วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ficbus01

ภาพโดย : สุรเชษฐ์ วิรุฬห์ทรัพย์

เวลาคุยกันเรื่องการเขียนสารคดี คำถามหนึ่งที่มักมีมาจากนักเขียนใหม่-ไฟแรง

เราจะเขียนสารคดีแบบนิยายได้ไหม?

ไม่ใช่จะตีสำนวนหรือเล่นลิ้น แต่ต้องตอบว่า ได้-และไม่ได้

นัยหนึ่ง สารคดีมีหลักที่ต้องยึดกุมอยู่กับข้อเท็จจริง และมีขนบของการบอกเล่าและให้รายละเอียดข้อมูลที่ต่างไปจากเรื่องแต่ง ถ้าการเดินไปตามเงื่อนไขที่เสมือนภาคบังคับของงานสารคดีดังที่ว่านี้ แล้วทำให้สารคดีดูงุ่มง่ามในทางวรรณศิลป์จนถูกผลักไปอยู่แถวชายขอบของวงวรรณกรรม คนเขียนสารคดีก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากก้มหน้ายอมรับ

ขณะที่อีกนัยหนึ่งก็ไม่มีกฎแห่งสารคดีข้อใดเลย ที่บังคับบงการว่าสารคดีจักต้องบอกเล่าข้อมูลข้อเท็จจริงไปแบบทื่อๆ ตรงๆ เพียงเท่านั้น ในแง่ศิลปะกลวิธีการนำเสนอ ผู้เขียนจะออกแบบสร้างสรรค์ให้ซับซ้อน ยอกย้อน ซ้อนเรื่อง อย่างไรก็ได้ ในแง่นี้งานเขียนสารคดีก็สามารถทำได้อย่างไม่แตกต่างจากเรื่องแต่งทุกประเภท ไม่ว่าเรื่องสั้น นิยาย หรือแม้แต่หนัง

อย่างเรื่องสั้น “ที่นี่มีปลาขาย” ของ ชลัมพุ ณ ชเลลำ เล่าเรื่องเด็กชายชาวสลัม ที่พ่อแม่เป็นคนหาเช้ากินค่ำและทั้งคู่ไม่ค่อยจะลงรอยกันนัก ทำให้วัยเด็กของเขาลุ่มๆ ดอนๆ บางวันต้องอาศัยวัดเป็นที่พักพิง กินข้าวก้นบาตรพระ และเรียนหนังสือกับอาสาสมัครที่มาสอนให้ในวัด แต่เขาก็เลี้ยงปลาทองขาย จนมีรายได้พอจะพาน้องไปกินไอศกรีมร้านหรูๆ ในวันเกิดตัวเองได้

เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่ดูไม่ได้น่าสนใจอะไรนัก แต่กระตุกความสะเทือนใจได้รุนแรงทันทีที่ผู้เขียนเผยให้เห็นรูปร่างกายของเด็กชายอย่างจะแจ้งในตอนท้ายเรื่องว่าเขาเป็นเด็กพิการ ขาลีบ ร่างแคระ หลังค่อม

เมื่อผู้อ่านนึกย้อนกลับไปยังต้นเรื่องก็จะระลึกได้ว่า ความจริงผู้เขียนก็แง้มให้คนอ่านเห็นเป็นช่วงๆ มาก่อนบ้างแล้วว่า เด็กชายมักถูกแม่ใช้ให้ไปนั่งขอทาน ตอนนางไม่มีเงินซื้อเหล้ากิน หรือสายตาของเจ้าของร้านไอศกรีมที่มองเขาแปลกไปจากลูกค้าทั่วไป ตอนเด็กชายพาน้องชายไปกินไอศกรีมในวันเกิด

การออกแบบวิธีการเล่าแบบ “ขยัก” กักไว้แบบค่อยๆ เล่าเช่นนี้ ย่อมแสดงถึงชั้นเชิง และทำให้เรื่องธรรมดาๆ มีไคลแมกซ์ขึ้นมาได้

ficbus02

ภาพโดย : สุรเชษฐ์ วิรุฬห์ทรัพย์

“ที่นี่มีปลาทองขาย” เป็นเรื่องแต่ง ซึ่งผู้เขียนจะปั้นเรื่องไปเช่นไรก็ได้ แต่สารคดีต้องยึดกุมอยู่กับข้อมูลและข้อเท็จจริง จะสร้างไคลแมกซ์ได้อย่างไร?

สร้างเรื่องไม่ได้

แต่สามารถประกอบสร้างขึ้นได้จากการหยิบข้อเท็จจริงมาใช้ให้เป็น

เคยเจอเรื่องทำนองนี้จากสารคดีเรื่อง “ครอบครัวรถเมล์ โลกใบเล็กของเด็กชายวัน” ของ ธีรนัย โสตถิปิณฑะ เมื่อครั้งที่ผู้เขียนมาเรียนในค่ายสารคดี รุ่นที่ ๖ เขาเห็นเด็กวัยอนุบาลคนหนึ่งที่ผู้ปกครองพามาเลี้ยงดูบนรถเมล์ก็สนใจ เขานั่งรถเมล์สายนั้นบ่อยๆ อู่เด็กกั้นเป็นคอกอยู่หน้าที่นั่งคนขับ ตอนรถว่างๆ ผู้โดยสารไม่หนาแน่น เด็กชายก็ออกมาเดินเที่ยวเล่นอยู่ในรถ เวลากลุ่มเด็กช่างกลขึ้นรถมาแบบพร้อมรบ เจ้าหนูก็มีเสียวบ้าง ฯลฯ เป็นภาพละครชีวิตจริงที่ผู้เขียนตามเก็บมาเรื่อยๆ

นักเขียนหนุ่มเอะใจอยู่บ้างที่คู่ผัวเมีย-คนขับกับกระเป๋ารถเมล์ ดูสูงอายุพ้นวัยเป็นพ่อแม่อยู่สักหน่อย แต่ฝ่ายหญิงบอกกับเขาว่าเจ้าหนูเป็นลูกหลง

ต่อมาเขาขอตามครอบครัวรถเมล์ไปถึงบ้านช่องที่หลับนอน ได้ร่วมวงกินข้าวไข่เจียวฝีมือเธอ ได้ดูอัลบั๊มรูปถ่ายของบ้านนี้ เขาเห็นตัวละครเพิ่มขึ้นมา เป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่น แม่เด็กบอกว่านั่นเป็นลูกชายคนโตของเธออายุห่างเจ้าหนูคนเล็กเกือบ ๒๐ ปี

ลงเก็บข้อมูลซ้ำๆ จนสนิทคุ้นเคย แหล่งข้อมูลวางใจและเข้าใจจุดหมายของการนำข้อมูลไปใช้ ตอนหลังๆ เหมือนเธอมีอะไรบางอย่างจะบอกอีก แต่ก็ยั้งไว้แค่นั้น

ผู้เขียนนำข้อมูลที่เก็บเกี่ยวจนเต็มอิ่มมาเขียนเป็นงานสารคดีและนำกลับไปให้เธอตรวจทาน

ในตอนนั้นเองที่เธอได้ให้ข้อมูลใหม่ที่ผู้เขียนคาดไม่ถึง

“สารคดีนี่ต้องเป็นเรื่องจริงใช่ไหม” เธอเป็นฝ่ายสัมภาษณ์นักเขียนบ้าง

“ใช่ครับ”

“พี่มีความจริงอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่ได้บอกน้อง ความจริงน้องวันไม่ได้เป็นลูกของพี่หรอก เป็นลูกของลูกชายพี่ พ่อแม่เด็กยังอยู่ในวัยเรียนทั้งคู่ เราเลยรับเป็นพ่อแม่แทน”

ความหวั่นใจและเห็นใจว่านักเขียนหนุ่มจะเขียนเรื่องที่ไม่จริงออกไป ทำให้นางยอมเผยเรื่องเก็บงำของครอบครัว

นักเขียนรีบเอาเรื่องนี้มาปรึกษาผมในฐานะครูค่าย ว่าเขาจะต้องรื้อโครงเรื่องใหม่หมดหรือไม่ เขาเริ่มใจเสียเพราะตอนนั้นจวนวันส่งต้นฉบับเต็มทีแล้ว

แต่ผมกลับเห็นว่าสิ่งที่เขากำลังตระหนกว่าเป็นวิกฤตนั้นคือวัตถุดิบชั้นเยี่ยมที่จะหยิบมาแปรเป็นสารคดีหักมุมได้โดยไม่ต้องแต่งเติมเลย

เพียงแต่เล่าไปตามที่เขาเขียนมาแต่ต้น และใช้ข้อความสุดท้ายที่แหล่งข้อมูลเพิ่งเปิดเผยกับเขานั่นแลในการปิดเรื่อง

สารคดี “ครอบครัวรถเมล์ โลกใบเล็กของเด็กชายวัน” ประสบความสำเร็จตามสมควร ได้รับรางวัลในค่าย และภายหลังผ่านการตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี รายการสารคดี NHK มาตามถ่ายทำเป็นสารคดีโทรทัศน์ไปเผยแพร่ในประเทศญี่ปุ่น

นี่ไงที่เป็นบทพิสูจน์ว่า สารคดีส่งผลสะเทือนได้ไม่ต่างจากเรื่องแต่ง หากผู้เขียนทำได้ถึง!