เส้นแบ่งที่พร่าเลือน? ของ สารคดี

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


feature

สองวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จัดอบรม “การเขียนออนไลน์ บทความ/สารคดี” ให้กับประชาชนทั่วไป

หัวข้อการอบรมมี / (ทับ) คั่นระหว่าง บทความ กับ สารคดี

แสดงให้เห็นว่าผู้จัดตระหนักว่างานเขียน “เรื่องจริง” ทั้ง ๒ ประเภทนี้มีเส้นแบ่งที่ต่างกันอยู่ ผิดกับหลายงานหลายครั้งที่ถูกเรียกแบบเหมารวมไปว่า บทความสารคดี ซึ่งไม่ชัดเจนว่าเป็นประเภทไหนแน่ หรืออาจเข้าใจไปว่าเป็นประเภทเดียวกัน

จนเดี๋ยวนี้ผมคิดว่าการให้นิยามคำว่า สารคดี ยังไม่นิ่ง ยังไม่มีคำนิยามที่ได้รับการยอมรับแบบชัดเจนเด็ดขาด พูดแล้วทุกคนพยักหน้ายอมรับกันเป็นหนึ่งเดียว

พอมีการถามถึงความหมาย จึงยากที่ใครจะให้นิยามได้แบบชี้ขาด

ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งผมคิดว่ามาจากการที่เราใช้คำว่า สารคดี ใน ๒ ความหาย

ความหมายหนึ่งใช้ในการแบ่งภาคงานเขียน เรื่องแต่ง (fiction) กับ เรื่องไม่แต่ง (non fiction) ที่เราใช้ว่า “บันเทิงคดี กับ สารคดี”

ในแง่นี้คำว่า สารคดี จะกินคลุมกว้างมาก เรื่องเล่า หรืองานเขียนใดๆ ที่เป็นเรื่องจริง หรือเรื่องไม่แต่ง ก็นับว่าเป็นสารคดีได้ทั้งหมด

แต่ตามความเป็นจริงในภาคของ non fiction หรือเรื่องไม่แต่งนั้น ประกอบไปด้วยงานเขียนหลากหลายประเภท ที่มีลักษณะเฉพาะของตน สารคดี ก็เป็นหนึ่งในนั้น

สารคดี ในความหมายที่บอกความเป็นงานเขียนประเภทหนึ่งในกลุ่ม non fiction นี้ อาจตรงกับคำว่า feature (ดังที่ยุคหนึ่งนิตยสาร สารคดี เคยใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Feature Magazine)

ในความหมายอย่างแคบนี้เคยมีผู้ให้คำนิยามว่า

สารคดี คือรอยต่อของงานวิชาการกับวรรณกรรม
สารคดี คือการเล่าเรื่องจริงอย่างมีศิลปะ
ฯลฯ

แต่อย่างที่กล่าวแล้ว ยังไม่มีนิยามใดเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการแบบเป็นหนึ่งเดียว

แต่โดยรวมก็พอจะเป็นที่เข้าใจร่วมๆ กันว่า เป็นงานเขียนที่มีข้อมูล ให้ความรู้ เล่าเรื่องมีรสรื่นรมย์ในการอ่าน โดยใช้วรรณศิลป์และกลวิธีการนำเสนอเป็นเครื่องมือ

และด้วยอย่างหลังนั้นเองที่ทำให้สารคดียุคใหม่มีการสร้างสรรค์วิธีการเล่า และประณีตใส่ใจในแง่ถ้อยคำภาษา จนให้รสรื่นรมย์และความเพลิดเพลินในการอ่าน ไม่ต่างจากเรื่องสั้นหรือนิยาย-เน้นว่าหากคนเขียนทำได้ “ถึง”

จึงพลอยพาให้เกิดความระส่ำระสายโกลาหลกันในหมู่นักอ่านนักวิจารณ์อีกคำรบว่า เส้นแบ่งระหว่าง สารคดี กับ fiction (เรื่องแต่ง) พร่าเลือนจนยากจะแยกความแตกต่างได้แล้ว!

ก็กลายเป็นโจทย์ปัญหาใหม่ที่ยังไม่มีบทสรุปเป็นข้อยุติได้ชัดเจนเช่นกัน

แต่ว่าตามจริง หากยึดกันตามที่ “เนื้อหา”

สารคดี (feature) ต้องไม่แต่ง

ถ้าเมื่อใดมีการแต่งเติม บิดผัน แม้เค้าโครงหลักของเรื่องนั้นเป็นเรื่องจริง งานเขียนนั้นก็ถือเป็น เรื่องแต่ง เพราะมีการแต่งเติม เรื่องไม่แต่ง-ต้องไม่มีการแต่งเติมใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ประเด็นที่นำไปสู่คำกล่าวที่ว่า เส้นแบ่งพร่าเลือนนักแล้วนั้น ส่วนใหญ่มองกันที่รูปแบบวิธีการนำเสนอ ซึ่งเป็นเพียงเปลือกนอก หรือพาหนะที่จะพาเนื้อหาไปสู่จุดหมาย ซึ่งในแง่นี้งานสารคดีก็สามารถทำได้อย่างไม่จำกัด เช่นเดียวกับเรื่องแต่ง

เส้นแบ่ง สารคดี กับเรื่องสั้นเรื่องแต่ง จึงควรอยู่ที่เนื้อหา ไม่ใช่รูปแบบการนำเสนอ

กับอีกกรณีหนึ่งเมื่อ สารคดี ถูกใช้ในความหมายอย่างกว้าง (non fiction) บางทีงานชิ้นที่เป็น งานวิชาการ ธรรมะ ความเรียง ฯลฯ ที่แม้แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นสารคดี

แต่บางทีผู้อ่าน นักวิชาการ หรือร้านหนังสือ ก็จับยัดกลุ่มให้เสร็จสรรพ

ทั้งหลายนี้เป็นปมประเด็นเชิงทฤษฎีในวงการสารคดีไทยยุคนี้ที่ยังอลหม่านกันอยู่ แต่ก็ไม่ขวางกั้นพัฒนาการและการสร้างสรรค์งานเขียน เพราะในขั้นลงมือปฏิบัติจริงนั้นเราไม่จำเป็นต้องอิงทฤษฎีเลยก็ได้ หลักเกณฑ์หรือ “สูตร” มีไว้ตอนไปไม่ได้ นึกอะไรไม่ออก เมื่อมีความคล่องแคล่วอยู่ในเนื้อตัวผู้เขียนแล้ว ตำราก็เป็นสิ่งที่โยนทิ้งได้


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา