ผลงานค่ายสารคดีครั้งที่ 13
งานเขียนสารคดีดีเด่น
เรื่อง : อังคณา แก้ววรสูตร
ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี

snakeadv01

“ขอโทษนะคะ มาอบรมการจับงูหรือเปล่า”

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสวนงู สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เดินเข้ามาถาม ขณะที่ฉันกำลังเกาะขอบบ่อซีเมนต์ดูงูแหวกว่ายอิสระในแอ่งน้ำน้อยท่ามกลางสวนขนาดย่อม

“เปล่าค่ะ มาดูงูเฉยๆ” ตอบไปอย่างหวั่นใจว่าการเข้ามาในที่นี้ของตนเองผิดปรกติหรือไม่

ความจริงฉันไม่ได้มาดูงูเฉยๆ เพราะแอบคาดหวังว่าจะได้อะไรบางอย่างจากที่นี่บ้าง

“อ้อ ถ้างั้นช่วยมาจ่ายค่าบัตรเข้าชมด้วยค่ะ ตอนแรกคิดว่ามาอบรมเลยปล่อยเข้ามา”

ฉันเดินย้อนกลับไปที่ทางเข้า จ่ายค่าเข้าชมตามธรรมเนียมและรับบัตรผ่านตามกติกา แล้วเดินผ่านประตูของสวนงูอีกครั้ง สวนอันร่มรื่นด้วยแมกไม้เขียวขจีปรากฏสู่สายตา มีตึกทรงโบราณเป็นฉากหลัง เจ้าหน้าที่ในชุดสีขาวสวมเสื้อกาวน์กางเกงดำหลายคนเดินขวักไขว่ หอบหิ้วสัมภาระหลายอย่างขึ้นตึก คาดว่าคงเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการอบรม และเจ้าหน้าที่เหล่านั้นคงเป็นคนที่ทำงานกับงู

snakeadv02

“คนบ้าที่ไหนทำงานกับงู ไม่มีหรอก จริงไหม”

นั่นคือความคิดในอดีตของชายหนุ่มคนหนึ่ง แต่หลังจากได้สัมผัสกับอาชีพที่เคยคิดว่ามีแต่คนบ้าเท่านั้นที่ทำ ความคิดของเขาก็เปลี่ยนไป

ณัฐวรภัทร แป้นกลัด อายุ 27 ปี เป็นเจ้าหน้าที่รีดพิษงูของสวนงู สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เล่าว่า รู้จักอาชีพนี้จากน้องชาย โดยก่อนหน้านี้ตนทำงานเป็นช่างคุมแท่นพิมพ์ของโรงพิมพ์แห่งหนึ่งซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน ต่อมามีการเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทยในตำแหน่งเจ้าหน้าที่รีดพิษงู สิ่งเดียวที่เป็นแรงจูงใจให้ชายหนุ่มยื่นใบสมัครคือสวัสดิการที่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลให้พ่อแม่ได้ ความที่เห็นแก่ประโยชน์ของบุพการี ทำให้เขาเลือกเข้ามาทำงานที่เคยคิดว่ามีแต่ “คนบ้า” เท่านั้นที่ทำ

“หลักเกณฑ์แรกคือ ต้องไม่กลัวงู”

เพราะเป็นอาชีพที่ทำงานอยู่กับงูตลอดเวลา จึงต้องคัดกรองคนที่สามารถทำงานได้จริง ซึ่งทุกคนต้องผ่านการทดสอบสำคัญคือการจับงู เป็นภารกิจวัดใจโดยแท้“เขาให้จับงูห้าชนิด ไม่รู้มีงูอะไรบ้าง ตอนนั้นรู้จักงูเห่าตัวเดียว เขาถามว่าเรากล้าจับไหม มีอุปกรณ์ให้ หรือจะใช้มือเปล่าก็ได้แล้วแต่คุณ เขาดูว่าเรากลัวงูหรือเปล่า ถ้าให้จับแล้วคุณไม่กล้า คุณก็ไม่ผ่านแล้ว”

“กล้าพูดอย่างหนึ่งว่า ทุกคนที่ทำงานอยู่ที่นี่ ไม่มีใครกลัวงู”

ท่าทางขึงขังของชายหนุ่มให้ความรู้สึกอย่างผู้กล้าที่ไม่หวั่นเกรงต่อภยันตรายใดๆ พิสูจน์ได้จากประสบการณ์ทำงานกับอสรพิษมานานกว่า 3 ปี

ผ่านการทดสอบแล้วใช่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รีดพิษงูอย่างภาคภูมิได้ทันที ขั้นตอนต่อจากนี้คือการฝึกงาน เป็นช่วงเวลาที่ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้รู้ลึกรู้จริงจนชำนาญ เพราะอาชีพนี้ไม่มีเปิดสอนหลักสูตรที่ไหน

“ที่นี่ฝึกงาน 9 เดือน แบ่งเป็น 3 ช่วง ฝึกงาน 3 เดือน สอบหนึ่งครั้ง มีการทดสอบตลอดเวลา จนแน่ใจว่าชำนาญแล้ว”

กว่าจะชำนาญ ต้องผ่านการฝึกเลี้ยงงู ฝึกใช้อุปกรณ์ต่างๆ และคลุกคลีกับงูหลากหลาย ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ ประสบการณ์ใหม่ที่ได้สัมผัสช่วยลบล้างความเชื่อเดิมหลายประการและจุดประกายความคิดใหม่

“คนเฒ่าคนแก่พูดใส่หูเราว่าอย่าไปยุ่งกับงูนะ มันมีพิษ พอเราเข้ามาทำงานถึงรู้ว่าบางตัวมันไม่มีพิษหรอก เป็นกุศโลบายของผู้ใหญ่ ไม่อยากให้เด็กเข้าไปยุ่ง”

snakeadv03

“ทุกคนที่นี่ต้องรู้เรื่องงูหมด จะสอนเขาเราต้องเป็นด้วย”

ณัฐวรภัทรอธิบายว่า เจ้าหน้าที่รีดพิษงูมีทั้งหมด 17 คน ซึ่งทุกคนสามารถทำงานทุกอย่างได้ โดยจะหมุนเวียนกันทำหน้าที่ต่างๆ

“ถ้ามีคนลาก็ต้องมีคนแทนกันได้ เพื่อให้งานเดินต่อไป”

ถึงไม่ชอบงานส่วนไหนก็ไม่มีทางหลบเลี่ยง เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องเลี้ยงงู เพาะพันธุ์ รีดพิษ จับงู จนถึงให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับงูได้ โดยเจ้าหน้าที่ใหม่ที่ยังทำงานไม่คล่องจะคอยเป็นลูกมือช่วยงานรุ่นพี่ มีเวลาให้ทุกคนเก็บเกี่ยวประสบการณ์จนชำนาญพร้อมแสดงฝีมือด้วยตนเอง

คุณสมบัติสำคัญของเจ้าหน้าที่รีดพิษงูคือ ต้องช่างสังเกตและจมูกดี เพื่อให้แยกแยะสิ่งต่างๆ ได้ เช่น อาหารของงู อาการที่งูไม่สบาย สีงูเปลี่ยนไปไหม งูผอมเพราะอะไรก็ต้องจับไปรักษา บางครั้งให้อาหารไปแล้วงูคายอาหารออกมา ถ้าอาหารเน่าหรืองูตายต้องได้กลิ่นถึงจะรู้ปัญหาแล้วหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป

“รู้สึกว่ารายละเอียดเยอะ ตอนแรกคิดว่าไม่น่าทำงานที่นี่เลย แต่พอทำทุกวัน เราก็รู้เรื่องจุกจิกพวกนี้ไปโดยปริยาย”

snakeadv04

“งูทุกชนิดมันไม่เชื่องหรอก แต่เราคลุกคลีกับเขาก็รู้นิสัยเขา”

เจ้าหน้าที่หนุ่มเล่าประสบการณ์ท้าทายให้ฟังว่า เคยถูกงูไม่มีพิษกัดหลายครั้งขณะกำลังสาธิตการจับงู ทำความสะอาดแหล่งที่อยู่ จับตัวงูเพื่อรักษาบาดแผล หรือบางครั้งมือไปถูกอาหารของงูแล้วใช้มือนั้นจับงูก็ถูกกัด เพราะเขาได้กลิ่นอาหารจากมือเราจึงคิดว่าเราเป็นอาหารของเขา

“เรารู้อยู่แล้วว่าเขาไม่มีพิษ อยากกัดก็กัดไป เจ็บนิดเดียวเหมือนเข็มแทง เดี๋ยวก็หาย ใช้น้ำยาล้างแผลทำความสะอาดเท่านั้น”

“ตอนโดนกัดก็ตกใจ แต่ไม่กลัว เพราะอาชีพนี้ถ้ากลัวก็ทำไม่ได้”

ความที่คลุกคลีอยู่กับงูตลอดเวลา ณัฐวรภัทรจึงรู้จักนิสัยตามธรรมชาติของงูดีในระดับหนึ่ง

“งูทุกชนิดทุกตัวนิสัยไม่เหมือนกัน อย่างงูเห่ามีสองลักษณะคือหนีกับสู้ ถ้าเจองูสู้ อาจเป็นเพราะเราไปรบกวนตรงแหล่งที่เขาอยู่ ทำให้เขาตื่น ที่ยกคอสู้เพราะเขาไม่มีทางไปแล้วเลยต้องสู้ บางตัวก็หนีอย่างเดียว”

สวนงู สถานเสาวภา มีงูแทบทุกชนิดอยู่ที่นี่ ยกเว้นงูหายากบางชนิดเท่านั้น ลองนึกภาพภายในตึกที่มีอสรพิษนับพันตัวอยู่ในนั้น หลายคนคงนึกขยาดและหวาดหวั่น หากแต่ด้วยระบบรักษาความปลอดภัยของที่นี่จึงไม่เคยมีเหตุการณ์งูหลุดออกไปสร้างความเดือดร้อนสักครั้ง

“งูหลุดออกจากแหล่งที่อยู่ เช่น กล่องพลาสติก ตู้กระจก ก็มีบ้าง แต่เลื้อยอยู่ในห้องเท่านั้น ไม่สามารถออกไปไหนได้ พอเจ้าหน้าที่มาเจอก็จับกลับที่เดิม”

ที่สวนงู สถานเสาวภา งูหลายตัวที่จัดแสดงนิ่งจนน่าแปลกใจ ต้องจับจ้องเป็นเวลานานถึงจะเห็นขยับตัวสักที ณัฐวรภัทรเล่าว่า ที่นี่เลี้ยงงูแบบปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ งูเหล่านี้พอกินอิ่มก็นอนหลบภัย

“นิสัยงูจริงๆ จะไม่มายุ่งกับคนอยู่แล้ว มีแต่คนไปยุ่งกับงู”

snakeadv06

“เขาบอกแค่พื้นฐานมา แต่ประสบการณ์อยู่ที่เราคลุกคลีกับมันทุกวัน”

เจ้าหน้าที่รีดพิษงูต้องผ่านการฝึกฝนจนชำนาญ แม้แต่เชี่ยวชาญแล้วก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะทุกช่วงเวลาของการทำงานเสมือนยื่นหนึ่งขาเหยียบความตาย

“ทุกคนที่เข้ามาไม่มีใครทำเป็น มาเรียนรู้ มาฝึกที่นี่”

สวนงู สถานเสาวภา เปิดทำการในเวลา 09.30 น. แต่เจ้าหน้าที่ต้องมาก่อนเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมของคน งู และสถานที่ โดยทำความสะอาดแหล่งที่อยู่ของงู ทั้งในกรงเหล็ก บ่อซีเมนต์ ตู้กระจก จัดการกับอาหารงู บ่อน้ำกิน เก็บกวาดอุจจาระ ปัสสาวะ และปรับแต่งพื้นที่

การสาธิตรีดพิษงูจัดแสดงที่ห้องสาธิตภายในตึก 4 มะเสง เจ้าหน้าที่รีดพิษงูทำการแสดงในห้องกระจก โดยผู้ชมนั่งตามขั้นอัฒจันทร์สังเกตอยู่รอบนอกอย่างลุ้นระทึก นายสัตวแพทย์ประจำสวนงูเป็นผู้ดำเนินรายการ กล่าวทักทาย บรรยายขั้นตอน รวมถึงอธิบายความรู้เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้ผู้ชมทราบ

ขั้นตอนการรีดพิษงู คือ ต้องเตรียมงูให้พร้อม เลี้ยงให้มีสุขภาพดี กินอิ่ม พักผ่อนเพียงพอตามสภาพ

แวดล้อมธรรมชาติ เพื่อให้ผลิตพิษงูที่มีคุณภาพ และการรีดพิษงูแต่ละครั้งต้องใช้งูชนิดเดียวกันเท่านั้น เพราะงูบางชนิดไม่ถูกกัน จึงมีการสลับหมุนเวียนงูที่ใช้สาธิตทุกวัน ได้แก่ งูเห่าไทย งูจงอาง และงูเขียวหางไหม้

“อย่างงูสามเหลี่ยม ให้ได้กลิ่นงูชนิดอื่นไม่ได้ เขากินงูกันเอง”

เจ้าหน้าที่รีดพิษงูประจำที่โต๊ะสำหรับทำการสาธิต เปิดกล่องพลาสติกนำงูออกมาทีละตัว ต้องใช้ความคล่องแคล่วและฉับไวในการจับงู โดยมือหนึ่งจับหาง อีกมือหนึ่งจับหัว ถ้าเป็นงูตัวเล็กที่เคลื่อนไหวเร็วอย่างงูเขียวหางไหม้ ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยคือไม้จับงู ที่ทำจากแท่งพลาสติกแข็ง ตรงปลายผ่าเป็นปากฉลามไว้สำหรับกดล็อกหัวงูกับพื้นโต๊ะ

บางครั้งความคล่องแคล่วของเจ้าหน้าที่ยังไม่เร็วเท่าความว่องไวของอสรพิษ งูบางตัวเลื้อยออกจากกล่องและเลื้อยลงโต๊ะสาธิตได้ สร้างความตื่นเต้นและเสียงฮือฮาจากผู้เข้าชม แต่เจ้าหน้าที่ไม่ปล่อยให้อสรพิษโลดโผนได้นานกว่านั้น ด้วยความชำนาญการจึงจับงูที่หลุดการควบคุมได้ทันท่วงที แล้วงูตัวนั้นก็ถูกจับรีดพิษตามระเบียบโดยเจ้าหน้าที่จะจับส่วนหัวของงูให้มั่นคง แล้วบีบปากงูให้อ้ากว้าง จากนั้นนำปากงูไปกดลงบนแก้วซึ่งปากแก้วห่อไว้ด้วยวัสดุบางใส งูก็จะงับกัดลงบนวัสดุที่หุ้มปากแก้วนั้น พร้อมกับปล่อยพิษออกมาตามสัญชาตญาณของผู้ล่าเพื่อจัดการกับผู้รุกราน จะได้น้ำพิษจำนวนหนึ่งไหลลงก้นแก้ว ซึ่งงูแต่ละตัวให้น้ำพิษปริมาณไม่มากนัก โดยขึ้นอยู่กับขนาดของงูด้วย

“งูนอนพอไหม กินอิ่มไหม ก็จะให้น้ำพิษต่างกัน มีตั้งแต่สีใส ขุ่น เหลือง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของงู”

เมื่องูถูกรีดพิษไปแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำงูเหล่านั้นไปเลี้ยงดูอย่างดี รอเวลาให้สมบูรณ์พร้อมรีดพิษอีกครั้ง หน้าที่ของเจ้าหน้าที่รีดพิษงูจบลงเท่านี้ ส่วนน้ำพิษจะเข้าสู่กระบวนการผลิตเซรุ่มต่อไป

“การสาธิตจับงูจะตื่นเต้นมากกว่า ถ้าเปรียบการสาธิตรีดพิษเป็นเชิงวิชาการ การสาธิตจับงูจะเป็นเชิงวิชาการที่สนุกด้วย”

การสาธิตจับงูจัดแสดงที่บริเวณหน้าตึก 4 มะเสง ซึ่งตกแต่งเป็นสวนที่ร่มรื่น ผู้เข้าชมจับจองที่นั่งบนอัฒจันทร์ เจ้าหน้าที่จะนำงูหลากหลายชนิดทั้งมีพิษและไม่มีพิษมาสาธิตการจับให้ได้ชม

การจับงูต้องใกล้ชิดกับงูมากเป็นพิเศษและมีอันตรายเกิดขึ้นได้เสมอ สำนวนที่ว่า รู้เขารู้เรา จึงเหมาะสมกับภารกิจนี้มากที่สุด เพราะเจ้าหน้าที่ต้องรู้นิสัยของงู และรู้วิธีรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด

“อย่างงูจงอางที่เอามาโชว์ เป็นงูตัวเดิมที่โชว์ทุกวัน แต่ก็มีอาการต่างกันในแต่ละวัน บางทีอากาศร้อนก็หงุดหงิด บางทีก็มีความเครียดเพราะเจอคนเยอะ”

“เราคลุกคลีกับงู พอจับเขาออกมาก็รู้เลยว่าตอนนี้เป็นอย่างไง ต้องสังเกตด้วย ไม่ใช่นึกจะเล่นก็เล่น”

งูที่เรียกเสียงฮือฮามากที่สุด ได้แก่ งูจงอาง งูทางมะพร้าว และงูเห่าไทย เพราะเจ้าหน้าที่กับงูมีลูกล่อลูกชนอันชวนตื่นตา กระเซ้าเย้าแหย่งูให้โฉบฉกไปมา ซ้ายที ขวาที เร้าอารมณ์ระทึกให้ผู้ชมตื่นเต้นไปด้วย และในช่วงพริบตาเดียวงูเหล่านั้นก็ถูกจับมั่นในกำมือของเจ้าหน้าที่ อสรพิษถูกพิชิตแล้ว เรียกเสียงปรบมือให้กับความสำเร็จดังกล่าวได้มากทีเดียว

ตลอดทั้งวันที่เปิดต้อนรับคนทั่วไปให้มาแสวงหาความรู้ ชมงูตามสวน ดูนิทรรศการเกี่ยวกับงูภายในตึก 4 มะเสง ชมสาธิตการจับงูและรีดพิษงูตามรอบของการแสดง จวบจนปิดทำการในเวลา 15.30 น. หลังจากนี้เป็นภารกิจเก็บกวาด ให้อาหารงู และตรวจดูความเรียบร้อย

ในการทำงานต้องเผชิญกับงู เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่รีดพิษงูหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภารกิจสำคัญคือรีดพิษงูเพื่อนำไปทำเป็นเซรุ่มแก้พิษ

snakeadv05

“ที่นี่เป็นขั้นตอนแรกของการทำเซรุ่ม”

สวนงู สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เป็นแหล่งผลิตเซรุ่มแก้พิษอยู่ที่สำคัญของประเทศ แล้วกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลผู้ถูกพิษงู โดยจุดแรกเริ่มเกิดจากการตระหนักถึงปัญหา

งูพิษกัดคนและสัตว์เลี้ยง ซึ่งก่อนหน้านั้นเซรุ่มที่นำเข้าจากต่างประเทศไม่ตรงกับชนิดงูพิษในประเทศไทย จึงไม่สามารถรักษาพยาบาลผู้ถูกพิษงูได้

ปี 2466 ดร.เลโอโปลด์ โรแบรต์ ผู้อำนวยการคนแรกของสถานเสาวภา ได้จัดหาเงินทุนสร้างสวนงูสำหรับใช้เลี้ยงงูพิษเพื่อรีดพิษไว้ใช้ในการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู โดยสวนงู สถานเสาวภา นับเป็นสวนงูแห่งที่ 2 ของโลก และเป็นสวนงูที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปเอเชีย

กว่า 94 ปีที่สวนงู สถานเสาวภา มุ่งมั่นดำเนินการตามปณิธานแรกเริ่ม จนปัจจุบันสามารถผลิตเซรุ่มแก้พิษงูเฉพาะชนิดได้ถึงหกชนิด คือ เซรุ่มแก้พิษงูเห่าไทย งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง โดยดำเนินการเพาะพันธุ์งูพิษ เลี้ยงงูให้มีสุขภาพดีตามสภาพแวดล้อมธรรมชาติ จากนั้นเจ้าหน้าที่รีดพิษงูจะทำการรีดพิษเพื่อนำน้ำพิษเข้าสู่กระบวนการผลิตเซรุ่ม

ขั้นตอนต่อไปของการผลิตเซรุ่มคือสร้างภูมิคุ้มกันพิษงู โดยฉีดน้ำพิษเข้าไปในร่างกายของม้า เริ่มจากให้พิษในปริมาณน้อยๆ แล้วเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ จนกระทั่งม้าสร้างภูมิคุ้มกันต่อพิษงู ซึ่งจะมีการเจาะเลือดของม้าออกมาทดสอบเป็นระยะ

เมื่อได้ระดับภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมแล้ว จะทำการเจาะเลือดม้าในปริมาณมากออกมา เก็บใส่ภาชนะสะอาดและปลอดเชื้อ จากนั้นนำไปทำให้บริสุทธิ์โดยวิธีตกตะกอนและกรอง เพื่อให้เหลือโปรตีนที่มีภูมิคุ้มกันต่อต้านพิษงูโดยตรง แล้วบรรจุลงขวดและทำแห้งเพื่อให้สะดวกในการขนส่งและคงสภาพไว้ได้ โดยเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส จะใช้ได้นาน 5 ปี

เซรุ่มแก้พิษงูจะถูกกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลผู้ถูกพิษงู นั่นคือปณิธานของสวนงู สถานเสาวภา แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ถูกงูพิษกัดตายก็ยังมีปรากฏตลอดมา

“เซรุ่มนี้อาจจะได้รับกันไม่ทั่วถึงด้วยซ้ำ ในความคิดของผมนะ แถบชนบท ตามคลินิกเล็กๆ ในหมู่บ้านไกลๆ อาจจะยังไม่มี”

นอกจากงูที่เพาะพันธุ์เองแล้ว ยังมีงูที่ได้รับบริจาคจากบุคคลทั่วไปส่งมาที่นี่ด้วย หลายตัวเป็นงูที่เทศบาลจับมาจากแหล่งชุมชน และมีงูบางชนิดที่เจ้าหน้าที่ต้องหาจากป่า เนื่องจากเป็นงูหายากและต้องใช้ในการวิจัย

“แล้วแต่ว่ามีโครงการจะวิจัยงูชนิดไหน เพราะไม่ได้มีเซรุ่มงูทุกชนิด ต้องหามาทดลอง ทำงานวิจัย”

การลงพื้นที่จับงูต้องทำการสำรวจก่อนว่างูชนิดที่ต้องการหาพบได้มากแถบไหน โดยส่วนใหญ่จะไปตามพื้นที่เดิม ซึ่งหัวหน้าหมู่บ้านที่เคยไปลงพื้นที่ให้ข้อมูลจะช่วยประสานงานให้

การจับงูตามแหล่งธรรมชาติมีความยากกว่าสาธิตการจับงูตรงที่มีความไม่แน่นอน ในพื้นที่จำกัดของแหล่งที่อยู่งู เช่น ตามซอกหิน ในถ้ำ ฯลฯ บางครั้งพบงูเพียงตัวเดียว ต้องวางแผนการทำงานใหม่ โดยกระจายกันค้นหาทั่วพื้นที่ หากหาจนทั่วแล้วยังไม่พบต้องเปลี่ยนพื้นที่ไปตามแหล่งต่างๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเพิ่มมาเพียงเล็กน้อย นอกเหนือจากนี้ต้องอาศัยความชำนาญส่วนตัว

snakeadv07

“คนไทยไม่ค่อยรู้เรื่องงู ไม่ว่ามีพิษหรือไม่มีพิษตีตายหมด”

“งูมีทุกที่ ที่ไหนมีแหล่งอาหารที่นั่นก็มีงู”

จึงไม่แปลกที่งูจะเข้าไปอยู่ในแหล่งชุมชน โผล่ไปในสถานที่พิสดาร เช่น ชักโครก ช่องแอร์ ฯลฯ ก่อนเราจะตีโพยตีพายใหญ่โตว่างูบุกรุกมาถึงถิ่นคนได้อย่างไร ต้องให้แน่ใจก่อนว่าแหล่งที่งูปรากฏให้เห็น เป็นสถานที่รกร้างและมีแหล่งอาหารของงูหรือไม่

“บ้านคุณงูมาบ่อยเพราะอะไร ของกินเขาอุดมสมบูรณ์ เขาถึงได้มา”

ณัฐวรภัทรแนะนำว่า ต้องจัดสรรพื้นที่บ้านให้ดี ไม่ควรปล่อยให้รก งูที่พบได้บ่อยส่วนมากอยู่ตามท่อระบายน้ำ ตามถนน ที่โผล่ออกมาจากชักโครกเพราะงูหากินหนูตามท่อ สามารถแก้ไขโดยนำตาข่ายไปปิดได้

“ถ้าไปเจอคนจะตีงูก็จะแนะนำเขาว่า งูชนิดนี้มีพิษนะ ไม่มีพิษนะ ให้เขาเข้าใจ ต่างคนต่างอยู่ เราไม่ทำเขา เขาก็ไม่ทำเราหรอก
“ส่วนหนึ่งผมคิดว่าบ้านเมืองเจริญขึ้น ตึกรามบ้านช่องมาก ป่าน้อยลง งูก็ต้องหาที่อยู่”

งูพิษหลายชนิดเช่นงูเห่า อสรพิษที่ร้ายกาจมากที่สุด มีพิษติดตัวมาตั้งแต่เกิดซึ่งเป็นของขวัญจากธรรมชาติที่ช่วยให้พวกมันรักษาตัวรอด แท้จริงแล้วงูมีพิษไว้เพื่อป้องกันตนเอง เป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติของเขา

แต่หากถูกงูพิษกัดก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ รีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดและควรมีซากงูตัวนั้นไปด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการวินิจฉัยและรักษา แพทย์จะสามารถลงความเห็นและสั่งฉีดเซรุ่มได้ถูกต้อง แต่ไม่ควรร้อนรนจนเกินไป เพราะงูไม่ได้กัดแล้วปล่อยพิษทุกครั้ง

“บางคนโดนงูกัด แต่พิษไม่เข้าตัว แล้วไปฉีดเซรุ่ม อาจทำให้เสียชีวิตได้ มันคือการเอาพิษไปล้างพิษ แต่ถ้าพิษไม่เข้า เราก็โดนพิษเอง”

ณัฐวรภัทรเล่าว่า เคยมีลุงคนหนึ่งมาที่สถานเสาวภา แล้วบอกว่าถูกงูเขียวหางไหม้กัดเมื่อวาน ลุงจะตายไหม เจ้าหน้าที่หนุ่มยิ้มน้อยๆ แล้วให้คำตอบ ถ้าลุงจะตาย ต้องตายตั้งแต่เมื่อวานแล้ว นี่ลุงไม่มีอาการอะไรเลย เป็นไปได้ว่างูกัดในครั้งนั้นเป็นการกัดที่ไม่ได้ปล่อยพิษ ถือเป็นโชคดีของลุง เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดบ่อย บางครั้งถูกงูพิษที่ยังไม่มีเซรุ่มแก้พิษกัด แพทย์จะสั่งฉีดเซรุ่มแก้พิษงูที่สามารถใช้ร่วมกันได้แทน ซึ่งเซรุ่มนี้แยกเป็นการออกฤทธิ์ต่อระบบเลือดกับระบบประสาท เช่น งูเขียว พิษเข้ากระแสเลือด งูเห่าและงูจงอาง พิษเข้าระบบประสาท ถ้าเจองูชนิดอื่นที่ยังไม่มีเซรุ่มแก้พิษกัด ก็สามารถใช้เซรุ่มของงูอื่นที่พิษออกฤทธิ์ต่อระบบเลือดหรือระบบประสาทเหมือนกันได้

ทุกวันนี้งูกลายเป็นสัญลักษณ์แทนหลายสิ่งในแง่นามธรรม เช่น งูพิษแทนคนผู้คิดร้ายอิจฉาริษยาผู้อื่น งูตามคติความเชื่อโบราณแทนอำนาจของความชั่วร้าย งูที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ และงูที่เป็นสัญลักษณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น หากแต่งูที่แท้จริงกลับถูกมองด้วยความหวาดหวั่น ต้องสังเวยชีวิตให้กับความหวาดระแวงและความเข้าใจผิดของมนุษย์ ในขณะเดียวกันคนหลายคนก็ถูกงูทำร้าย ด้วยสัญชาตญาณสัตว์ป่าอันดุดัน หรือเป็นเพียงการป้องกันตัวก็ยากจะคาดเดา กลายเป็นว่างูระรานคน คนระรานงู เป็นวัฏจักรที่ไม่จบสิ้น โดยไม่รู้จุดเริ่มและไม่พบจุดสิ้นสุด

“อยากรู้วิชาการก็ไปหาหมอ อยากปฏิบัติก็มาหาเรา”

นอกจากภารกิจผลิตเซรุ่มแก้พิษงูแล้ว สวนงู สถานเสาวภา ยังเป็นแหล่งให้ความรู้แก่ประชาชนและเป็นที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับงูอีกด้วย

ด้านหน้าตึก 4 มะเสง เป็นสวนที่ร่มรื่น ต้นไม้น้อยใหญ่ร่มครึ้มให้ร่มเงาตลอดทั้งวัน มีกรงงูและบ่อซีเมนต์เลี้ยงงูหลายบ่อเป็นที่อยู่อาศัยของงูชนิดต่างๆ มีป้ายให้ข้อมูลกำกับชัดเจน นอกจากนี้ยังมีเรือนกระจกหลายแห่งอยู่รายรอบสวน เป็นที่อยู่ของงูขนาดใหญ่จำพวกงูจงอาง งูหลาม งูเหลือม ด้านหน้าตึก 4 มะเสง ยังเป็นสถานที่สาธิตการจับงูอีกด้วย

ภายในตึก 4 มะเสง มีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับงู โดยชั้น 1 จัดแสดงงูหลายชนิดในตู้กระจก พร้อมข้อมูลของงูชนิดนั้นๆ อย่างละเอียด และมีห้องบรรยายพร้อมสาธิตการรีดพิษงูด้วย ส่วนชั้น 2 เป็นนิทรรศการชีวิตงู ตั้งแต่เกิดจนตาย เจาะลึกระบบภายใน จัดแสดงซากงูที่ตายแล้วและมีห้องบรรยายสองภาษา

ชั้น 3 ถึงชั้น 5 ของตึก 4 มะเสง เป็นสถานที่ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่สวนงู สถานเสาวภา ซึ่งไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้า

ทุก 3 เดือน สวนงู สถานเสาวภา มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่คนทั่วไป สอนให้รู้จักชนิดงู รู้วิธีเอาตัวรอด หากงูเข้าบ้านควรทำอย่างไร

ณัฐวรภัทรเผยความในใจว่า อยากนำความรู้จากที่นี่ออกไปเผยแพร่ตามสถานศึกษา หมู่บ้านต่างๆ ให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งความเป็นจริงแล้วเคยมีการนำงูออกไปแสดงนอกสถานที่ แต่มีปัญหางูหลุดออกไป ทางเบื้องบนจึงสั่งระงับภารกิจนี้

“ถ้าสามารถนำความรู้จากที่นี่ออกไปได้ คนจะรู้อีกเยอะ”

snakeadv08

“ทำไมต่างชาติให้ความสำคัญกับเรา แต่คนไทยไม่ให้ความสำคัญเลย เราก็คิดน้อยใจ”

สวนงู สถานเสาวภา ถือเป็นคลังความรู้ที่สำคัญของประเทศ หากแต่คนไทยทั่วไปไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสถานที่นี้มากนัก ตามสถิติในปีหนึ่งๆ มีผู้เข้าชมสวนงูประมาณ 40,000 คน 60% เป็นชาวต่างชาติ และ 20% เป็นนักเรียนและนักศึกษา หากคิดเป็นจำนวนคน จะพบว่าผู้เข้าชมชาวไทยมีน้อยจนน่าตกใจ

“อย่างนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถ้ามากรุงเทพฯ เขาต้องมานี่ เขารู้ แปลกคนไทยกลับไม่รู้”

ณัฐวรภัทรยอมรับว่า เป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ไม่ดี คนทั่วไปจึงไม่รู้ถึงการมีอยู่ของสถานที่นี้ แม้ว่าข้อมูลของสวนงูจะปรากฏแพร่หลายทั้งในนิตยสาร National Geographic นิตยสารการท่องเที่ยวต่างประเทศ และได้รับการนำเสนอในสารคดีความรู้ รวมทั้งการแนะนำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางโทรทัศน์อยู่เสมอ หากแต่ข้อมูลเหล่านี้กลับเข้าไม่ถึงคนทั่วไป

“หลายคนรู้ว่าที่นี่มีเซรุ่ม แต่ไม่รู้ว่ามีสวนงูอยู่ที่นี่ พูดตรงๆ เลยนะ บางคนทำงานสภากาชาดไทยอยู่ใกล้ๆ กัน ยังไม่รู้เลยว่าที่นี่มีงู”

หากถามถึงสถานที่ที่มีงูในประเทศไทย อาจมีคำตอบหลายหลาก เช่น หมู่บ้านงูจงอาง จังหวัดขอนแก่น สวนงู ลาดกระบัง หรือตามสวนสัตว์ต่างๆ เป็นต้น หากแต่ไม่มีที่ไหนเหมือนที่นี่

“ที่นี่ให้ความรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับงู”

เจ้าหน้าที่รีดพิษงูของสถานเสาวภายืนยัน

“อยากให้เขามาที่นี่ เพราะเราไปพูดอธิบายแต่เขาไม่เห็นภาพก็เท่านั้น”

หากกล่าวว่านี่คืออาชีพปิดทองหลังพระคงไม่เกินไปนัก เพราะเซรุ่มที่ผลิตจากที่นี่ได้ช่วยชีวิตคนมามากมายจนนับไม่ถ้วน แต่น้อยคนจะรู้ว่าเบื้องหลังความสำเร็จที่สวยงามคือการท้าทายชีวิตทุกวินาทีของการทำงาน เจ้าหน้าที่รีดพิษงูเป็นอาชีพที่หากเกิดความผิดพลาดเพียงเสี้ยววินาทีอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

แต่อันตรายและความกลัวไม่ใช่อุปสรรคของพวกเขา นี่คืออาชีพอันภาคภูมิที่ต้องใช้ความกล้าและความชำนาญ ตั้งใจทำงานส่วนตนเพื่อส่วนรวม ในการผลิตเซรุ่มและเผยแพร่ความรู้แก่คนทั่วไปให้ดีที่สุด

ก่อนจากกันในวันนั้น เสียงหนึ่งของเจ้าหน้าที่รีดพิษงูเผยความในใจสุดท้ายว่า

“อยากให้ช่วยประชาสัมพันธ์ด้วยว่ามีสวนงูอยู่ที่นี่นะ ที่สถานเสาวภา”

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

  • ณัฐวรภัทร แป้นกลัด
  • เจ้าหน้าที่รีดพิษงู สวนงู สถานเสาวภา
  • http://www.saovabha.com/th/snakefarm_service.asp
  • และเอกสารประชาสัมพันธ์ของสวนงู สถานเสาวภา

จากช่างภาพ

การที่เราจะไปตัดสินว่าสิ่งไหนไม่ดี สิ่งไหนดุร้าย แต่เราเคยเข้าใจศึกษาให้รู้ว่าจริงๆ แล้วสัตว์เหล่านี้อันตรายจริงไหม หรือเราแค่ตัดสินจากรูปลักษณ์ที่ดูน่ากลัว พิษที่ร้ายแรงของสายพันธุ์ของแต่ละชนิด แต่ความเป็นจริงแล้วมันก็เหมือนสัตว์ที่สามารถจับต้องได้เหมือนสัตว์ทั่วๆ ไป ถ้าหากเรารู้จักมันดีพอเหมือนกับเรารู้จักสุนัขหรือแมว ที่บางครั้งถ้าเราไม่รู้จักอุปนิสัยของมันเราก็ถูกทำร้ายได้เช่นเดียวกัน แต่คนเราส่วนใหญ่ไม่ยอมที่จะเข้าใจหรือศึกษาสัตว์เหล่านี้เหมือนที่เรายอมเข้าหาสุนัขบางตัวที่ดุร้ายหรือแมวที่แข็งกร้าวเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันกับมัน

งูก็ไม่ต่างอะไรจากสัตว์พวกนั้น แค่เราศึกษาเข้าใจมันเราจะรู้ถึงความเทอะทะ ตาที่ไม่ค่อยดีในการมองหรือต่อสู้ หูที่ไม่ได้ยินเลย หรือเวลาตอนกลางวันที่มันจะทำตัวสโลว์ไลฟ์จนทำอันตรายกับใครค่อนข้างยาก จากสถิติที่งูจะเผชิญหน้ากับคนมีแค่ปัจจัยเดียวที่สำคัญมากคือ สถานที่ เราอยู่เป็นแหล่งที่อยู่ของห่วงโซ่อาหารของมัน เช่น หนู กบ ที่มีอยู่ตามบ้านที่รกรุงรังหรือเป็นป่า

ถ้าเราเข้าใจงูเหมือนกับเราเข้าใจสัตว์เลี้ยงที่เราเลี้ยงอยู่ในบ้าน ที่เราพยายาม เข้าใจ เข้าหาปรับสถานที่ให้เหมาะกับเค้าเพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกัน สำหรับผมงูบางชนิดปัญญาอ่อนแถมโง่อีกต่างหาก หูก็ไม่ได้ยินแถมทำอะไรไม่ได้เลยในตอนกลางวัน (บางตัวนะครับ 555)

ถ้าศึกษาและทำความเข้าใจ เราจะไม่ตื่นตระหนกกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเราเลย ง่ายๆ แค่ลองไปดู

ฝ่ายภาพณัฐพล สุวรรณภักดี (ต้น)