อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


maewong01

เส้นทางศึกษาธรรมชาติบนยอดมออีหืด  ถ้าหากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์  เขาลูกนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของผนังกั้นน้ำ

วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๐ น่าจะเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ซึ่งมีอายุยาวนานมากกว่าสามสิบปี ไม่ว่าสำหรับผู้ที่มีความเห็นคัดค้านหรือสนับสนุนเขื่อนนี้ เมื่อกรมชลประทานในฐานะเจ้าของโครงการยื่นหนังสือถึงสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ขอถอนรายงาน EHIA เขื่อนแม่วงก์ออกจากการพิจารณา

หากยังจำกันได้ หลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าการเดินเท้าระยะทาง ๓๐๐ กว่ากิโลเมตรจากบริเวณที่ตั้งเขื่อนภายในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ มาถึงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่สี่แยกปทุมวัน ของศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (ตำแหน่งขณะนั้น) หรือคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ของเครือข่ายนักอนุรักษ์ ภาคประชาชน นักวิชาการ ที่เกิดขึ้นตามมา ล้วนแต่พุ่งเป้าเข้าหารายงานประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environment and Health Impact Assessment) หรือ “อีเอชไอเอ” (EHIA)

maewong02

ลำน้ำแม่วงก์ช่วงไหลผ่านแก่งลานนกยูง  หากมีการสร้างเขื่อน  บริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งสันเขื่อน  ซึ่งทำจากหินถมแกนดินเหนียว

ทั้งนี้ กลุ่มผู้คัดค้านได้พยายามชี้แจงให้เห็นข้อบกพร่องของรายงานเล่มนี้ ยกตัวอย่างเช่น

การระบุว่าไม่พบสัตว์ป่าขนาดใหญ่ในบริเวณพื้นที่ที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ทั้งๆ ที่พบรอยกวางป่าชุกชุม รวมถึงถ่ายภาพสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือโคร่งได้ด้วยกล้อง Camera Trap

การระบุว่าบริเวณที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำมีแต่ต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดกลาง ทั้งๆ ที่พบไม้ใหญ่ในพื้นที่จำนวนมาก หลายต้นมีอายุนับร้อยปี เช่น สัก ประดู่ แดง มะค่าโมง ยาง

การระบุว่าเขื่อนจะกลายเป็นแหล่งน้ำให้สัตว์ป่าได้ใช้ประโยชน์ ทั้งๆ ที่บทเรียนจากอดีตหลายต่อหลายบทบอกเราว่า การสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่ารังแต่จะทำให้ผู้คนเข้าถึงผืนป่าได้ง่าย และทำให้เกิดการลักลอบล่าสัตว์ตัดไม้บริเวณรอบๆ อ่างเก็บน้ำ

อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มผู้คัดค้านจะพยายามชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของรายงาน EHIA แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่รายงานเล่มหนากว่าสามร้อยหน้าเล่มนี้จะถูกถอนออกจากการพิจารณา

ที่ยิ่งไปกว่านั้น คือในหมู่คนที่เฝ้าติดตามโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ ต่างรับรู้ว่าโดยปรกติแล้วรายงาน EIA หรือ EHIA นั้นเมื่อยื่นเรื่องแล้วก็ยากที่จะถูกถอน ถึงต่อให้เนื้อหารายละเอียด “ไม่ผ่าน” ผู้พิจารณาก็มักใช้วิธีสั่งการให้ผู้ยื่นเรื่องกลับไปศึกษาข้อมูลเพิ่ม เพื่อปรับปรุงเนื้อหาของรายงานใหม่ บางกรณีอาจใช้วิธี “แช่แข็ง” หรือ “ดอง” รายงานทิ้งไว้ ประจวบเหมาะเมื่อไหร่ก็หยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง เรียกว่ายากที่ภาครัฐจะสั่ง “ยกเลิก” หรือระงับโครงการ

ด้วยเหตุนี้สถานการณ์ถอนรายงาน EHIA ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนตุลาคมจึงนับว่าน่าสนใจยิ่ง

maewong03

เส้นทางภายในป่าแม่วงก์ ส่วนหนึ่งเคยใช้เป็นเส้นทางสำหรับชักลากไม้

การทำหนังสือถอนรายงาน EHIA ของกรมชลประทานครั้งนี้ น่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุม คชก. ครั้งล่าสุดเมื่อ ๑ กันยายน ๒๕๖๐ ซึ่งประชุมมีมติให้กรมชลประทานปรังปรุงแก้ไขและเพิ่มข้อมูล

ผ่านไปราวเดือนเศษ คือวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๐ กรมชลประทานก็ตัดสินใจยื่นหนังสือขอถอนรายงาน EHIA ตามเอกสารหมายเลข กษ ๐๓๒๗/๑๐๐๑๓ ชื่อเรื่องเต็มว่า “ขอถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์” เรียนถึงเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมอ้างถึงมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้ง ๕ ครั้งก่อนหน้า ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ จนมาถึงครั้งล่าสุด

maewong04

ต้นกระบากอายุประมาณ ๒๐๐ ปี  เป็นหนึ่งในต้นไม้ใหญ่ที่พบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่สร้างเขื่อน  ขณะที่รายงาน EHIA ระบุว่าบริเวณที่จะถูกน้ำท่วมมีแต่ต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดกลาง 

เนื้อหาของเอกสารที่มีความยาว ๒ หน้าชิ้นนี้ แจกแจงออกเป็นสี่ข้อ

หนึ่ง กรมชลประทานเท้าความว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรังตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๒๕-๒๕๒๙ ) จากปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และความยากจน ต่อมาวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ คณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดการน้ำของประเทศ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการจัดทำรายละเอียดต่างๆ

สอง กรมชลประทาน ในฐานะเจ้าของโครงการ จัดทำรายงาน EHIA นำเสนอต่อ คชก. มีการขอรายละเอียดเพิ่มเติมตามข้อคิดเห็นของ คชก. กระนั้น ข้อคิดเห็นของ คชก. บางประเด็นครอบคลุมไปถึงการศึกษาและวิจัยระดับลุ่มน้ำ ภูมิภาค หรือให้เปรียบเทียบผลการศึกษาระดับทั้งประเทศ ซึ่งเกินจากขอบเขตการศึกษาเดิมที่กรมชลประทานเคยทำไว้

สาม ระหว่างรอการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA อยู่นั้น วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๐ กรมชลประทานได้ระบุถึงความจำเป็นในการทบทวนโครงการ มีใจความตอนหนึ่งว่า “กรมชลประทานได้ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ และข้อเสนอจากแนวทางจากหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มาพิจารณาดำเนินการจัดทำแนวทางเลือกในการแก้ปัญหาอุทกภัยและขาดแคลนน้ำลุ่มน้ำสะแกกรังในพื้นที่อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้กรอบการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ (Area base)”

เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ จึงกำหนดแผนการดำเนินงานระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยไม่เกิดประเด็นต่อต้าน คัดค้าน และเกิดความขัดแย้งทางสังคม

โดยการตามแผนเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน อาจส่งผลกระทบต่อลักษณะหรือขนาดโครงการที่ศึกษาไว้เดิม จึงต้องมีการทบทวนลักษณะของโครงการใหม่ให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ทั้งระบบ

สุดท้ายข้อสี่ ระบุว่าเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้องชัดเจนตามหลักวิชาการ จึงขอถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการฯ ออกจากการพิจารณาของ คชก. เพื่อดำเนินการตามข้อ ๒ และ ๓ ให้ครบถ้วน ในอนาคตหากมีความจำเป็นต้องพิจารณาการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะนำเสนอรายงานเข้าสู่การพิจารณาตามกฎหมายอีกครั้ง

maewong05

การขอถอนรายงาน EHIA ของกรมชลประทาน เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๐ อาจหมายถึงการยกเลิกสร้างเขื่อนแม่วงก์  หรือหมายถึงเริ่มต้นศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพใหม่  ไม่ว่าจะอย่างไร  การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้งจะยังต้องดำเนินต่อไป

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจสรุปได้ว่า หลังจากโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ยืดเยื้อมายาวนานกว่า ๓๐ ปี มีการจัดกิจกรรมคัดค้านอย่างเข้มข้นด้วยการเดินเท้าประท้วง ในที่สุดรายงาน EHIA ที่เปรียบเสมือนแกนกลางของปัญหาทั้งปวงก็ถูกหยิบออกจากขั้นตอนผลักดันให้มีการสร้างเขื่อน

หนทางภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไร หากหน่วยงานของรัฐยังยืนยันว่าต้องมีการสร้างเขื่อน การศึกษารายละเอียดเพื่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็คงจะต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ โดยจะต้องเป็นไปอย่างครบถ้วน รอบด้าน ถูกต้องทั้งประเด็นทางสังคม วิศวกรรม นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า เศรษฐศาสตร์เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม
ส่วนคำถามว่าเมื่อถอนออกแล้วจะถูกเสนอกลับเข้าไปใหม่หรือไม่ อย่างไร ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

หมายเหตุ : เก็บตกจาก ปลุกเขื่อนแม่วงก์กลางป่าอนุรักษ์ เบื้องหลังกำแพงยักษ์สูง ๕๖ เมตร นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๓๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๕


tei

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ