ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


อนาคตวงศ์ - นายเรือง-นายนก

นายเรือง

ที่ซุ้มประตูทางเข้าเขตพุทธวาสของวัดอรุณราชวราราม มีประติมากรรมทาสีทองสองรูปตั้งคู่กันซ้ายขวา เป็นรูปของนายบุญเรือง หรือนายเรือง กับนายนก คนรุ่นต้นกรุงรัตนโกสินทร์

เหตุที่มีการสร้างรูปของบุคคลทั้งสองนี้ไว้ก็สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่ทั้งคู่ต่างเผาตัวตายภายในบริเวณวัดอรุณฯ โดยนายเรืองเริ่มก่อนเป็นคนแรกเมื่อปี 2333 สมัยรัชกาลที่ 1 ติดตามมาด้วยนายนกในอีก 27 ปีต่อมา คือปี 2360 สมัยรัชกาลที่ 2

ทั้งคู่มิได้ต้องการประท้วงใคร หรือทำไปด้วยความเพ้อคลั่ง แต่เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปในเวลานั้น ว่าทั้งนายเรืองและนายนกต่างต้องการบูชาพระพุทธศาสนาในระดับอุกฤษฎ์ เพื่อมุ่งหมายบรรลุพระโพธิญาณ

ยุคนั้น การสละชีวิตเพื่อหวังแลกเอาพระนิพพาน คงถือเป็นบุญใหญ่อันน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่ง หลังจากนั้นราวสมัยรัชกาลที่ 3 จึงมีการสร้างรูปนายเรืองนายนกขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ โดยทำเป็นหินสลักตั้งไว้ที่วัดอรุณฯ พร้อมกับมีศิลาจารึกกำกับ โดยรูปนายเรืองนั่งขัดสมาธิพนมมือ ส่วนรูปนายนกนั่งขัดสมาธิ มือวางประสานที่หน้าตักในท่านั่งสมาธิ

nai-nok

นายนก

จากหลักฐานร่วมสมัยยังพบว่าช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น มีบุคคลอื่นๆ ที่เผาตัวตายด้วยวัตถุประสงค์ทางพุทธศาสนาอีกหลายราย รวมทั้งมีจดหมายเหตุบันทึกถึง “แฟชั่น” การเชือดเนื้อเอาเลือดมาผสมน้ำมันจุดตะเกียงบูชาพุทธสถาน หรือกระทั่งเอาดาบจ้วงแทงตัวเองบูชาพระก็มี โดยผู้ที่กระทำเช่นนี้มีตั้งแต่ระดับชาวบ้าน นักบวช ไปจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์

เรื่องทำนองนี้อาจดู “นอกรีต” หรือ “ไม่ใช่พุทธแท้” ในสายตาพุทธศาสนิกชนยุคปัจจุบัน ทว่าอย่างน้อยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับได้และถือเป็นกรณียกิจอันควรแก่การยกย่องเชิดชู

ที่มาของการบูชา “ด้วยเลือดด้วยเนื้อ” ทำนองนี้ น่าจะมาจากความเชื่อที่แพร่หลายเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า 10 พระองค์ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต นับตั้งแต่พระศรีอาริยเมตไตรย์ หรือ “พระศรีอาริย์” เป็นต้นไป ดังที่ระบุไว้ในคัมภีร์ “อนาคตวงศ์”

พระอนาคตพุทธเจ้าเหล่านั้นมีชาติกำเนิดแตกต่างหลากหลาย บ้างเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ บ้างเป็นขุนนาง มีแม้กระทั่งที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน หากแต่สิ่งสำคัญที่เป็นลักษณะร่วมกันก็คือ การบำเพ็ญมหากุศลในระดับอุกฤษฎ์ เช่น เชือดคอ หรือจุดไฟไว้บนศีรษะ ถวายเป็นพุทธบูชา ยอมถูกประหารชีวิตเพื่อให้ได้ถวายไทยทานแก่พระพุทธเจ้าก่อนผู้ใด หรือแม้แต่ยกโอรสธิดาให้ยักษ์กินเป็นทาน

เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นต้นแบบของการนับถือพุทธศาสนายุคนั้น โดยเราอาจเรียกลัทธินี้ตามนามของคัมภีร์สำคัญได้ว่าเป็น “ลัทธิอนาคตวงศ์” ซึ่งมีฐานะเป็นพุทธศาสนาประชานิยม (Popular Buddhism) ยุคต้นสมัยกรุงเทพฯ ก่อนที่จะถูกเบียดขับและทำให้ลืมเลือนไป ด้วยกระแส “เหตุผลนิยม” ของพุทธศาสนา “สมัยใหม่” ที่เป็น “วิทยาศาสตร์” ซึ่งเฟื่องฟูขึ้นในระยะหลัง

กระทั่งรูปนายเรืองนายนกซึ่งสละชีวิตเพื่อพระศาสนา สุดท้ายก็ถูกตัดหัวซ้ำอีก แต่ไม่ใช่ในลัทธิอนาคตวงศ์ ทว่าเป็นลัทธิวัตถุนิยม เมื่อราว 40 ปีก่อน ศีรษะของรูปปั้นทั้งคู่ถูกลักตัดไปพร้อมกันในคืนวันหนึ่ง เชื่อกันว่าขโมยหวังเอาไปขายเป็นโบราณวัตถุตามร้านแอนติค ส่วนศีรษะที่เห็นในปัจจุบันนี้เป็นของปั้นใหม่ อย่างศีรษะของนายเรืองนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าฝีมืออ่อนด้อยอย่างน่าเศร้าใจ