เขียน : อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี
ภาพ : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

thishand01

รอยยิ้มความอิ่มเอมใจ ที่สามารถพบเห็นได้ในเรือนจำ น้อยคนนักที่จะได้เห็นภาพอันแสนสุขเช่นนี้ สองมือค่อย ๆ หยิบยกพระพุทธรูปที่ตั้งใจปั้นสู่มือของพ่อแม่อย่างช้า ๆ

“ จากมือที่เปื้อนบาปสู่มือที่ปั้นบุญ ” จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อเยียวยาจิตใจผู้ต้องขังในเรือนจำให้มีความเป็นอิสระทางใจ อยู่ในสมาธิ ขัดเกลาจิตใจด้วยธรรมมะผ่านงานพุทธศิลป์ที่ผู้ต้องขังร่วมกันปั้นดินให้เป็นองค์พระพุทธรูป โดยเปิดตัวสรุปโครงการเมื่อ วันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา ในแดนศึกษาเรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี

การเข้าไปในพื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวด จากเจ้าหน้าที่ แม้แต่ผู้สื่อข่าวเองต้องนำอุปกรณ์เท่าที่จำเป็นเข้าไปด้วยเท่านั้น เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ต้องมีความปลอดภัยขั้นสูง

บรรยากาศภายใน เห็นแต่เพียงกำแพงสีขาวขนาดใหญ่พร้อมรั้วลวดหนาม กับช่องทางเดินเส้นตรง กลิ่นไอของความอึดอัด ความขลังของสถานที่ตลบอบอวลอยู่ทั่วพื้นที่ หลังจากเดินตามเจ้าหน้าที่ไม่นาน ก็มาถึงประตูขนาดใหญ่เขียนด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่ว่า แดน 14

แต่แล้วความน่าประหลาดใจก็พุ่งเข้าสู่ตายตาอย่างจัง เมื่อภาพที่เห็นไม่เหมือนบรรยากาศภายนอก ภายในกำแพงเต็มไปด้วยภาพศิลปะหลากหลายภาพเรียงรายต่อกันอย่างสวยงาม มองไปอีกด้านเห็นความสวยงามอันเขียวขจีของสนามหญ้าขนาดใหญ่ กับน้ำพุหน้าอาคารที่กำลังเต้นระบำเพื่อเตรียมต้อนรับแขกที่มาร่วมงานในครั้งนี้

จากมือที่เปื้อนบาปสู่มือที่ปั้นบุญ เป็นครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มีผู้มาเข้าร่วมงานจากหลากหลายองค์กรที่ให้การสนับสนุน รวมถึงบรรดาญาติของนักเรียนผู้ต้องขังกว่า 30 ชีวิตที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้

thishand02 thishand03 thishand04 thishand05 thishand06 thishand07

พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธานเปิดงาน กล่าวถึงโครงการในครั้งนี้เป็น หนึ่งในนโยบายของกระทรวงยุติธรรม การแก้ไขคนดีให้คืนกลับสู่สังคม พร้อมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ฟื้นฟูจิตใจ ได้พัฒนาและมองเห็นคุณค่าในตนเอง

ด้วยความเมตตาของผู้สนับสนุน ผสานกับความใส่ใจของคณะครูผู้สอนกับความตั้งใจมุ่งมั่นของนักเรียนทุกคนที่เข้าร่วม จนคุณค่าทั้งหมดถูกแสดงผ่านพระพุทธรูปทั้งองค์เล็กและใหญ่ที่ตั้งในอาคารแห่งนี้ นักเรียนจะได้นำพระพุทธรูปที่ปั้นอย่างตั้งใจมอบสู่มือพ่อแม่ คนในครอบครัว อีกส่วนหนึ่งนำไปมอบให้กับหน่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามโรงพยาบาลชุมชนต่าง ๆ เพื่อสร้างเป็นบุญกุศล

จัดโครงการครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน อรสม สุทธิสาคร ที่ปรึกษาโครงการปั้นดินให้เป็นบุญ กล่าวถึงที่มาและความสำเร็จ ครั้งแรกเริ่มจากเชื่อว่างานพุทธศิลป์สามารถเข้าไปเยียวยาจิตใจผู้ต้องขัง สามารถสร้างสมาธิ ขัดเกลาให้กลายเป็นคนดีและพร้อมกลับเข้าสู่สังคม โดยนำนักเรียนผู้ต้องขังรุ่นแรกมาจัดอบรมและต่อยอดจากกิจกรรมต่าง ๆ จนนักเรียนสามารถปั้นดินกลายเป็นพระพุทธรูป และสามารถนำพระพุทธรูปที่สวยงามจากภายกำแพงไปมอบให้กับวัดมากมาย รวมถึงวัดในประเทศ เนปาลและอินเดีย พร้อมกิจกรรมทั้งจัดต่อเนื่องจนกลายเป็นรุ่นที่ 3 ในปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านี้ กองทุนปั้นดินให้เป็นบุญได้มอบเงินทุนตั้งต้นชีวิตใหม่ 1 หมื่นบาทแก่นักเรียนที่พ้นโทษออกไปสู่โลกภายนอกเพื่อเป็นเงินทุนในการเริ่มต้นตั้งตัวและดำเนินชีวิตใหม่ในทางที่ดี

ซึ่งการขัดเกลากว่า 185 วันในโครงการนี้ไม่เพียงปั้นดินให้เป็นพระพุทธรูปเท่านั้นยังเป็นการปั้นแต่งจิตใจของนักเรียนให้พบกับทางสว่าง เหมือนกับเข็มทิศชี้ทางธรรมนำสู่ความดีอีกด้วย

กว่าจะมาเป็นพระพุทธรูปที่จัดแสดงทั้งหมดต้องผ่านเรื่องราวมากมาย ภูษิต รัตนภานพ หรืออาจารย์ยี่หร่า อาจารย์ใหญ่ในโครงการปั้นดินให้เป็นบุญ เล่าให้ฟังว่า เริ่มต้นให้นักเรียนทำความเข้าใจกับประวัติเกี่ยวกับพระพุทธรูปก่อน จากนั้นเริ่มให้นักเรียนฝึกร่างและนวดดินเพื่อปั้นพระพักต์พระพุทธรูปนูนต่ำ ต่อมาให้นักเรียนปั้นพระพุทธรูปองค์เล็กจากแบบที่นักเรียนสนใจ แล้วฝึกทำแม่พิมพ์ด้วยปูนปลาสเตอร์ เมื่อนักเรียนมีความรู้ความเชี่ยวชาญจึงปั้นพระพุทธรูปองค์ลอยขัดเกลาและตกแต่ง ด้วยเนื้อเรซิ่นจึงเป็นอันเสร็จสิ้น

ความรู้สึกที่อาจารย์มีต่อนักเรียนในโครงการ เหมือนไม่ได้มีความคิดว่ากำลังทำงานเลยแต่เป็นการมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด แลกเปลี่ยนมิตรภาพระหว่างกัน ตนเป็นพี่เลี้ยงเท่านั้น เพราะนักเรียนทั้งหมดมีสมาธิ มีความตั้งใจสูงมาก การปั้นมาจากความศรัทธา ความตั้งใจที่อยากจะนำพระพุทธรูปไปยื่นให้กับพ่อแม่ คนในครอบคครัว ทำให้ใช้เวลาไม่นานในการอบรมนักเรียนก็สามารถสร้างพระพุทธรูปที่สวยงามตั้งอยู่ภายในห้องแห่งนี้ให้ผู้ร่วมงานได้รับชม
โครงการครั้งนี้เป็นการสร้างพลังในด้านบวกให้กับผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นโอกาสที่สังคมหยิบยื่นให้พวกเขาหลังพ้นโทษมีเงินในการตั้งต้นชีวิตพร้อมกับวิชาความรู้ ในศาสตร์การปั้นพระพุทธศิลป์ไปต่อยอดได้ในอนาคต

ประสบการณ์ของการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ อนันต์ หนึ่งในนักเรียน เล่าว่า ตนไม่เคยมีความรู้ทางด้านศิลปะมาก่อน อาจารย์ได้เข้ามาสอนมาอบรมจนสามารถปั้นองค์พระพุทธรูปได้ งานปั้นพระพุทธรูปเป็นเหมือนการลบความหยาบกระด้างในตัวและจำเป็นต้องใช้ สมาธิ ความละเอียดละอ่อนมาก ไม่อยากให้ทุกคนมองว่านี้เป็นเพียงงานพุทธศิลป์เท่านั้นแต่นี้คือส่วนหนึ่งของการปั้นจิตใจให้อยู่กับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขัดเกลาจิตใจให้อยู่ในด้านดี

ความภาคภูมิใจครั้งนี้ไม่เพียงแต่ตนเองเท่านั้น ยังได้มอบพระพุทธรูแที่ปั้นด้วยความตั้งใจของตนเองให้กับคนในครอบครัว การปั้นพระในครั้งนี้สอนให้รู้จักถึงการทำอะไรเพื่อคนอื่นคือสิ่งที่สำคัญ รอยยิ้มที่เรามอบให้คนอื่นรอบ ๆ ตัวเรานั้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมมอบพระพุทธรูปจากมือลูกสู่มือพ่อแม่ ครอบครัว บรรดาผู้ร่วมงานต่างตั้งใจรับฟังบทเพลง “ ปั้นดินให้เป็นบุญ ”แต่งโดยชาตินวภพ นักเรียนปั้นดินให้เป็นบุญรุ่นที่ 1 เป็นการประสานเสียง จากนักเรียนในโครงการ ตรงนี้เองได้เห็นรอยยิ้มของผู้เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะบรรดาญาติของนักเรียนทั้ง 30 ชีวิตต่างมีรอยยิ้มที่อิ่มเอมสุข หลังขับร้องนักเรียนได้พาญาติ ๆ มาร่วมรับประทานอาหารและพูดคุย ภาพที่เห็นเต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขใจ รอยยิ้มที่สามารถเปลี่ยนสถานที่แห่งนี้ให้เป็นสถานที่แห่งความสุขได้อีกครั้ง

กิจกรรมครั้งนี้ส่วนหนึ่งได้นำไปจัดนิทรรศการเพื่อแสดงพระพุทธรูปที่สวยงามให้ผู้สนใจจากภายนอกได้รับชม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 6 – 11 กุมภาพันธ์ พร้อมทั้งยังสามารถสนับสนุนร่วมบริจาคหรือสั่งหล่อพระพุทธรูปผลงานของนักเรียนเพื่อถวายแด่ วัด โรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วยจิตศรัทธาเพื่อสร้างบุญกุศล ยิบยื่นโอกาสที่แสนสำคัญสู่นักเรียน

ครั้งหนึ่ง มือที่เคยพลาดพลั้งทำผิดก่อบาปจนต้องรับโทษทัณฑ์ จะสามารถกลายเป็นมือที่ค่อย ๆ ปั้นดินจนกลายเป็นพระพุทธรูปที่สามารถสร้างความรัก ความศรัทธาแก่พระพุทธศาสนา พร้อมกับยิบยื่นบุญกุศลเผยแผ่สู่โลกภายนอก พร้อมทั้งปลดตัวเองให้เป็นอิสระทางใจ