำที่คึกคักและเต็มไปด้วยผู้คน สองฝั่งคลองเต็มไปด้วยร้านค้า ในอดีตการเดินทางโดยเรือนั้นถือเป็นเส้นทางหลักในการสัญจรไปที่ต่างๆ จึงมีเรือมาจอดเทียบท่ามากมาย มีตลาดที่คึกคัก ชุมชนเลียบคลองประเวศบุรีรมย์ตัดกับคลองลำปลาทิวแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนเมืองท่าคอยต้อนรับผู้คนที่เข้ามาในพื้นที่ลาดกระบัง

จนกระทั่งปี 2527 ความเจริญเริ่มเข้ามาเยือนชุมชนริมน้ำแห่งนี้ มีการตัดถนนและตั้งนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ผู้คนต่างแห่กันขายเรือเพื่อนำเงินไปซื้อรถยนต์ ย้ายบ้านไปอยู่ริมถนน ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ชุมชนหัวตะเข้โดยเฉพาะตลาดที่เคยคึกคักก็ซบเซาลงเรื่อยๆ เหลือเพียงแค่บ้านไม้เก่าๆ และร้านค้าที่ทิ้งร้างไว้แค่นั้น

เวลาผ่านไปถึง 24 ปี การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกลับมาเป็นที่นิยม เกิดปรากฏการณ์ตลาดน้ำฟีเวอร์ขึ้นมาในเมืองไทย ผู้คนต่างแห่ไปเที่ยวตลาดน้ำ คนในชุมชนหัวตะเข้กลับมามีความหวัง หวังที่ว่าตลาดหัวตะเข้จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ทางชุมชนเลยรวมกลุ่มกันจัดตั้ง “กลุ่มชุมชนคนรักหัวตะเข้” ขึ้นมา และทำเรื่องไปถึงสำนักงานเขตลาดกระบังเพื่อขอทุนทำวิจัยชุมชน เพื่อหาว่าต้นทุนที่แท้จริงที่ชุมชนหัวตะเข้มีคืออะไร

จากผลการวิจัยก็พบความจริงที่ว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยต้นทุนทางศิลปะ ลูกหลานของคนที่นี่ส่วนใหญ่ก็จบมาจากวิทยาลัยช่างศิลป นอกจากนี้นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มักจะมาใช้พื้นที่ริมน้ำในการทำงานศิลปะอยู่เป็นประจำ กลุ่มชุมชนคนรักหัวตะเข้เลยนำจุดนี้มาเป็นไอเดียในการพลิกฟื้นตลาด ด้วยการจัด “ตลาดนัดศิลปะ” ขึ้นมา ให้ลูกหลานของคนในชุมชนและนักศึกษาได้เอางานศิลปะต่างๆ มานำเสนอ

ชุมชนหัวตะเข้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง แม้จะไม่ได้กลับมาในรูปแบบตลาดน้ำที่คึกคักเหมือนในอดีต แต่การกลับมาครั้งนี้ก็ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ยั่งยืน เพราะต้นทุนในการฟื้นฟูตลาดหัวตะเข้นั้นมาจากความสามารถของลูกหลานของคนในชุมชน เป็นต้นทุนที่จะไม่มีวันหายไป

บรรยากาศในชุมชนแห่งนี้ต่างกับที่ฉันคิดไว้ มันไม่ได้พลุกพล่านไปด้วยผู้คนและเต็มไปด้วยร้านค้าเหมือนตลาดน้ำแห่งอื่น แต่ที่นี่มีบางอย่างที่แตกต่างออกไป เรายังคงได้กลิ่นอายความเป็นตลาดริมน้ำแบบไทยโบราณ ยังคงพบเห็นบ้านไม้เรียงรายตามริมฝั่งคลองประเวศบุรีรมย์ ผู้คนยังใช้เรือในการสัญจร ร้านค้าต่างๆ ก็เป็นของคนในชุมชน ใครถนัดอะไรก็ทำสิ่งนั้นออกมาขาย ขายกันง่ายๆ ที่หน้าบ้านของตัวเอง ตลาดริมน้ำแห่งนี้จึงไม่ได้มีแค่ร้านขายอาหารหรือร้านกาแฟ แต่ยังมีร้านกรอบรูป โรงกลึงเหล็ก โรงนึ่งปลาทู ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ชุมชนหัวตะเข้ ในขณะเดียวกันชุมชนแห่งนี้ก็มีความโดดเด่นในด้านศิลปะ เราสามารถพบเห็นผลงานกราฟฟิตีได้ตามสองทางในชุมชนหัวตะเข้

และมันก็น่าแปลกที่ความเป็นชุมชนโบราณริมน้ำกับศิลปะสมัยใหม่อย่างกราฟฟิตีสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว เป็นการไฮบริดที่ฉันว่าน่าสนใจมากกว่าเบอร์เกอร์ข้าวเหนียวลาบหมูที่ฉันเคยเห็นในร้านสะดวกซื้อเสียอีก

ฉันเดินสำรวจตลาดได้พักใหญ่ก็ถึงเวลานัดกับพี่วัฒน์-สุวัฒน์ พรหมมณีรัตน์ ประธานชุมชนคนรักหัวตะเข้ และเป็นผู้สืบทอดวิชาชีพสร้างสรรค์อย่างการทำแพน พี่วัฒน์นัดให้ฉันมาเจอที่สะพานหลังโรงเรียนศึกษาพัฒนา เพราะวันนี้จะมีการสาธิตการลงเสาโดยใช้แพนกันที่นี่ พี่วัฒน์บอกถึงสาเหตุของการลงเสาในวันนี้ว่า “เดิมทีบริเวณที่ตรงนี้เคยเป็นจุดถ่ายรูปมาก่อน ทำเป็นสะพานไม้เดินลงไป แต่สร้างได้ปีสองปีก็พัง รอบนี้เลยจะใช้เสาปูนเพื่อให้แข็งแรงได้มาตรฐาน”

panhuatake03

แพน เครื่องมือสำหรับกำหนดจุดก่อนลงเสา

panhuatake04

ลูกทีมช่วยกันยกเสาปูนให้ตั้งฉากกับพื้นดินโดยมีแพนเป็นเครื่องมือกำหนดจุด

panhuatake05

ขั้นตอนการขย่มเสาโดยใช้แรงคนเปรียบเสมือนการตอกเสาเข็ม

ก่อนเริ่มการลงเสา พี่วัฒน์อธิบายให้เราฟังว่า “แพนเป็นเครื่องมือที่คนโบราณใช้กำหนดจุดเวลาที่จะลงเสา ถ้าเราไม่มีตัวกำหนดจุดเนี่ย พอเอาเสาลงน้ำไปมันก็จะเคลื่อนที่ ลงไปไม่ตรงจุดกับที่เราวางไว้ แพนก็จะเป็นตัวบังคับเสาให้อยู่ตรงที่”

เขาเล่าต่อด้วยความกระตือรือร้น “การทำแพนก็ไม่ยาก หาไม้มาสามแผ่น เป็นไม้เนื้อแข็ง เช่นไม้เต็ง สองแผ่นจะขนาดเท่ากัน ส่วนแผ่นกลางก็จะยาวกว่าอีกสองแผ่น ประมาณ 1 เมตร 20 เซ็นต์ เพราะไม้แผ่นตรงกลางจะต้องทำเดือยข้างล่างไว้ปักกับดิน และเผื่อไว้เป็นที่จับข้างบน แพนจะมีขนาดใหญ่กว่าเสานิดนึง เสาปูนจะมีขนาด 6 นิ้ว แพนก็จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7 นิ้ว เผื่อไว้สำหรับตอนถอนแพน แต่ต้องไม่กว้างไปกว่านี้ เดี๋ยวจะมีปัญหาทำให้เสามันปักไม่ตรง”

คุณลุงเอก หนึ่งในลูกทีมของพี่วัฒน์ตะโกนให้สัญญาณว่าขุดหลุมเสร็จแล้วสามารถเอาแพนมาลงได้เลย พี่วัฒน์เลยขอตัวไปลงเสาก่อนเพราะวันนี้ต้องลงเสาถึง 11 ต้นด้วยกัน ลูกทีมของพี่วัฒน์ค่อยๆ ช่วยกันยกแพนขึ้นมา แพนถูกยกขึ้นมาตั้งฉากกับคลองและปักลงไปในหลุมที่เตรียมไว้ พี่วัฒน์เข็นเสาปูนขนาด 6 นิ้ววางลงที่ขอบสะพานและค่อยๆ ปรับทิศทางเสาให้ตรงกับแพน หลังจากนั้นจึงผลักเสาปูนให้ลงไปในแพน

เสาปูนขนาด 6 นิ้วถูกวางลงไปในแพนและปักไปในเลนอยู่ตรงจุดตามที่เราต้องการ ลูกทีมของพี่วัฒน์ถอนแพนออกอย่างรวดเร็ว เกิดเสียงแพนล้มลงไปกระทบกับน้ำดังตูมใหญ่ ฉันได้ถามพี่วัฒน์ภายหลังว่าทำไมต้องรีบถอนแพนขนาดนี้ เขาตอบด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “ถ้าเราไม่รีบถอนเดี๋ยวแพนมันจะติดอยู่กับเสา แล้วเราจะถอนแพนขึ้นไม่ได้แล้ว เสามันจะขบกับตัวแพน เราต้องทิ้งเสาต้นนี้ไปเลย”

ขั้นตอนการลงเสาด้วยแพนเพิ่งผ่านมาได้แค่ครึ่งทาง หลังจากปักเสาปูนลงไปในน้ำและถอนแพนออก พี่วัฒน์และลูกทีมก็รีบยกไม้หน้าสามออกมา นำมาผูกเข้ากับเสาปูนที่ตั้งฉากกับผืนน้ำ มัดด้วยโซ่เส้นใหญ่ในลักษณะคล้ายกับไม้กางเขน เพื่อเตรียมไปสู่ขั้นตอนที่เรียกว่าการขย่มเสา ขั้นตอนสำคัญที่ต้องใช้แรงคนขย่มไม้เพื่อกดให้เสาปูนจมลงไปในโคลนจนได้ระยะที่แข็งแรง ป้องกันเสาปูนโยกคลอนไปตามกระแสน้ำ โดยขั้นตอนนี้มีหลักการคล้ายกับการตอกเสาเข็มด้วยปั้นจั่นบนพื้นดินนั่นเอง

panhuatake06

ทุกขั้นตอนในการลงเสาทุกต้นต้องอาศัยความสามัคคี

panhuatake07

กลุ่มคนหัวตะเข้ที่ช่วยกันลงเสาโดยใช้เพียงแพน แรงกาย และความตั้งใจที่จะพัฒนาชุมชน

“เตรียมดูไว้เลยนะ นี่แหละไฮไลต์ของการลงเสา” พี่วัฒน์ตะโกนบอกมาจากในน้ำ

หลังจากมีการตรวจจนแน่ใจว่าเสาปูนได้ผูกกับไม้ไว้อย่างแน่นหนาแล้ว พี่วัฒน์และลูกทีมทั้งหมดก็ค่อยๆ ขึ้นไปยืนบนท่อนไม้ ทั้งหมดกอดคอกัน พี่วัฒน์มองหน้าลูกทีมเป็นการส่งสัญญาณให้เตรียมพร้อม ก่อนจะตะโกนออกมาด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่นที่ถือเป็นประโยคที่บอกว่าขั้นตอนการขย่มเสาได้เริ่มขึ้นแล้ว

“ฮึบ เอ้า! ฮุยเลฮุย เอ้า! ฮุยเลฮุย เอ้า! ฮุยเลฮุย”

ทั้งหมดกระโดดเป็นจังหวะเดียวกันบนท่อนไม้ภายใต้การนำของพี่วัฒน์ เสาปูนแท่งใหญ่ค่อยๆ จมลงไปในดินโคลนตามจังหวะของการขย่ม เสาปูนจมลงไปในโคลนจนถึงระยะที่พอใจ และในที่สุดเสาปูนแท่งใหญ่ก็ตั้งอยู่บนผืนน้ำได้อย่างมั่นคง

“ฮึบ เอ้า! ฮุยเลฮุย เอ้า! ฮุยเลฮุย เอ้า! ฮุยเลฮุย”

ฉันจำไม่ได้ว่าพี่วัฒน์พูดประโยคนี้ไปทั้งหมดกี่ครั้งกว่าเสาปูนจะจมลงไปในน้ำตามที่ต้องการ แต่จำได้ว่าทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจกัน ขั้นตอนการขย่มเสาถือเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความสามัคคี “ทีมงานที่จะมาช่วยกันลงเสานั้นต้องเป็นทีมงานที่รู้ใจกัน ต้องเคยทำงานด้วยกันมาก่อน ต้องมองตาแล้วก็เข้าใจ ถ้าจังหวะไม่ตรงกันเนี่ยจะทำงานกันลำบากมาก” ประธานชุมชนกล่าวหลังจากลงเสาปูนต้นแรกเสร็จ

ฉันทึ่งกับสิ่งที่เห็น เพราะเสาปูนขนาด 6 นิ้วที่ต้องใช้เครื่องจักรยกเท่านั้นถึงจะตั้งฉากกับพื้นดินได้ ตอนนี้ได้ยกขึ้นตั้งฉากตระหง่านกับผืนน้ำด้วยแรงของคนเพียงสี่คน และเครื่องมือที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแพนโดยไม่ต้องใช้เครื่องจักรแม้แต่ชิ้นเดียว

พี่วัฒน์และลูกทีมขอนั่งพักเหนื่อยกันบนสะพานก่อนที่จะลงเสาต้นต่อไป ฉันเลยถือโอกาสเข้าไปชวนพี่วัฒน์คุยเพิ่มเติม เขาเล่าให้ฟังว่า “ปัจจุบันอาชีพคนลงแพนเนี่ยจะมีคนนอกพื้นที่เข้ามาทำอยู่ด้วย แบบที่เขารับทำเฉพาะแพนเลย แต่เขาก็อายุเยอะกันแล้ว ไม่รู้จะเลิกทำเมื่อไหร่ ที่จริงเมื่อก่อนคนทำแพนเยอะกว่านี้ แต่ก็เลิกกันไปเยอะแล้ว เพราะอายุก็มากขึ้น แพนมันต้องใช้แรง ไม่ค่อยไหวกันแล้ว”

ฉันหันไปมองรอบๆ จริงอย่างที่พี่วัฒน์พูด ลูกทีมของพี่วัฒน์ในวันนี้ล้วนเป็นทีมงานรุ่นเก๋าทั้งนั้น แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นทีมงานรุ่นเก๋าแต่ก็มากไปด้วยประสบการณ์และเต็มไปด้วยความตั้งใจที่จะช่วยทำเพื่อพัฒนาชุมชน แต่คงปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า ถ้าผ่านไปอีกสัก 5 ปี หรือ 10 ปี ทีมงานรุ่นเก๋ากลุ่มนี้อาจจะลงเสาด้วยแพนไม่ไหวอีกแล้ว ถึงแม้จิตใจของพวกเขาจะมุ่งมั่นเพียงไหนก็ตาม

“ไม่มีแล้ว น่าจะไม่มีใครเอาแล้ว คนรุ่นใหม่ในชุมชนก็ไม่มีใครอยากทำแล้ว ส่วนใหญ่ก็ทำงานในโรงงานกันหมด งานแบบนี้ไม่ทำกัน แพนที่จริงต้นทุนมันถูก มีประโยชน์มากๆ แต่ว่ามันทำลำบาก คนก็เลยไม่ค่อยทำกันแล้ว” พี่วัฒน์กล่าวด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ ปิดท้าย ก่อนจะลุกขึ้นเตรียมไปลงเสาต้นต่อไป

ถ้าตลาดนัดศิลปะคือต้นทุนที่ได้มาจากลูกหลานของชาวหัวตะเข้ แพนก็ถือเป็นอีกหนึ่งต้นทุนที่บรรพบุรุษได้มอบให้เป็นมรดกของคนหัวตะเข้ ต้นทุนทั้งสองอย่างนี้อาจเกิดกันคนละเวลา แต่มีที่มาและจุดประสงค์เดียวกัน คือต้องการพัฒนาชุมชนแห่งนี้

คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ถ้าสิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนแห่งนี้เป็นต้นทุนที่เกิดมาจากภูมิปัญญาของคนหัวตะเข้ เป็นมรดกที่คนรุ่นหลังควรสืบทอดให้คงอยู่ จะต้องปล่อยให้สูญหายไปตามกาลเวลา


เกี่ยวกับคู่นักเขียน-ช่างภาพ ค่ายสารคดีครั้งที่ 13

panhuatake writer

ภาวิณี คงฤทธิ์
นักเขียนสารคดีฝึกหัด ที่มีความตั้งใจอยากเขียนสารคดีให้สนุก รักซีรี่ส์เกาหลีเหนือสิ่งอื่นใด มีเพลงในมือถือมากกว่า 500 เพลงและมีความฝันว่าครั้งหนึ่งในชีวิตต้องได้ไปเดินบนพรมแดงเทศกาลหนังเมืองคานส์ในฐานะผู้กำกับชาวไทย

panhuatake photoมานิตา ตันติพิมลพันธ์
ฝนค่ะ สาวคณะวารสารที่ชอบถ่ายภาพและชอบเจอคนใหม่ๆเลยมาค่ายสารคดี


sarakadeecamp13