ชื่อจริงและชื่อเล่น (๖)

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


mommy

เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ “วันแม่” ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ตอนนี้จึงขอพูดถึงปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งจะมีมานานหรือยังก็ไม่รู้ แต่เพิ่งได้ยินได้เห็นถี่ๆ กันเมื่อไม่กี่ปีมานี้ คือการเที่ยวอุปโลกน์ตัวเองเป็น “แม่” โดยไปเที่ยวเรียกคนอื่นๆ ที่อายุน้อยกว่าว่า “ลูก”

เท่าที่ได้ยิน ผู้เรียกมักเป็นหญิง (รวมถึงสตรีข้ามเพศ) พบเห็นได้ทั่วไป ทั้งในสำนักงาน ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ในโลกโซเชียล โดยบางทีอายุก็ต่างกันแค่ปีสองปี เช่นเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในคณะ แต่ก็ตั้งตนเป็น “แม่” กันได้แล้ว

ไม่รู้ว่าต้นทางของเรื่องนี้มาจากไหน แต่คนกลุ่มแรกๆ ที่เคยได้ยินว่ามาเที่ยวเรียกคนอื่นเป็น “ลูก” อย่างหนึ่งคือคุณครู กับอีกกลุ่มคือแม่ค้า ด้วยอาจจะมองเห็นคนอื่นเป็น “ลูก” คือ “ลูกศิษย์” หรือ “ลูกค้า” ก่อนที่จะแพร่ไปทั่ว

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม คือพร้อมกับการตู่เรียกคนอื่นเป็น “ลูก” ย่อมเท่ากับว่ายกตัวเองขึ้นเป็น “แม่” อันเป็นสถานะที่สูงส่ง มีความสำคัญมากในสังคมไทย

อย่างที่ชอบยกตัวอย่างกันว่า อะไรที่สำคัญๆ ก็มักยกให้เป็นแม่ เช่นแผ่นดินคือ “แม่พระธรณี” ลำน้ำสายใหญ่ก็เป็น “แม่น้ำ” ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ทหาร-ถึงจะเป็นชาย-ก็ต้องเป็น “แม่ทัพ” ลงมาจนถึงผู้เป็นใหญ่ในครัวก็คือ “แม่ครัว” เป็นต้น

อย่างพวกคณะลิเก เขามักมีผู้อุปถัมภ์ค้ำชูที่เรียกกันว่า “แม่ยก” คือ “ยก” ไว้ในฐานะแม่

ซึ่งก็เป็นตำแหน่งหรือสถานะที่ฝ่ายที่ยอมตัวเป็น “ลูก” เป็นฝ่ายยกย่องขึ้นมา

ตรงกันข้ามกับการสถาปนาตัวเองขึ้นเป็น “แม่” ของคู่สนทนาอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้

หากย้อนกลับไปดูหลักฐานเก่าๆ จะเห็นว่าคนสมัยก่อนนั้น แม้แต่ลูกจริงๆ บางทีก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เรียก “แม่” ด้วยซ้ำ

ในหนังสือ “อัตชีวประวัติภาคปฐมวัย” ของคุณครูฉลบชลัยย์ พลางกูร (พ.ศ. ๒๔๕๙-๒๕๖๐) เล่าไว้ว่า

“เมื่อตอนที่พี่ณพ (พี่ชายคนเดียวของดิฉัน) ยังเล็กมากนั้น เกิดป่วยหลายครั้ง บางครั้งอาการหนักจนเป็นที่น่าวิตก หมอดูคนหนึ่งดูว่าคุณแม่จะเลี้ยงลูกให้รอดได้ยาก ญาติผู้ใหญ่หลายคนจึงเห็นพ้องต้องกันว่า เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตลูก ไม่ควรให้ลูกเรียกว่า ‘แม่’ เคล็ดนี้ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในสมัยนั้น ไม่ใช่เป็นของแปลกอะไร ฉะนั้น จึงไม่มีการสอนคำว่า ‘แม่’ ปล่อยให้เด็กฟังคนเลี้ยง และเรียกแม่ว่า ‘นาย’ ตามคนเลี้ยง ต่อมาเมื่อมีลูกอีก ลูกก็เรียก ‘นาย’ ตามพี่ไปทุกคน…”

ในตระกูลคหบดีจีนสยามก็มีธรรมเนียมทำนองนี้ด้วยเช่นกัน เช่นให้ลูกๆ เรียกมารดาว่า “นายแม่” หรือ “นาย” อย่างในหนังสือ “นายแม่” ของคุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร

ยิ่งไปกว่านั้นด้วยสาเหตุคือความรักลูก ทำนองเดียวกับที่คุณครูฉลบชลัยย์เล่าไว้นั้น บางทีไม่ใช่แค่ไม่ให้ลูกเรียกแม่ แต่ยังถึงแก่ทำให้แม่ต้องยกลูกให้คนอื่นเอาไปเลี้ยงด้วยซ้ำ เช่นที่ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร (พ.ศ. ๒๔๔๑-๒๕๒๙) เล่าไว้ในอัตชีวประวัติ “แปดสิบห้าปีที่ผ่านมา” ตอนหนึ่งว่า

“มารดาของข้าพเจ้า (เง๊ก สุจริตกุล) ท่านเป็นคนเลี้ยงลูกยาก ลูกเกิดมากี่คนกี่คนตายหมด เหลือข้าพเจ้าคนเดียว บิดาข้าพเจ้ามีญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งมีความรักใคร่บิดาข้าพเจ้ามาก ท่านผู้นี้คือหม่อมใหญ่ เทวกุล ณ อยุธยา หม่อมใหญ่ท่านทราบเรื่องนี้เข้า ท่านจึงขอข้าพเจ้าไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อจะเอาเคล็ดให้เด็กรอดอยู่ได้ เพราะท่านเป็นผู้มีบุตรถึง ๑๑ คน และมีชีวิตแข็งแรงดีทุกคน…”

mommy


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี