อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


badsignworldcup00

ช่วงเวลา ๑ ถึง ๒ สัปดาห์ก่อนมหกรรมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจะเริ่มขึ้นถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่นักเตะ สต๊าฟฟ์โค้ช ทีมงานของแต่ละชาติต่างเก็บตัว บ้างลงเตะนัดอุ่นเครื่องเพื่อซักซ้อมแทคติกช่วงโค้งสุดท้าย

ฟุตบอลโลกจัดขึ้นทุก ๔ ปี กว่าจะฟันฝ่ามาถึงปลายทางของศึก รัสเซีย ๒๐๑๘ ก็เนิ่นนาน จึงย่อมไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

badsignworldcup01

ภาพ : อินสตาแกรม julenlopetegui

ทีมชาติ : สเปน
เหตุการณ์ : ส่งกุนซือกลับบ้าน
วันเกิดเหตุ : ๑ วันก่อนบอลโลก

การลาออกของ ซีเนดีน ซีดาน ผู้จัดการสโมสร เรอัล มาดริด จากศึกฟุตบอลลาลีกาสเปน ส่งผลกระเพื่อมมาถึงทีมชาติสเปนที่กำลังเตรียมทีมสู้ศึกฟุตบอลโลกอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อ เรอัล มาดริด ออกแถลงการณ์ว่า ฆูเลน โลเปเตกี ผู้จัดการทีมชาติสเปนจะเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการคนใหม่ของ เรอัล มาดริด ในฤดูกาลหน้า

ทั้งนี้ เชื่อกันว่า ฆูเลน โลเปเตกี ที่ยังติดสัญญาอยู่กับสหพันธ์ฟุตบอลสเปนไม่เคยบอกกล่าวสหพันธ์ แม้แต่หลุยส์ รูเบียเลส ประธานสหพันธ์ฟุตบอลสเปนก็รู้ล่วงหน้าไม่ถึง ๑ ชั่วโมง นับว่าไม่ให้เกียรติสหพันธ์รวมทั้งคนสเปนทั้งชาติ ถือเป็นการกระทำข้ามหน้าข้ามตา ผิดกาลเทศะ และที่ไม่มีมารยาทอย่างรุนแรง

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหน้าศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจะเริมขึ้นเพียง ๑ วัน คือวันพุธที่ 13 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้ หลุยส์ รูเบียเลส ไม่พอใจอย่างหนัก

ไม่นาน สหพันธ์ฟุตบอลสเปน ก็ออกแถลงการณ์ ปลด ฆูเลน โลเปเตกี ออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติสเปน ดัน เฟร์นานโด เอียร์โร่ ตำนานลูกหนังกระทิงดุเสียบซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเทคนิคสหพันธ์ฟุตบอลสเปนขึ้นมานั่งเก้าอี้แทน

ฆูเลน โลเปเตกี กุนซือวัย ๕๑ ปี เดินทางออกจากกรุงมอสโกทันทีหลังถูกไล่ออก และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนสั้นๆ ถึงทีมชาติสเปนว่า “เราเป็นทีมที่ยอดเยี่ยม หวังว่าเราจะเป็นแชมป์โลกได้” ขณะที่ทางสโมสร เรอัล มาดริด ต้นสังกัดใหม่เร่งรัดให้จัดงานเปิดตัวผู้จัดการทีมคนใหม่ทันทีคล้ายกับจะดามใจและหยุดคำวิจารณ์

ส่วนชะตากรรมของทีมชาติสเปนในศึกฟุตบอลโลกจะเป็นอย่างไร การอัปเปหิกุนซือแบบสายฟ้าฟาดจะส่งผลกับแผนการเล่น แทคติก ตลอดจนสถานภาพความเป็นตัวเต็งของทีมกระทิงดุขนาดไหน…ยังเป็นคำถาม

อาฟเตอร์ช็อค : สำนักข่าวแห่งหนึ่งของสเปนรายงานว่าสโมสร เรอัล มาดริด จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๒ ล้านยูโรให้กับ สหพันธ์ฟุตบอลสเปน ในกรณีดึงตัว จูเลน โลเปเตกี ที่ยังมีสัญญากับทางสหพันธ์ฟุตบอลสเปนมาเป็นกุนซือคนใหม่ เนื่องจากเจ้าตัวถูกไล่ออกจากตำแหน่งแล้ว

badsignworldcup02

ภาพ : อินสตาแกรม ilkayguendogan

ทีมชาติ : เยอรมนี
เหตุการณ์ : โห่ไล่นักเตะชาติเดียวกัน
วันเกิดเหตุ : ๕ วันก่อนบอลโลก

หากจะมีแฟนบอลสักคนโห่ฮาใส่นักเตะทีมคู่แข่งขันก็คงไม่ใช่เรื่องผิดแปลก หากแต่การโห่ใส่นักเตะชาติเดียวกันเกิดขึ้นกับทีมชาติเยอรมนีก่อนฟุตบอลโลกครั้งนี้

เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ขณะที่การแข่งขันฟุตบอลอุ่นเครื่องนัดสุดท้ายระหว่างเยอรมนีกับซาอุดิอาระเบียดำเนินมาถึงนาทีที่ ๕๗ อิลคาย กุนโดกัน นักเตะเยอรมนีเชื้อสายเติร์กถูกเปลี่ยนตัวลงสนาม ทันทีที่เขาเหยียบผืนหญ้า เสียงเป่าปาก โห่ไล่ลั่นสนามก็ดังมาจากฝั่งอัฒจรรย์แฟนบอลทีมเยอรมนี แม้เข็มนาฬิกาจะล่วงผ่านไป แต่ทุกครั้งที่ อิลคาย กุนโดกัน ได้สัมผัสบอล เสียงโห่สะท้านหัวใจก็จะดังขึ้นทุกครั้ง นักเตะอีกคนที่ได้รับปฏิกิริยาแบบเดียวกัน คือ เมซุต โอซิล

ที่มาของบรรยากาศอันหมองหม่นเกิดจากเวลานี้ประเทศเยอรมนีกับตุรกีกำลังมีความขัดแย้งกันทางการเมือง โดยเยอรมนีแสดงท่าทีต่อต้านตุรกีเรื่องการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน การเนรเทศประชาชน รวมทั้งกวาดล้างสื่อมวลชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล

เรื่องราวทางการเมืองคงไม่ถูกโยงเข้ากับกีฬาฟุตบอล หากเมื่อวัน ๑๓ พฤษภาคม สองนักเตะทีมชาติเยอรมัน จะไม่ได้เข้าพบ เรเจป ไตยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกีที่เดินทางมาเยือนกรุงลอนดอน ทั้งคู่ถ่ายรูปกับ เรเจป ไตยิป เออร์โดกัน มอบเสื้อฟุตบอลที่มีลายเซ็นพร้อมข้อความ “แด่ท่านประธานาธิบดีของผม ด้วยความเคารพ” อันส่งผลให้แฟนบอลเยอรมนีแสดงออกถึงการต่อต้าน

หลังฟุตบอลนัดอุ่นเครื่องจบลงโดยเยอรมนีเฉือนชนะซาอุดิอารเบียไป ๒-๑ ประตู อิลคาย กุนโดกัน บรรยายความรู้สึกเจ็บปวดผ่านทางทวิตเตอร์ว่า “ผมยังรู้สึกขอบคุณอยู่เสมอที่ได้ลงเล่นให้กับแผ่นดินนี้”

แม้แต่ โยอาคิม เลิฟ ผู้จัดการทีมชาติเยอรมันก็รู้สึกเจ็บปวด

“ทีมกีฬาจะยืดหยัดอยู่ได้ก็เมื่อผู้เล่นในทีมได้รับการสนับสนุนจากผู้คนรอบข้าง การที่นักฟุตบอลทีมชาติถูกเป่าปากโห่ไล่ ไม่ได้ช่วยใครเลย”

หลังเหตุการณ์ มีรายงานว่า อิลคาย กุยโดกัน แข้งวัย ๒๗ ปีกลายเป็นคนหมองหม่น เซื่องซึม ไร้พลัง ส่วน เมซุต โอซิล แข้งวัย ๒๙ ปี เลือกที่จะนิ่งเงียบ ไม่ให้สัมภาษณ์

มีเสียงเรียกร้องตามมาให้ปลดนักเตะทั้งสองคนออกจากทีมชาติชุดลุยศึกฟุตบอลโลก หากแต่สหพันธ์ฟุตบอลเยอรมันยังคงหนุนหลังและนำทั้งคู่สู่กรุงมอสโกต่อไปเพื่อล่าตำแหน่งแชมป์โลกครั้งที่ ๕ ของทีมชาติเยอรมนี

อาฟเตอร์ช็อค : หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าหากสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมนียึดตามมาตรฐานปรกติที่ไม่ให้นักฟุตบอลเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นักเตะทั้งสองคนน่าจะถูกขับออกจากทีม นี่จึงเป็นเหตุการณ์ที่ชนชาติมาตรฐานสูงอย่างเยอรมนีถูกตั้งคำถาม

badsignworldcup03

ภาพ : เฟซบุค United 2026

ทีมชาติ : สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก
เหตุการณ์ : เพิ่มทีม เพิ่มเจ้าภาพ บอลโลกยุคใหม่
วันเกิดเหตุ : ไม่กี่อึดใจก่อนบอลโลก

ชั่วอึดใจก่อนพิธีเปิดฟุตบอลโลก รัสเซีย ๒๐๑๘ จะเริ่มขึ้น ฟีฟ่าจัดพิธีประกาศชาติเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี ค.ศ. ๒๐๒๖ หรืออีก ๘ ปีข้างหน้า (สองครั้งถัดไป)

เจ้าภาพครั้งถัดไป ในปี ค.ศ.๒๐๒๒ เรารู้กันมานานแล้วว่า คือ การ์ต้า

แต่เจ้าภาพครั้งถัดจากการ์ต้า ฟีฟ่าเพิ่งประกาศผลโหวตออกมาว่าจะเป็นการทำหน้าที่ร่วมกันของ ๓ ชาติ คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก แห่งทวีปอเมริกาเหนือ ชนะโหวตคู่แข่งคือโมร็อกโก แห่งทวีปแอฟริกาด้วยคะแนน ๑๓๔ ต่อ ๖๕ เสียง นับเป็นครั้งแรกที่ศึกฟุตบอลโลกจะมีเจ้าภาพถึง ๓ ชาติ หลังจากก่อนหน้านี้เคยมีญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แห่งทวีปเอเชีย เป็นเจ้าภาพร่วมกันในปี ค.ศ.๒๐๐๒

นอกจากจะมีเจ้าภาพร่วมกันถึง ๓ ชาติ ฟุตบอลโลกเวอร์ชันอเมริกาเหนือยังจะมีการเพิ่มทีมในรอบสุดท้ายจาก ๓๒ ทีมเป็น ๔๘ ทีม ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการฟุตบอลโลก

เมื่อทีมมากขึ้นจำนวนนัดของการแข่งขันก็ต้องมากขึ้นตาม จากเดิม ๓๒ ทีม มีแข่งรวมกันทั้งสิ้น ๖๔ นัด หลังจากเพิ่มเป็น ๔๘ ทีม การแข่งเพิ่มขึ้นเป็น ๘๐ นัด คาดว่าจะใช้เวลาแข่งขันกัน ๓๔ วัน เรียกว่าแฟนบอลจะได้ดูฟุตบอลโลกกันจนตาแฉะ และน่าจะต้องจัดสรรเวลาดูบอลกับทำงานให้ดีๆ เพราะแค่สหรัฐอเมริกาประเทศเดียวก็มีการแบ่งโซนเวลาที่แตกต่างกันถึง ๔ โซนแล้ว

ทั้งนี้ ก่อนหน้าทั้ง ๓ ชาติจะได้รับเลือก เป็นที่รู้กันว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีนโยบายต่อต้านการเข้าเมืองผิดกฎหมายและยาเสพย์ติด โดยเคยเสนอแผนสร้างกำแพงกันชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก โดยให้เม็กซิโกเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเคยโจมตีนายกรัฐมนตรีแคนาดา ในการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ๗ ชาติ หรือ G7

การจับมือกันครั้งนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการจับมือกันเฉพาะกิจเพื่อรับหน้าที่เจ้าภาพฟุตบอลโลก

อาฟเตอร์ช็อค : เมื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกกำลังจะเพิ่มจาก ๓๒ ทีมเป็น ๔๘ ทีม ระบบการคัดเลือกตัวแทนจากแต่ละทวีปก็ย่อมเปลี่ยนแปลง จากปัจจุบันโควตาของแต่ละทวีป คือ ยุโรป ๑๓ ทีม, แอฟริกา ๕ ทีม, อเมริกาใต้ ๔ ทีมครึ่ง, เอเชีย ๔ ทีมครึ่ง, คอนคาเคฟ (อเมริกาเหนือ) ๓ ทีมครึ่ง, โอเชียเนีย ครึ่งทีม และเจ้าภาพอีก ๑ ทีม อนาคตในปี ๒๐๒๖ แต่ละทวีปจะได้โควต้ามากขึ้น คาดการณ์ว่าโควต้าแอฟริกาจะเพิ่มเป็น ๙ ทีม เอเชียเพิ่มเป็น ๘ ทีมครึ่ง หมายความว่าทีมชาติไทยมีลุ้นผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลกมากขึ้นด้วย !

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของชาติเจ้าภาพ ยังมีคำถามว่าทั้ง ๓ ชาติจะเข้ารอบโดยอัตโนมัติหรือไม่
มีรายงานว่าฟีฟ่าจะตัดสินใจเรื่องนี้ในที่ประชุมปี ๒๐๑๙