วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี

เคาะกะโหลกผู้อ่านด้วย วรรคทอง

มีนักเขียนฝรั่งกล่าวทำนองว่า

งานเขียนที่ดีจะทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนโดนค้อนทุบกะโหลก

งานเขียนที่ดี มาจากหลายปัจจัยชุมนุมกัน ซึ่งหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยนั้นมี “วรรคทอง” รวมอยู่ด้วย

เป็นวรรคเด็ดวรรคเด่นที่คมคาย กินใจ ซาบซึ้ง ติดตรึงใจคนอ่าน ซึ่งในงานเขียนแต่ละชิ้นควรต้องมีอยู่บ้าง แต่คงไม่ใช่การสรรปั้นคำพริ้งพรายไปทั้งเรื่อง จนงานเขียนกลายเป็นลิเกทรงเครื่อง

วรรคทองเมื่อมีแทรกอยู่ในเรื่องเป็นระยะจะเปรียบเหมือนยอดคลื่นหรือปลายกราฟที่ทำให้งานเขียนไม่เรียบนิ่งไปตลอดเรื่อง ซึ่งอย่างหลังนั้นจะทำให้งานเขียนกลายเป็นยานอนหลับชั้นดี

การมีวรรคทองผุดโผล่ขึ้นมาปลุกคนอ่านอยู่บ้างเป็นช่วงๆ จะเป็นเหมือนค้อนที่คอยเคาะกะโหลกคนอ่านให้ตาสว่างและติดตามเรื่องราวไปต่อ

silverlining02

วรรคทองในงานสารคดีไม่จำเป็นต้องมาจากผู้เขียนเท่านั้น แต่สำคัญที่คนเขียนต้องมองเห็นและรู้จักหยิบนำมาใช้ให้ถูกจังหวะและสอดคล้องกับเรื่องที่จะเล่า ดังตัวอย่างที่นำมาให้ดูกันในที่นี้

  • วรรคทองมาจากการอ้างอิง

เป็นถ้อยคำที่ผู้เขียนได้อ่าน ได้เห็น ได้ยินมา อาจอยู่ตามป้ายข้อมูลแนะนำสถานที่ ป้ายภาษิตตามโคนต้นไม้ในวัด จากที่จดไว้ในสมุดบันทึก คำกล่าวที่เล่าต่อกันมา ไปจนถึงในหนังสือค้นคว้าอ้างอิงที่เป็นทางการ แล้วนำมาวางในเรื่องให้สอดคล้องและเสริมส่งต่อเรื่องเล่าของเรา

บนบานประตูทางเข้าอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ มีข้อความจารึกเอาว่า

“ไม่มีอะไรใหม่อีกต่อไป ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้”

ผมฟังแล้วเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่สองสัปดาห์ของการเดินทางในอียิปต์ทำให้ผมต้องยอมรับว่าคำพูดนั้นอูจะไม่เกินความจริง เพราะที่ผ่านมาเรามัวแต่ไปสนใจความรู้ของฝรั่งตะวันตกที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรือง โดยหารู้ไม่ว่าอารยธรรมกรีก-โรมันล้วนแต่ได้รับอิทธิพลความรู้มาจากอียิปต์สมัยโบราณทั้งสิ้น

(วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, “ตามรอยปริศนาอียิปต์โบราณ)

“เรื่องกินเรื่องใหญ่ เรื่องตายเรื่องกลาง เรื่องตะรางเรื่องเล็ก”

คำพูดประโยคนี้ไม่รู้ใครเป็นคนพูดขึ้นก่อน แต่ก็มีคนนำมาพูดกันแบบปากต่อปากจนกลายเป็นประโยคยอดฮิตอยู่ในยุคหนึ่ง

ทว่าเดี๋ยวนี้ ขณะนี้นี่สิ เขาชักเริ่มไม่มั่นใจเสียแล้วว่าเรื่องกินจะเป็นเรื่องใหญ่หรือสำคัญกว่าเรื่องอื่นจริงหรือเปล่า เพราะในบางครั้งบางสถานการณ์ เรื่องราวที่กำลังเผชิญอยู่ตรงหน้า ก็หนักหนาสาหัสเกินกว่าที่จะกลืนกินอาหารที่ตนเองเคยคิดว่าเป็นของโปรดและแสนอร่อยได้ลง

(ภุชงค์, “หลังม่านกำแพงคุก”)

“ฉันเห็นตอนพวกเขากิน ก็รู้แล้วว่าเป็นใคร”

คาลิน ยิบราน ปิยะกวีชาวเลบานอนว่าไว้ ลึกซึ้งเพียงใดก็สุดแท้แต่จะตีความกันไป สำหรับผมแล้วเห็นว่าท่านยิบรานได้ให้แง่คิดในการดูคนไว้อย่างกะทัดรัดรวบยอดที่สุด

(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, “เร่ร่อนหาปลา”)

silverlining03

  • วรรคทองจากถ้อยคำของแหล่งข้อมูล

ได้มาจากการสัมภาษณ์ ซึ่งผู้เขียนไปพูดคุยมา แล้วจับเอาวรรคเด่นๆ มาโคว๊ซเป็นรรคทอง

ผู้เฒ่ายังพูดอีกว่า คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย แต่เราจะไม่ตายก็ด้วยสิ่งที่ปลูกสร้างไว้ เราปลูกต้นไม้เอาไว้ เขียนหนังสือเอาไว้ เมื่อเราตายไปแล้วต้นไม้ของเรายังอยู่ ตัวหนังสือของเราก็ยังอยู่ไปถึงคนรุ่นหลัง

(วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง, “ไร่ข้าว หนาวละอองฝน และทุ่งขุนเขาที่แม่แฮใต้”)

หลังได้รับเลือกตั้งใหม่ๆ เคยมีคนมาขอซื้อที่ตั้งโรงงานในราคา ๔ แสนบาทพร้อมรถยนต์อีกคัน แต่กำนันหนุ่มใหญ่ปฏิเสธข้อเสนอนั้น

คำพูดกำนันใน พ.ศ. นี้ยังยืนยันความคิดเดิม

“รถราคาเป็นแสนก็ต้องจอดใต้ร่มไม้ เอาป่าไว้ดีกว่า”

(วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง, “หลากชีวิตในทุ่งทาม”)

silverlining04

  • วรรคทองด้วยการคิดสรรกลั่นกรอง เจียระไนถ้อยคำมาจากผู้เขียนเอง

เป็นวรรคที่ผู้เขียนกลั่นกรองออกมาจากความรู้สึกนึกคิดอย่างบรรจงตั้งใจ มากกว่าจะเล่าเรื่องออกไปโดยธรรมดา

ทุกครั้งที่ตอบคำถามตัวเองว่าใฝ่ฝันถึงสิ่งใด ผมจะรู้สึกเสมอว่าแม่น้ำไม่อาจถูกขัดขวางหรือแบ่งเป็นสองฝั่ง เหมือนที่แผ่นดินไม่อาจแยกออกจากกัน

ผมกำลังเดินทางไปสู่ความฝันเหล่านั้น ผมไม่พบเขตแดนที่แม่น้ำเมยหรือแม่น้ำสาละวิน ผมเห็นผืนดินที่แม่ฮ่องสอนเป็นเนื้อเดียวกับแผ่นดินรัฐฉาน ผู้คนล้วนรู้จักกัน เป็นญาติพี่น้องกัน ต้นไม้ต้นหญ้าและสัตว์ต่างๆ เคลื่อนย้ายแพร่พันธุ์โดยไม่มีรอยต่อ ผืนหมอกและสายฝนห่มคลุมท้องฟ้าเป็นแผ่นเดียวกัน

(คืน ญางเดิม, “หกร้อยกิโลเมตรกลางทะเลฝน เหนือทุ่งภูเขาถนนธงชัย-แดนลาว”)

บนแผ่นดินที่ผมเคยซุกหัวนอนมีตึกตระหง่านตั้งอยู่ โรงยกพื้นซอมซ่อหลังนั้นหายไปเสียแล้ว…

ผมเพ่งมองตึกหลังนั้นอย่างเลื่อนลอย ภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าไม่ใช่ธนาคารอันหรูหลวง แต่กลับเป็นหินหลุมศพขนาดมหึมาที่คร่อมทับอดีตของผมไว้ บนแผ่นดินผืนนั้น ผมไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะเข้าไปคารวะลานตายของมารดา

(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, “ มาจากป่าชายเลน”)

silverlining05

เหล่านี้เป็นเพียงการจำแนกให้เห็นเป็นบางหัวข้อ วรรคทองยังอาจมีได้จากอีกหลากหลายที่มา

ขอเพียงแต่ผู้เขียนคว้าไว้ได้ และหยิบมาวางในเรื่องได้อย่างถูกจังหวะพอเหมาะพอดี ก็จะเสริมส่งให้งานชิ้นนั้นพริ้งพรายคล้ายทะเลที่มีคลื่น ไม่มีที่ผู้อ่านจะหงอยงีบหลับได้ในระหว่างล่องไปกับลำนาวาอักษรของเรา