“เสียกบาล” กับ “เสียกะบาน”

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


sia gabal

ตั้งแต่เมื่อมีการสำรวจขุดค้นที่เมืองเก่าสุโขทัยหลายสิบปีก่อน ได้พบตุ๊กตาดินเผาเคลือบตัวเล็กๆ จำนวนมาก มีทั้งที่ทำเป็นรูปผู้ชายและผู้หญิง แต่ส่วนใหญ่ทำเป็นรูปแม่อุ้มลูก ตุ๊กตาเหล่านี้ที่พบมักจะคอหัก จึงเรียกกันว่า “ตุ๊กตาเสียกบาล” โดยอธิบายว่าเป็นเคล็ดลางของคนโบราณ เมื่อมีใครป่วยหนักในบ้านก็จะไปซื้อหาตุ๊กตาเอามาเซ่นไหว้ผี แล้วต่อยให้หัวหักไป เป็นการ “แก้เคล็ด” ว่าผีได้เอาตัวไปแล้ว ตัวจริงที่เจ็บไข้อยู่จะได้รอดปลอดภัย

ส่วนคำ “เสียกบาล” ก็คือเสียหัว เพราะคำว่า “กบาล” เป็นคำเขมร แปลว่าหัว

คำอธิบายนี้ฟังดู “เข้าท่า” เพราะอย่างที่เราคงพอรู้กัน ในยุคโบราณ โรคภัยไข้เจ็บที่สมัยนี้รักษากันง่ายๆ หายในไม่กี่วัน แต่สำหรับคนโบราณล้วนเป็นเรื่อง “คอขาดบาดตาย” ยิ่ง “ตุ๊กตาเสียกบาล” ที่ส่วนใหญ่เป็นแม่กับลูก ก็ดูสอดคล้องกับสุขภาวะยุคอดีต ที่การคลอดลูกเป็นเรื่องอันตรายมาก และอัตราการตายของทารกแรกเกิดที่เสียชีวิตก่อนจะถึงขวบปีแรกก็สูงมาก

โครงกระดูกเด็กจำนวนมากที่พบฝังในภาชนะดินเผาตามแหล่งโบราณคดี เช่นที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ยืนยันในข้อนี้

เราจึงเรียกตุ๊กตาพวกนี้ว่า “ตุ๊กตาเสียกบาล” กันมาช้านาน

จนเมื่อ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว นักเขียนนักค้นคว้านักวิชาการผู้ยึดหลัก “อยากได้ปริญญาให้ไปมหาวิทยาลัย อยากได้ความรู้ให้มุ่งสู่ชาวบ้าน” เขียนบทความตั้งคำถามเรื่องนี้ลงในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม”

ข้อเสนอของท่านคือไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “เสียกบาล” เพราะ “กะบาน/กระบาน” เป็นคำไทย หมายถึงภาชนะอย่างหนึ่ง ในจำพวกกระบะ กระบวย อะไรจำพวกนั้น และการ “เสียกะบาน” หรือ “เสียกระบาน” ก็คือเอาเครื่องเซ่นใส่ใน “กะบาน/กระบาน” ไปไหว้ผี โดยอาจารย์ล้อมยกตัวอย่างให้ดูจากหลักฐานพจนานุกรมเก่าและวรรณคดีโบราณมากมาย

sisatchanalai

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

อาจารย์ยังบอกด้วยว่าจากการสอบถามหมอสะเดาะเคราะห์ยุคปัจจุบัน ตุ๊กตาที่ใส่ไปในกะบานก็ไม่ต้องทุบให้คอหักหรือ “เสียกบาล” แต่อย่างใด เพราะตุ๊กตานั้นเป็นของที่ผู้สะเดาะเคราะห์ส่งให้ไปเป็นบริวารของผีแทนตัวเอง ถึงแก่มีการตัดผมตัดเล็บของตนใส่ไปด้วย

เมื่อลองค้นดูเองบ้างก็พบว่าเป็นเช่นที่อาจารย์ล้อมว่ามาจริงๆ เช่นในนิตยสาร “วชิรญาณวิเศษ” สมัยรัชกาลที่ ๕ ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) เล่าว่า

“เด็กๆ เจ็บเขาเสียกระบาน ใช้ให้คนเอากระบานไปวางหนทางสามแพร่ง กลับมาตบประตูถามว่าคนเจ็บไข้มีมั่งไหม? คนข้างในก็บอกว่าไม่มีดอกคะ หายหมดแล้ว”

นั่นคือการ “เสียกระบาน” เป็นพิธีรักษาโรคอย่างหนึ่ง เอากระบานที่ทำด้วยกาบกล้วย ไปวาง “หลอกผี” ที่ “ทางสามแพร่ง”

จากเครื่องเซ่นผี ซึ่งถือเป็นสิ่งอัปมงคลที่ห้ามนำกลับเข้าบ้าน เพราะไม่ใช่ “ของเล่น” เดี๋ยวนี้ “ตุ๊กตาเสียกะบาน” ดินเผาเคลือบแบบสุโขทัยโบราณ กลับกลายเป็นสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยว มีการเผาขายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน อย่างที่เห็นตามร้านค้าเครื่องสังคโลกฝีมือร่วมสมัย แถวแหล่งเตาเผาโบราณที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

แต่คิดว่าคงไม่น่าจะมีใครซื้อไป “เสียกะบาน” กันแล้วกระมัง ?

*ผู้สนใจ โปรดดูบทความเรื่อง “เสียกบาล-เสียหัว-หัวใคร เสียกะบานไม่ใช่เสียหัว” โดยอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๑๒ เดือนตุลาคม ๒๕๓๔


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี