ผีสางเทวดา  เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


huatake-watsuwan

ในภาคกลางตามตำแหน่งที่เป็นปากคลองต่างๆ คือเมื่อคลองเล็กมาออกคลองใหญ่ หรือคลองใหญ่มาออกแม่น้ำอันนับเป็น “ทางสามแพร่ง” มักพบเห็นศาลเจ้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นศาลเจ้าจีน คือทำเป็นตึกทรง “เก๋งจีน”

ในภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดทอง หรือวัดสุวรรณาราม คลองบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ราวสมัยรัชกาลที่ 3 ก็มีภาพศาลเจ้าปากคลองทำนองนี้ ดูจากในภาพ ช่างวาดให้เห็นเป็นศาลไม้แบบไทยแต่มีหลังคามุงกระเบื้องแบบศาลเจ้าจีน ทาสีแดง ตามเสาเขียนตัวหนังสือจีนสีดำ

ศาลหลังนี้คงนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ เพราะเห็นมีเด็กลูกจีนที่นั่งในเรือพายผ่านไป ยังยกมือไหว้ท่วมหัว แสดงคารวะ

และแม้จะดูเหมือนศาลเจ้าจีน ทว่าบนยกพื้นชั้นในสุดกลับตั้ง “เจว็ด” ไว้สองแผ่น

เจว็ดคือแผ่นไม้แบนๆ รูปร่างเป็นใบเสมาผอมๆ (หรือพระขรรค์ปลายแหลม) เขียนหรือแกะสลักเป็นรูปเทวดาทรงเครื่องอย่างไทย ยืนใส่ชฎา แต่งตัวอย่างเครื่องละคร ถือพระขรรค์ในมือ หมายสมมติเอาว่านั่นเป็นตัวแทนของ “เจ้า” หรือเทวดาที่สถิตอยู่ในศาล

สำนวนไทยจึงใช้คำว่า “เจว็ด” ในความหมายว่าถูกแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ หรือมอบหมายให้ไปดำรงตำแหน่งที่ดูเหมือนจะมีอำนาจ แต่จริงๆ แล้วไม่มีน้ำยาอะไร เขาเอามาตั้งๆ ไว้อย่างนั้นเอง

กลับมาที่ภาพจิตรกรรมที่ว่ามาแล้วอีกทีหนึ่ง ทางด้านหน้า ถัดลงมาที่ชานหน้าศาล ช่างสมัยรัชกาลที่ 3 เขียนเป็นภาพหัวกะโหลกจระเข้สีขาวๆ วางไว้ด้วย

huatake-chaopojui01 huatake-chaopojui02

ธรรมเนียมการนำเอาหัวหรือกะโหลกของสัตว์บางชนิดที่เชื่อกันว่ามีฤทธิ์อำนาจในน้ำอย่างจระเข้ มาตั้งวางไว้ที่ศาลเจ้ายังพบเห็นหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน เช่นที่ศาลเจ้าจุ้ย คลองบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศาลไม้ทรงไทย ทาสีแดงทั้งหลัง ชวนให้นึกถึงศาลเจ้าในภาพจิตรกรรมวัดสุวรรณาราม ก็มีเจว็ดไม้ตั้งไว้ พร้อมด้วยหัวกะโหลกจระเข้

ไหนจะภูมินามชื่อ “หัวตะเข้” และ “ศีรษะจระเข้” ที่อยู่ระหว่างรอยต่อเขตลาดกระบังของกรุงเทพฯ กับอำเภอบางเสาธงของสมุทรปราการอีก

แน่นอนว่าทั้งหัวตะเข้ของลาดกระบังกับศีรษะจระเข้ (ซึ่งมีทั้งตำบล “ศีรษะจระเข้น้อย” และตำบล “ศีรษะจระเข้ใหญ่”) ทางบางเสาธง ดั้งเดิมคือหย่อมย่านเดียวกันที่กินอาณาบริเวณครอบคลุมทั้งสองฟากคลองประเวศบุรีรมย์ ต่างกันแต่ฝั่งหนึ่งเลือกใช้ตัวสะกดตามเสียงชาวบ้าน ส่วนอีกฝั่งหนึ่งถูกแปลงให้เป็นภาษาเขียนหรือ “ภาษาราชการ” แล้ว ซึ่งทั้งหมดก็ชวนให้คิดว่าดั้งเดิมเห็นจะมีศาลที่ตั้ง “ศีรษะจระเข้” หรือ “หัวตะเข้” อยู่ริมคลองในละแวกนั้นที่ใดที่หนึ่งแน่ๆ


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี