หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ชุมชนริมน้ำย่านชานกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลเรียนรู้สร้าง “งานชิ้นแรก” ของค่ายสารคดี ครั้งที่ 13 จาก 25 นักเขียน 25 ช่างภาพ จับคู่กันสร้างสรรค์ผลงานคู่ละเรื่อง ต่อจากนี้คือผลงานผ่านคมเลนส์และปลายปากกาของผู้ได้ชื่อว่าเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งค่าย “คนบันทึกสังคม”


ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 13
งานภาพสารคดี ดีเด่น
เรื่อง : เฉลิมชัย กุลประวีณ์
ภาพ : อาทิตย์ ทองสุทธิ์

panpan01

“แพน” – ถ้าพูดถึงเรื่องเครื่องมือช่าง “แพน” อาจเป็นอุปกรณ์ที่หลายคนไม่เคยไม่ยินมาก่อน เพราะ “แพน” เป็นภูมิปัญญาที่ถูกลืมเลือนไปเมื่อมีเครื่องมือสมัยใหม่ที่เรียกกันว่า “ปั้นจั่น” เข้ามาแทนที่

panpan02

“วิถีคนพึ่งน้ำ” – ไม่ว่าความศิวิไลซ์จะเข้ามามีส่วนสำคัญต่อวิถีชีวิตคนยุคใหม่มากขนาดไหน แต่ชาวหัวตะเข้ (ชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม) ยังคงดำเนินชีวิตตามวิถีที่พวกเขาผูกพันธ์อยู่เสมอ

1

ฮุยเลฮุย…ฮุยเลฮุย

เสียงของคนกลุ่มหนึ่งประสานคำร้องกัน พลางกอดคอ ยกเท้าขย่มตามเสียงที่ให้จังหวะ น้ำหนักตัวถูกทิ้งลงบนท่อนไม้ที่ผูกร้อยรัดด้วยโซ่เหล็กเส้นโตซึ่งถูกผูกเข้ากับเสาปูนโดยปลายเสาถูกปักลงในน้ำและมีดินเลนยึดเกาะเสาส่วนล่างไว้อยู่

ฮุยเลฮุย…ฮุยเลฮุย

เสียงการให้จังหวะยังคงดังพร้อมเพรียงกัน เสาปูนที่ปักอยู่ในน้ำเริ่มปักลึกลงดินเลนตามจังหวะเท้า

ฮุยเลฮุย…ฮุยเลฮุย

เสียงประสานนี้เองที่ทำให้ผมเฝ้ามองการกระทำของคนกลุ่มนี้อย่างละสายตาไม่ได้ คนกลุ่มนี้เริ่มส่งคนหนึ่งในกลุ่มลงไปล้างโครงไม้ที่เกิดจากการใช้แผ่นไม้เนื้อแข็งตีขึ้นมาสามด้านโดยล้างดินเลนและคราบพืชน้ำที่เกาะอยู่ออก

โครงไม้นี้เองคือจุดเริ่มต้นของการปักเสาเพื่อสร้างอาคารและทางสัญจรของชุมชน
โครงไม้นี้เองคือส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นความสัมพันธ์ความสามัคคีของคนในชุมชน
โครงไม้นี้ถูกคนในชุมชนเรียกขานมันว่า แพน

panpan03

“ ‘แพน’ ยังมีค่า(ข้าฯ)” – “แพน” คือเครื่องมือที่ช่วยกำหนด และประคับประคองเสาเข็มที่ตั้งลงไปในน้ำได้อย่างตรงจุด แม้ภูมิปัญญานี้จะถูกมองว่าเป็นของเก่าล้างสมัย แต่กลุ่ม “พี่วัฒน์”* ยังคงเห็นคุณค่า และรักษาไว้จนถึงทุกวันนี้ (*พี่วัฒน์ สุวัฒน์ พรหมมณีรัตน์ (อายุ 50 ปี) ประธานชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม)

panpan04

“ฮุยเลฮุย!” – “ฮุยเลฮุย!” คือเสียงที่เปล่งออกมาอย่างพร้อมเพียง เพื่อเป็นการให้จังหวะในการขย่มท่อนไม้เนื้อแข็งที่ถูกคล้องด้วยโซ่เข้าเสาเข็มอย่างมั่นคง ให้ “รากฐาน”ปักลงด้วยพลังแห่งความสามัคคี

2

สายน้ำที่ไหลเอื่อยเฉื่อย เรือนไม้จำนวนนับสิบสะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนนี้ เรือนไม้เหล่านี้เรียงยาวตามสองฟากฝั่งของคลองประเวศบุรีรมย์ น้ำในคลองที่ชุกชุมไปด้วยพันธุ์ปลานานาชนิด สังกะสีที่เริ่มผุกร่อนตามกาลเวลามีให้เห็นบ้างตามเรือนไม้ มีการผสมผสานศิลปะและวิถีชีวิตในชุมชน หลากหลายคนรู้จักกันในนาม ตลาดหัวตะเข้ ซึ่งตั้งบนพื้นที่ย่านชานเมืองของเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

พื้นฐานของความเป็นตลาดย่อมต้องเสียงดังเป็นธรรมดา แต่ตลาดหัวตะเข้กลับแตกต่างจากความเป็นตลาดที่ควรมี ที่แห่งนี้มีแต่ความเงียบสงบ ความเงียบนี้เองอาจจะเป็นจุดขายของตลาดแห่งนี้

ความเงียบสงบอันผิดจากตลาดอื่นของที่นี่เกิดจากหลากหลายปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น เพลิงไหม้ตลาดในปี 2557 หรือช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ก็ทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดน้อยลง

ที่น่าศึกษาคือ ต่อให้ตลาดหัวตะเข้ผ่านวิกฤตอะไรมามากมาย ทั้งภายในหรือภายนอก แต่ตลาดแห่งนี้ก็ยังยืนหยัดอยู่ในพื้นที่แห่งนั้นด้วยรากฐานที่แข็งแรง รากฐานจากเสาปูนจำนวนมากที่คอยประคับประคองเรือนไม้หลายหลังเอาไว้

การลงแรงเพื่อสร้างรากฐานอันมั่นคงคงจะเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนลักษณะของชุมชนนี้ ความสมัครสมานสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจกันอาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ช่วยนำพาและสร้างเสริมชุมชนนี้ให้ผ่านวิกฤตมาได้ และความร่วมแรงร่วมใจนี้เองก็คือจุดเริ่มต้นของการสร้างรากฐานของชุมชนจากเสาปูนจำนวนมากมาย

มันไม่ง่ายเลยที่จะตอกเสาปูนลงในน้ำที่มีดินเลนอยู่ แต่ด้วยภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาในชุมชนแห่งนี้ กลับมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยในการวางเสาปูนลงในตำแหน่งที่ต้องการเพื่อที่จะตอกมันลงไปได้โดยง่ายและถูกตำแหน่ง ชาวบ้านชุมชนหัวตะเข้เรียกเครื่องมือชนิดนี้ว่า “แพน”

panpan05

“ฅนสืบ(สาน)แพน” – พี่วัฒน์ ผู้นำกลุ่มใช้ภูมิปัญญาจาก “แพน” ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษชาวมอญ ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมา ความสำคัญ และประโยชน์ที่ได้รับจาก “แพน”

panpan06

“สีสันของความผูกพันธ์” – “ทำกิจกรรมพวกนี้มันสนุก มันได้เฮฮากัน” คำบอกเล่าจากพี่วัฒน์ที่สื่ออกมาด้วยความจริงใจ “มันเป็นสีสัน คุยกันเสียงดัง สนุก มันไม่ได้มีอะไรนะ มันได้ความสามัคคี”

3

พวกเราเริ่มต้นกันที่หลังโรงเรียนศึกษาพัฒนา โดยยืนอยู่บนฝั่งสะพานไม้ซึ่งมีกลุ่มทีมงานของชุมชนหัวตะเข้ยืนอยู่รอบบริเวณที่เป็นหนองน้ำ และมีกลุ่มทีมงานบางส่วนที่ยืนกับพวกเรา

“แพนคือเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ไว้ใช้ในการวางตำแหน่งของพื้นที่ที่ต้องการเอาเสาปูนลง และแพนยังช่วยในการประคับประคองเสาไว้ไม่ให้ล้มหรือเอนลงมาโดนคนอีกด้วย ”

พี่วัฒน์-สุวัฒน์ พรหมมณีรัตน์ ประธานชุมชนหัวตะเข้วัย 50 ปี แนะนำกับพวกเราก่อนที่จะเริ่มกระบวนการสาธิตการลงแพน

“แพนทำขึ้นมาจากไม้เนื้อแข็งมีลักษณะเป็นไม้กระดาน ประกอบด้วยไม้สามชิ้นมาประกบกันสามด้านเป็นกรอบทรงสี่เหลี่ยมคล้ายรางส่งของ โดยยึดไม้ทั้งสามด้วยตะปู ไม้กระดานเหล่านี้จะมีความยาวตามแต่เสาปูน โดยไม้กระดานสองชิ้นจะมีขนาดเท่ากัน แต่อีกชิ้นจะมีความยาวมากกว่า โดยด้านยาวจะแบ่งเป็นสองด้าน ด้านหนึ่งปักลงดินเราจะเรียกมันว่าเดือย ส่วนปลายอีกด้านที่เหลือไว้ใช้รับเสาที่จะถูกใส่มา”

พี่วัฒน์พูดถึงลักษณะของแพนต่อ โดยมีหนึ่งในทีมทำงานของพี่วัฒน์กำลังยกแพนให้ตั้งตรงบนหลุมที่ขุดไว้ในน้ำที่ได้วางตำแหน่งไว้

หลังจากแพนตั้งตรงเหนือหลุมที่ต้องการวางเสาแล้ว ทีมทำงานก็ยกเสาปูนจากพื้นไม้ด้านบนค่อยๆ ทำการตะแคงใส่แพน เมื่อเสาปูนใส่ตรงตามแพนที่ตั้งไว้ได้เสร็จ หนึ่งในทีมงานจึงนำแพนออกจากหลุม แล้วนำตัวเองขึ้นมาจากหนองน้ำ

“วิธีการต่อไปเราจะเรียกมันว่าการขย่มเสา” พี่วัฒน์แนะนำพลางหยิบโซ่เหล็กขึ้นมาให้พวกเราดู

“เราจะใช้โซ่นี้มัดกับเสาปูน โซ่นี้ก็สำคัญ ถ้ามัดไม่เป็นก็จะร่วง บางคนไม่เข้าใจพันขึ้นพันลง มันใช้ไม่ได้ โซ่ที่พันกันมันจะขบกันเอง พอมันไขว้กันก็ต้องกระแทกแรงลงไป สังเกตที่ผมบอกให้ทิ้งแรงลงไป ที่ทิ้งแรงเพื่อให้โซ่มันขบ นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องของโซ่กับไม้อีก คือคุณต้องใช้ความเข้าใจ ไม้มันมีเนื้อนิ่ม โซ่มันแข็ง พอโดนแง่ไม้มันก็จะขบกันอยู่ตัว พอขบไม่เป็นไม่เข้าใจมัน มันก็จะร่วงหล่น

“พอเรามัดโซ่เหล็กกับเสาปูนแล้ว เราก็จะเหลือที่ไว้เล็กน้อยให้ใส่ท่อนไม้เข้าไป ท่อนไม้นี้ต้องให้คนยืนอยู่ได้ และมีความหนาที่แข็งแรงต่อแรงกระแทก”
พี่เอกยกไม้ท่อนหนาสอดเข้ากับห่วงโซ่ที่ทำเหลือไว้

“ขั้นตอนต่อไปก็สำคัญ ต้องทำให้เร็ว เราจะรีรอไม่ได้ ยิ่งรอนานดินเลนก็จะดูดเสาปูนไว้ และจะทำให้เสาปูนไม่มั่นคง ต้องอาศัยความสามัคคี มันหยุดกลางคันไม่ได้ บางคนมันไม่เข้าใจ เรียกว่ามันตื้นนะ ถ้าเลนมันอยู่ตัว”

พี่วัฒน์อธิบายแล้วยกมือให้กับทีมทำงาน เหมือนทีมทำงานก็รู้ในสัญญาณนั้นดีจึงพากันขึ้นไปยืนอยู่บนท่อนไม้

ฮุยเลฮุย….ฮุยเลฮุย

เสียงให้จังหวะจากประธานชุมชนหัวตะเข้ดังขึ้นพร้อมกับที่ทั้งกลุ่มทำการขย่มท่อนไม้พร้อมกอดคอกันขย่มเท้าตามเสียงที่ให้จังหวะ ยกเท้าขึ้นและยกเท้าลงบนท่อนไม้ เสาปูนค่อยๆ จมลงในดินเลน โซ่เหล็กเมื่อไหลลงตื้นเกินก็ต้องถูกยกขึ้นมาใหม่ ทำอย่างนี้ซ้ำไปเรื่อยจนเมื่อเสาปูนทั้งหมดจมได้ระดับที่ต้องการ พี่วัฒน์ก็หยุดการให้จังหวะแล้วทำการส่งคนลงไปล้างแพนเพื่อเก็บรักษาต่อไป

“สิ่งสำคัญอีกอย่างคือไม้ที่ใช้ในการยึด ให้คนแรกไว้ใช้จับ ประคองตัวเองเพื่อไม่ให้เซ การทิ้งน้ำหนักตัวจะต้องมีอะไรค้ำ ต้องมีอะไรไม่ให้เรากลัวที่จะล้ม เราเลยต้องเตรียมไม้ไว้ด้วย ไม้แค่นิดเดียวก็สำคัญนะ สำคัญในการทรงตัว” พี่วัฒน์อธิบายต่อ

“แล้วจำนวนคนที่เหมาะกับการใช้งานในการลงเสาล่ะครับควรมีกี่คน และประโยชน์ของแพนมันมีอะไรบ้าง” เพื่อนผู้ชายในกลุ่มถามขึ้นมา
“ประมาณเจ็ดถึงแปดคน ตามแต่ขนาดของเสาปูน”

“ส่วนประโยชน์ของแพนคือ หนึ่ง เพื่อกันล้ม สอง เพื่อป้องกันเสาหักโค่นลงมาใส่คนได้” พี่วัฒน์ตอบคำถามผม พลางพูดต่อด้วยใบหน้าสงบนิ่ง

การทำแพนในชุมชนนี้ไม่มีคนสานต่อแล้ว…ก็เพราะ–หนึ่ง งานมันหนัก สอง ต้องเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยมีจังหวะ ฮุยเร่ฮุย ให้จังหวะการขย่ม การเหยียบกระทบท่อนไม้ ต้องได้จังหวะ ต้องพร้อมเพียงกัน ใช้ความสามัคคีเป็นตัวนำ”

“ทำกิจกรรมพวกนี้มันสนุก มันได้เฮฮากัน มันได้โห่กันบ้าง ทำไมพวกคุณไม่ดันกันบ้าง มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นสีสัน คุยกันเสียงดัง สนุก มันไม่ได้มีอะไรนะ มันได้ความสามัคคี มันได้หลายอย่าง ได้พลังด้วย ถ้าไม่มีพลัง ไม่มีความสามัคคี ก็ทำให้มันสำเร็จไม่ได้ ถ้าอีกคนดันแรงอีกคนไม่ช่วยดันก็เจ็บตัวกัน เวลาจะทำงานแบบนี้ต้องไปเรียกตัวกัน ใจเรียกใจ เฮ้ย คุณว่างไหม ก็มาช่วยกันทำ หยุดงานของตัวเอง บางทีก็ให้เงิน งานละ 700 ผมก็จะมองคน ทำงานในอากาศร้อนมึงเอาไป 700 ทำงานล่วงเวลาให้เขาเพิ่มไป 800 เราต้องเอื้อกัน มันจะอยู่ด้วยกันได้ยาว งานจึงจะเสร็จทัน ถ้าเรารู้ว่าไม่ขาดทุนก็ให้เขาไป”

“บางทีผมเห็นว่าเป็นงานส่วนรวม งานของชุมชน พี่วัฒน์เรียกมา แม้มีงานส่วนตัวผมก็ต้องหยุดงาน ต้องมาช่วย” หนึ่งในทีมงานที่มาช่วยกันลงเสาเสริมคำพูดของพี่วัฒน์

“แล้วเรื่องของการสานต่อละครับ เห็นพี่วัฒน์พูดถึงว่าคนในชุมชนนี้ไม่มีคนอยากสานต่อแล้ว พี่วัฒน์รู้สึกยังไง” ใครบางคนในกลุ่มเราถามขึ้นมา

“การอนุรักษ์ของเก่าๆ เดิมๆ ถ้าถามว่าควรมีไหม? ก็ควรมี แต่เมื่อเราอยู่ในยุคใหม่ มันอาจจะไม่มีหนทางอนุรักษ์ก็ได้ เน้นความสะดวกกว่า แต่ก็ควรให้รู้วิธี กระบวนการทำ แต่คนส่วนใหญ่มองกันคนละมุม จะเน้นความสะดวกกว่า ใช้ปั้นจั่นจะดีกว่า ถ้ามองในมุมหนึ่งของคนที่เขาไม่มีเงิน เขาก็เน้นประหยัด ใช้แพนประหยัดกว่า อย่างน้อยก็ประหยัดเงินของเราเอง”

หัวเรี่ยวหัวแรงในการลงแพนอย่างพี่วัฒน์หยุดคิดก่อนเอ่ยคำทิ้งท้าย

“อย่างน้อยการใช้งานของแพนก็สะท้อนสังคมด้วยความสามัคคีในการทำงาน เหมือนกับการทำงานของคนสมัยก่อน ทำงานโดยการเอาแรงจากบ้านใกล้เรือนเคียงมาช่วยกันทำงาน เอาแรงแลกแรง”

พี่วัฒน์กล่าวทิ้งท้ายก่อนที่เราจะลาจากกัน

panpan07

“ส่งรากต่อฐานสู่อนาคต” – อนาคตของ “แพน” จะเป็นอย่างไรนั้นคงขึ้นอยู่กับเด็กในวันนี้ ที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในในวันหน้า แล้วเมื่อถึงวันนั้น “แพน” ยังจะมีคุณค่าในสายตาพวกเขาหรือไม่?

panpan08

“เกิดจากแพน” – ตอม่อที่เรียงรายอยู่เติมคลองหลังโรงเรียนศึกษาพัฒนานี้ จะเกิดขึ้นอย่างเรียบง่ายเช่นนี้ไม่ได้เลย หากขาดภูมิปัญญาของคนโบร่ำโบราณและการรักษาภูมิปัญญา “แพน” ของคนกลุ่มนี้ “แพน” ยังรอวันที่คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าเข้ามาสานสืบต่อไป

4

แน่นอนว่าตลาดหัวตะเข้ก็ยังเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา แต่กระบวนการในการสร้างรากฐานของตัวตลาด เสาปูนที่คอยเป็นฐานให้กับเรือนไม้และทางเดินของตลาดแห่งนี้กลับก่อเกิดจากไม้เพียงสามแผ่นที่เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการลงเสาปูน

แพนไม้สะท้อนถึงการลงแรงด้วยแรงเล็กๆ เพียงไม่กี่แรงผ่านความสามัคคีของคนกลุ่มหนึ่ง แต่กลับสร้างรากฐานที่ยั่งยืนให้กับชุมชนตลาดหัวตะเข้

ใช่หรือไม่ว่ารากฐานอันมั่นคงอันมาจากแพนเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความสามัคคี ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ช่วยนำพาและสร้างเสริมชุมชนนี้ให้ผ่านวิกฤตมาได้ ตลอดจนความร่วมแรงร่วมใจเองก็คือจุดเริ่มต้นของการสร้างรากฐานของชุมชนจากเสาปูนจำนวนมากมาย


เกี่ยวกับคู่นักเขียน-ช่างภาพ ค่ายสารคดีครั้งที่ 13

papan writer

เฉลิมชัย กุลประวีณ์
…เเรกเริ่มจากความสนใจมาจากการอ่านหนังสือในวัยเด็ก ปัจจุบัน ยังคงพยายามเดินทาง พูดคุย เเก้ไขปัญหาของชุมชนในชนบทที่ห่างไกลผ่านกิจกรรมอาสาพัฒนาชนบทของมหาวิทยาลัย เเละยังคงตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่พบเห็น พร้อมทั้งยังหาคำตอบของสิ่งที่สนใจหรือตั้งข้อสงสัยต่อไป

papan photoอาทิตย์ ทองสุทธิ์ (ตะวัน) หรือ T – A – T (Tawan Arthit Thongsut)
ถ้ามองโดยผิวเผินแล้วค่ายสารคดีก็คงเป็นค่ายที่ฝึกให้เรียนรู้วิธีการทำสารคดีที่เข้มข้น ลงลึก และทำจริง
แต่จากที่ผมได้เข้าสัมผัส ผมรู้สึกได้ว่าค่ายนี้เป็นอะไรที่มากกว่านั้น ทั้งในแง่มิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีงาม

 

 


sarakadeecamp13