ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
เรื่องและภาพ : กลุ่มสุขา

suanpasomopen

 

“ครอบครัวส่วนผสม” ชีวิตกลมกล่อมท่ามกลางธรรมชาติ

เสียงร้องของฝูงเป็ดที่ดังโหวกเหวกไปทั่ว ข้างหน้าของเราเป็นบ่อขุดขนาดใหญ่ คูคลองมีกอไผ่ขึ้นเป็นระยะ กลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของพืชบางชนิดโชยมาสัมผัสกับจมูก ในขณะที่แมลงปอกำลังบินต่ำเป็นสัญญาณว่าอาจจะมีฝนตกในเย็นวันนี้ก็เป็นได้

เรากำลังยืนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติในไร่มณฑาทิพย์ ไร่นาสวนผสมขนาด 6 ไร่ ตั้งอยู่ในตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

ไร่นาสวนผสมที่ว่านี้คือการทำไร่โดยผสมผสานการเกษตรตั้งแต่สองแบบขึ้นไป กล่าวคือ การปลูกพืชสองชนิดในไร่เดียวกันเพื่อให้ได้ผลผลิตที่หลากหลาย หรือการเลี้ยงสัตว์และพืชที่สอดคล้องต่อกันโดยธรรมชาติเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการในการบริโภค ลดความเสี่ยง หรือเพื่อให้สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

suanpasom01

ไร่มณฑาทิพย์ เกษตรผสมผสานในชุมชน ตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

suanpasom02

หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ผักเต่า สมพงษ์ ชื่นจิตร กำลังควานหาเหง้าผักเต่าใต้โคลนตม ที่ต้องใช้ทั้งประสบการณ์และความชำนาญ

suanpasom03

ขยำ ขยี้ สะบัด การล้างสาบดินและกลิ่นโคลนออกจากเหง้าผักเต่าที่ควรรีบทำ มิเช่นนั้นกลิ่นจะติดทนจนล้างไม่ออก

suanpasom04

รากเหง้าสู่ปลายยอด ทุกๆ ส่วนล้วนเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศ

ไร่มณฑาทิพย์เป็นที่ดินที่มีมาแต่เดิมของ สมพงษ์ ชื่นจิตร หญิงชราผู้มีใบหน้ายิ้มแย้มดูใจดี เธอเล่าว่าแต่เดิมนั้นที่ดินผืนนี้ใช้ขุดบ่อเพื่อเลี้ยงปลาและทำการเกษตรอื่นๆ ไปด้วยตามโอกาส เมื่อเวลาผ่านไปจึงกลายเป็นมรดกส่งต่อให้แก่ลูกสาวซึ่งเป็นเจ้าของไร่คนปัจจุบันจัดการดูแล ด้วยเหตุนี้สมพงษ์จึงไม่ได้ลงทำไร่หนักเหมือนเมื่อก่อน

“เราเอานู่นเอานี่มาปลูก แล้วมันก็ได้เก็บเป็นเงินไปหมด มันไม่ได้เป็นเงินเดือนแบบคนทั่วไป แต่มันได้ทุกวัน” เธอเล่าถึงเหตุผลที่เลือกไม่ทำนา แต่เจ้าตัวก็ยังคงยื่นมือช่วยลูกสาว โดยเฉพาะการลงคลองไปเก็บผักเต่าด้วยตัวเอง สมพงษ์เล่าว่าเวลาเช้าเธอมักจะลงไปในบึงกอผักเต่าเพื่อคุ้ยรากดูว่าต้นไหนที่มีรากยาวสมบูรณ์มากพอ จากนั้นจึงขุดรากผักเต่ามาล้างเพื่อสลัดคราบดินและคราบเหลืองของน้ำบึงออก โดยคัดส่วนที่ต้องการใส่กะละมังไว้

มณฑาทิพย์ ชื่นจิตร ลูกสาวของสมพงษ์ ผู้ขันแข็งและมีใจรักในงานเกษตรกรรม หลังจากเสร็จจากงานนวดแผนไทยเธอก็จะลงพื้นที่ดูแลไร่ที่ได้ต่อมาจากคุณแม่ด้วยตัวเองเสมอ เนื่องจากย่านนี้เป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำจึงประสบเหตุการณ์น้ำท่วมทุกปี มณฑาทิพย์จึงอยากจะปรับปรุงไร่ให้สามารถสร้างผลผลิตได้แม้อยู่ในช่วงน้ำท่วมสูง โดยพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว และต้นไผ่คือคำตอบ เพราะต่อให้น้ำท่วมก็ไม่เกิดความเสียหายมาก นอกจากนี้ยังดูแลง่าย มีหน่อไม้ให้เก็บตลอดทั้งปี

“เราไม่ได้เรียนเกษตร แต่เรารักธรรมชาติ ผักที่เราเห็นเขาปลูกมันไม่ปลอดภัย เช้าฉีดเย็นเก็บ เราชอบกินแบบไหนเราก็ปลูกแบบนั้น”

แสงทิพย์จันทร์หอม ศรีพิพัฒน์ สามีของมณฑาทิพย์ ผู้ที่อยู่เคียงบ่าเคียงไหล่ดูแลไร่แห่งนี้มาเนิ่นนาน ทุกๆ วันเขาจะต้องทำหน้าที่ต้อนเป็ดไล่ทุ่งให้ออกหาอาหารทุกเช้าและไล่กลับเล้าในเวลาเย็น นอกจากนี้ยังทำกับดักล่อปลาเข้ามาในหน้าน้ำขึ้นเพื่อจับปลาไปขาย และจัดการงานจิปาถะต่างๆ ภายในไร่อีกมากมาย ในอดีตนั้นเขากับภรรยามีปากเสียงกันอย่างหนักอยู่บ่อยครั้งจนถึงขั้นใช้ความรุนแรงกับลูกและภรรยา ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปเมื่อได้กลับไปบวชที่บ้านเกิดในจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ย้อนมองการกระทำของตนเองและยอมรับในข้อผิดพลาด คิดปรับปรุงตัว รู้จักที่จะเคารพคนในครอบครัว หลังจากเขาได้เข้ามาช่วยงานในไร่ของภรรยา เขาได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้เกิดความสุขจนกลายเป็นทางของชีวิต

suanpasom05

เขียว สวย ไม่มีขน คือเหตุผลที่ มณฑาทิพย์ ชื่นจิตร เลือกเอาหน่อไม้หวานพันธุ์อินโดจีนมาปลูกในพื้นที่แห่งนี้

suanpasom06

“ฉับ” เสียงคมมีดตัดผ่านเปลือกภายนอก เผยให้เห็นสีขาวนวลของเนื้อภายในหน่อไม้

suanpasom07

“วี้ดๆ” เสียงผิวปากต้อนเป็ดของ แสงทิพย์จันทร์หอม ศรีพิพัฒน์ ดังกระชั้นอยู่เบื้องหลังฝูงเป็ดไล่ทุ่งฝูงนี้

suanpasom08

“กลับ กลับ กลับ” กลับ (เล้า) ความชุลมุนของฝูงเป็ดขณะมุ่งหน้ากลับสู่เล้าของตน

suanpasom09

สมบัติล้ำค่าในเล้าเป็ด ไข่เป็ดใบน้อยๆ แต่กลับสร้างรายได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

“ธรรมชาติมันอยู่กับเรา เราจะใช้ชีวิตอยู่กับมันได้ไหม เราต้องปรับให้อยู่กับธรรมชาติให้ได้”

หัวใจสำคัญของไร่นาสวนผสมคือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ประกอบด้วยองค์ประกอบที่แตกต่างและหลากหลาย แต่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันเองภายในพื้นที่ได้ ตั้งแต่ปลาที่คอยกินขี้เป็ดและผักในบ่อ เป็ดที่กินแมลงศัตรูพืชและไข่หอยเชอร์รี่ แหล่งน้ำที่คอยหล่อเลี้ยงต้นไผ่และเป็นที่อยู่อาศัยของปลา เปรียบเสมือนกับบุคคลทั้งสามที่คอยดูแล ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันจนเกิดเป็นครอบครัวสวนผสมขึ้นมา

“แม้แตกต่าง แต่ก็อยู่ร่วมกันได้”