อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


kaengkongriver

ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

ปลายปีที่ผ่านมา ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีระเบิดแก่งแม่น้ำโขงว่า จีนพร้อมจะพิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงโครงการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับคนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ ถือเป็นการมอบขวัญปีใหม่ให้คนไทย สร้างความงุนงงสงสัยให้กับผู้ที่ติดตามข่าวเป็นอย่างมาก

“จากการพูดคุยในประเด็นโครงการปรับปรุงร่องน้ำด้วยการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง จีนมีท่าทีสร้างสรรค์ หลังรับทราบว่าเป็นปัญหาต่อวิถีชีวิตของคนไทย จึงพร้อมจะเลิกโครงการหรือปรับเปลี่ยน ซึ่งช่วยคลายความกังวลแก่คนไทยได้มาก ถือเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทยด้วย”

รมว.ต่างประเทศกล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ หลังเดินทางกลับจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๓ (MLC) ที่ประเทศจีน

โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงถือเป็นอภิโครงการร่วมระหว่างจีน พม่า ลาว ไทย ดำเนินการมานานกว่า ๑๕ ปี วัตถุประสงค์ของโครงการนี้เพื่อปรับปรุงร่องน้ำให้เรือพาณิชย์ขนาด ๕๐๐ ตันแล่นบนแม่น้ำโขงจากจีนตอนล่างมาถึงเมืองหลวงพระบางได้ตลอดทั้งปี

ที่ผ่านมามีการระเบิดแก่งแล้วในเขตจีน แนวพรมแดนจีน-พม่า ก่อนที่จะมาติดขัดไม่สามารถระเบิดแก่งที่พรมแดนไทย-ลาว เนื่องจากถูกคัดค้านจากชาวบ้านริมฝั่งไทย ซึ่งให้เหตุผลว่าการระเบิดแก่งจะทำลายระบบนิเวศ ทำให้เกิดปัญหาในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการทำประมงพื้นบ้าน การเก็บไก และยังจะทำให้ตลิ่งพังเสียหาย

ถึงแม้เอกสารประกอบโครงการจะพยายามชี้ว่าโครงการนี้สมประโยชน์กันทุกฝ่าย โดยเฉพาะการค้าขายทางน้ำ แต่จีนถือเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น ทั้งออกเงินค่าสำรวจภูมิประเทศ ค่าระเบิดแก่ง

ในส่วนการดำเนินงานในประเทศไทย ความเคลื่อนไหวล่าสุดก่อนที่รัฐมนตรีจะออกมาให้สัมภาษณ์ คือบริษัท CCCC Second Habor Consultant รัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งรับหน้าที่ศึกษาโครงการการฯ ว่าจ้างบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ของไทยให้เป็นผู้ดำเนินการจัดการเก็บรวบรวมข้อมูลสิ่งแวดล้อม สังคม ตลอดจนจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน วันที่ ๒๑-๒๗ กันยายน ๒๕๖๐ จึงมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในตำบลต่างๆ ของอำเภอเชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น จังหวัดเชียงราย มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมกันประมาณ ๘๑๑ คน โดยภาพสะท้อนของเวทียังเต็มไปด้วยข้อห่วงกังวล ข้อสงสัย ยกตัวอย่างเช่น

ข้อห่วงกังวลว่า…ปัจจุบันแม่น้ำโขงมีปัญหาการขึ้นลงของน้ำไม่เป็นเวลา จากการปล่อยน้ำของเขี่อนจีน ส่งผลกระทบต่อวิถีชาวประมง หากมีการปรับปรุงร่องน้ำคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชน คำชี้แจงของผู้จัดเวทีคือ…หน่วยงานของรัฐฯ จำเป็นต้องเสนอปัญหาต่อจีนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา และตั้งกติกาในการปล่อยน้ำ

ข้อเสนอแนะว่า…ควรศึกษาผลกระทบในประเทศอื่นแล้วมาบอกว่าปัจจุบันมีผลกระทบอะไร ผู้ใด หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ ทำเป็นข้อสรุปมาบอกประชาชนในพื้นที่ มีคำชี้แจงว่า…ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่ทราบว่าจะมีผลกระทบอะไร ถ้ามีการศึกษาแล้วรู้ว่าผลกระทบมีอะไร มีหน่วยงานไหนเกี่ยวข้องจะมาเสนอในที่ประชุมรับฟังความความคิดเห็นครั้งที่ ๒

คำถามว่า…ข้อดี-ข้อเสียของโครงการมีอะไรบ้าง คำตอบคือ…ประชาชนอาจเข้าใจว่าการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือคือการระเบิดเกาะแก่งทั้งแม่น้ำ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ จะดำเนินการเฉพาะจุด ทั้งนี้ในการดำเนินงานรัฐบาลจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก และจะนำข้อคิดเห็นของประชาชนไปถามจีนต่อว่าประชาชนในประเทศไทยจะได้อะไร

คำถามว่า…การปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือฯ มีมาตรการ/แนวทางอย่างไรในการป้องกันตลิ่งพัง คำตอบคือ…การออกแบบยังไม่แล้วเสร็จ แต่ถ้าหากการปรับปรุงร่องน้ำทำให้ตลิ่งพัง ก็จะออกแบบใหม่ไม่ให้กระทบต่อตลิ่ง

จะเห็นว่าคำถามสำคัญข้างต้นยังมีคำตอบที่คลุมเครือ นอกจากนี้ในรายงานสรุปผลการประชุมฉบับเดียวกันยังระบุถึงสถานภาพโครงการนี้ว่า อยู่ในขั้นศึกษาออกแบบ จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วม ทั้งนี้การรวบรวมข้อมูลสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม กระทำตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๐ และจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑

ด้วยเหตุนี้การให้สัมภาษณ์ของ รมว.ต่างประเทศจึงตามมาด้วยคำถามว่านี่เป็น “มติ” ขั้นไหน ถือเป็นบทสรุปของโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงแล้วหรือไม่ ? จะตามเรื่องราวต่อจากที่ใด

ทั้งนี้หลัง รมว.ต่างประเทศให้สัมภาษณ์ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ผู้นำการคัดค้านการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความรู้สึกที่ดีให้กับชาวบ้าน ที่ยืนยันว่าโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการขนาดใหญ่อีกมากมายที่จะสร้างปัญหาให้กับแม่น้ำโขงเช่นกัน โดยเฉพาะโครงการเขื่อนที่ยังไม่มีการพูดคุยระหว่างรัฐบาลในลุ่มน้ำ

“ที่ผ่านมาโครงการต่างๆ อาทิ เขื่อนแม่น้ำโขง โครงการเดินเรือ/ระเบิดแก่ง การศึกษาผลกระทบเท่าที่มีไม่สามารถตอบประเด็นปัญหาในภาพรวม เพราะศึกษาเป็นจุดๆ ไม่ได้ศึกษาภาพรวมของลุ่มน้ำ การยกระดับเพื่อศึกษาแม่น้ำโขงร่วมกันในภูมิภาคจึงสำคัญ จะช่วยแก้ปัญหาผลกระทบในระดับลุ่มน้ำจากโครงการขนาดใหญ่”

หลังได้ยินข่าวจีนยอมถอยโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ยังมีท่าทีตามมาจากหลายฝ่าย เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ตั้งคำถามกลับว่า

“จีนจะยอมถอยโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจริงหรือ ? ในเมื่อโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์แม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เป็นหนึ่งในจิกซอว์ภาพใหญ่ของอิทธิพลจีนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่ผ่านมาจีนขยายการลงทุนทั้งด้านการคมนาคมและสร้างเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนบนแม่น้ำโขงในจีนยูนนานสร้างไปแล้วถึง ๘ เขื่อน และมีอีก ๖ โครงการบนแม่น้ำโขงตอนล่างในลาวและกัมพูชา จีนรุกเข้ามาอย่างหนัก ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน แล้วจีนจะหยุดระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเป็นของขวัญให้คนไทยจริงมั๊ย ?”

ไม่แน่ว่าจีนจะมอบของขวัญให้คนไทยตามที่ รมว.ต่างประเทศให้สัมภาษณ์แล้วก็ได้ เพียงแต่ของขวัญข้างในจะเป็นอะไรยังไม่ใครมีรู้

เก็บตกจากลงพื้นที่ สกู๊ประเบิด แก่งโขง หินผา มหานทีรอวันอวสาน นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๓๙๐ สิงหาคม ๒๕๖๐


tei

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ