วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
lifewritingcamp00 1
lifewritingcamp01
การบ้านงานเขียนชิ้นที่ ๓ ในค่ายสารคดี รุ่นที่ ๑๓ ว่าด้วยเรื่อง “อาชีพ” วิธีการง่ายที่สุดที่จะช่วยให้งานเขียนสารคดีไม่กลายเป็นหนังสือฮาวทูแนะนำการทำอาชีพ คือการรู้จักหยิบนำแหล่งข้อมูลมาใช้ในการดำเนินเรื่อง เล่าเรื่องราวการงานผ่านชีวิตตัวตัวละคร ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการแบ่งประเภทงานสารคดีจะมีประโยชน์ตรงนี้ ตรงที่ช่วยให้ผู้เขียนยึดกุมประเด็นหลักได้อย่างมั่นคง เมื่อเล่าเรื่องอาชีพผ่านชีวิตผู้เป็นมืออาชีพ หรือเป็นเอกในการงานด้านนั้น สารคดีเรื่องนั้นจะเป็น “สารคดีชีวิต” ไม่หลุดประเด็นออกไปเน้นที่ตัวผลิตภัณฑ์ ผลผลิต หรือวิธีการทำ ที่นั่นกลายเป็นสารคดีอีกประเภทหนึ่ง ดังเป็นที่รู้กันอยู่ว่าต่อหัวเรื่องหนึ่งๆ นั้นสามารถเขียนเป็นสารคดีประเภทใดก็ได้ ตามแต่ผู้เขียนเลือกจะเจาะจง หากเจาะจงว่าจะเขียนหัวเรื่อง อาชีพ เป็นสารคดีชีวิต ก็ต้องเน้นให้เห็นเรื่องราวในชีวิตของบุคคล ชุมชน ในแง่การงานอาชีพที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ ดังตัวอย่างบางตอนของงานบางชิ้น จากค่ายสารคดี รุ่นที่ ๑๕ ตามโจทย์หัวข้อ อาชีพ
lifewritingcamp02
แต่ละฐานจะมีทีมงานประจำอยู่ ๑ คน ทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้ และสาธิตการทำแล็บอย่างง่าย ๆ ให้เด็กดู โดยเด็กทั้ง ๔ กลุ่มจะได้วนฐานทำกิจกรรมฐานจนครบ โดยมีพี่เลี้ยงประจำกลุ่มคอยช่วยเหลืออยู่ตลอด ที่ฐานให้ความรู้เรื่องระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของปลา ฉันมองดูเด็ก ๆ ให้ความสนใจดูสาธิตการผ่าปลาเป็นพิเศษ พอพี่ค่ายเริ่มจรดปลายมีดผ่าตัดลงบนท้องปลา เด็กหลายคนก็ทำท่าโอดโอย ราวกับว่ามีความรู้สึกร่วมกับปลาตัวที่อยู่บนโต๊ะ แม้ว่าหลังจากผ่าไปแล้วจะได้กลิ่นอันไม่พึงประสงค์เท่าใดนัก แต่เด็ก ๆ ก็ได้เห็นหน้าตาอวัยวะภายในปลาของจริง โดยมีพี่ประจำกลุ่มคอยให้ความรู้เรื่องการทำงานของอวัยวะในตัวปลาเทียบกับการทำงานของอวัยวะในร่างกายคน ที่เห็นแตกต่างชัดเจนคือ ระบบหายใจ เพราะปลาไม่มี ‘ปอด’

(จากเรื่อง “Dr. Kid Science Camp สร้างวิทย์ให้คิด(ส์)สนุก” โดย พัชนิดา มณีโชติ)

lifewritingcamp03
ก้อง-ศุทธิวัต เมฆสกุล ชื่นชอบการถ่ายรูปมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม เขาเป็นส่วนหนึ่งของชมรมถ่ายรูปโรงเรียนที่ศึกษาอยู่ในขณะนั้น ชีวิตในรั้วมหาลัยวิทยาลัยแม้จะเลือกเรียนในคณะบริหารธุรกิจ แต่เขาก็ยังถ่ายภาพเป็นกิจวัตร ทั้งเป็นผลงานให้กับมหาวิทยาลัย และเก็บบันทึกสิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นความทรงจำลงในกล้องอีกด้วย ‘สิ่งนี้แหละเป็นสิ่งที่เราชอบ’ ศุทธิวัตวางอนาคตของตัวเองได้ทันที เมื่อรู้ว่าสิ่งที่ชอบและต้องการคืออะไร เมื่อตั้งเป้าหมายว่าอยากเป็นช่างภาพ ก็เริ่มฝึกฝนจนได้รับโอกาส บรรจบเส้นทางการทำงานและสิ่งที่รักเป็นถนนสายเดียวได้ในที่สุด ความที่คลุกคลีกับการถ่ายภาพตั้งแต่อยู่ในชมรมสมัยเรียน เด็กในชมรมทุกคนย่อมต้องล้างรูปเป็น ความรู้รุ่นสู่รุ่น จากพี่สู่น้อง ทำให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้เป็นช่องทางอาชีพอีกทาง “กระบวนการใช้เวลานานมาก กระบวนการล้างฟิล์มถ้าเรามีถุงมืด เราก็สามารถโหลดฟิล์ม” ศุทธิวัตว่าพร้อมยกอุปกรณ์ดังกล่าวจากชั้นวางใกล้ๆ ให้ดู ถุงมืดที่ว่านั้นคือพลาสติกสี่เหลี่ยมขนาดพอถือสองมือได้ รูปทรงคล้ายกับโทรทัศน์รุ่นกล่องเหลี่ยมแบบสมัยก่อน เพียงแต่ด้านที่เป็นจอแสดงภาพของโทรทัศน์นั้นเป็นผ้าสีดำที่มีช่องปลอกแขนยื่นออกมา สำหรับสอดมือเข้าไปทำการโหลดฟิล์ม หรือบรรจุฟิล์มให้ลงล็อคซี่วงล้อจนสุดม้วนฟิล์ม “วิธีนี้เราจะมองไม่เห็น ทำผ่านปลอกแขนเพื่อไม่ให้แสงเข้า เพราะฟิล์มโดนแสงไม่ได้ วิธีของเราคือค่อยๆ คลำ เอาฟิล์มเข้ามาในร่องวงล้อ เพื่อไม่ให้ฟิล์มทับซ้อนกัน หรือเกิดรอยขีดข่วน ขณะบรรจุในถุงมืด” สภาวการณ์ที่มองไม่เห็น ต้องใช้ความชำนาญและความระมัดระวังอย่างสูง ช่างล้างฟิล์มจึงมีม้วนฟิล์มสำหรับฝึกโหลดเข้าวงล้อให้คล่องมือ ศุทธิวัตสาธิตการโหลดฟิล์มด้วยม้วนฟิล์มฝึกให้เราดูอย่างตั้งอกตั้งใจ หลังจากเสร็จกระบวนการนี้ ฟิล์มที่บรรจุลงวงล้อจนสุดก็ถูกนำใส่แท็งก์ล้างฟิล์ม เป็นพลาสติกสีดำทรงสูงขนาดหนึ่งคืบครึ่ง ฝาปิดของแท็งก์เป็นกรวยสำหรับใส่น้ำยาล้างฟิล์มลงไป

… …

“เราว่าฟิล์มเป็นรอยต่อของอดีตกับปัจจุบัน คนถ่ายฟิล์มในอดีตกับคนถ่ายฟิล์มในปัจจุบัน ความเข้าใจเราก็จะไม่เหมือนกัน คนถ่ายฟิล์มในอดีตคือเขาจะเป๊ะมากเลยนะ เพราะการถ่ายของเขาไม่เห็นภาพ เขาจะจดแสงเท่านี้ เวลานี้ แสงมาทางไหน เขาจะจดละเอียดมากๆ และทำงานเป็นแบบแผน สมัยนี้คนเริ่มต้นมาจากกล้องดิจิตอล นิสัยการถ่ายเลยเปลี่ยนไป” ศุทธิวัตให้ความเห็น “อาชีพของเรา เอาฟิล์มลูกค้ามาดูสี ดูตำหนิ ให้งานที่ออกมาสุดท้ายสมบูรณ์ที่สุด นี่คือความภาคภูมิใจของอาชีพนี้ เชื่อเถอะว่าทุกคนที่ส่งงานมาหาเรา คุณจะได้งานกลับไปแล้ว ได้การเก็บฟิล์มที่ดีแน่นอน”

(จากเรื่อง “ช่างล้างฟิล์ม ผู้ทำให้ภาพความทรงจำจับต้องได้ โดย สุพิชญา วุฒิเสมอเกียรติ)