วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


creative01

คณะวิชาด้านสื่อสารมวลชนของมหาวิทยาลัยศิลปากรมีชื่อว่า คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีจุดเด่นจุดแข็งที่เน้นการฝึกปฏิบัติแบบจริงจัง เมื่อจบการศึกษาบัณฑิตทุกคนจะมีผลงานชิ้นใหญ่ติดตัวไปด้วย

เป็นชิ้นงานที่ได้จากการลงมือทำ โดยมีมืออาชีพเป็นที่ปรึกษา ดูแลใกล้ชิดตลอดทั้งเทอม นี้เป็นเรื่องน่าชื่นชมอีกข้อที่มหาวิทยาลัยยอมลงทุนกับการใช้อาจารย์พิเศษจำนวนมากมาเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษา ในสัดส่วนอาจารย์ ๑ คนต่อนักศึกษา ๑ หรือ ๒ คน และร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาชิ้นงานที่เรียกว่า จุลนิพนธ์ ในห้องย่อยตลอดทั้งเทอมด้วย

หัวข้อของจุลนิพนธ์มาจากความสนใจของนักศึกษาเอง นำเสนอได้ไม่จำกัดรูปแบบ อาจเป็นงานศึกษาวิจัยแบบวิชาการ วรรณกรรม หนังสือสำหรับเด็ก นิตยสาร หนังสือเล่ม โดยงานผลงานสร้างสรรค์นี้ต้องทำควบคู่ไปกับรายงานวิจัยในหัวข้อเดียวกันอีกเล่มด้วย

กล่าวเฉพาะห้องวิชาเอกวารสารและหนังสือพิมพ์ ที่ผมได้เข้าไปรู้เห็นด้วยในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาคนหนึ่งมา ๖ รุ่นแล้ว นักศึกษาวิชาเอกนี้จะเลือกทำสารคดีกันมากที่สุดทุกรุ่น คนที่เลือกทางนี้จะต้องหาหัวข้อมาเสนอเพื่อรับคำแนะนำ ปรับโครงเรื่อง ทำต้นฉบับ รูปเล่ม และส่งพิมพ์ กระทั่งสำเร็จออกมาเป็นหนังสือสารคดีเล่มหนึ่ง

นี่ว่าเฉพาะเล่มงานสร้างสรรค์ ส่วนเล่มวิจัยต้องรายงานผลการศึกษาอย่างเป็นระบบมีแบบแผนเยี่ยงงานวิชาการ มีการอ้างทฤษฎีเทียบเคียง อิงกรอบเกณฑ์ และสรุปผลตามกรอบทฤษฎีที่อ้างถึง

ในด้านดีคือเป็นการฝึกปฏิบัติที่มีแบบแผน เมื่อรู้ทางเข้าใจต่อไปก็นำไปทำได้กับทุกเรื่อง และเป็นหลักอ้างอิงให้รุ่นน้องรุ่นหลังมาค้นต่อได้

แต่ก็มีด้านที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาอยู่มากเหมือนกัน

เข้าใจว่าหลักการอ้างอิงนั้นต้องอ้างจากแหล่งที่มีการตีพิมพ์เป็นเล่มแล้วเป็นหลัก ปัญหาคือตำราทางสารคดีมีคนเขียนน้อย เก่าและไม่สอดคล้องลงตัว ไม่หนุนเสริมและไม่เอื้อกับภาคปฏิบัติสำหรับสารคดียุคใหม่ที่ก้าวมาไกลมากแล้ว

creative02

ในภาคสนาม ท่ามกลางข้อมูลและแหล่งข้อมูล นักสารคดีจะเก็บซับอะไรได้บ้าง

เรื่องแรกที่เป็นประเด็นหนักมากคือ การแบ่งกลุ่มข้อมูล ซึ่งทฤษฎีหลักที่นักศึกษาวิชาเอกวารสารและหนังสือพิมพ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร อ้างต่อกันมามากที่สุด แบ่งกลุ่มข้อมูลออกเป็น ๒ กลุ่มเท่านั้น คือข้อมูลอ้างอิง กับข้อมูลภาคสนาม

เมื่ออ้างดังนี้ก็นำไปสู่การปฏิบัติตามกรอบนี้

“ข้อมูลค้นคว้า” นั้นไม่กระไรนัก ทุกคนเข้าใจร่วมกันว่าเป็นการค้นจากข้อมูลที่มีผู้ทำไว้แล้วในหลากหลายแหล่ง หนังสือ สิ่งพิมพ์ วีดิทัศน์ ออนไลน์ บอร์ด แผ่นพับ สื่อเสียง ฯลฯ

ที่นำไปสู่ความหละหลวมในภาคปฏิบัติคือการจำแนกแบบกว้างๆ ว่า “ข้อมูลภาคสนาม” ง่ายที่มือใหม่จะเข้าใจผิด หรืออ้างได้ว่าแค่ลงไปเจอสถานที่จริงก็ลุล่วงสำหรับการเก็บข้อมูลแล้ว ไม่จำเป็นต้องพูดคุยแบบเจาะลึก (สัมภาษณ์) กับคนในพื้นที่ หรือหากมีเป้าหมายอยู่ที่เรื่องของคนคน ก็มุ่งสัมภาษณ์แบบ interview ในลักษณะที่นำมาทำเป็นบทสัมภาษณ์ โดยไม่ได้ให้ความใส่ใจต่ออากัปกิริยา สภาพแวดล้อม องค์ประกอบปัจจัยรายรอบตัวแหล่งข้อมูล ที่ต้องอาศัยการสังเกตการณ์

เพื่อให้ได้ชิ้นงานสารคดีที่กลมกล่อม และง่ายต่อการเข้าใจที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้ง่ายสำหรับมือใหม่ จะดีกว่าไหมถ้าสูตรหรือทฤษฎีจะระบุชัดไปเลยว่า ข้อมูลมูลในงานสารคดี มี ๓ กลุ่มได้แก่

  • ข้อมูลค้นคว้า
  • ข้อมูลสัมภาษณ์
  • ข้อมูลสังเกตการณ์

ซึ่งโดยดุษฎี มืออาชีพ และครูบาอาจารย์ในชั้นเรียนก็ยอมรับหลักการนี้ แต่นักศึกษายังเขียนลงไปในงานวิจัยของเขาไม่ได้ เพราะยังหาอ้างอิงที่มีการตีพิมพ์เป็นเล่มแล้วไม่ได้

ที่เป็นอยู่ตอนนี้จึงลอกของรุ่นพี่ต่อๆ กันมา รุ่นต่อรุ่นสืบไป โดยยืนอยู่บนฐานทฤษฎีเดิมว่า ข้อมูลในงานสารคดีมี ๒ กลุ่ม

creative03

ทำสารคดีเรื่องอะไรดีที่ภูทับเบิก? บางทีการรู้จักประเภทของสารคดีอย่างถูกต้อง จะช่วยเป็นทางออก

อีกเรื่องที่อ้างต่อๆ กันมาแบบเบลอๆ คือ ประเภทของงานสารคดี

จริงๆ มันก็ยากอยู่แล้วที่จะเอากลุ่มไปครอบว่าสารคดีเรื่องหนึ่งจัดอยู่ในประเภทไหน แต่การจัดหมวดหมู่มีข้อดีที่จะช่วยให้คนเขียนยึดกุมชัดเจนอยู่กับประเด็นที่จะสื่อ และเป็นการบอกกับคนอ่านเป็นเบื้องต้นต่อเรื่องที่จะได้อ่าน

แต่เท่าที่เห็นนักศึกษาอ้างต่อๆ กันอยู่ในตอนนี้ ทฤษฎีที่ยกมาอ้างกันไม่ได้หนุนเสริมเรื่องนี้เลย มีแต่ทำให้ยิ่งมึนงงจับต้นชนปลายไม่ได้

อย่างที่แบ่งเป็นสารคดีเด็ก สตรี ผู้ใช้แรงงาน สารคดีเชิงข่าว สารคดีทั่วไป ฯลฯ

การจำแนกแบบนี้ช่วยให้มือใหม่เข้าใจหรือมองเห็นอะไรชัดเจนขึ้นมาบ้าง ก็ในเมื่อ ๓ กลุ่มแรกล้วนอยู่ในประเภทสารคดีชีวิต ส่วนกลุ่มสุดท้ายนั้นมันก็คลุมหมดทุกประเภทแบบไม่ต้องแยกแยะอีกแล้ว

ถ้ามองจากโลกจริง เราจะเห็นประเภทของงานสารคดีได้จากนิตยสารหลายหัว

งานสารคดีแบบที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร อสท. คือประเภท สารคดีท่องเที่ยวทั้งเล่ม

แบบที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร ค คน คือ สารคดีชีวิต

ในนิตยสาร สารคดี เน้น ๕ ประเภทคือ สารคดีชีวิต ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้ว การแบ่งประเภทเป็นเรื่องยาก และยังไม่เด็ดขาดตายตัว ๖ ประเภทในนิตยสาร ๓ เล่ม ที่ยกมาอ้าง ก็เป็นการแบ่งแบบหลวมๆ เพื่อสื่อสารเบื้องต้นระหว่างคนเขียนกับคนอ่าน มีเป้าหมายเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ไม่มั่ว และเป็นแนวทางให้เดินตามได้ง่ายสำหรับมือใหม่

ยกตัวอย่างให้ชัดขึ้นว่า ต่อกรณีหนึ่งๆ อาทิ จะทำสารคดีเรื่อง ภูทับเบิก อดีตไร่กะหล่ำปลีใหญ่สุดในอีสาน ที่อำเภอหล่มเก่า เพชรบูรณ์ ที่กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อ รถติดหนาแน่นที่สุดช่วงเทศกาลในทุกวันนี้

ในหัวเรื่องหรือพื้นที่เดียวกันนี้ หากจะทำสารคดีท่องเที่ยว ประเด็นหลักและการเก็บข้อมูลของผู้เขียนก็จะมุ่งไปที่บรรยากาศของการท่องเที่ยว ภาพนักท่องเที่ยว ความงามและความรู้สึกต่อสถานที่ การเดินทาง จุดที่เป็นไฮไลน์ ของกินที่ไม่ควรพลาด แบบให้คนอ่านรู้สึกสนุกร่วม เห็นภาพ ไปเที่ยวตามได้

ถ้าทำสารคดีชีวิตคนทับเบิก ก็ต้องเน้นไปที่วิถีของพวกเขา ชีวิตแบบเดิม ความเปลี่ยน ผลกระทบทั้งดี-ร้าย โดยควรมีตัวละครหลัก ที่เป็นคนในพื้นที่ คนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งเป็นตัวนำเรื่อง จะช่วยให้สารคดีมีน้ำเนื้อมีชีวิตชีวา โดยยึดกุมเนื้อหาที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ คือชีวิตคนในพื้นที่กลุ่มนั้น

ถ้าจะทำสารคดีประวัติศาสตร์ ก็จะเกี่ยวพันกับเหตุการณ์และช่วงเวลา ต้องเจาะค้นว่ามีหลักหมาย ความเป็นมาที่สำคัญอย่างใดบ้าง อย่างน้อยก็ความเป็นอดีตที่ทำกิน แปลงปลูกกะหล่ำ หรือย้อนไปไกลกว่านั้นโดยบริบทพื้นที่อันต่อเนื่องอยู่กับภูหินร่องกล้า แถบนี้อาจเป็นเขตเคลื่อนไหวของ “ทหารป่า” และหลายคนในพื้นที่อาจเป็นสหายนักรบเก่าด้วยก็เป็นได้ สุดแท้แต่ผู้เขียนจะเจาะลึกลงไปได้

หรือถ้าจะทำสารคดีสิ่งแวดล้อม ก็อาจเจาะไปที่เรื่องการสูญเสียหรือคงอยู่ของพื้นที่ป่าเขา ดิน-น้ำที่อาจสะอาดขึ้นจากที่ก่อนนี้หนักหน่วงด้วยการใช้สารเคมีจากการปลูกกะหล่ำปลี หรือยิ่งเสื่อมโทรมจากปฏิกูลการท่องเที่ยว และรุกป่าของบรรดารีสอร์ท

ในแง่นี้ จะเห็นว่าประเภทของสารคดีช่วยให้ผู้เขียนและผู้อ่านชัดเจนต่อประเด็นที่จะเจาะและจะเล่า ทำให้ทำงานง่าย และง่ายต่อคนอ่านด้วย

ความพยายามที่จะแบ่งให้เห็นประเภทของงานสารคดีก็เพื่อประโยชน์ดังนี้

ทฤษฎีมีส่วนช่วยหนุนเสริมภาคการปฏิบัติแน่นอน แต่ต้องเป็นหลักที่รัดกุม ชัดเจน และใช้ได้จริง ถึงควรได้รับการอ้างและส่งต่อกันอยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย