ซำปอกง

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


samporkong01

หนึ่งในจุดหมายปลายทางของผู้ที่ไป “ไหว้พระ” ที่อยุธยา ย่อมต้องได้แก่ “หลวงพ่อโต” ที่วัดพนัญเชิง นอกเกาะเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

พระพุทธรูปองค์ใหญ่มหึมาซึ่งมีพระนามอย่างเป็นทางการว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” นี้ มีบันทึกอยู่ในพงศาวดารว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้าการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเกือบ ๓๐ ปี จึงนำไปสู่ข้อเสนอของนักประวัติศาสตร์ที่ยอมรับกันทั่วไปว่า บริเวณนี้ย่อมเป็นชุมชนใหญ่ มีผู้คนตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเป็นเมืองมาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยาแล้ว

นอกจากชื่อจริงกับชื่อเล่นที่ว่ามา “หลวงพ่อ” องค์นี้ยังมีชื่อที่รู้จักกันดีในหมู่คนจีนด้วย คือ “ซำปอกง”

คนเชื้อสายจีนในเมืองไทยจำนวนมาก เชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้ “แต้ฮั้ว” (ในภาษาแต้จิ๋ว) หรือ “เจิ้งเหอ” (ในสำเนียงจีนกลาง) เป็นผู้สร้าง และว่าท่านผู้นี้เป็นคนนำพาเอาคนจีนมาตั้งหลักแหล่งในเมืองไทย ถือเป็นบรรพชนคนสำคัญ จึงนิยมมากราบไหว้บูชากัน เหมือนว่าเป็นตัวแทนของ “ซำปอกง”

เรื่องราวของ “แต้ฮั้ว” หรือ “เจิ้งเหอ” มีบันทึกชัดเจนในหลักฐานจีนว่าเป็นขันทีของพระจักรพรรดิจีนสมัยราชวงศ์หมิง ได้รับคำสั่งให้นำกองทัพเรือขนาดมหึมา กำลังพลหลายหมื่น ออก “สำรวจโลก” เดินทางไกลมาจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา จนมีวีรกรรมเป็นที่เลื่องลือ

ตามคตินิยมของคนจีนแล้ว หากเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือก็จะไม่ออกชื่อตัวแต่จะเรียกด้วย “ฉายา” แทน ดังเช่น “แต้ฮั้ว” หรือ “เจิ้งเหอ” มีสมญาว่า “ซำป้อ” หรือ “ซันเป่า” และเมื่อผนวกกับ “กง” อันเป็นการเรียกขานด้วยความเคารพเยี่ยงญาติผู้ใหญ่ จึงกลายเป็น “ซำปอกง”

นอกจาก “ซำปอกง” ที่อยุธยาแล้ว ที่กรุงเทพฯ ก็ยังมี “ซำปอกง” อีกองค์หนึ่ง คือ “หลวงพ่อโต” ที่วัดกัลยาณมิตร ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี คนจีนก็นิยมไปกราบไหว้เช่นเดียวกัน

เรื่องนี้ “ภาษิต จิตรภาษา” หรือสันต์ สุวรรณประทีป นักเขียนนักค้นคว้าด้านภาษาไทย ผู้ล่วงลับ เคยทักท้วงมาหลายสิบปีแล้วว่าเป็น “คนละเรื่อง” หรือ “ผิดฝาผิดตัว” ท่านเขียนเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ ว่า

samporkong02

samporkong03

“สาเหตุที่ชาวจีนมาเซ่นไหว้วิญญานของซำปอกงที่วัดกัลยาณ์นั้นเป็นเพราะความเข้าใจผิดแท้ๆ กล่าวคือชาวจีนผู้นับถือพุทธศาสนากลุ่มหนึ่งเมื่อได้มานมัสการหลวงพ่อโตที่วัดกัลยาณ์แล้วเกิดความเลื่อมใส ก็อยากจะยึดไว้เป็นที่บูชาสำหรับพวกตนก็เลยเขียนหนังสือจีนไว้ที่หน้าวิหารว่า “ซำปอฮุดกง” ซึ่งแปลว่าพระเจ้าสามพระองค์ คือพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ แต่ชาวจีนกลุ่มที่นับถือซำปอกงอ่านเห็นเป็น “ซำปอกง” ก็คิดว่าเป็นสถานที่เซ่นไหว้วิญญานของซำปอกง ก็เลยมาเซ่นไหว้ซำปอกงกันเรื่อยมา”

ไม่ว่าจะอย่างไร คนจีนในเมืองไทยคงนับถือ “ซำปอกง” ใน “หลวงพ่อโต” วัดกัลยาณมิตรมาช้านานแล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ใน “นิทานโบราณคดี” ตอนหนึ่งว่าเมื่อสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ทางราชการแก้ปัญหา “อั้งยี่” หรือแก๊งคนจีนภาษาต่างๆ ในกรุงเทพฯ ที่มักก่อเหตุทะเลาะวิวาท รวมถึงปะทะกับเจ้าหน้าที่ ด้วยการเชิญหัวหน้าอั้งยี่ ๑๔ แก๊งในพระนคร พร้อมด้วยขุนนางสยามที่เกี่ยวข้อง ไปดื่มน้ำสาบานกันที่วิหารหลวงพ่อโต ว่าจะจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว และจะคอยระมัดระวังมิให้บรรดาลูกน้องบริวารก่อความวุ่นวาย สมเด็จฯ ท่านสรุปว่า วิธีการนี้ “สำเร็จประโยชน์ได้สมประสงค์ พวกอั้งยี่ก็เรียบร้อย…”

*ดูข้อโต้แย้งเรื่องซำปอกง ใน สันต์ สุวรรณประทีบ, “ทิ้งกระจาด” คนจีน ๒๐๐ ปีภายใต้พระบรมโพธิสมภาร (กทม.: บริษัทเส้นทางเศรษฐกิจจำกัด, ๒๕๒๕)


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี